Work

พรีเซนต์ทีสติจะแตก! “6 กลยุทธ์แกล้งทำเป็นมั่นใจ”ในวันที่ใจไม่ไหว แต่พรีเซนต์ต้องดี

By: PSYCAT November 8, 2019

การพูดต่อหน้าที่สาธารณะ การนำเสนองานหรือขายงานไม่ว่ากับลูกค้า คนภายนอกองค์กร หรือคนภายในองค์กรถือเป็นหัวใจสำคัญที่อีกฝั่งจะซื้อไอเดียหรือโปรเจกต์ที่เรานำเสนอ แม้เนื้อหาเราจะมีคุณภาพมากแค่ไหน แต่ถ้าขั้นตอนการนำเสนอเราทำได้ไม่ดีพอ เนื้อหาดี ๆ ที่ทุ่มเทมาตลอดอาจพังทลายได้ง่าย ๆ

แม้จะรู้อยู่เต็มอกว่าการนำเสนอนั้นคือหัวใจสำคัญ เตรียมตัวมาอย่างหนัก แต่พออีกไม่กี่นาทีจะออกไปพรีเซนต์งานทีไรก็เหมือนสติจะแตก! มือสั่น ปากสั่น ที่สำคัญใจสั่นรัวเร็วยิ่งกว่าได้เดตกับสาวฮอต ในเมื่ออุตส่าห์เตรียมตัวมาอย่างดี จะมาพังเพราะเรื่องแค่นี้คงไม่ได้ จะทำยังไงดี?

UNLOCKMEN มี “6 กลยุทธ์แกล้งทำเป็นมั่นใจ”ในวันที่ใจไม่ไหว แต่งานต้องดี มาฝากกัน จากนี้ไปไม่ว่าคุณจะหวาดหวั่นในสมรภูมิการพรีเซนต์สุดเดือดแค่ไหน FAKE IT UNTILL YOU MAKE IT ตามวิธีต่อไปนี้ แล้วทุกอย่างจะผ่านไปได้อย่างราบรื่นแน่นอน

สบตาผู้ฟัง ทรงพลังอย่างเหลือเชื่อ

ต่อให้หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะแค่ไหน หนึ่งหนทางที่ดีที่สุดที่จะทำให้ทุกคนในที่ประชุมรู้สึกว่าเราไม่กลัวเลยแม้แต่น้อย คือการสบตากับผู้ฟัง เพราะดวงตาคือประสาทสัมผัสอันทรงพลังที่สุด เมื่อใดก็ตามที่เราพรีเซนต์ไป พร้อม ๆ กับที่มองเข้าไปในดวงตาของผู้ฟังแต่ละคน จะทำให้ทุกคนเชื่อว่าเราเชื่อในสิ่งที่ตัวเองกำลังนำเสนอ มั่นใจในตัวเอง และที่สำคัญที่สุดคือพวกเขาจะไม่อาจละสายตาไปจากเราได้เลย

ยืนได้ยืน ยืนไม่ได้ ต้องนั่งอย่างราชา

หนทางแกล้งทำเป็นมั่นใจคือการจัดระเบียบร่างกายของเรา เพราะเมื่อเวลาเราไม่มั่นใจ ร่างกายของเรามักจะฟ้องได้ชัดเจนที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการงอตัว ห่อไหล่ หลังค่อม ดังนั้นถ้าเกิดใจเต้นรัว ไม่พร้อมสู้ จงนั่งหรือยืนให้ตัวตรง ยืดอกให้ผ่าเผยมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะร่างกายของเราจะตั้งอยู่อย่างมั่นคงและสง่างาม และหากเลือกได้ ให้เลือกยืนพรีเซนต์เท่านั้น โดยเฉพาะในห้องประชุมขนาดใหญ่ หรือบนเวที เพราะจะจับความสนใจจากผู้ฟังได้มากกว่า

แต่หากยืนไม่ได้ก็ต้องนั่งให้ตัวตรงที่สุด ผู้ฟังจะเข้าใจว่าเรากำลังมั่นใจในสิ่งที่พูดอย่างมาก นอกจากนั้นการนั่งหรือยืนอย่างสง่าผ่าเผยตัวตรง จะทำให้เสียงที่เราพูดออกมาจากช่องท้อง ไม่ใช่จากลำคอ ยิ่งทำให้เสียงของเรามีอำนาจ ทรงพลังและน่าฟัง

สงบสยบความสั่นไหว

อีกหนึ่งสัญญาณความไม่มั่นใจมักแสดงออกมาผ่านความลุกลี้ลุกลน ทั้งการถูมือไปมา การสั่นขา การเสยผม หรือแม้แต่การจับส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายซ้ำ ๆ ดังนั้นยิ่งทำให้ตัวเองนิ่งและขยับร่างกาย (โดยไม่จำเป็น) น้อยที่สุด จะทำให้ผู้ฟังหลงเข้าใจว่าเรารู้สึกมั่นคงจากภายใน รู้สึกสงบเต็มไปด้วยสมาธิและมั่นใจเต็มเปี่ยม ต่อให้จริง ๆ ภายในเราจะสั่นเป็นลูกนกก็ตาม

ช้า ๆ ได้พร้าเล่มงาม

เมื่อมนุษย์เราตื่นเต้น กังวล ตระหนก กดดัน ฯลฯ มักมีแนวโน้มจะพูดรัวและเร็วกว่าปกติ ซึ่งการพูดเร็วนี้ ผู้ฟังจะดูออกว่าเราอยู่ในสภาวะไม่ปกติและไม่เป็นตัวเอง ดังนั้นต่อให้ใจจะสั่นขนาดไหน แต่อยากดูพร้อม มั่นใจ และเชื่อในสิ่งที่พูด โปรดจงพูดให้ช้าลง โดยวิธีพูดให้ช้าลงอาจเริ่มจากการขยายเวลาของแต่ละคำที่เราพูดให้ยาวขึ้น และอีกวิธีคือการเว้นช่วงให้ช้าลง เช่น จังหวะที่ต้องเว้นเพื่อเปลี่ยนประเด็น จังหวะที่เว้นเพื่อทิ้งคำถามให้ผู้ฟังคิด การพูดช้าลงจะทำให้ผู้ฟังรู้สึกว่าเรารู้สึกสบาย ๆ กับสิ่งที่พูด เพราะเตรียมตัวมาดีหรือหนักแน่นกับสิ่งที่นำเสนอ ไม่ว่าใจจะเต้นรัวแทบสิ้นสติ

ยิ่งเสียงต่ำ ยิ่งดูมั่นใจ

ไม่ว่ารู้ตัวหรือไม่ก็ตาม เมื่อเราไม่มั่นใจ โทนเสียงของเรามีแนวโน้มจะแหลมขึ้น สูงขึ้น และจากการสำรวจระบุว่าผู้ฟังมองว่าเสียงแหลมสูง (หรือแหลมกว่าโทนปกติของผู้พูด) นั้นบ่งบอกถึงความไม่มั่นใจ ความไม่มั่นคงทางอารมณ์ ดังนั้นอีกกลยุทธ์แกล้งทำเป็นมั่นใจคือการพยายามทำโทนเสียงของเราให้ไม่สูงเกินไป ยิ่งใช้โทนเสียงปกติหรือต่ำกว่าเดิมเล็กน้อยได้เท่าไหร่ เราจะยิ่งสามารถเน้นคำ เน้นเสียง ให้ฟังดูมั่นคง น่าเชื่อถือได้มากเท่านั้น

พูดทุกคำให้ชัดเจน

เราคงเคยฟังคนพรีเซนต์ แล้วเขาพูดแต่ละคำ แต่ละประโยคออกมาไม่ชัดเจน จนเหมือนพูดคนเดียว หรือพึมพำอยู่กับคนไม่กี่คนด้านหน้าเขาเท่านั้น เราคงดูออกว่านั่นคืออาการของคนไม่มั่นใจ ดังนั้นถ้าเราไม่มั่นใจ แต่อยากดูมั่นใจเกินร้อย คำพูดทุกคำที่พูดออกไปต้องชัดเจน ไม่พูดอยู่ในลำคอ การพูดให้ชัดทุกคำนอกจากจะทำให้ดูมั่นใจ จะทำให้เราพูดช้าลงโดยอัตโนมัติและทำให้เราสามารถเน้นคำที่เราต้องการ การพรีเซนต์ หรือการพูดจะยิ่งทรงพลังมากขึ้น

ไม่ว่าเราจะร้อนรนแค่ไหน กดดันอย่างไร แต่เมื่อหน้างานต้องออกไปพูด ก็ไม่มีข้ออ้างอะไรจะประวิงเวลาไว้ได้ ดังนั้นแทนที่จะออกไปอย่างกังวลใจ เรามาใช้ 6 กลยุทธ์ต่อไปนี้เพื่อให้ผู้ฟังดูไม่ออกว่าเรากลัว แต่กลับดูมั่นใจจนน่าทึ่ง ส่วนเรื่องเนื้อหายิ่งเตรียมตัวก่อนออกไปพูดมากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งเข้าใกล้เส้นชัยมากเท่านั้น ลุย!

 

SOURCE

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line