Business

#THINKต่าง : เข้าโหมดอาการ “หมดไฟ” แก้ยังไงดี เรามีทางออก

By: unlockmen June 21, 2018

หมดไฟ แก้ยังไงดี

ติ๊ดๆๆๆ ติ๊ดๆๆๆ เสียงนาฬิกาปลุกดังขึ้นจากสมาร์ทโฟนที่ตั้งอยู่ข้างเตียง คุณลืมตาขึ้นมา ลุกขึ้นนั่ง และคิดกับตัวเองว่า ไม่ไปทำงานได้ไหม เหนื่อยจัง เมื่อไหร่จะเสาร์-อาทิตย์ซักที ก่อนจะลุกจากเตียงอย่างช้าๆมุ่งหน้าไปยังห้องน้ำเพื่อทำภารกิจส่วนตัวตอนเช้าให้เสร็จสิ้น และเดินทางไปทำงานต่อไป

คุณมาถึงที่ทำงานด้วยสภาพซอมบี้ เดินเอื่อยเฉื่อย ทำทุกอย่าง ๆ ช้า ๆ หรือทำทุกอย่าง ๆ รวดเร็วโดยความไม่เต็มใจ อันเนื่องมาจากสภาพความกดดันที่ได้รับมาจากสิ่งที่เรียกว่ากำหนดส่งงานที่บีบเข้ามาทุกที ทำไมงานของฉันมันถึงน่าเบื่อขนาดนี้ ทำไมฉันถึงไม่มีแรงบันดาลใจในการทำงานเหมือนเก่า ทั้งๆที่นี่ก็เคยเป็นงานที่ฉันรู้สึกว่า มันสนุก มันเติมเต็ม มันทำให้ฉันเติบโตในช่วงแรกๆนี่หน่า ถ้าคุณมีคำถามเหล่านี้เกิดขึ้นอยู่ในความคิดบ่อยๆ มันอาจไม่ใช่สัญญาณที่ดีซักเท่าไหร่ เพราะนั่นบ่งบอกว่าคุณกำลังอยู่ในสภาวะของการหมดไฟในการทำงาน (Burnout) นั่นเอง

หมดไฟ ได้ไงกัน!

ส่วนผสมสำคัญของการดับไฟเกิดขึ้นมาจาก 3 ส่วนสำคัญคือ ความเหนื่อยล้าทางร่างกาย การสูญสิ้นซึ่งความกระตือรือร้นในสิ่งที่ทำ (พูดง่าย ๆ คือไม่รู้ว่ากำลังทำมันไปทำไม) และสุดท้ายการไม่พึงพอใจในประสิทธิภาพการทำงานของตัวเอง (เช่น ทำมากแต่ได้น้อย ทำงานซ้ำซ้อน เสียเวลา ทำไปไม่ได้ใช้ ทำทำไมวะ! เป็นต้น)

ซึ่งทั้ง 3 ส่วนผสมที่ว่านี้ไม่จำเป็นจะต้องเกิดขึ้นพร้อมกันก็ได้ แค่อย่างใดอย่างหนึ่งที่มากเกินไป ก็ส่งผลให้คุณเกิดสภาวะหมดไฟในการทำงานได้แล้ว ยกตัวอย่างเช่น คุณทำงานหนัก ใช้เวลามากกว่า 12 ชั่วโมงต่อวันติดต่อกัน 5 วัน แค่นี้ก็มากพอที่จะทำให้คุณตื่นขึ้นมาแล้วถามตัวเองแล้วว่า ฉันไม่ไปทำงานวันนี้ได้ไหม

เมื่อเรามานั่งดูส่วนผสมเหล่านั้นดี ๆ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในฐานะของคนทำงานแล้ว ลักษณะขององค์กรที่เราทำงานด้วยก็เป็นส่วนสำคัญที่ส่งผลต่อปัจจัยเหล่านี้เป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น Culture องค์กร ระบบการทำงาน รวมไปถึงความสามารถของผู้บริหารและหัวหน้างานในการบริหารทั้งตัวงานและตัวคนเอง แต่ก็นั่นแหละเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยภายนอกที่ควบคุมได้ยากยิ่ง เมื่อหันกลับมามองว่าแล้วฉันจะแก้ไขมันได้ยังไง คำตอบที่ดีที่สุดไม่ว่าจะเรื่องไหน ๆ คงหนีไม่พ้นว่า “ให้เริ่มจากสิ่งที่คุณควบคุมได้ นั่นคือตัวเอง” และนี่คือวิธีจุดไฟที่ผมอยากจะเอามาแบ่งปันให้ 3 วิธี ไปลองดูกัน

 

ปรับวิธีการบริหารชีวิตใหม่ อย่าบริหารแค่เวลา แต่ต้องบริหารพลังงานด้วย

แท้จริงแล้วการสร้างประสิทธิภาพในการทำงานที่ดี ในขณะที่ยังใช้ชีวิตได้ด้วยรอยยิ้มอย่างสม่ำเสมอนั้น ไม่ได้เกิดจากการบริหารเวลาอย่างเดียว คุณต้องบริหารพลังงานของตัวเองให้เป็นด้วย ถามว่าทำยังไง ตอบแบบสรุปไว ๆ คือ หาคำตอบให้ตัวเองว่าคุณทำอะไร แล้วจะดึงความสุขกลับมาได้อย่างรวดเร็ว คิดแล้วเขียนมันออกมาหลาย ๆ กิจกรรมครับ สาเหตุที่ผมให้เขียนออกมาหลาย ๆ กิจกรรมเพราะแต่ละอย่างก็จะมีช่วงเวลาที่เหมาะสม บริบทที่เหมาะสมแตกต่างกันไป

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าผมบอกว่ากิจกรรมที่ช่วยคลายความเครียด สร้างความสุขของผมคือ การว่ายน้ำ ซึ่งแน่นอนว่าดี แต่ข้อแม้คือทำได้เฉพาะช่วงหลังเลิกงานเท่านั้น เพราะฉะนั้นผมต้องหากิจกรรมอื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อดึงความสุขออกมาในช่วงระหว่างการทำงานในทุกวันด้วย เช่น การพักไปเดินเล่น การฟังเพลง การจิบกาแฟ เป็นต้น การบริหารพลังงานที่ดีจะทำให้คุณมีความสุขตกค้างอยู่ในตัวเองตลอดเวลา ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงที่ช่วยก่อไฟให้กับการทำงานดีๆในวันพรุ่งนี้เสมอ

 

 ตั้งโจทย์ใหม่ให้งานเดิมๆ

หลาย ๆ ครั้งการที่คุณรู้สึกเบื่อกับการทำงานเกิดจากการที่คุณรู้สึกว่า ฉันรู้เรื่องนี้หมดแล้ว ฉันทำมันซ้ำๆ มาหลายรอบแล้ว มันง่ายแล้ว มันไม่ท้าทายฉันแล้ว ปราศจากซึ่งความท้าทาย ความเบื่อหน่ายจึงย่างกรายเข้ามาเป็นเรื่องปกติ ผมให้คำแนะนำคนที่มาปรึกษาเรื่องนี้กับผมด้วยการมอบคำถามให้ 3 คำถามให้เขาไปตอบตัวเองคือ

– อนาคตคุณอยากเป็นอะไร ?
– การที่คุณจะเป็นคนแบบนั้นในอนาคตได้ คุณต้องมีทักษะอะไรที่สำคัญซึ่งคุณยังไม่มีบ้าง ?
– และสุดท้ายคุณเคยฝึกเรื่องเหล่านี้ในที่ทำงานของคุณซึ่งมีทรัพยากรทุกอย่างให้พร้อมเสร็จสรรพแล้ว แล้วทำมันออกมาจนคุณรู้สึกภูมิใจในตัวเองแล้วหรือยัง ?

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ ผมเชื่อว่าคนที่เป็นพนักงานประจำมีเป้าหมาย 2 แบบ แบบแรกคือ คนที่อยากเติบโตในองค์กรต่อไป และแบบที่สองคือพวกที่อยากจะก้าวออกมาทำอะไรบางอย่างเป็นของตัวเอง

 

สมมุติว่าคุณเป็นคนแบบแรก คำถามคือคุณอยากเติบโตแบบไหน ตำแหน่งอะไร สมมุติว่าเป็น CEO, คำถามต่อไปคือการที่คุณจะเป็น CEO ที่ดีได้ คุณต้องมีทักษะอะไรบ้าง คุณเข้าใจภาพรวมของธุรกิจแล้วหรือยัง คุณเก่งจนพัฒนาคนเป็นแล้วหรือยัง คุณเข้าใจพื้นฐานทางด้านบัญชี-การเงินบ้างแล้วหรือยัง, ถ้ายัง คุณจะหาทางเรียนรู้มันจากการทำงานทุก ๆ วันได้ยังไง ศึกษาเรื่องการตั้งราคาสินค้าไหม ลองไปหาหนังสือเกี่ยวกับภาวะผู้นำและการพัฒนาคนมาอ่านแล้วไปทดลองทำจริงได้หรือเปล่า เป็นต้น

ถ้าคุณอยากมีไฟ มีความสุขในการทำงาน มีความภาคภูมิใจในสิ่งที่ทำ อยากให้เปลี่ยนความเข้าใจดูใหม่ว่า Job description ของคุณไม่ใช่สิ่งที่กำหนดว่านี่คือสิ่งที่คุณทำได้เท่านั้น มันคือ Minimum Requirement คุณสามารถพัฒนาศักยภาพของตัวเองได้โดยไม่ต้องให้ใครมาบอก คุณต้องตั้งโจทย์ใหม่ให้ตัวเองเสมอ เมื่อมีโจทย์ คุณจะหาทางทำอะไรใหม่ ๆ หาทางเรียนรู้ด้วยวิธีการใหม่ ๆ ซึ่งทำให้คุณกลายเป็นตัวเองในเวอร์ชั่นที่ดีกว่าเดิมได้เสมอ

สร้างความรู้สึกของความสำเร็จเล็ก ๆ ในทุก ๆ วัน

โดยธรรมชาติมนุษย์จะรู้สึกดีกับตัวเองเสมอ เมื่อรู้ว่าได้ทำอะไรบางอย่างที่วางแผนไว้สำเร็จ เพราะมันทำให้คุณรู้สึกว่าคุณมีประสิทธิภาพ คุณควบคุมชีวิตตัวเองได้ คุณเติบโต ก้าวหน้า นั่นคือสาเหตุที่ผมกำลังจะบอกคุณว่า วิธีจุดไฟเล็ก ๆ ในการทำงานอย่างต่อเนื่องคือ “คุณต้องมีเป้าหมายเล็กๆให้กับการทำงานในทุกๆวัน”

หลายครั้งภาวะหมดไฟเกิดจากความรู้สึกที่ว่า อีกไกลแค่ไหนจนกว่าฉันจะใกล้ บอกที งานที่ได้รับมาเป็นโปรเจ็คใหญ่ ทำกันไปอีกยาว ๆ วิธีการที่อยากแนะนำให้ทำคือ การซอยงานใหญ่ของคุณที่ทำแล้วดูไม่มีวันจบสิ้นลงมาเหลือเป็นงานย่อย ๆ เมื่อได้งานย่อย ๆ แล้ว ให้หยิบมันขึ้นมาเป็นเป้าหมายรายวัน แล้วไปทำมันให้เสร็จให้ได้ นี่คือวิธีที่จะทำให้คุณรู้สึกว่าคุณประสบความสำเร็จเล็ก ๆ ได้ในทุก ๆ วันเสมอ

นอกจากความรู้สึกดีที่ได้แล้ว อยากให้คุณฝังพลังด้านบวกเข้าไปอีกด้วยการให้รางวัลตัวเองทุกครั้งเมื่อทำงานสำเร็จ ด้วยการทำกิจกรรมที่เติมความรู้สึกดีๆให้ตัวเอง (แบบที่คิดออกมาในข้อที่ 1 เรื่องการบริหารพลังงาน) การบริหารงานด้วยวิธีนี้นอกจากจะทำให้งานของคุณเสร็จแล้ว ยังทำให้คุณมีความสุขกับตัวเองได้ในทุก ๆ วัน จนหลาย ๆ ครั้งก็ลืมไปเลยว่าคำว่าหมดไฟในการทำงานคืออะไร

และนี่คือ 3 วิธีแก้ปัญหาหมดไฟในการทำงานที่ผมเอามาแบ่งปันให้ครับ หวังว่าสิ่งที่เอามาเล่าสู่กันฟังนี้จะช่วยเปลี่ยนมุมมองในการทำงานใหม่ ๆให้กับทุกคน และเอาไปปรับใช้จนมีไฟในการทำงานลุกโชนขึ้นมาได้อีกครั้งหนึ่งครับ

ขอให้ “ความสุขในการทำงาน” และ “ความสำเร็จในแบบที่ต้องการ” เป็นของพวกคุณทุกคน สวัสดี

• ติดตามวิธี  THINKต่าง และเทคนิคการพัฒนาตัวเองในการทำงานได้ที่  Facebook  :  THINKต่าง by เธมส์ DECgeneration
• หาซื้อหนังสือ  #เปลี่ยนงานประจำธรรมดาเป็นวิชาสร้างชีวิต ที่จะช่วยเปลี่ยนมุมมองในการทำงานประจำ รวมถึงสร้างกระบวนการคิดและการทำงานใหม่ๆใน daily life เพื่อพาตัวเองไปสู่อนาคตที่คุณอยากจะมี ของเธมส์ได้ที่ SE-ED, นายอินทร์, B2S และ Kinokuniya

Ingredients:
https://hbr.org/2018/01/when-burnout-is-a-sign-you-should-leave-your-job

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line