Business

คำพูดทำให้เกิดดราม่า เอา ‘5 วิธีจัดการวิกฤตจากคำพูด’ ที่ใครหรือองค์กรไหนก็ใช้ได้มาฝาก

By: PSYCAT September 6, 2017

ไม่ว่าองค์กรเล็กใหญ่หรือใครก็ล้วนเคยผ่านวิกฤตดราม่าจากคำพูดกันแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าคำพูดจะออกมาด้วยความตั้งใจ ไม่ตั้งใจ หรือคนตีความผิดไปเองจนงานเข้าเรื่องราวบานปลาย แต่เมื่อปัญหาเกิดขึ้นแล้ว ขึ้นอยู่กับว่าเรารับมือและจัดการกับวิกฤตดราม่าจากคำพูดครั้งนั้นได้อย่างไรบ้างต่างหาก

UNLOCKMEN จึงเล็งเห็นแบบชัดแจ้งเต็มตาว่าในโลกที่โซเชียลมีเดียถูกสุมไฟดราม่าให้คุกรุ่นได้ง่าย เราทุกคนล้วนต้องการหาทางลงให้กับดราม่าที่เกิดขึ้นอย่างเท่ ๆ ซึ่งเรารับรองว่า 5 วิธีนี้ใช้ได้ทั้งองค์กรธุรกิจและคนธรรมดา

1.รุ่นใหญ่ใจต้องนิ่ง

การโต้ตอบหรือจัดการวิกฤติที่เกิดขึ้นแบบรวดเร็วทันใจมันก็ดูเหมือนจะดีในโลกที่ทุกอย่างวิ่งไวในโลกออนไลน์ไปเสียหมดอย่างนี้ แต่มันจะดีกว่าถ้าเราได้นั่งนิ่ง ๆ ตรวจสอบสถานการณ์ทั้งหมดให้ถี่ถ้วนในเวลาที่เร็วที่สุดแต่ก็รอบคอบที่สุดว่าวิกฤตเกิดจากอะไร

กรณีที่บุกเดี่ยวมาแต่แรก ก็นิ่งไว้ก่อนดีที่สุด ยิ่งตอบโต้ในช่องทางออนไลน์ ทุกอย่างจะมีแต่แย่ลง ๆ ในขณะที่ถ้าเป็นระดับองค์กรก็ควรบอกให้ทุกคนนิ่งเข้าไว้ รู้ว่าหัวร้อนแต่อย่าให้ใครไปโต้ตอบในช่องทางออนไลน์เด็ดขาด ควรปล่อยให้ฝ่ายสื่อสารองค์กรลุยเท่านั้น

2.รวมทีมอเวนเจอร์ซะ!

ซุปเปอร์ฮีโร่เขายังไม่สู้คนเดียว เพราะคนเดียวหัวหาย หลายคนมีแต่ดี หลังจากวิกฤตการณ์เกิดขึ้นแล้ว ให้รีบรวบรวมทีมผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับองค์กรทั้งหมดให้เร็วที่สุดเพื่อช่วยกันปรึกษา ขอความคิดเห็นหลากหลายแบบในการรับมือ หรือร่างข้อความที่จะสื่อสารกลับไป ไม่ว่าจะเป็นการขอโทษ การชี้แจงในส่วนของเรา หรือการโต้ตอบในกรณีที่จำเป็น

นอกจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในองค์กรแล้ว ควรเชิญผู้เชี่ยวชาญในเรื่องที่กำลังดราม่านั้นมาด้วย แต่ถ้าเป็นกรณีที่บุกเดี่ยวก่อดราม่าคนเดียวมาแต่แรก ก็อาจปรึกษาเพื่อน คนใกล้ตัว หรือผู้ใหญ่ที่เราเชื่อถือควบคู่กันไปแทน

3.อย่ารีบด่วนสรุป

ท่องจำให้ขึ้นใจว่าทุกอย่างต้องดำเนินการไปตามข้อเท็จจริงเท่านั้น ไม่ใช่อารมณ์ความรู้สึก! โดยเฉพาะเมื่อทุกคนกำลังหัวร้อน คันไม้คันมืออยากโต้ตอบ

แต่ข้อสรุปแรก ๆ ที่เราได้และวางแผนจะจัดการมักจะผิด (ไม่เสมอไป แต่บ่อยครั้ง) ดังนั้นคิดให้ครบสองสามรอบก่อนตัดสินใจลงมือชี้แจงอะไร

4.ให้คนคนเดียวออกมาพูด

ยิ่งเป็นองค์กรขนาดใหญ่ ยิ่งต้องการเสียง ๆ เดียวเป็นตัวแทนทีมในการชี้แจงปัญหา เพื่อให้ดูน่าเชื่อถือและความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกัน

ในขณะที่ถ้าลุยดราม่าคนเดียวก็ไปกราบกรานขอร้องพ่อแม่พี่น้อง หรือเพื่อน ๆ หรือเหล่าทีมเราทั้งหลายว่าพอเถอะอย่าโหมกระพือการโต้ตอบเลย เราขอพูดคนเดียว การชี้แจง โต้ตอบ หรือขอโทษคนเดียวจะมีพลังมากกว่า

5.รับผิดชอบสิ่งที่ตัวเองทำอย่างซื่อสัตย์

หมัดเด็ดสุดท้ายคือการยอมรับ เพราะท้ายที่สุดแล้วดราม่าก็เกิดขึ้นแล้ว วิธีการรับมือและหาทางลงอย่างสวยงามที่สุดก็คือยืดอกรับว่าเราทำอะไรลงไป

ไม่ว่าสิ่งที่เราทำจะผิดหรือถูกแต่เมื่อมันแพร่กระจายไปแล้วย่อมมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย อย่าดริฟต์หน้าแหกว่าแมวพิมพ์ โดนแฮก หรือป้าข้างบ้านผ่านมาเล่น แมน ๆ ใจ ๆ แค่นั้นก็ได้ใจไปหลายระดับแล้ว

 

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line