Business

ยิ่งฝืนยิ้ม ยิ่งเก็บกด ยิ่งดื่มเหล้าหนัก ปัญหาสุขภาพกายและใจที่คนทำงานต้องระวัง

By: Chaipohn October 25, 2020

ในช่วงเวลาที่การทำงานหาเงินเป็นเรื่องยากลำบาก ปัญหาการใช้ชีวิตในแต่ละวันที่สวนทางกับสโลแกน “กรุงเทพ ชีวิตดี ๆ” ราวกับคนคิดไม่เคยออกมาใช้ชีวิตบนท้องถนนและทางเท้า หรือแม้แต่ปัญหาการไม่เข้าใจกันด้านความเชื่อของคนในบ้าน ทุกความหนักอึ้งที่เราได้แต่เก็บมันไว้ในใจ ภายนอกคือหน้าตายิ้มแย้มให้กับลูกค้า เพื่อนร่วมงาน หัวหน้า ซึ่งงานวิจัยของ UNIVERSITY PARK พบว่า ยิ่งฝืนยิ้มเก็บกดปัญหาเท่าไหร่ เรายิ่งมีปัญหาดื่มเหล้าหนักมากขึ้นไปด้วย

 

 

ผลงานวิจัยที่ University Park ชิ้นนี้ถูกเรียกว่า “National Survey of Work Stress and Health” และมีการตีพิมพ์ใน “Journal of Occupational Health Psychology “ รวบรวมข้อมูลจากคนทำงานด้านบริการด้วยวิธี Phone Interview คนทำงานใน USA จำนวน 1,592 คน เพื่อสอบถามว่าในการทำงานต้องฝืนยิ้มบ่อยแค่ไหน (ในงานวิจัยเรียกว่า “surface acting,”) และหลังเลิกงานไปดื่มบ่อยและเยอะแค่ไหน โดยเน้นอาชีพที่ประสิทธิภาพและรายได้ขึ้นอยู่กับการยิ้มแย้ม เช่น คุณครูที่ต้องบริการนักเรียน พนักงานขายอาหารที่ต้องบริการลูกค้า หรือพยาบาลที่ต้องดูแลผู้ป่วย

ข้อมูลสรุปพบว่าคนที่ต้องฝืนยิ้มในการทำงานเพื่อปกปิดความเครียดหรืออารมณ์ลบไว้ข้างใน หรือการพยายามสบตาลูกค้าโดยไม่หลบตา ยิ่งมีปัญหาดื่มเหล้าหนักมากเป็นพิเศษอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยเฉพาะคนที่ทำงานในลักษณะ Impulsive หรือถูกสั่งเป็นครั้ง ๆ เช่น Call Center หรือพนักงานเสิร์ฟจะมีปัญหาการดื่มหนักมากกว่าอาชีพที่ให้บริการแบบ Relationship เช่น ครูหรือพยาบาล

เหตุผลคือเนื้องานของครูหรือพยาบาล เป็นการฝืนยิ้มเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าซึ่งต้องเจอหน้ากันในระยะยาว ดังนั้นเมื่อผ่านระยะเวลานึง การต้องฝืนยิ้มจะไม่เครียดเท่ากับคนทำงานที่ต้องฝืนยิ้มเพื่อให้บริการลูกค้ารายใหม่ตลอดเวลาอย่างเช่นคนขายของหรือพนักงานเสิร์ฟนั่นเอง

 

 

Alicia Grandey, Penn State’s professor of psychology, หนึ่งในทีมวิจัยอธิบายว่า ลำพังแค่ความรู้สึกเครียดในหัวก็ทำให้เราเครียดและเหนื่อยจะแย่แล้ว การต้องพยายามฝืนยิ้มและเก็บกดความเครียดเอาไว้ มันทำให้รู้สึกแย่ยิ่งกว่า และเมื่อมันถึงจุดนึงมนุษย์ย่อมต้องหาทางออกอย่างเช่นการดื่มเหล้า ยิ่งเครียด ก็ยิ่งควบคุมปริมาณการดื่มไม่ได้ และเป็นอารมณ์ที่อยากจะปล่อยตัว ไม่อยากจะควบคุมอะไรอีกแล้ว ซึ่งพวกเราหลายคนที่เคยดื่มเพราะมีปัญหาคงพอจะเข้าใจอารมณ์นั้นได้ดี

ดังนั้นคำแนะนำของเธอสำหรับบริษัทหรือนายจ้าง คือการคิดนโยบายการทำงานที่จะลดความเก็บกดของพนักงานในระยะยาว ทำความเข้าใจกับความรู้สึกและสภาพจิตใจของพนักงานให้มากขึ้น รวมถึงเปิดโอกาสให้พนักงานได้แสดงความคิดเห็นและเลือกสลับฟังก์ชันการทำงานบ้างเพื่อลดความเก็บกดจากการฝืนยิ้มในช่วงเวลาที่หนักหน่วงเกินจะรับไหว

ชาว UNLOCKMEN คนไหนที่รู้สึกว่าเหนื่อย เครียด และต้องเก็บกดจากการทำงานจนดื่มหนักมากกว่าปกติ ก็ขอให้ลองคุยกับหัวหน้าหรือปรึกษาเพื่อนร่วมงานดู ถ้าปัญหามันใหญ่จริง เชื่อว่าทุกคนจะเข้าใจและช่วยกันหาทางแก้ไข ดีกว่าฝืนทำงานไปจนเสียสุขภาพ งานก็ไม่ดี สุขภาพก็พัง แถมยังเปลืองสุขภาพตับอีกด้วย


 

Appendix: 1

Chaipohn
WRITER: Chaipohn
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line