Girls

มีใหม่ให้ลืมเก่า? ผลวิจัยไขปัญหา “รักใหม่ช่วยเราหนีปัญหาจากรักเก่าได้จริงหรือ?”

By: PSYCAT August 25, 2020

น้ำตา บาดแผล และความเจ็บปวดจากการเลิกราถือเป็นความเจ็บปวดที่รับมือได้ยากแสนยากอันดับต้น ๆ คล้ายสมองจะเข้าใจดีว่าเขาต้องจากไป แต่เหมือนหัวใจมันไม่รับรู้ด้วย โดยเฉพาะความสัมพันธ์ที่เคยใช้เวลาร่วมกันมานาน กินของอร่อยมาด้วยกัน ไปเที่ยวที่นั่นที่นี่มาด้วยกัน ทุกคราวที่ของอร่อยเข้าปากน้ำตาจึงร่วง ทุกครั้งที่วนกลับไปเที่ยวที่เก่าความรู้สึกภายในก็กรีดร้องอย่างทรมาน

ความเจ็บปวดที่ยากจะรับมือลำพังชนิดนี้ จึงมักผลักดันให้เรารู้สึกว่า “กูไม่อยากอยู่คนเดียวให้ต้องคิดถึงมึงให้เจ็บอีกแล้วโว้ย!” ตัวแรกอันดับต้น ๆ ของการพยายามลืมความปวดเจ็บและหนีปัญหาจากรักที่ผ่านพ้นไป (หรือแม้ประทั่งที่ยังระหองระแหงยื้อกันอยู่) จึงเป็นการ “มีใหม่ เพื่อลืมเก่า” หลายคนสนับสนุนวิธีนี้ แต่อีกหลายคนก็เคลือบแคลงสงสัยว่ามันช่วยได้จริงหรือ?

การมีคนใหม่สำหรับบางคนไม่ได้หมายความถึงแค่การลืมคนเก่าเท่านั้น แต่อาจหมายถึงความสัมพันธ์ปัจจุบันที่กำลังร่อแร่เต็มที เราวนมาเจอกับปัญหาซ้ำ ๆ เดิม ๆ ที่ทะเลาะกันเป็นรอบที่ร้อย และเรารู้สึกว่าถ้าเลิกกัน ถ้าเปลี่ยนคนใหม่ เราอาจจะไม่ต้องเผชิญปัญหาซ้ำซากนี้ก็เป็นได้

แต่เพราะสิ่งที่เราคิดหรือรู้สึกอาจไม่ตรงกับข้อเท็จจริงเสมอไป (Eventual) stability and change across partnerships. จึงเป็นงานวิจัยที่ไขข้อสงสัยนี้ด้วยระเบียบวิธีให้เราได้ โดยงานศึกษาครั้งนี้ใช้เวลา 8 ปี รวบรวม วิเคราะห์ข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง 554 คน

งานวิจัยนี้มุ่งสำรวจปัญหาในระยะยาว โดยนักวิจัยได้สำรวจผู้คนใน 4 ช่วงเวลา คือ 1 ปีก่อนที่ความสัมพันธ์เดิมของพวกเขาจะสิ้นสุดลง, 1 ปีสุดท้ายของความสัมพันธ์เดิม, 1 ปีแรกของความสัมพันธ์ใหม่ และ 1 ปีหลังจากความสัมพันธ์ใหม่เริ่มขึ้น

สำหรับประเด็นที่นักวิจัยเลือกศึกษาเพื่อทบทวนความสัมพันธ์ ได้แก่  ความพึงพอใจ, ความถี่ในการมีเพศสัมพันธ์, ความสามารถในการเปิดใจกับอีกฝ่าย, ความถี่ที่พวกเขาแสดงความชื่นชมกันและกัน และ ความมั่นใจว่าความสัมพันธ์จะคงอยู่ต่อไปหรือไม่

ผลวิจัยออกมาว่า “พลวัตรทางความสัมพันธ์” ที่เราเคยเผชิญกับความสัมพันธ์เดิม จะตามมายังความสัมพันธ์ใหม่ในท้ายที่สุด หลังจากช่วงเวลาอันหวานชื่นของความสัมพันธ์ใหม่จบลง ทั้งในแง่วิธีที่เราโต้ตอบกับคู่ของเรา ไปจนถึงความพึงพอใจโดยรวม

Matthew Johnson นักวิจัยกล่าวอีกว่า “แม้ว่าความสัมพันธ์บางอย่างอาจเปลี่ยนไป แต่คุณก็ยังคงเป็นคุณคนเดิม ดังนั้นคุณมีแนวโน้มจะสร้างรูปแบบความสัมพันธ์เดียวกันนี้ขึ้นใหม่กับความสัมพันธ์ใหม่อยู่ดี”

“ความรักครั้งใหม่นั้นมันดี มันยอดเยี่ยม แต่ความสัมพันธ์ก็ยังต้องดำเนินต่อไปในจุดที่คุณเคยผ่านมา”

นักวิจัยยังระบุเพิ่มเติมว่าเมื่อมีความสัมพันธ์ครั้งใหม่ ใช่ เราอาจจะรู้สึกตื่นเต้นกว่าเดิม ถูกดึงดูดกระตุ้นเร้าทางเพศกว่าเดิม แต่ในแง่ความพึงพอใจทางเพศอาจไม่เพิ่มขึ้น

แม้พลวัตรส่วนใหญ่ของความสัมพันธ์ใหม่จะคล้าย ๆ ความสัมพันธ์เก่า แต่สิ่งที่เห็นชัดว่าเพิ่มขึ้นเมื่อมนุษย์มีความสัมพันธ์ใหม่คือการมีเซ็กซ์ถี่ขึ้น และการเอ่ยปากชื่นชมกันและกันมากขึ้น อย่างไรก็ตาม Matthew Johnson ตั้งข้อสังเกตว่าระดับความพึงพอใจทางเพศมีแนวโน้มที่จะคงเดิม (พอ ๆ กับความสัมพันธ์ก่อนหน้า) แม้ว่าความถี่จะเพิ่มขึ้นก็ตาม

นอกจากนั้นผู้คนอาจรู้สึกว่าความสัมพันธ์ใหม่แตกต่าง น่าดึงดูด และเยียวยาหัวใจอันเหนื่อยล้าได้ แต่อย่าลืมว่านั่นเป็นเพราะความสัมพันธ์เก่ามันจบลงด้วยความรู้สึกที่ไม่ดี

“สิ่งต่าง ๆ เลวร้ายสุดขีดเมื่อความสัมพันธ์สิ้นสุดลง ดังนั้นไม่แปลกที่เมื่อเราเริ่มต้นใหม่ทุกอย่างมันก็ดูดีไปหมดในตอนแรก อย่าลืมว่าในช่วงต้นความสัมพันธ์ เราไม่ได้เกี่ยวข้องกับคู่ของเราในชีวิตประจำวัน เช่น การแบ่งกันทำงานบ้าน การใช้ชีวิตร่วมกัน ความสัมพันธ์ใหม่นั้นยังอยู่ในช่วงหวานชื่นที่ไม่ต้องเจอสิ่งเหล่านั้น” Matthew Johnson กล่าว

ในความเป็นจริงความสัมพันธ์ของมนุษย์จบลงด้วยเหตุผลหลายประการ และการเลิกราไม่ควรถูกมองว่าเป็นความผิดพลาด แต่สิ่งเดียวที่เป็นปัญหาคือการที่เราคิดว่า “แค่เปลี่ยนใหม่ก็จบ” เพราะถ้าเราไม่เรียนรู้จากความผิดพลาดของตัวเองในความสัมพันธ์ครั้งเก่า ความสัมพันธ์ครั้งใหม่ก็มีแนวโน้มที่จะดีในช่วงแรกและลงท้ายแบบเดิมได้

นักวิจัยให้ความเห็นเพิ่มเติมว่าการมีคนใหม่ เริ่มต้นความสัมพันธ์ใหม่ ไม่ได้แปลว่าอะไร ๆ จะแตกต่างไปจากเดิม งานวิจัยชิ้นนี้ทำให้เห็นว่าบางคนสามารถมีรูปแบบความสัมพันธ์ซ้ำ ๆ เจอปัญหาซ้ำ ๆ ได้ แม้จะเปลี่ยนคน แม้จะมีรายละเอียดความสัมพันธ์ที่แตกต่าง

สิ่งที่สำคัญคือการที่เราต้องรู้จักและเข้าใจตัวเองให้ได้ว่าเราเป็นใคร เราต้องการอะไรจากความสัมพันธ์ ความเข้าใจตัวเอง และการเปิดใจ รวมถึงตรงไปตรงมาต่อความรักในอดีต มีผลให้เราเริ่มต้นความรักครั้งใหม่ได้ดีกว่าเดิม เพราะการมีคนใหม่ มันมักทำให้โลกเราสวยงามเกินจริง เราคิดว่าปัญหาจบแล้ว คิดว่าแค่เริ่มใหม่แปลว่าทุกอย่างจะดีขึ้น แต่การมองตัวเองและรักครั้งเก่าอย่างตรงไปตรงมาต่างหากที่จะทำให้เราเรียนรู้ตัวตนของเรา เพื่อสื่อสารและมีความสัมพันธ์ครั้งใหม่ได้ดีขึ้น

UNLOCKMEN’S OPINION: แม้งานวิจัยจะบอกว่าความสัมพันธ์ครั้งใหม่ มีแนวโน้มจะวนกลับไปในลูปคล้าย ๆ เก่า แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราต้องทนหรือจมอยู่กับความสัมพันธ์ครั้งเก่าตลอดกาล เพียงเพราะกลัวว่าเดี๋ยวครั้งใหม่มันก็จบห่วยเหมือนเดิม

จริง ๆ งานวิจัยชิ้นนี้บอกในสิ่งที่เรารู้กันดีอยู่แล้วว่าความสัมพันธ์ทุกความสัมพันธ์มีช่วงหวานซึ้งโลกชมพู และเมื่อเราใช้ชีวิตกันไปมันก็ย่อมเห็นด้านมืดดำยากจะรับไหวของกันและกันเป็นธรรมดา

ความสำคัญจึงไม่ใช่ว่ามีใหม่ เพื่อลืมเก่า แต่ความสำคัญอยู่ที่ว่าเมื่อความสัมพันธ์นั้นจบลงไปแล้ว เราเรียนรู้อะไร? เรารู้จักตัวเองมากขึ้นอย่างไร? เราต้องการอะไรจากความสัมพันธ์ใหม่? และเราจะทำอะไรเพื่อให้ความสัมพันธ์ครั้งต่อไปไม่ลงเอยแบบที่เราไม่ชอบอีก?

เราไม่อาจตัดสินว่ามีใหม่เพื่อลืมเก่านั้นถูกหรือผิด หากอ้างจากงานวิจัยในแง่ความรู้สึก การมีคนใหม่ก็เป็นช่วงโลกสดใสที่เยียวยาเราได้จริง แต่ท้ายที่สุดในระยะยาวก็ขึ้นอยู่กับว่าเราดูแลความสัมพันธ์นั้นอย่างไร หรือถ้าคนที่กำลังระหองระแหงกันอยู่ ก็อาจหาทางปรับกันดูอีกสักตั้ง เพราะหากไม่เรียนรู้ หรือปรับตัว ต่อให้มีใหม่กี่ครั้งก็อาจลงเอยแบบเดิม ๆ

 

SOURCE: 1, 2, 3

 

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line