Entertainment

OTAKU 101: GIRLS DON’T CRY ‘อย่าร้องไห้นะ ไม่มีใครได้ยินหรอก’ บทวิเคราะห์ที่ทำให้เรารู้ว่า ‘ไอดอล’ คืออะไร

By: PERLE August 20, 2018

Spoil Alert! เนื้อหาในบทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาในภาพยนตร์บางส่วน

หลังจากที่มีทั้ง Trailer และบทสัมภาษณ์มากมายออกมายั่วความอยากตลอดทั้งเดือนที่ผ่านมา ในที่สุดเราก็ได้ดู Girls Don’t Cry ภาพยนตร์สารคดีเรื่องแรกของวง BNK48 เสียที และเมื่อดูจบเราอยากเขียนถึงมันทันทีเพราะไม่อยากให้อารมณ์ที่ยังตกค้างอยู่ในใจหายไปเสียก่อน

Coming of Age

อย่างที่เต๋อ นวพล ผู้กำกับบอกไว้ Girls Don’t Cry เป็นสารคดีที่ไม่ว่าคุณจะเป็นโอตะหรือรู้จักเด็กกลุ่มนี้เพียงผิวเผินก็สามารถเข้าถึงสารคดีเรื่องนี้ได้ เพราะนี่ไม่ใช่สารคดีตามติดชีวิตไอดอลแต่คือสารคดี Coming of Age ของวัยรุ่น 26 คนโดยมีคำว่า BNK48 เป็นเพียงฉากหลังเท่านั้น เพียงแต่ Coming of Age ของทั้ง 26 คนนั้นออกจะแตกต่างจากวัยรุ่นทั่ว ๆ ไปสักหน่อย เพราะการก้าวผ่านวัยครั้งนี้ถาโถมเข้ามาอย่างไม่หยุดยั้งราวคลื่นลูกใหญ่ ทุกคนเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดในเวลาแค่ปีกว่า ๆ ต้องเผชิญกับทุกมิติอารมณ์ที่วัยรุ่นคนหนึ่งจะรับไหว

นวพลยังคงร้ายกาจเสมอในการเลือกวิธีการนำเสนอเรื่องราว เขาเล่าเรื่องผ่านมุมมองของทั้ง 26 คนต่อเหตุการณ์แต่ละเหตุการณ์ที่พวกเธอเผชิญทำให้คนดูอย่างเราได้รับรู้ว่าแต่ละคนมีความคิดและทัศคติอย่างไร เป็นการสำรวจตัวตนที่ทำให้คนดูตระหนักว่าพวกเธอแต่ละคนคือ ‘มนุษย์’ คนหนึ่ง ไม่ใช่แค่กลุ่มก้อนที่เรียกว่า ‘ไอดอล’

โรงเรียนแห่งความฝันเลขที่ 48

ถ้าจะเปรียบให้เห็นภาพง่าย ๆ BNK48 ก็ไม่ต่างจากโรงเรียนหญิงล้วนโรงเรียนหนึ่งที่ภาพเบื้องหน้าอาจดูสวยหรูเป็นโรงเรียนที่ดีแต่เบื้องหลังเต็มไปด้วยประเด็นความขัดแย้งซึ่งเกิดขึ้นจากกฎที่ทางโรงเรียนวางไว้ และยิ่งโรงเรียนนี้มีการจัดอันดับนักเรียนทุกคนอย่างชัดเจนยิ่งทำให้นักเรียนทุกคนต้องตกอยู่ภายใต้สภาวะกดดันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

โดยเฉพาะประเด็นที่จิ๊บยกขึ้นมาว่าเธอรู้ตัวดีว่าตัวเองเป็นสมาชิกที่ไม่ได้รับความนิยม บางครั้งเธอก็รู้สึกไม่มั่นใจในการที่จะเป็นเพื่อนกับสมาชิกระดับท็อปของวงยิ่งทำให้ภาพของการเป็นโรงเรียนชัดเจนขึ้นไปอีก

และถ้านี่เป็นโรงเรียน จากเด็กทั้งหมด 26 คนมีเพียง 16 คนเท่านั้นที่จะได้รับทุนการศึกษาทำให้ทุกคนต่างดิ้นรนเพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าตัวเองสมควรได้รับสิ่งนั้น ประเด็นนี้เองทำให้เกิดบรรยากาศย้อนแย้งซึ่งเราเองก็จินตนาการไม่ออกเหมือนกันว่าการเป็นเพื่อนกันแต่ในขณะเดียวกันก็เป็นคู่แข่งกัน เรายินดีที่เพื่อนเราได้รับทุนการศึกษาแต่ก็เสียใจว่าทำไมไม่เป็นเรา คนดูอย่างเราก็ได้แต่สงสัยว่าก้อนอารมณ์ความรู้สึกที่ทั้ง 26 คนแบกไว้อยู่มันรูปร่างหน้าตาเป็นยังไงกันนะ?

โลกนี้มีไอดอลไว้เพื่ออะไร?

ประเด็นที่พูดถึงหน้าที่ของไอดอลขยี้จนเราสะอื้นไห้ออกมาอย่างไม่อาย เป็นการอธิบายความแตกต่างระหว่าง ‘ศิลปิน’ และ ‘ไอดอล’ อย่างชัดเจน ซึ่งทำให้เราเห็นภาพชัดเจนว่าคอนเซ็ปต์การเป็นกำลังใจให้กันและกันระหว่างไอดอลกับโอตะไม่ใช่เรื่องลอย ๆ จับต้องไม่ได้ แต่มันเกิดขึ้นจริง ๆ โอตะหลายคนชีวิตดีขึ้นเพราะไอดอล บางคนมีชีวิตอยู่ต่อไปด้วยกำลังใจที่ได้รับจากไอดอล พวกเขาจึงอยากตอบแทนสิ่งที่ได้รับมาด้วยการส่งคืนกำลังใจกลับไปให้เพื่อบอกว่าเมื่อเธอท้อ เธอเหนื่อย หรือต่อให้เธอไม่ติดเซ็มบัตสึ เป็น Nobody ในวง พวกเราก็ยังอยู่ตรงนี้และรักเธอเหมือนเดิมเสมอ

ต้องพยายามแค่ไหนถึงจะพอ?

“ความพยายามไม่เคยทำร้ายสักคนที่ตั้งใจ”

คำพูดสวยหรูแต่ไม่ใช่เรื่องจริงเสมอไป ความพยายามเป็นอีกประเด็นที่โจมตีเราอย่างหนักโดยเฉพาะมุมมองจากบรรดาอันเดอร์เกิร์ลที่มักจะโดนพูดกรอกหูเสมอว่าเพราะพวกเธอยังพยายามไม่มากพอเลยยังไม่ประสบความสำเร็จในวงดังนั้นต้องพยายามเพิ่มขึ้นอีก พยายามสิ พยายามหน่อย

“แล้วต้องพยายามแค่ไหนถึงจะพอ?”

เพราะสุดท้ายแล้วโลกนี้ก็ตัดสินกันจากภายนอกก่อนทั้งนั้น ถ้าภายนอกไม่น่าสนใจก็ไม่มีใครอยากจะมารับรู้หรอกว่าพวกเธอพยายามกันแค่ไหน พยายามยังไงก็ไม่มีใครเห็นในเมื่อไม่เคยมีสปอร์ตไลต์ส่องมาถึง แล้วจะพยายามไปเพื่ออะไร?

สิ่งที่แบกไว้ภายใต้คำว่า ‘กัปตัน’

เฌอปรางคือหนึ่งคนที่มีบทบาทเด่นในสารคดีเรื่องนี้ และเราชอบประเด็นที่เธอพูดเอามาก ๆ เหมือนเธอได้ระบายสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ในใจภายใต้คำสวยหรูอย่าง ‘กัปตัน’

การต้องทำหน้าที่นี้ทำให้เฌอปรางมีมิติทางความคิดและอารมณ์ซับซ้อนกว่าสมาชิกคนอื่น ๆ อย่างเห็นได้ชัด เธอไม่สามารถสนิทกับใครในวงได้เป็นพิเศษเนื่องจากเธอคือคนควบคุมความเป็นไปทุกอย่างในวงซึ่งหน้าที่นี้ต้องใช้ความยุติธรรมไม่สามารถเอนเอียงได้ แต่ในขณะเดียวกันเธอก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มีอารมณ์ความรู้สึกเหมือนคนทั่วไป

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการที่เธอเป็นกัปตันทำให้เธอได้รับโอกาสและงานดี ๆ มากกว่าคนอื่น ๆ อย่างเห็นได้ชัด ทั้ง ๆ ที่ทักษะการร้องเต้นของเธออยู่อันดับล่าง ๆ ของวงด้วยซ้ำ ซึ่งเรื่องนี้เธอเองก็ยอมรับก่อนที่จะอธิบายความอัดอั้นออกมาว่าจะให้เธอทำยังไง เธอไม่ได้ร้องขอ ไม่ได้อยากเป็นกัปตัน แต่เมื่อได้รับคำสั่งมาก็ต้องทำตาม มีโอกาสดี ๆ เข้ามาจะให้เธอทิ้งมันไปเหรอ เธอรักสมาชิกทุกคน อยากให้ทุกคนได้รับโอกาสดี ๆ แต่ในขณะเดียวกันเธอก็รักตัวเองเช่นกัน ไม่สามารถปฏิเสธโอกาสดี ๆ ที่เข้ามาได้

นวพลชำแหละความรู้สึกเฌอปรางออกมาได้ดีทีเดียว หลายคนคงมองเธอเปลี่ยนไปไม่ว่าในแง่ไหนก็ตาม

Her name is ‘Pupe’

บทความนี้จะไม่สามารถเสร็จสมบูรณ์ได้เลยถ้าไม่ได้เขียนถึงสมาชิกที่ชื่อ ‘ปูเป้’

ปูเป้คือหนึ่งในสมาชิกของ BNK48 ที่ได้รับความนิยมอยู่ในระดับกลาง ๆ แต่สำหรับ Girls Don’t Cry เธอคือผู้ชนะก็ว่าได้ ทุกช็อตที่เธอได้แอร์ไทม์สามารถเรียกเสียงหัวเราะได้ดังสนั่น เธอเติมแต่งสีสันให้สารคดีเรื่องนี้ให้ไม่หมองหม่นจนเกินไป

นอกจากเซนส์ความตลกอันเหลือล้นแล้ว เธอยังมีทัศคติแตกต่างกับสมาชิกคนอื่น ๆ อย่างเห็นได้ชัด มีความหัวขบถนิด ๆ และแสดงมันออกมาอย่างตรงไปตรงมาผ่านบุคลิกที่หลายคนเรียกมันว่า ‘เกรี้ยวกราด’ ซึ่งเธอก็ได้บอกชัดเจนว่าเธอไม่ได้เป็นคนแบบนั้น และเราก็เห็นด้วยว่าเธอก็มีมิติทางอารมณ์ซับซ้อนเหมือนวัยรุ่นทั่วไป ความเกรี้ยวกราดเป็นเพียงหนึ่งในมิตินั้นเท่านั้น

อย่างไรก็ตามขอบคุณปูเป้มาก ๆ ที่ช่วยเติมเต็มสารคดีเรื่องนี้

 

ส่วนตัวเรานั้นชอบสารคดีเรื่องนี้แค่ระดับกลาง ๆ เท่านั้น อาจจะเพราะเราคาดหวังมากเกินไปและเราติดตามพวกเธอทั้ง 26 คนมาอย่างใกล้ชิดนานนับปีทำให้เราไม่รู้สึกตื่นเต้นกับสิ่งที่อยู่ใน Girls Don’t Cry เท่าไรนัก ไม่ปฏิเสธว่านวพลนำเสนอออกมาได้ดีเพียงแต่มันไม่ขยี้อารมณ์เราอย่างที่คาดหวังเท่านั้น ไม่แน่ว่าบางทีคนที่ไม่เคยรู้จักพวกเธอมาก่อนเลยอาจจะชอบมันมากกว่าบรรดาโอตะด้วยซ้ำ

แต่อย่างไรก็ตามไม่ว่าคุณจะรักหรือเกลียด BNK48 ลองรับชมและตัดสินมันด้วยตัวเองดีกว่า

PERLE
WRITER: PERLE
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line