APPS

เมื่อเว็บไซต์โซเชียลชื่อดังอย่าง Facebook ยอมรับว่าแชร์แชทส่วนตัวของผู้ใช้ให้กับ NETFLIX และ SPOTIFY

By: TOIISAN December 21, 2018

เป็นข่าวใหญ่สะเทือนวงการโซเชียลอีกครั้งของ Facebook ที่ถูกจับได้ว่าแอบแบ่งปันข้อมูลแชทของผู้ใช้งานให้กับบริษัทที่เป็นพันธมิตรกันอย่าง Netflix และ Spotify

เมื่อแชทส่วนตัวในโซเชียลชื่อดังอย่าง Facebook นั้นไม่เป็นส่วนตัวอีกต่อไป การแฉครั้งใหญ่เริ่มต้นขึ้นเมื่อสื่อเจ้าดังอย่าง The New York Times ได้เผยแพร่บทความ As Facebook Raised a Privacy Wall, It Carved an Opening for Tech Giants ที่ได้จากการรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ทั้งจากเจ้าหน้าที่รัฐ อดีตพนักงานของ Facebook รวมถึงเอกสารที่ Facebook ได้เซ็นกับพันธมิตร พบว่า Facebook ได้ทำข้อตกลงกับบริษัทต่าง ๆ กว่า 150 แห่ง ตั้งแต่ปี 2010 ให้เข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้งาน Facebook เพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน เช่นการให้ Spotify, Netflix และ Royal Bank of Canada สามารถอ่าน เขียน รวมถึงลบข้อความส่วนตัวของผู้ใช้งานได้ ซึ่งสิทธิพิเศษนี้ดูเหมือนจะเกินขอบเขตและละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานเป็นอย่างมาก

The Hacker News

อย่างไรก็ตามหลังจากที่ Facebook โดน The New York Times ออกมาแฉเรื่องที่แบ่งปันข้อมูลให้กับบริษัทต่าง ๆ หนึ่งในบริษัทที่มีชื่อว่ารับข้อมูลจาก Facebook อย่าง Netflix และ Spotify ได้ออกมาปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ซึ่งบริษัททั้งสองบอกว่าไม่ทราบเกี่ยวกับระบบของ Facebook ที่เปิดให้เห็นข้อมูลแชทส่วนตัวของผู้ใช้ โดยทาง Netflix ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว CNBC ของสหรัฐฯ ว่า บริการสตรีมมิ่งของทางบริษัทเคยอนุญาตให้ผู้ใช้แนะนำรายการภาพยนตร์ต่าง ๆ แก่เพื่อนใน Facebook ได้ แต่ก็ได้ยกเลิกระบบสตรีมมิ่งนี้ไปตั้งแต่ปี 2015 แล้ว รวมถึง Spotify ก็ได้ออกมาปฏิเสธเช่นกัน ซึ่งถึงแม้จะออกมาปฏิเสธว่าไม่เคยได้รับข้อมูลดังกล่าว แต่ทาง The New York Times ก็รายงานเพิ่มเติมว่า Spotify ได้รับข้อมูลจากผู้ใช้งาน Facebook กว่า 70 ล้านรายเป็นประจำทุกเดือน

Narcity

twitter

นอกจากจะแชร์แชทส่วนตัวของผู้ใช้ให้กับบริษัทต่าง ๆ ที่ตกลงกันโดยไม่แจ้งให้ผู้ใช้รู้แล้ว Facebook ยังอนุญาตให้บริษัทชื่อดังอย่าง Amazon ได้รับชื่อผู้ใช้งาน รวมถึงข้อมูลติดต่อ และอนุญาตให้ Bing ซึ่งเป็นโปรแกรม search engine หรือโปรแกรมค้นหาของบริษัท Microsoft สามารถเข้าถึงข้อมูลเพื่อนของผู้ใช้งานได้ รวมถึงระบบดังอย่าง iOS ของ Apple ก็สามารถเข้าถึงข้อมูลบัญชีผู้ใช้ได้จากเบอร์ติดต่อของผู้ใช้งาน รวมถึงข้อมูลปฏิทินทั้งหมดที่แม้จะปิดการแชร์เอาไว้แล้วก็ตาม ซึ่งทาง Apple ก็ได้ออกมาปฏิเสธเช่นกัน

ในที่สุด Facebook ก็ได้ออกมายอมรับแล้วว่าได้อนุญาตให้ Netflix, Spotify สามารถอ่านข้อความแชทส่วนตัวใน Messenger ของผู้ใช้บริการ สำหรับผู้ใช้งานที่ล็อกอินด้วยระบบ Facebook ที่ผู้ใช้เลือกฟีเจอร์ Facebook Login เพื่อล็อกอินเข้าไปในบริการของบุคคลที่ 3  ซึ่ง Facebook กล่าวว่าถือเป็นเรื่องปกติ ทั้งยังชี้แจงเพิ่มเติมว่าเป็นการเพิ่มความสามารถของ Messenger สามารถสร้างความสะดวกสบายให้กับผู้ใช้งาน โดยสามารถแชร์เพลงที่ฟังบน Spotify ผ่านทาง Facebook Messenger ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว และระบุว่าฟีเจอร์นี้เป็นเพียงการทดลองในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ทางและ Facebook ก็ได้ปิดฟีเจอร์ดังกล่าวไปหลายปีแล้ว

NY Daily News

โดยซีอีโอผู้ก่อตั้ง Facebook อย่าง Mark Zuckerberg ได้ออกมาแถลงการณ์ถึงเหตุการณ์ดังกล่าว โดยอ้างว่าข้อมูลทุกอย่างที่ Facebook แชร์ให้บริษัทต่าง ๆ นั้นได้รับความยินยอมจากผู้ใช้งานแล้วตั้งแต่กดปุ่ม ลงชื่อเข้าใช้งานด้วยบัญชีเฟซบุ๊ก หรือ Sign in with Facebook account และยืนยันว่าทางบริษัทขออนุญาตผู้ใช้งานทุกครั้งเมื่อมีการดึงข้อมูลส่วนตัว

การออกมายอมรับว่าแชร์ข้อมูลให้กับบริษัทต่าง ๆ จริง ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในเรื่องการป้องกันสิทธิและข้อมูลส่วนตัวลูกค้าของบริษัท Facebook เห็นได้จากหุ้นที่ดิ่งลงทันทีหลังจากข่าวออก โดยมูลค่าหุ้นของ Facebook นั้นลดลงกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ เมื่อโดนสื่อรวมถึงผู้ใช้งานวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก สร้างความไม่ไว้วางใจอย่างมากให้กับผู้ใช้งาน และสื่อก็ยิ่งโจมตีหนักขึ้นพร้อมกับดึงคำพูดที่ Zuckerberg เคยกล่าวในเดือนเมษายนที่ผ่านมาต่อหน้าสื่อและฝ่ายนิติบัญญัติว่า ผู้ใช้จำนวนกว่า 2 พันล้านคน มีสิทธิควบคุมทุกอย่างที่สามารถแบ่งปันได้ใน Facebook ก็เลยเกิดคำถามที่ว่าควบคุมแบ่งปันในเรื่องของความเป็นส่วนตัวที่ Zuckerberg  บอกว่าเข้าถึงได้นั้นจะมีขอบเขตมากน้อยแค่ไหน

และล่าสุด Karl Racine อัยการสูงสุดประจำกรุงวอชิงตันดี.ซี. ได้ยื่นฟ้อง Facebook ข้อหาละเมิดความเป็นส่วนตัวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังจากที่ Facebook ยอมให้ Cambridge Analytica บริษัทที่ปรึกษาด้านการเมืองสามารถเข้าถึงข้อมูลโปรไฟล์ของผู้ใช้บริการเฟซบุ๊กจำนวน 50 ล้านคนโดยไม่ได้รับอนุญาต โดย Karl Racine กล่าวว่า Facebook ล้มเหลวที่จะปกป้องข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งาน ทั้งยังปกปิดไม่ให้ผู้ใช้รู้ว่าจะเอาข้อมูลส่วนตัวเหล่านี้ไปทำอะไรบ้างโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ใช้ก่อนถึงแม้จะแจ้งถึงปุ่ม ลงชื่อเข้าใช้งานด้วยบัญชีเฟซบุ๊ก แล้วก็ตาม

ซึ่งหลังจากที่ทางอัยการสูงสุดประจำกรุงวอชิงตันดี.ซี. ยื่นฟ้อง ทาง Facebook ก็ได้ออกมาแถลงการณ์อีกครั้งว่ากำลังตรวจสอบข้อกล่าวหา และหวังว่าจะได้หารือกับทางอัยการสูงสุดของเมืองวอชิงตันดี.ซี. ในเร็ว ๆ นี้

Electronic Frontier Foundation

ก็คงต้องตามดูกันต่อไปว่า Facebook จะทำอย่างไรต่อ และจากเหตุการณ์ครั้งนี้คงทำให้ผู้คนทั่วโลกตื่นตัวกับเรื่องของการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์คมากขึ้น เพราะข้อมูลส่วนตัวที่เรากรอก ๆ กันไป สามารถทำเงินได้กับบริษัทโซเชียลได้อย่างมหาศาลโดยที่เราไม่ทันรู้ตัวด้วยซ้ำว่าข้อมูลส่วนของเรานั้นถูกแชร์ออกไปถึงไหนแล้ว

 

SOURCE1 SOURCE2

TOIISAN
WRITER: TOIISAN
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line