Girls

ZERO TO HERO : การต่อสู้วัดฝีมือ ไม่ใช่หน้าตา ‘ริกะ อิชิเกะ’นักสู้ผู้มอง MMA เป็นชีวิตไม่ใช่แค่อาชีพ

By: PSYCAT April 13, 2020

“นักสู้”ในจินตนาการคุณเป็นแบบไหน? ผู้ชายเจนโลกร่างกายแข็งแกร่งดุดัน บุรุษกล้ามหนาที่พร้อมบุกดะไม่ยั้ง หรือหนุ่มอายุน้อยปราดเปรียวว่องไวสักคน แต่น้อยคนนักที่จะจินตนาการ “นักสู้” ออกมาเป็นมนุษย์ผู้หญิง โดยเฉพาะมนุษย์ผู้หญิงหน้าตาชวนมองที่ใครต่อใครก็พาลตัดสินไปแล้วว่าเธอไม่เหมาะกับคำว่านักสู้ในความเข้าใจของคนทั่วไปเอาเสียเลย

แต่หากการเป็นนักสู้ ไม่ได้วัดที่เพศ รูปร่าง หน้าตา หรือแม้แต่พละกำลัง แต่การต่อสู้วัดกันที่ “สมอง” และ “หัวใจนักสู้” ส่วนที่เหลือคือส่วนผสมของความพยายาม การฝึกซ้อมหนักหน่วง ควบรวมกับใจรัก ถ้าเช่นนั้นทำไม่ผู้หญิงหน้าตาสะสวยสักคนจะเป็นนักสู้ที่เก่งกาจไม่ได้?

เราคงไม่ต้องพิสูจน์ให้มากความ เพราะบนโลกใบนี้มีผู้หญิงสวยและต่อสู้เก่งสมกับคำว่า “นักสู้” อยู่จริง โดยหนึ่งในนั้นที่เรายินดียกตำแหน่งนักสู้ให้อย่างภาคภูมิใจคือ “ริกะ อิชิเกะ” นักสู้แบบผสมหญิงชาวไทยคนแรกในสังเวียน MMA ระดับอาชีพ ที่ใครหลายคนอาจคุ้นกับฉายา Tiny Doll ของเธอ

เธอคือนักมวย MMA ในรายการ ONE championchip ที่ไม่ได้ผ่านแค่การต่อสู้บนสังเวียนมาอย่างดุเดือดเท่านั้น แต่การต้องเป็นนักสู้หญิงอย่างเด็ดเดี่ยวท่ามกลางคำสบประมาทและการฝึกซ้อมที่มีข้อจำกัดนั้นก็ไม่ง่ายเลย

แต่เธอทำได้ ทำได้ด้วยฝีมือ ความพยายาม การฝึกซ้อมล้วน ๆ นี่จึงเป็นบทสนทนาที่เราอยากชวนทุกคนมารู้จัก “นักสู้” ใจแกร่งอย่างเธอ ตั้งแต่จุดเริ่มต้น จุดเปลี่ยน จุดเดือด จุดแข็ง ไปจนถึงจุดต่อไปจากนี้ที่เธอกำลังมุ่งหน้าไป

จุดเริ่มต้น: เส้นทางนักสู้ MMA เริ่มต้นที่เคยโดนแกล้งมาก่อน

ตอนเด็ก ๆ เคยโดนแกล้งไหม? ถ้าเคย คุณเลือกวิธี “สู้กลับ” แบบไหน? บางคนเลือกฟาดกลับไปไม่ยั้งทันที บางคนเลือกกลับไปบอกคุณครู บางคนเลือกเงียบไว้เพื่อตั้งหลัก แต่จะมีกี่คนที่เลือกสู้กลับด้วยการไปเรียนศิลปะการต่อสู้อย่างจริงจัง?

เด็กหญิงริกะ อิชิเกะ คือหนึ่งในไม่กี่คนที่เลือกวิธีนั้น จุดเริ่มต้นคือการโดนแกล้งเมื่อครั้งยังเป็นเด็กหญิง สู่การเรียนรู้ศิลปะการต่อสู้อย่างจริงจังในแบบของเธอ

“ย้อนกลับไปถึงตอนที่เริ่มฝึก อายุ 12-13 ตอนนั้นอยู่มัธยมต้น เราโดนแกล้งที่โรงเรียน อยากหาอะไรมาไว้ป้องกันตัวเอง เลยเริ่มจากฝึกไอคิโด้กับคาราเต้ก่อน พอฝึกมาสัก 2-3 ปี ต้องหยุดไป เพราะการเรียนด้วย เราต้องสอบเข้ามหา’ ลัย ก็หยุดไปนานเลย จนกลับมาอีกครั้งช่วงวัยทำงาน”

“ตอนเริ่มเล่นกีฬา MMA ไม่ได้คิดว่าต้องเป็นนักกีฬาหรือต้องแข่งขัน เราคิดแค่อยากกออกกำลังกาย แต่ที่ไม่เลือกวิ่งโยคะ ว่ายน้ำ เพราะรู้สึกว่าเราทำไม่ได้ เรารู้สึกว่าศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวเป็นสิ่งที่เราชอบมาตั้งแต่เด็กอยู่แล้ว เราก็เลยมาฝึก MMA” 

“ตอนนั้นริกะเริ่มฝึกที่สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่นดินแดง ไม่ได้มีใช่จ่ายอะไร แต่เราก็ต้องเดินทางไปฝึกคนเดียว ตอนนั้นก็ยังเด็กอยู่ ตอนบอกที่บ้าน เขาก็โอเค เพราะเขาสนับสนุนเรื่องการเล่นกีฬาอยู่แล้ว ไม่ได้มีปัญหาอะไร”

“หลังจากที่ฝึกศิลปะการต่อสู้มาก็ไม่มีใครมาแกล้งแล้ว ไม่ใช่เพราะว่าทุกคนกลัว แต่เรารู้สึกเหมือนกับวิธีคิดของเราเปลี่ยนไป การที่เราจะมีเรื่อง เราต้องไม่เอาตัวเราไปอยู่ในสถานการณ์ที่จะมีเรื่อง พอเราฝึกแล้ว ทำให้เรารู้สึกระวังตัวเองมากขึ้น รู้สึกว่าเราไม่พยายามทำตัวเสี่ยงให้ไปมีเรื่อง อาจจะโชคดี เพราะช่วงนั้นย้ายโรงเรียนด้วย โรงเรียนใหม่ไม่มีใครแกล้งเราแล้ว”

จุดเปลี่ยน: เรียนรู้ช้า แต่ไม่หยุดพยายาม และถามตัวเองว่าไปได้ไกลแค่ไหน?

ศิลปะการต่อสู้ไม่ใช่เรื่องง่าย กับเด็กหญิงริกะ ณ ขณะนั้นก็ไม่ได้ง่ายเช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อเธอยอมรับว่าเธอไม่ใช่คนที่เรียนรู้อะไรได้เร็ว สิ่งสำคัญจึงเป็นความตั้งใจและความพยายาม แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ คือการท้าทายขีดจำกัดของตัวเอง เธออยากรู้ว่าสุดปลายสายของศิลปะป้องกันตัวของตัวเองจะไปสุดที่ตรงไหน และเมื่อนั้นเองที่เธอตัดสินใจลงแข่งขัน…

“ตอนนั้นริกะรู้สึกว่ามันเป็นอะไรที่ยากมากค่ะ เพราะเราไม่ใช่คนที่เรียนรู้ไวขนาดนั้น แต่เราเป็นคนพยายาม และตั้งใจมากจริง ๆ มันเหนื่อยมาก มีเจ็บตัวบ้างเล็กน้อย แต่เรารู้สึกว่า เฮ้ย เราน่าจะทำได้แหละ ก็พยายามฝึกมาเรื่อย ๆ ก็ทำได้จริง ๆ”

“จุดเปลี่ยนที่ทำให้เราแค่ออกกำลังกายมาเป็นนักกีฬา เราเชื่อว่าหลาย ๆ คนก็คงเป็นเหมือนกัน เวลาที่เราฝึกหรือเราเริ่มทำอะไรใหม่ ๆ เราก็อยากจะรู้ว่าเราจะไปได้ไกลแค่ไหน? หรือว่าผลจะเป็นอย่างไร?

ตอนนั้นริกะก็เริ่มที่จะไปลงแข่งสมัครเล่นดูก่อน เราอยากรู้ว่าที่เราฝึกมาใช้ได้จริงไหม หรือมันอยู่ในระดับไหน พอไปแข่งปุ๊บก็รู้สึกว่า เออ เราก็ทำได้เหมือนกันนี่ หลังจากนั้นก็ลาออกจากงานประจำ ตั้งใจฝึกอย่างเต็มตัว แล้วประมาณหนึ่งปีก็ได้เซ็นสัญญากับ ONE Championship”

“ตอนที่เราจะลงไปสุดตัวกับการต่อสู้ กับกีฬาตรงนี้ ที่บ้านไม่ได้สนับสนุนค่ะ เขาคิดว่าเป็นอาชีพที่อาจไม่มั่นคง และไม่อยากให้เราเจ็บตัว หลัก ๆ เลย เราอธิบายเขาไปว่า MMA ไม่ได้น่ากลัวขนาดนั้นนะ เราอธิบายกติกา เราอธิบายว่ามันมีโอกาสที่จะก้าวหน้าไปมากกว่านั้น แล้วมันก็มั่นคงกว่าที่คิด ถามว่าเขาเข้าใจได้ไหม ก็เข้าใจ แต่ตอนนี้อยากให้ทำไหม? เขาก็ยังเป็นห่วงสุขภาพเราอยู่ดี”

“ตอนนั้นถามว่ากลัวไหม กลัวความไม่มั่นคงไหม เราชอบการเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว เราเชื่อว่าทุกการเปลี่ยนแปลงมันดีเสมอ ถึงต่อให้มันจะแย่ แต่ว่าต้องมีอะไรดี ๆ คืนมา ส่วนความไม่มั่นคง มันขึ้นอยู่กับคน ถ้าเรามั่นใจแล้วก็ลงมือทำอย่างเต็มที่ เราคิดว่ายังไงเราก็ต้องไปต่อได้แน่นอน”

“ความมั่นคง มันขึ้นอยู่กับว่าเรา ทุ่มเทในงานนนั้นมากแค่ไหน คนจะเป็นฟรีแลนซ์ก็สามารถมั่นคงได้ ถ้าเราทุ่มเทกับงาน ใส่ใจงานจริง ๆ มากพอ

คนอยากมาเป็นนักกีฬาหรืออยากเริ่มอะไรใหม่ ๆ ควรจะเริ่มเลย อย่าคิดแต่ว่าเราต้องพร้อมก่อน เราคิดว่าเรายังไม่มีอุปกรณ์ กล้อง สมมติอยากเป็นบล็อกเกอร์ก็ได้ กล้องมันยังไม่ค่อยดี ถ่ายได้ไงไม่มีกล้อง ยังไม่มีนั่นนี่อะไรแบบนี้ ถ้าเป็นอย่างนั้นมันจะประสบความสำเร็จยากค่ะ ถ้าเราคิดว่าเราจะทำอะไร ให้ทำไปเลย เดี๋ยวมันจะดีเอง เริ่มก่อนได้เปรียบก่อน”

จุดประกายชีวิต: MMA ไม่ใช่แค่อาชีพ แต่คือชีวิต

แม้เธอจะเชื่อว่า MMA คือสิ่งหนึ่งที่เธอตามหา เชื่อมั่นจนเลือกลาออกจากงานประจำเพื่อมาทุ่มเทให้การฝึกฝนอย่างเต็มที่ แต่สำหรับเธอแล้ว MMA ไม่ใช่แค่อาชีพใหม่เท่านั้น มันคือลมหายใจและชีวิต ที่เธอต้องเคารพตัวเองและการฝึกซ้อมตั้งแต่วินาทีที่ลืมตาตื่น ไปจนถึงวินาทีที่เข้านอน

“หลังลาออกจากงานประจำ การดำเนินชีวิตเรื่องงานมันเปลี่ยนมาก ๆ เปลี่ยนชีวิตเราไปมาก ๆ เพราะปกติแล้วเราเป็นคนที่ขี้เกียจ ตื่นสาย เป็นคนชิล ๆ แต่พอเป็นนักกีฬาเราต้องมีระเบียบวินัยมากขึ้น เคารพตัวเองมากขึ้น หลายคนอาจคิดว่าสบาย 

การไปทำงานออฟฟิศมีกำหนดระยะเวลาว่าเราต้องเข้างานกี่โมง เลิกกี่โมง แต่การมาเป็นนักกีฬา MMA มันไม่ได้มีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน เราต้องเป็นเจ้านายตัวเอง เราต้องกำหนดเองว่าถ้าเราไม่ซ้อมให้หนัก ไปชกจริงเราอาจจะแพ้ได้ เจ็บตัว อาจจะบาดเจ็บ ซึ่งการบาดเจ็บสำหรับนักกีฬา เป็นสิ่งที่แย่มาก เพราะเท่ากับว่าเราต้องหยุดการซ้อมไปอีกนานเลย”

“MMA คือไลฟ์สไตล์ มันไม่ใช่แค่อาชีพหนึ่งที่เราทำให้จบ ๆ ไป มันคือวิถีชีวิตของเราเลย”

“นอกจากเรื่องของระเบียบวินัยมันก็ทำให้เรารู้สึกว่าเราเป็นคนใจเย็นมากขึ้น เพราะว่าเรารู้แล้วว่าการต่อสู้มันเจ็บนะ ถ้าเราไปมีเรื่องข้างนอกมันไม่คุ้ม มันได้ไม่คุ้มเสีย ถ้าเราเอาความสามารถตรงนี้ไปใช้บนเวทีมันดีกว่า เพราะมันทำให้คนอื่นเห็น แล้วมันก็ทำให้ได้โอกาสเรื่องชื่อเสียงเงินทอง ได้เป็นตัวอย่างที่ดีให้คนทั่วไปได้ด้วย”

“MMA คือไลฟ์สไตล์ มันไม่ใช่แค่อาชีพหนึ่งที่เราทำให้จบ ๆ ไป มันคือวิถีชีวิตของเราเลย ตั้งแต่ ตื่นนอนขึ้นมา เราต้องดูแลตัวเอง เราต้องรักษาสุขภาพ เราต้องไปซ้อม เราต้องพักผ่อนให้เพียงพอ เหมือนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราจริง ๆ”

“การต่อสู้มันยกระดับจิตใจเราด้วย เนื่องจากว่าอย่างแรกสุดก็คือเวลาที่เรามีเรื่อง หรือใช้ศิลปะการต่อสู้ ถ้าเราใช้ไม่ถูกวิธี ไม่ถูกที่ถูกทาง มันก็ทำให้เราบาดเจ็บ เสียชีวิต เสียทรัพย์สิน แล้วเราก็จะไม่สามารถเอาร่างกายของเราไปใช้ในอาชีพของเราได้ มันเลยทำให้เรายับยั้งชั่งใจ คิดถี่ถ้วน คิดหลาย ๆ รอบก่อนที่เราจะไปทะเลาะหรือเถียงกับใคร มันทำให้เรารู้สึกว่าเราเป็นคนที่ดีขึ้นได้จากการฝึกศิลปะการต่อสู้”

จุดเดือด: ได้ดีเพราะสวย? สู้บนสังเวียน สู้กับคำสบประมาท

ใคร ๆ ก็ชอบคนสวย หลายคนอาจคิดอย่างนั้น และคิดว่าความสวยน่าจะเป็นเรื่องเชิงบวกสำหรับผู้หญิงสักคน แต่กับริกะแล้วความสวยคล้ายจะเป็นความท้าทายใหญ่ที่มักมาบดบังฝีมือ ความพยายาม และความตั้งใจของเธอพอสมควร โดยเฉพาะคำสบประมาทของคนที่พลั้งปากแบบชุ่ย ๆ ว่าเธอมาถึงจุดนี้ได้เพราะความสวย

เธอตอบเราfh;pสายตาเด็ดเดี่ยวจริงจัง ถามเราว่าถ้าอยู่บนสังเวียนกำลังหน้าสิ่วหน้าขวานหวดใส่กันไม่ยั้ง ใครจะมาสนว่าใครสวยมาก เลยยั้งมือ ใครสวยน้อย เลยเอาให้หนัก? มันมีแค่เตรียมพร้อมมาดีแค่ไหน เทคนิคหลักแหลมยังไง วัดที่ความสามารถทั้งนั้น ไม่ใช่หน้าตา…

“ความสวยเป็นปัญหา แค่ไม่ใช่ปัญหาของเรา แต่เป็นปัญหาของคนอื่น ริกะจะมักจะโดนดูถูก คนจะมองว่าที่มาอยู่ตรงนี้ได้เพราะความสวยหรือเปล่า? ซึ่งมันคือปัญหา มันทำให้เรากดดันมาก ๆ เพราะเราต้องทำให้ดีกว่ามาตรฐาน เพราะถ้าเราทำแค่มาตรฐาน เขาก็แค่ โอเค ก็สู้ได้

แต่ว่าเราต้องทำให้มันดีขึ้นเพื่อคนจะได้ไม่มองว่าเรามาตรงนี้เพราะใช้หน้าตา แต่ถ้าถามว่า มันเป็นปัญหาของริกะไหม ไม่เลย ริกะไม่ได้แคร์เรื่องความสวยหน้าตาหรืออะไร เพราะเราคิดว่ามวยมันคือความสามารถ เราอยู่จุดนั้น เราต้องใช้ความสามารถของตัวเอง ไม่ใช่ว่าเราหน้าตาดีแล้วคู่ต่อสู้เราจะอ่อนข้อให้เหรอ? มันไม่ใช่เลย”

“มวยมันคือความสามารถ อยู่จุดนั้น เราต้องใช้ความสามารถของตัวเอง ไม่ใช่ว่าเราหน้าตาดีแล้วคู่ต่อสู้เราจะอ่อนข้อให้เหรอ? มันไม่ใช่เลย”

“ไฟล์ตแรกที่แข่ง ONE Championship  จริง ๆ เราไม่ได้รู้อะไร จนกระทั่งมีคนหนึ่งเขาแท็กมาในเฟซบุ๊กบอกว่าผมก็ไปดูเหมือนกัน มันคือการแสดง จะด่าเราไม่เก่ง จะด่าว่าอะไรเรา เราไม่โกรธเลย แต่มาบอกว่ามันคือการเตี๊ยมมา เราไม่เข้าใจว่า การที่คุณมาดูถูกเราไม่พอ แต่คุณดูถูกคู่ต่อสู้เราด้วย เราและคู่ต่อสู้ฝึกกันมาหนัก เพื่อมาต่อสู้กันให้คนอื่นเห็น แต่กลับถูกมองว่าเป็นการแสดง ตอนนั้นโกรธมาก โกรธสุด ๆ”

“แต่ตอนหลังเราก็มาคิดว่าก็มีแค่คนนี้คนเดียวนี่หว่าที่ว่าเราอย่างนั้น มองเราอย่างนั้น สุดท้ายก็คิดว่า ช่างมันเถอะ ร้อยคนร้อยความคิด สู้เราโฟกัสที่ตัวเองดีกว่า”

“สำหรับริกะ อุปสรรคในการฝึกซ้อมของผู้หญิงคือคู่ซ้อม เพราะส่วนใหญ่ในไทย MMA ก็ยังจะมีคู่ซ้อมที่เป็นผู้หญิงน้อย อย่างถ้าซ้อมที่กรุงเทพฯ ต้องซ้อมกับผู้ชาย เพราะไม่มีคู่ซ้อมที่เหมาะสม ตัวขนาดใกล้เคียงกัน ก็ต้องหาผู้ชายขนาดใกล้กันมาซ้อม มันก็เป็นอุปสรรคเหมือนกัน กะระยะแรงกันไม่ถูก ก็เป็นอุปสรรคที่หนักเหมือนกัน”

จุดแข็ง: ท้อได้แต่ไม่หยุด ยิ่งกดดัน ยิ่งต้องสู้เต็มที่

คำสบประมาทและการต้องพยายามให้เกินมาตรฐานอยู่เสมอก็อย่างหนึ่ง ไหนจะข้อจำกัดด้านการฝึกซ้อมที่ไม่ได้ราบรื่นเหมือนนักสู้ชาย “ความท้อ” คงมาเยือนนักสู้อย่างเธอบ้าง และคำตอบของเธอก็ทำให้เราเข้าใจว่าการเป็นนักสู้ มันไม่ได้หมายถึงการสู้ด้วยร่างกายเท่านั้น แต่เธอมีใจแข็งแกร่งพร้อมสู้แบบที่เราต้องศิโรราบ

“เราเชื่อว่าความท้อมีกันทุกคน ไม่ว่าจะเป็นนักกีฬา คนทำงานออฟฟิศ ฟรีแลนซ์ก็ท้อได้ แต่ท้อแล้วไม่เคยคิดจะเลิกสักครั้ง เราคิดว่านี่คือความรักของเรา นี่คือสิ่งที่เราทุ่มเททั้งหมดเพื่อมัน เวลาที่เรารู้สึกท้อจะคิดถึงวันแรกที่เราทุ่มเท เสียสละ ออกจากงานมา เราจะถามตัวเองว่าเราทำเพื่ออะไร? อ๋อ เพราะความรักใช่ไหม ฉะนั้นถึงเราจะเหนื่อยกับความรัก แต่เราไม่มีวันจะเลิกรัก หรือออกจากความรักนี้ไปได้”

“แต่ท้อแล้วไม่เคยคิดจะเลิกสักครั้ง เราคิดว่านี่คือความรักของเรา นี่คือสิ่งที่เราทุ่มเททั้งหมดเพื่อมัน”

“การสู้กับคนตัวใหญ่กว่า เราคิดว่า MMA มันไม่ใช่เรื่องพละกำลังอย่างเดียว มันเป็นเรื่องของการเตรียมตัวที่พร้อมและเทคนิค ริกะเชื่อว่าคนชนะคือคนที่เตรียมตัวมาดีกว่ามันไม่จำเป็นจะต้องตัวใหญ่กว่า บางที Size doesn’t matter”

“แต่ถ้าเทียบกับการเจอปัญหาใหญ่ ๆ ริกะคิดว่าเวลาเจอปัญหาอะไรใหญ่ ๆ ถ้าคนเราเอาตัวเข้าไปอยู่ในปัญหา เราจะไม่สามารถที่จะหาทางแก้ไขได้ แต่ถ้าเราถอยสเต็ปออกมาเพื่อมองปัญหา ดูปัญหา แล้วก็พยายามหาวิธีการแก้ไข ก็มีโอกาสที่จะทำสำเร็จมากขึ้น”

“ถ้าเราทำเต็มที่ทุกอย่าง ผลจะแพ้หรือชนะเราไม่เสียใจเลย เราแค่อย่าไปกังวลเกินกว่าที่ควรจะเป็น”

“บนสังเวียนเวลาที่เราเจอความกดดันจากคู่ต่อสู้ จากฝูงชน จากทุกอย่าง เอาจริงริกะไม่ได้เก็บตรงนี้มาคิดเยอะ เพราะเราคิดว่าเราทำเต็มที่ที่สุดอย่างที่เราซ้อมมา

ถ้าเราทำเต็มที่ทุกอย่าง ผลจะแพ้หรือชนะเราไม่เสียใจเลย เราแค่อย่าไปกังวลเกินกว่าที่ควรจะเป็น เราคิดแค่ตรงหน้า ทุกอย่างที่เราเตรียมตัวมาก็เพื่อวันนี้ เราจะไม่ไปกดดดันตัวเองมากค่ะ เราจะใช้ทุกสิ่งที่เรามีกับตรงนี้ เพื่อแก้ปัญหาตรงนี้”

จุดสูงสุด: แม้เชื่อว่ามาไกล แต่ยังต้องไปต่อ

เราทุกคนมีนิยามความสำเร็จอยู่ในใจ แต่สำหรับนักสู้ MMA ที่เคยคว้าชัยชนะมาได้แล้วหลายต่อหลายครั้งอย่างเธอจะมองความสำเร็จมีรูปร่างหน้าตาแบบไหน? เมื่อชนะครั้งหนึ่ง แปลว่าสำเร็จตลอดไปหรือเปล่า? หรือมันยิ่งกดดันขึ้นกว่าเดิมเมื่อเราแบกคำว่าชัยชนะไว้บนบ่าไปขึ้นสังเวียนครั้งหน้าด้วย?

“ตอนนี้คิดว่าเรามาไกลจากตอนนั้นมาก ๆ ทั้งเรื่องฝีมือ ทุกอย่าง ชื่อเสียง เงินทอง มาไกล แต่เราว่าตอนนี้ก็ยังไม่ถึงครึ่งทางที่เราหวังไว้ เราก็ยังอยากไปต่อเรื่อย ๆ อยากพัฒนาตัวเองไปถึงจุดที่ เราไม่ได้พูดว่ามันคือจุดสูงสุดเพราะเราคิดว่าไม่มีอะไรที่เป็นจุดสูงสุด ถ้าเรายังพัฒนาตัวเอง หรือเรายังมีเป้าหมายที่จะไปต่อได้”

“คนเราไม่ควรจะหยุดพัฒนา ถ้าเราตั้งเป้าหมายไว้ว่าเราจะถึงจุดนี้ พอเราไปถึงแล้วยังไงต่อ? เราก็เคว้งคว้าง ว่างเปล่า คือเราคิดว่ามันต้องมีเป้าหมายไปเรื่อย ๆ เป้าหมายของเรา มีไปจนเราตาย”

“จริง ๆ ทุกการแข่งขันมันต้องทำเต็มที่อยู่แล้ว เราต้องพัฒนาทุกครั้งที่ชก เพราะเหมือนเราได้เพิ่มค่าประสบการณ์ของตัวเองขึ้นไปเรื่อย ๆ แต่ว่ายังไงก็ตาม มันเต็มที่ทุกครั้งอยู่แล้วในการฝึกฝนและการชก เพราะเราไม่รู้หรอกว่า เราอาจรู้คร่าว ๆ ว่าคู่ต่อสู้เป็นแบบนี้ เป็นแบบนี้ แต่พอถึงสนามจริง ทุกคนก็วางแผนของตัวเองมา เพราะฉะนั้นเราก็ต้องเต็มที่ทุกคนในการที่จะต่อสู้”

“ความสำเร็จในนิยามของริกะคือการไม่หยุด เป้าหมายระยะสั้นมันอาจจะสำเร็จไปแล้วก็จริง แต่ว่าระยะยาวมันก็ต้องมีเป้าหมายใหม่ไปเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้นต่อให้สำเร็จในระยะสั้นแล้ว เราก็ยังควรต้องทำต่อไปเรื่อย ๆ เพื่อให้สำเร็จในระยะยาว และจะต้องมีเป้าหมายต่อไป ๆ ๆ ไม่หยุด”

“ริกะก็เห็นหลายคนที่เขาประสบความสำเร็จ แต่ริกะเชื่อว่าคนที่ประสบความสำเร็จ เขาก็ไม่ได้คิดว่าตัวเองจะหยุด จะพอ ไม่อย่างนั้นเขาก็คงไม่ได้มาถึงจุดนี้ เขาก็คงมีเป้าหมายของเขาที่จะใหญ่ขึ้น

จริง ๆ ความสำเร็จไม่จำเป็นจะต้องเป็นคนรวย หรือมีชื่อเสียงดังที่สุดในประเทศมันอาจแค่สำเร็จจากการที่เราตื่นนอนมาตอนเช้า เราได้ออกกำลังกาย หรือว่าเราได้ทำในสิ่งที่เราชอบ ได้ทำอาหาร ได้ทำอะไรก็ตาม มันก็คือความสำเร็จแล้วเหมือนกัน”

จุดต่อไป: สร้างความเข้าใจ เพราะการต่อสู้ไม่ใช่กุ๊ย แต่สมองและกำลังต้องไปด้วยกัน

ถ้าความสำเร็จตามนิยามของริกะคือการไม่หยุดอยู่กับที่ เราก็เชื่อว่าเธอต้องมีเป้าหมายต่อไปในหัวใจอันแข็งแกร่งของเธออยู่แล้ว แต่เราประหลาดใจที่เป้าหมายของเธอไม่ได้เป็นการทำเพื่อตัวเองเท่านั้น เพราะเป้าหมายของเธอคือการอยากเห็น MMA ในไทยดีขึ้น เติบโตขึ้น งอกงามขึ้น และอาจต้องเริ่มต้นที่การแก้ความเข้าใจ ที่ผู้คนจำนวนมากอาจจะยังไม่เข้าใจ MMA ถ่องแท้พอ

“เป้าหมายต่อไปของริกะไม่ใช่การประสบความสำเร็จในด้านกีฬา เพราะการประสบความสำเร็จมันไปได้อีกไกล ๆ แต่เราอยากพัฒนาวงการ MMA ให้ดีและมั่นคงขึ้น ประเทศไทยเราจริง ๆ เหมาะสมกับกีฬาชนิดนี้มาก เพราะเรามีศิลปะประจำชาติอย่างมวยไทย เราสามารถต่อยอด เอานักกีฬามาชกอย่าง MMA ได้ 

มันได้ทั้งเงินที่มากกว่า ได้ชื่อเสียง ได้การก้าวไปสู่ระดับโลก อยากทำให้คนได้เห็นว่าคนไทยเราก็ไม่แพ้ชาติใดในโลกเหมือนกัน เลยอยากพัฒนาวงการ MMA ในไทยต่อไป”

“อยากทำให้คนได้เห็นว่าคนไทยเราก็ไม่แพ้ชาติใดในโลกเหมือนกัน เลยอยากพัฒนาวงการ MMA ในไทยต่อไป”

“อย่างแรกที่ริกะอยากทำคืออยากให้คนไทยเข้าใจเรื่อง MMA มากกว่านี้ กฎ กติกา ธรรมชาติของกีฬาว่ามันไม่ได้ป่าเถื่อนรุนแรงอย่างที่คนคิดกัน ทำให้คนเห็นภาพว่าจริง ๆ มันสนุก ตื่นเต้น เร้าใจ อยากเริ่มปูจากตรงนี้ไปก่อน ในอนาคตพอเริ่มมีคนฝึกเยอะ ๆ ภาครัฐ หรือเอกชนต่าง ๆ เขาก็ต้องมาสนใจซัปพอร์ตแน่นอน เราอยากเริ่มที่รากของมัน ให้ค่อย ๆ เติบโตและเบ่งบาน”

“หลาย ๆ คนมองว่าการเป็นนักมวย จะต้องยากจน ปากกัดตีนถีบ เพียงอย่างเดียว แต่ในปัจจุบัน กีฬาการต่อสู้ เกิดจากคนที่รักและชอบศิลปะการต่อสู้ มีคนหลายแบบที่สนใจกีฬาชนิดนี้ เพราะว่ามันคือความท้าทาย ความรักในตัวกีฬา

บางคนมองกีฬาการต่อสู้ว่าเป็นการใช้กำลังอย่างเดียว แต่การต่อสู้  คือสมอง 70%  คือร่างกาย 30% ถ้าเราขึ้นไปโดยไม่มีอะไรอยู่ในหัว มั่ว ๆ ซั่ว ๆ ไป โอกาสชนะก็ยาก นักกีฬาต้องมีการฝึกซ้อม ต้องเรียนรู้แผนการ ถึงจะประสบความสำเร็จได้”

“การต่อสู้  คือสมอง 70%  ร่างกาย 30% ถ้าเราขึ้นไปโดยไม่มีอะไรอยู่ในหัว มั่ว ๆ ซั่ว ๆ ไป โอกาสชนะก็ยาก”

“MMA ไม่ได้ใช้แค่กำลัง มีกำลังอ่ะดี แต่เราต้องรู้จักแผนการ รู้จักการผ่อนปรน ถ้าเราใส่กันยับ แป๊ปเดียวเราก็เหนื่อย หมดแรง แต่ถ้าเราสู้ด้วยการใช้สมอง วางแผนว่าเราต้องทำยังไงบ้าง อันนั้นจะทำให้เราอยู่ได้ยาว ๆ”

“คนชอบคิดว่า MMA คือกุ๊ยต่อยกันข้างถนน ถ้าต่อยกันข้างถนน เราก็ต่อยกันไม่สนใจ เราไม่ได้มีแผนว่าเราจะ หลบไปทางนี้เราจะต่อยเขา แต่ MMA คือการวางแผน คือการรวบรวมกำลัง รวบรวมสมอง มันไม่ใช่แค่เราคนเดียวแต่เรามีทั้งทีมที่คอยช่วยเหลือ ช่วยกันคิด ช่วยกันวางแผน

ที่สำคัญคือมันมีเทคนิค เทคนิคอยู่เหนือพละกำลังเสมอ ต่อให้เราตัวเล็กกว่า แต่ว่าถ้าเรามีเทคนิคที่ดีเราก็มีโอกาสชนะได้”

” แต่ MMA คือการวางแผน คือการรวบรวมกำลัง รวบรวมสมอง มันไม่ใช่แค่เราคนเดียวแต่เรามีทั้งทีมที่คอยช่วยเหลือ”

“ข้อสำคัญคือ MMA ไม่ได้รุนแรงและอันตรายอย่างที่ทุกคนคิด หลายคนอาจจะมองว่า เฮ้ย มวยไทย หรือ มวยสากล เขาชกกัน ไม่ได้มีการลงไปที่พื้น แต่จริง ๆ แล้ว MMA มีผลวิจัยออกมาว่ามันบาดเจ็บสะสมน้อยกว่ามวยไทย มวยสากลในระยะยาว ฉะนั้นเราก็จะเห็นว่าคนอายุ 40 กว่ามาเล่น MMA ยังสามารถชกได้ แต่ว่ามวยพอผ่าน 3 ไปแล้ว ร่างกายอาจบอบช้ำมากกว่า”

“เหตุผลคือ MMA มีการทุ่ม ปล้ำ ล็อก ถ้าไฟล์ตหนึ่งเราสู้กัน คนนี้วิ่งมาทุ่มเรา ล็อกคอ เราจบ ยอมแพ้ได้เลย เราไม่โดนต่อย ไม่บาดเจ็บอะไรเลย ก็สามารถที่จะคงอาชีพนี้ไปได้อีกนาน”

“อยากจะให้ทุกคนที่เคยดูหรือไม่เคยดูกีฬาการต่อสู้นะคะ ลองเปิดใจชม MMA มันตื่นเต้น สนุก ที่สำคัญคือ เราไม่สามารถเดาผลได้เลย มันจะจบแบบไหน มันทำให้เราประหลาดใจได้มาก ๆ ถ้าเกิดใครที่ชอบความตื่นเต้น หรือยังไม่เคยลองดูก็อยากให้ติดตามชมค่ะ”

มาถึงจุดนี้ เราเชื่อว่าภาพ “นักสู้” ในใจของใครหลายคนคงเปลี่ยนไปแทบไม่เหลือเค้าเดิม เพราะการเป็นนักสู้บนสังเวียนอาชีพนั้นไม่ได้ต้องการร่างกายกำยำ หรือพลังสุดขีดคลั่งเท่านั้น ทว่าต้องการการฝึกซ้อมสม่ำเสมอ ความตั้งใจที่จะเรียนรู้เทคนิคการต่อสู้อย่างจริงจัง ควบรวมเข้ากับความรักจนยอมรับศิลปะการต่อสู้เป็นวิถีชีวิตได้

จึงไม่แปลกที่ “ริกะ อิชิเกะ” จะคู่ควรกับคำว่านักสู้ MMA ทุกประการ และต่อให้เธอสวยกว่านี้สักสิบเท่าก็คงไม่มีความหมายอะไร หากใจเธอไม่แกร่งและไม่ขยันฝึกซ้อมเท่านี้ ไม่เพียงเท่านั้นเธอยังเชื่อในเป้าหมายต่อไปของตัวเองอย่างเด็ดเดี่ยวว่าวงการ MMA ไทยต้องเติบโตขึ้นได้อีก

เราพร้อมนั่งข้างสังเวียนดูการต่อสู้ครั้งนี้ของเธอ พร้อมเอาใจช่วยสุดชีวิตให้เธอไปถึงเป้าหมายที่ต้องการ

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line