FASHION

FASHION x CULTURE: BONNIE AND CLYDE คู่รักอาชญากรที่จากไปเหลือเอาไว้แต่มรดกทางแฟชั่น

By: TOIISAN September 3, 2019

บรรดาคู่รักที่มีอยู่มากมายบนโลกทั้งคู่รักดารา คู่รักนักการเมือง คู่รักที่เป็นชาวบ้านธรรมดากับสายลับที่ชีวิตจริงเข้าตาใครหลายคนถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ แต่คงไม่มีเรื่องราวของคู่รักไหนจะแสบ เต็มไปด้วยความวุ่นวายเคล้าความโรแมนติกและจัดจ้านด้านแฟชั่นได้มากไปกว่า Bonnie และ Clyde อีกแล้ว 

ด้วยความเท่เปี่ยมด้วยสไตล์ของ Bonnie กับ Clyde คู่รักนักปล้นอันแสนโด่งดังแห่งอเมริกาที่โดดเด่นสะดุดใจทั้งเรื่องเล่าสะดุดตาทั้งเครื่องแต่งกาย UNLOCKMEN จึงอยากพาทุกคนไปทำความรู้จักกับพวกเขาตั้งแต่วัยเด็ก เห็นแนวคิด ชีวิต และแฟชั่นระหว่างการหลบหนีตำรวจ ที่หลอมรวมให้ทั้งคู่มีชื่อเสียงจนถึงทุกวันนี้ 


ก่อนการพบกันของ BONNIE และ CLYDE

Bonnie and Clyde (1967)/WARNER BROS

Bonnie Parker และ Clyde Barrow ก่ออาชญากรรมราวสองปีตั้งแต่ 1932-1934 ช่วงเวลาก่อนที่พวกเขาจะพบกันต่างชีวิตไม่ต่างจากเด็กทั่วไปในอเมริกา Clyde Barrow เด็กชายชีวิตแสนธรรมดาจากรัฐ Texas ลาออกจากโรงเรียนเพื่อทำตามความฝันของเองในวัย 16 ปี เขาชื่นชอบการเล่นแซ็กโซโฟนและกีตาร์ ใฝ่ฝันถึงการเป็นนักดนตรี แต่บ้านจนจึงต้องพับความฝันทางดนตรีเปลี่ยนมาลักเล็กขโมยน้อยร่วมกับพี่ชายแทน ส่วนของที่ขโมยก็ค่อนข้างสะเปะสะปะ เพราะขโมยเงิน ขโมยรถ หรือแม้กระทั่งขโมยไก่แถวบ้านมาเต็มคันรถ 

ส่วน Bonnie Parker เป็นเด็กสาวจากรัฐ Texas เช่นเดียวกับ Clyde เธอเติบโตในครอบครัวที่มีฐานะทางการเงินดี จนวันหนึ่งชีวิตดันพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือเมื่อพ่อที่เป็นเสาหลักของครอบครัวเสียชีวิตลง Bonnie หลงรักงานเขียน และลาออกจากโรงเรียนเมื่ออายุ 16 ปี Bonnie เบื่อชีวิตวัยรุ่นของตัวเองและตัดสินใจแต่งงานกับชายคนหนึ่งชื่อ Roy 

Bonnie and Clyde (1967)/WARNER BROS

ชีวิตคู่ของ Bonnie และ Roy ดำเนินไปได้อย่างทุลักทุเล ราวสี่ปีที่หมดไปกับการถูกทำร้ายร่างกายจากชายขี้เมา มีปากเสียงกันบ่อยครั้ง ภาวะเดี๋ยวก็แยกกันอยู่ เดี๋ยวก็กลับมาคืนดีกันกลายเป็นวงจรอุบาทว์นี้ในที่สุดก็จบลงเมื่อ Bonnie ทนไม่ไหวจึงขอแยกกันอยู่กับสามีเด็ดขาด ขณะที่ Roy เวลานั้นโดนจับข้อหาโจรกรรมและยังไม่ได้จดทะเบียนหย่า

หลังจากแยกทางกับชายที่เคยฝากชีวิต Bonnie หันทำงานเป็นพนักงานเสิร์ฟ ช่วงนั้นเศรษฐกิจทั่วโลกกำลังระส่ำระสายกับวิกฤตการณ์ Great Depression อันเป็นผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่ 1 สุดท้ายเธอจึงเปลี่ยนมาตกลงรับจ้างทำความสะอาดบ้านแทน โดยบ้านหลังนั้นเป็นบ้านของเพื่อน Clyde Barrow และเป็นจุดเริ่มต้นทำให้ทั้งสองได้รู้จักกัน


BONNIE AND CLYDE 

Bonnie and Clyde (1967)/WARNER BROS

เมื่อชายหนุ่มกับหญิงสาวที่พบกันต่างพร้อมทำความรู้จักกันและกันมากขึ้น Clyde Barrow กลับถูกศาลตัดสินให้จำคุกสองปีจากคดีลักขโมยในอดีต เมื่อพบอุปสรรคก้อนโตขัดขวางความรัก Bonnie จึงหาทางออกด้วยการแอบลักลอบนำปืนเข้าไปให้ Clyde ในคุกเพื่อให้เขาใช้แหกคุกออกมา

Bonnie and Clyde (2013)

ทุกอย่างลงล็อกตามที่ Bonnie และ Clyde วางแผนไว้ ชายหนุ่มสามารถใช้ปืนแหกคุกออกมาได้สำเร็จ แต่ไม่ถึงสัปดาห์ Clyde ก็ถูกจับด้วยข้อหาที่หนักขึ้นพร้อมกับโทษจำคุก 14 ปี ที่ Eastham Prison Farm ซึ่งเคยถูกเรียกว่าเป็นหนึ่งในคุกสุดโหดของสหรัฐอเมริกา 

ว่ากันว่าชีวิตในคุกของเขาแสนจะรันทด เขาโดนผู้คุมทำร้ายร่างกาย และโดนเพื่อนร่วมคุกล่วงละเมิดทางเพศอยู่บ่อยครั้ง จนในที่สุด Clyde ตัดสินใจหาของมีคมแทงชายที่ล่วงละเมิดเขาจนตาย ผลการฆาตกรรมครั้งนี้ได้เพื่อนเขาเป็นคนรับผิดแทน ส่วนเขาก็เริ่มต้นคิดหาทางแหกคุกอีกครั้ง

Bonnie and Clyde (1967)/WARNER BROS

Eastham Prison Farm เป็นคุกที่ใช้แรงงานจากนักโทษสร้างตึก ทำสวน ขุดดิน แต่เมื่อนักโทษเกิดเหตุผิดปกติทางร่างกายหรือพิการก็อาจจะถูกย้ายไปอยู่คุกอื่นแทน ทำให้ Clyde ขอให้เพื่อนร่วมคุกคนหนึ่งเอาขวานตัดนิ้วเท้าซ้ายของเขา (ในภาพยนตร์ใช้กรรไกรตัดแต่งกิ่ง) สุดท้ายทำให้เขากลายเป็นชายเดินขาเป๋ที่ไม่สามารถทำงานหนักได้

ดูเหมือนจากเหตุการณ์นี้โชคจะเข้าข้าง Clyde เพราะเขาได้รับการปล่อยตัวเร็วกว่ากำหนดเนื่องจากจำนวนนักโทษที่ล้นคุกเพราะสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ บ้างก็ว่าแม่ของเขาได้ไปเจรจากับผู้พิพากษา สรุปไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตามเขาอยู่ในคุกแค่ 2 ปีเท่านั้นจากโทษเดิมที่ยาวนานถึง 14 ปี 


THE BARROW GANG 

Bonnie and Clyde (1967)/WARNER BROS

หลังจาก Clyde ออกจากคุก ในที่สุดเขาก็ได้ใช้ชีวิตร่วมกับ Bonnie อีกครั้ง เขาเป็นชายหนุ่มที่เกลียดคุกเข้าไส้และหวังว่าชีวิตนี้จะไม่ต้องกลับเข้าไปอยู่ในนั้นอีก Clyde พยายามกลับตัวเป็นคนดีพร้อมกับมองหางานสุจริตทำ แต่พิษของเศรษฐกิจที่ยังไม่ดีขึ้นทำให้เขาเป็นชายตกงาน ไม่มีใครอยากรับคนเพิ่ม แถมยิ่งเป็นคนคุกก็ทำให้หางานยากกว่าเดิม

ชายหนุ่มที่พร้อมกลับตัวแต่เวลาและโอกาสไม่เป็นใจทำให้ตัดสินใจหวนกลับเข้าสู่การปล้นและวงการอาชญากรรมอีกครั้ง

Clyde ตัดสินใจตั้งแก๊งของตัวเองโดยใช้ชื่อว่า Barrow ตามนามสกุลของเขา ภายในแก๊งมีสมาชิกเปลี่ยนหน้าไปเรื่อย ๆ คนที่เป็นเสาหลักของ Barrow Gang มีเพียง 3 คน ได้แก่ ตัวเขา พี่ชาย และ Bonnie วางแผนปล้นตามสถานที่ต่าง ๆ ทั้งร้านค้าวัสดุก่อสร้าง ปั๊มน้ำมัน และโรงรับจำนำ

Barrow Gang ขับรถทางไกลตระเวนไล่ปล้นไปทั่วทั้ง 5 รัฐ ในสหรัฐอเมริกา บางครั้งก็ลักพาตัว ปล้น ขโมยรถ ฆ่าคน และสังหารเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยใช้เทคนิคการเลือกลงมือตามพื้นที่เส้นแบ่งเขตคั่นระหว่างรัฐต่าง ๆ เพราะกฎหมายที่ล้าสมัยของสหรัฐฯ ช่วงเวลานั้นทำให้ตำรวจไม่สามารถจับผู้ต้องหาข้ามรัฐได้ พวกเขาจึงใช้ช่องว่างนี้ก่อเหตุลอยนวลเรื่อย ๆ

สุดท้ายชีวิตของอาชญากรคู่รักที่โด่งดังไปทั่วสหรัฐฯ ก็ต้องมาจนมุมจากการหักหลังของสมาชิกร่วมแก๊ง ตำรวจสามารถล้อมจับที่ตำแหน่งนัดพบของชาวแก๊ง Bonnie และ Clyde โดนเจ้าหน้าที่ตำรวจวิสามัญจากการระดมยิงจนเสียชีวิตคาที่

จากคำบอกเล่าของตำรวจชั้นผู้น้อยเผยว่าเสียงปืนดังสนั่นอย่างกับระเบิด กระสุนหลายร้อยนัดพุ่งเข้าสู่รถและทะลุร่างของทั้งสองคน จากการชันสูตรพบว่ามีกระสุนไม่ต่ำกว่า 20 นัด อยู่บนตัว Clyde ส่วนร่างของ Bonnie ก็มีรูกระสุนกว่า 30 นัด

Getty Images

หลังจากตำรวจพาร่างไร้วิญญาณของ Bonnie และ Clyde กลับไปสถานีตำรวจ มีชาวอเมริกันมุงจำนวนมากแห่กันเข้ามาที่รถเพื่อหยิบฉวยสมบัติอะไรก็ได้ของทั้งสองคน บ้างก็เก็บสิ่งของของคู่รักเพื่อไปขายเก็งกำไร บ้างก็เป็นแฟนคลับที่มาดูวาระสุดท้ายของอาชญากร หรือบางคนก็เป็นฝูงชนที่โกรธแค้นเพราะทำให้เมืองฉาวโฉ่ จึงเข้ามารุมเจ้าหน้าที่เพื่อขอดูหน้าของ Bonnie และ Clyde


 BONNIE และ CLYDE ไม่เคยตายไปจากสังคม

Aram Bedrossian

หลังจากเรื่องราวชีวิตจริงสุดผาดโผนของสองคู่รัก Bonnie และ Clyde กลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ในที่สุดภาพยนตร์เรื่องแรกที่ได้แรงบันดาลใจจากพวกเขาก็ผลิตขึ้นมาด้วยชื่อเรื่อง  Bonnie and Clyde (1967) และสิ่งที่ผู้ชมต่างเห็นพ้องต้องกันคือแฟชั่นเรื่องนี้มันดีมากจริง ๆ

เมื่อมีคนทำหนังเกี่ยวกับคู่รักที่เป็นโจรเพราะพิษของเศรษฐกิจ แต่กลับเล่าเรื่องราวของโจรที่แต่งตัวโก้หรูมีอันจะกิน คอสตูมที่ดูค้านกับเรื่องราวถูกตั้งคำถามว่ามันเป็นชุดของพวกเขาจริงหรือเปล่า ? แท้จริงแล้วหนังได้ถ่ายทอดแฟชั่นของทั้งสองคนออกมาได้ครบถ้วนแทบทุกกระเบียดนิ้ว ทั้งความเนี้ยบ การแต่งตัวจัดจ้านโดดเด่น เพราะฝ่ายหญิงมักสวมเดรสกับรองเท้าส้นสูง และต้องใส่หมวกทุกครั้ง ส่วนฝ่ายชายจะต้องใส่เสื้อเชิ้ต สวมเสื้อกั๊ก และคลุมด้วยสูทพร้อมหมวก แม้จะอยู่ในสถานการณ์หนีการตามล่าของตำรวจแต่แฟชั่นของพวกเขาก็ยังโดดเด่นอยู่เสมอ

 

 

ช่วงเวลาที่ Bonnie และ Clyde ยังมีชีวิตอยู่ระหว่างปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ พวกเขาได้ทิ้งกล้องฟิล์มเอาไว้ โลกจึงได้รับรู้ว่าพวกเขาเป็นโจรที่ใส่ใจแฟชั่นแค่ไหน รูปภาพบนแผ่นฟิล์มเปรียบเสมือนหลักฐานแฟชั่นเหนือกาลเวลาที่สามารถพิสูจน์ได้และกลายเป็นจิ๊กซอว์ตัวสำคัญในการผลิตภาพยนตร์ของคู่รักนักปล้นที่อัดแน่นทั้งการนำเสนอแฟชั่นจัดจ้านเต็มขั้นเคล้าเรื่องราวผิดกฎหมายสุดเข้มข้น

รสนิยมทางแฟชั่นที่ดี Based on true story ยืนยันได้ว่าภาพยนตร์ Bonnie and Clyde (1967) ไม่ได้ปรุงแต่งชุดให้เกินงาม แถมสไตล์และแฟชั่นที่ปรากฏก็ส่งเสริมให้หนังสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น

ภาพยนตร์ Bonnie and Clyde (1967) ชูโรงด้วยพระนางของเรื่องที่สามารถสร้างภาพจำให้กับผู้คนด้วยสไตล์การแต่งตัวแต่งอันเป็นเอกลักษณ์ตามแบบต้นฉบับเรื่องราวเมื่อครั้งมีลมหายใจ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่นิตยสารหลายหัวมักจะหยิบแฟชั่นของทั้งคู่มาเป็น shooting นับครั้งไม่ถ้วนจนถึงตอนนี้

npmphoto

นอกจากโลกของภาพยนตร์ การถ่ายภาพ และแฟชั่นแล้ว ชื่อทั้งคู่ยังต่อยอดไปถึงวงการเพลงด้วย จากการแต่งเพลงที่ใช้ชื่อว่า Bonnie and Clyde ขับร้องโดย Serge Gainsbourg ร่วมกับนักแสดงสาวชาวฝรั่งเศสยุค 70 อย่าง Brigitte Bardot ที่โด่งดังด้วยใบหน้าอันเป็นต้นแบบของ ‘มารียาน’ (Marianne) สัญลักษณ์ของประเทศฝรั่งเศส

ฟากเอเชียก็ไม่น้อยหน้ากับเพลงเกาหลีของไอดอลสาววง Blackpink ที่เคยกล่าวถึงกับท่อนแรปของเพลง As if it’s your last ว่า “I be the Bonnie and you be my Clyde, we ride or die xs and os” ซึ่งถ้าใครรู้จัก Bonnie และ Clyde มาก่อนก็จะเข้าใจความหมายและการเดินทางที่กล่าวถึงในเนื้อเพลงได้ทันที

อย่างไรก็ตามการนำเสนอเรื่องราวความเป็นมาและแฟชั่นของคู่รักสุดอันตรายที่กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมอย่าง Bonnie และ Clyde แม้จะรับความนิยมขนาดไหน  UNLOCKMEN ก็ยืนยันว่าเราไม่ได้เห็นด้วยกับการกระทำผิดกฎหมาย หรืออยากให้ใครทำตามวีรกรรมเหล่านี้ เพราะอาชญากรยังไงก็คือบุคคลที่ทำผิด

ส่วนมุมมองด้านแฟชั่น เราขอมองภาพแบบแยกออกจากกัน ต้องยอมรับเลยว่าพวกเขาใส่ใจกับมันและทำได้ดีจนกลายเป็นสไตล์ที่ไม่เคยตกยุคและเป็นมรดกทางวัฒนธรรมมาจนถึงปัจจุบัน


 

SOURCE: 1  / 2 / 3 / 4 / 5

TOIISAN
WRITER: TOIISAN
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line