Life

มาแล้ว! “GAME DISORDER” อัปเดตนิยามความติดเกมอย่างเป็นทางการจาก WHO

By: anonymK June 19, 2018

“ติดเกม ไม่ติดเกม” ยังเป็นประเด็นที่มาแรงเสมอ โดยเฉพาะกับหนุ่มทุกคนที่ Work กันเต็มเหนี่ยว Play กันแบบเข้าเส้นไม่ว่าจะอายุขนาดไหน ถ้ายังจำกันได้เมื่อปลายปีที่แล้ว “โรคติดเกม” ได้รับการวิเคราะห์จากนักจิตวิทยาจัดให้เป็นหนึ่งในอาการทางจิตและได้รับการรับรองโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) และล่าสุดจัดให้เป็นโรคที่ควรได้รับการบำบัดรักษาทางการแพทย์โดยเผยแพร่ผ่านคู่มือสำหรับการวินิจฉัยและจัดประเภทของโรคระหว่างประเทศ หรือ ICD (The International Classification of Diseases)

“Game Disorder” คือคำนิยามโรคสำหรับเรียกอาการติดเกม ซึ่งพี่ใหญ่ WHO เขาให้คำอธิบายโรคนี้ใน ICD เอาไว้ว่า “อาการติดเกมไม่ว่าจะเป็นรูปแบบดิจิทัลหรือวิดีโอเกม โดยมีพฤติกรรมการเล่นเกมต่อเนื่องซ้ำกันไปมาครั้งแล้วครั้งเล่า ในปริมาณที่มากกว่าสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น” ภายใต้เงื่อนไขที่เป็นคีย์หลัก 3 เรื่อง ได้แก่

  1. ไม่สามารถควบคุมการเล่นเกมได้ ทั้งการเริ่มต้นเล่น ความถี่ ความรุนแรง ระยะเวลา การเลิกเล่นเกม ไปจนถึงบริบทอื่น ๆ
  2. การให้ความสำคัญกับการเล่นเกมเหนือกิจกรรมอื่นในชีวิตและกิจวัตรประจำวัน
  3. แม้พบผลเสียหรือเกิดผลกระทบในทางลบกับตัวเองก็ไม่สามารถหยุดการเล่นเกมได้

Shekhar Saxena ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตและการใช้สารเสพติดบอกว่า สถิติที่เรียกได้ว่าเป็นขั้นที่แย่ที่สุดตั้งแต่เคยพบมาในโลกนี้คือ gamer ที่เล่นเกมต่อเนื่องแบบไม่ทำอย่างอื่นติดต่อกัน 20 ชั่วโมง ข้าวไม่กิน นอนไม่นอน ไม่ไปโรงเรียนหรือทำงาน แต่การวินิจฉัยนี้เป็นอาการที่เกิดขึ้นเพียงชั่วครั้งชั่วคราว ถ้าจะให้วินิจฉัยถึงขั้นบอกได้ว่าเรากำลังเป็นโรคติดเกมอยู่คงต้องใช้เวลากันเป็นปี ๆ

ทว่าในอีกมุมหนึ่งด้านผู้ผลิตวิดีโอเกมก็กล่าวว่า การโยนด้านมืดหรือความเป็นผู้ร้ายให้เกมก็ออกจะไม่ค่อยยุติธรรม เพราะโปรดักส์เหล่านี้ช่วยให้ผู้ใช้มีความสุขและผ่อนคลายมากกว่า 2 พันล้านคนทั่วโลก ทั้งบนเครื่องใช้และแพลตฟอร์มที่ต่างกัน นอกจากนี้การใช้เกมในฐานะเครื่องมือของการรักษาและสันทนาการยังได้รับการยอมรับในวงกว้าง ดังนั้นเหตุผลข้อนี้อาจจะเพียงพอต่อการร้องขอให้ WHO เห็นใจและทบทวนกันใหม่อีกครั้ง

คู่มือด้านการวินิจฉัยและจัดประเภทของโรคระหว่างประเทศหรือ ICD ได้รับการปรับปรุงเสมอมาและปัจจุบันมีโรคที่รวบรวมไว้มากกว่า 55,000 โรคพร้อมสาเหตุการเสียชีวิตของโรคต่าง ๆ ซึ่งถ้าเทียบกันแล้วก็เปรียบได้กับไบเบิ้ลสำหรับผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์เพื่อใช้ด้านสุขภาพ ข้อมูลการถกเถียงกันทางการแพทย์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่แสดงให้เห็นความเคลื่อนไหวทางสังคมด้านสุขภาพ ทีมงาน UNLOCKMEN เห็นด้วยกับทั้ง 2 กรณี ที่ว่าเกมนั้นมีทั้งประโยชน์และโทษควบคู่กัน สุดท้ายการอัปเดตครั้งนี้พวกเราขอทิ้งข้อคิดให้ชาว UNLOCKMEN ส่งท้ายว่า

ผู้ชายอย่างเรา “เล่น” ได้ แต่ต้องอย่าให้อะไรมา “เล่น” เรากลับได้นะ

 

 

SOURCE : 1 / 2

 

 

anonymK
WRITER: anonymK
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line