Life

เทคนิคการตอบคำถามที่ไม่อยากตอบให้ดูฉลาด จนคนถามและคนฟังยังต้องประทับใจ

By: unlockmen August 2, 2021

เวลาไปสมัครงาน หรือ สอบสัมภาษณ์ หลายคนน่าจะเคยเจอคำถามยาก ๆ ที่ตอบไม่ได้กันบ้าง จะตอบว่า “ไม่รู้” ก็กลัวดูแย่ ถือเป็นปัญหาที่ทำให้หนักใจมากพอสมควร UNLOCKMEN เลยอยากมาแนะนำวิธีการตอบคำถามยากให้ดีขึ้น เพื่อให้ทุกคนกลายเป็นนักตอบคำถามที่ยอดเยี่ยมมากขึ้น

เข้าใจคำถามก่อน

สิ่งแรกที่เราควรทำก่อนตอบคำถาม คือ การตั้งใจฟังคำถามจนเราเข้าใจถ่องแท้ เพราะถ้าเราไม่เข้าใจมัน เราอาจถูกคนถามตอบกลับในสิ่งที่ไม่เข้าหูก็เป็นได้ เช่น “นั่นไม่ใช่สิ่งที่ฉันถาม” “ฉันถามในสิ่งที่ง่ายกว่านั้น” “ฉันไม่ได้ถามแบบนั้น” เป็นต้น ถ้าเราไม่เข้าใจคำถาม เราควรทวน หรือ ถามคำถามเพิ่มเติมในส่วนที่ไม่เข้าใจ เพื่อให้เราเข้าใจมันยิ่งขึ้น เมื่อเราเข้าใจคำถามแล้ว เราจะตอบถามได้ดีขึ้น และทำให้คนถามเห็นถึงความจริงจังของเราด้วย

 

อย่าตอบกลับทันที

เวลาที่เราถูกถามคำถาม เรามักเกิดความรู้สึกที่อยากตอบกลับทันที เพราะไม่อยากให้เกิดความเงียบ หรือ dead air การตอบกลับทันทีอาจใช้กับคำถามที่ตอบกลับได้ง่าย อาทิ “กินข้าวยัง” แต่สำหรับคำถามที่ยากจะตอบ การตอบกลับไปทันทีอาจส่งผลเสียต่อเราได้ ดังนั้น เราควรให้เวลาตัวเองในการคิดหาวิธีตอบจะดีกว่า โดยการทวนคำถามของอีกฝ่ายก่อน จากนั้นค่อยตอบกลับหลังจากที่เราคิดคำตอบที่เหมาะสมเสร็จเรียบร้อยแล้ว

 

ตอบคำถามบางส่วน

คำถามยาก ๆ ที่เราตอบไม่ได้ อาจสามารถแบ่งแยกออกมาเป็นคำถามย่อย ๆ ได้อีก และมีส่วนที่เราตอบได้อยู่ ซึ่งการตอบคำถามเพียงแค่บางส่วนดีกว่าไม่ตอบอะไรเลย และมันเพียงพอที่จะทำให้อีกฝ่ายพึ่งพอใจในการตอบคำถามของเราด้วย

 

ตอบคราวหน้า

บางคำถามเป็นคำถามที่ตอบได้ยาก เพราะจำเป็นที่จะต้องตอบโดยใช้ข้อมูลสำคัญ ซึ่งเราอาจจะยังไม่รู้ในเวลานั้น ถ้าเจอกับเหตุการณ์นี้ การขอเลือนการตอบคำถามก็เป็นเทคนิคหนึ่งที่ดี เช่น บอกกับคนถามว่า “ฉันอยากกลับไปเช็คข้อมูลเพื่อให้ได้คำตอบที่สมบูรณ์แบบที่สุดก่อน แล้วฉันจะแจ้งให้คุณทราบใน (วันที่)” เป็นต้น แบบนี้จะช่วยให้เรามีเวลาเตรียมตัวในการตอบคำถามมากขึ้น สามารถเลือกแง่มุมของคำถามที่ต้องการตอบได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น

 

เปลี่ยนจุดโฟกัสของการตอบคำถาม

การสื่อสารมีทั้งหมด 3 รูปแบบ ได้แก่ การพูดถึงตัวเอง การพูดถึงเนื้อหาของตัวเอง และการพูดถึงคนฟัง ซึ่งรูปแบบที่มักเกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน คือ การพูดถึงตัวเอง หรือ เนื้อหาของตัวเอง ซึ่งรูปแบบเหล่านี้เป็นการสื่อสารที่ไม่ทำให้คนเกิดคอนเนคชั่นร่วมกัน หากใครใช้การสื่อสารรูปแบบนี้บ่อย ลองหันมาสนใจการพูดถึงคนฟังมากขึ้น และลดการโฟกัสที่ตัวเองลง (เช่น การเปลี่ยนจากการพูดคำว่า ‘ฉัน’ เป็น ‘คุณ’) จะช่วยให้เราตอบคำถามได้อย่างน่าประทับใจมากขึ้น

 

ออกนอกเรื่อง

เมื่อเจอกับคำถามที่เราไม่อยากจะตอบ การเลี่ยงคำถามก็ถือเป็นเทคนิคที่เข้าท่าในสถานการณ์นี้ แต่ไม่ได้หมายความว่าให้เราทำเป็นไม่ได้ยินคำถามไปเลย ให้เราตอบกลับคำถามนั้นด้วย แต่พาออกไปยังเรื่องที่เราต้องการจะสื่อสาร เช่น “เป็นคำถามที่น่าสนใจนะ แต่ฉันอยากบอกว่า…” หรือ “นั่นมันไม่จริงเลย ความจริง คือ…” เป็นต้น การตอบแบบนี้เรียกว่าเทคนิค Bridging และสามารถใช้ได้ในหลายสถานการณ์ เช่น การแถลงข่าวออกสื่อ

 

เรียกสติกลับมา

บางทีคำถามยากก็เกิดขึ้น เพราะการตั้งคำถามด้วยอารมณ์ คนถามอาจมีความเครียด หรือ ความกังวลบางอย่างในตัวคนที่ถูกถาม ทำให้พวกเขาใช้เหตุผลน้อยลง และรับฟังคำตอบของเราน้อยลงกว่าเดิมด้วย หากเราเจอกับสถานการณ์นี้ เราควรทำให้คนถามเกิดความรู้สึกผ่อนคลาย หรือ ไว้ใจเราก่อน โดยอาจตอบกลับไปประมาณว่า “ฉันเข้าใจว่าคุณกลังวล แต่จะดีกว่าไหมถ้าผมขอพูดข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนั้นสักหน่อย” หากคนถามรู้สึกว่าตัวเองสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ พวกเขาจะใจเย็นลง และรับฟังคำตอบของเรามากขึ้น

สนใจน้ำเสียง และภาษากายของตัวเอง

เวลาตอบคำถามที่ยาก อย่าลืมสนใจเรื่องน้ำเสียง หรือ ประโยคคำพูดของตัวเองด้วย เพราะถ้าเราตอบคำถามแบบไม่มีสุภาพ หรือ ตอบคำถามยากด้วยคำห้วน ๆ เช่น ใช่ หรือ ไม่ มันอาจทำให้ฝ่ายคนถามรู้สึกไม่ดี และใส่ใจในสิ่งที่เราพูดน้อยลง นอกจากนี้ ภาษากายก็เป็นสิ่งสำคัญ เช่น การหลบตา หรือ การกอดอก อาจทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าเรากำลังเครียด หรือ ไม่อยากตอบคำถาม ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ดีเท่าไหร่นัก ดังนั้น เราควรมองตาของอีกฝ่าย และอยู่ในท่าทางที่เป็นธรรมชาติที่สุด เพื่อแสดงให้เห็นว่าเรามีความพร้อมที่จะตอบคำถาม

 

ทั้งหมดนี้ก็เป็นเทคนิคในการเอาตัวรอดจากการตอบคำถามที่ยากโหดหิน จนหลายคนต้องรู้สึกจุกเมื่อคิดที่จะตอบมัน

เราหวังว่าทุกคนจะตอบคำถามได้ดีขึ้น และมีความสุขกับคำตอบของตัวเองมากขึ้น

 

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line