World

เบื้องหลังกลวิธีทำให้นักบินอวกาศมีความสุข ขณะทำงานอยู่นอกโลกนานนับปี

By: Chaipohn August 20, 2019

กว่าที่นักบินอวกาศจะผ่านการฝึกเพื่อเข้ามาประกอบอาชีพนี้ได้นั้น พวกเขาจะต้องเผชิญกับแบบทดสอบที่ท้าทายทั้งศักยภาพด้านร่างกายและจิตใจเป็นอย่างมาก เพื่อให้พร้อมรับมือกับสถานการณ์หลายรูปแบบที่ไม่อาจคาดเดาได้จากนอกโลก ซึ่งมีผลต่อความเป็นความตายของพวกเขาได้เลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม นักบินอวกาศเหล่านี้ก็ยังเป็นมนุษย์ธรรมดาไม่ต่างไปจากพวกเราทุกคน จินตนาการว่าเราเจอหลุมอากาศหนัก ๆ บนเครื่องบินยังกลัวชนิดลืมหายใจ นับประสาอะไรกับการนั่งยานอวกาศออกไปนอกโลกอันมืดมิด ซึ่งในอดีตก็มีเหตุการณ์ที่สภาพจิตใจของพวกเขาเคยมีปัญหามาแล้วหลายครั้ง เช่นในปี ค.ศ. 1973 ลูกเรือภารกิจ Skylab 4 ตัดสินใจประท้วงหยุดงานกลางอวกาศ โดยการยุติระบบสื่อสารกับภาคพื้น และหยุดการทำงานทุกอย่างลง สาเหตุมาจากการถูก NASA อัดตารางทำงานให้โดยไม่คำนึงถึงการพักผ่อนของนักบินอวกาศ

Astronauts Edward G Gibson and Gerald P Carr in the airlock module of the Skylab Orbital Workshop, 1974. Image courtesy National Aeronautics and Space Administration (NASA). (Photo by Smith Collection/Gado/Getty Images)

แน่นอนว่าพอหลังเปิดระบบสื่อสารในวันกลับมา พวกเขาก็โดนตำหนิจากการกระทำดังกล่าวอย่างหนัก แต่นั่นก็ทำให้ NASA ปรับปรุงการจัดตารางทำงานให้กับลูกเรือ โดยคำนึงถึงสภาพร่างกายและจิตใจของนักบินอวกาศมากยิ่งขึ้น ลูกเรือ Skylab 4 ทั้งสามคนได้รับเหรียญรางวัลขั้นสูงสุดของ NASA แต่น่าเสียดายที่พวกเขาไม่ได้รับโอกาสให้กลับไปสู่อวกาศอีกเลย

และเมื่อดูภารกิจในปัจจุบันที่แต่ละประเทศก็ต่างอยากส่งมนุษย์ออกไปสำรวจดาวอังคาร รวมทั้งวัตถุที่อยู่ไกลออกไปจากนั้นอีก นั่นทำให้สภาพจิตใจของนักบินอวกาศจะต้องถูกศึกษาและได้รับการดูแลเป็นอย่างดี เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการ Freak Out ขึ้นระหว่างการเดินทางนานแรมปีในแต่ละภารกิจ มาดูเทคนิคที่บรรดาหน่วยงานอวกาศต่าง ๆ กำลังศึกษา เพื่อดูแลสุขภาพจิตของนักบินอวกาศกัน

STS-41-D crew members Michael L. Coats (pilot, left) and Steven A. Hawley (mission specialist, right) fall asleep listening to music on the lower deck of the shuttle Discovery, 1984. (Photo by Space Frontiers/Getty Images)

เริ่มแรกให้เราลืมภาพยานอวกาศที่พบเห็นตามหนังไปให้หมด เพราะการส่งยานแต่ละครั้งมีข้อจำกัดที่โหดร้าย และค่าใช้จ่ายมหาศาล ทำให้ทุก ๆ ภารกิจต้องนำไปเพียงแค่ของที่จำเป็นเท่านั้น ยังไม่รวมถึงขนาดของยานที่ค่อนข้างแคบและแออัด ลองนึกภาพการถูกกักบริเวณไว้ในรถยนต์ส่วนตัวที่มีระบบคอมพิวเตอร์มากมาย kไม่รู้จะมีปัญหาอะไรขึ้นมาเมื่อไหร่เป็นเวลา 1 อาทิตย์ดู แถมมีเชื้อเพลิงจำนวนมหาศาลอยู่รอบตัวที่ไม่รู้จะเกิดระเบิดขึ้นมาเมื่อไหร่ เพราะนั่นคือสิ่งที่ลูกเรือในโครงการ Apollo เผชิญ ระหว่างเดินทางไปและกลับจากดวงจันทร์เมื่อ 50 ปีที่แล้ว

ทีนี้ทั้งความแคบของยาน เสียงการทำงานจากเครื่องยนต์ต่าง ๆ ที่ดังกระหึ่ม ไม่มีอากาศบริสุทธิ์แบบบนพื้นโลกให้หายใจ และไม่มีแสงอาทิตย์ให้ปรับนาฬิกาชีวิตตามได้ ชีวิตของนักบินอวกาศนั้นถือว่าไม่ได้ง่ายดายเลย ดังนั้น NASA จึงติดตามการนอนหลับของนักบินอวกาศบนสถานีอวกาศนานาชาติ และปรับแสงไฟ LED เพื่อช่วยให้ร่างกายของพวกเขาปรับตัวตามนาฬิกาชีวิต หรือ Circadian Clock ได้เร็วยิ่งขึ้น

Astronauts eat a meal on board the Space Shuttle Discovery. Two of the astronauts hold slices of bread in their mouths. | Location: inside Space Shuttle Discovery, outer space. (Photo by © CORBIS/Corbis via Getty Images)

อาหารการกินนั้นก็สำคัญ สมมติว่านักบินอวกาศต้องทานแต่อาหารแช่แข็งไปตลอดทั้งปี ก็ต้องมีการเบื่อกันเป็นธรรมดา ดังนั้น NASA ก็พยายามจะเพิ่มความหลากหลายของอาหารบนนั้นให้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งส่งผลไม้สดขึ้นไปให้ทานอยู่เรื่อย ๆ และยังมีการทดลองปลูกผักบนสถานีอวกาศอยู่ในปัจจุบัน เพื่อให้แน่ใจว่านักบินอวกาศจะได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน และไม่เบื่อกับการกินไปเสียก่อน

นอกจากนี้ NASA ยังอนุญาตให้นักบินอวกาศนำของส่วนตัวที่อยากนำติดตัวไปด้วยได้เช่นกัน (แน่นอนว่าจำกัดน้ำหนัก ส่วนใหญ่พวกเขาจะเลือกกล้องรูปถ่าย) และยังสามารถมีการโทรคุยแบบวีดีโอคอลกับสมาชิปครอบครัวได้บ่อยๆ ไปจนถึงพูดคุยผ่านเมลและโซเชี่ยลมีเดียต่าง ๆ ได้อยู่เช่นกัน

นักบินอวกาศจะมีเวลาว่างหลังจากทำงานในแต่ละวัน มีวันหยุดสุดสัปดาห์และวันหยุดนักขัตฤกษ์เหมือนกับทำงานบนโลก ที่พวกเขาสามารถใช้ไปกับการออกกำลังกาย พูดคุยกับสมาชิกในครอบครัว หรือไปนั่งมองโลกจากโมดูล Cupola หน้าต่างบานใหญ่ที่สามารถมองเห็นโลกได้ชัดๆ ซึ่งเป็นที่ๆ นักบินอวกาศชอบไปใช้เวลาว่างกันอยู่ตรงนั้นอีกด้วย

แม้ทั้งหมดที่ว่ามานี้จะดูน่าสนใจ แต่สำหรับภารกิจสำรวจดาวอังคารนั้นก็คงยากที่เราจะขนทั้งสถานีอวกาศนานาชาติออกเดินทางสู่ดาวอังคารได้ และมีอีกหลายอย่างที่จำเป็นต้องศึกษาเกี่ยวกับสภาพจิตใจของนักบินอวกาศ ในการที่จะต้องออกเดินทางนานหลายปีสู่ที่ๆ ความเร็วแสงใช้เวลาหลายนาทีเดินทางไปจากโลก ดังนั้นในปัจจุบันก็เลยมีการสร้างภารกิจจำลองอย่าง HERA และ HI-SEAS เพื่อให้นักบินอวกาศและอาสาสมัครได้ไปฝึกจำลองจากสถานการณ์จริง เช่น การสื่อสารที่ถูกหน่วงเวลาให้ช้าลง การอยู่ด้วยกันกับเพื่อนร่วมภารกิจเป็นระยะเวลายาวนาน เป็นต้น

นับตั้งแต่วันแรกที่จรวดทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้า ความเข้าใจเกี่ยวกับดวงดาวเราได้เปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล จากความเข้าใจเหล่านั้น เราก็ได้นำมันมาเรียนรู้และเข้าใจในตัวเราเอง เข้าใจในเพื่อนของเรา เข้าใจกับทุกสิ่งทุกอย่างมากยิ่งขึ้น และแม้เราจะยังไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่ามนุษย์คนแรกที่จะไปดาวอังคารจะรู้สึกอย่างไรกับการเดินทางนานนับปี แต่เชื่อได้เลยว่าตราบใดที่เราไม่หยุดค้นคว้าและพัฒนา เราจะเข้าใจความรู้สึกในส่วนนี้ของนักบินอวกาศทุกคนได้ในไม่ช้าแน่นอน

 

Appendix: 1 /

Chaipohn
WRITER: Chaipohn
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line