Business

วิธีจดจำทุกสิ่งที่คุณเรียนรู้ให้แม่นยำลืมยาก โดยเทคนิคจากนักจิตวิทยา HENRY AND MARK

By: unlockmen September 19, 2018

เชื่อว่าเรื่องปัญหาการหลงลืมเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกในชีวิตประจำวันของทุกคน อาจจะเป็นการลืมสิ่งของ ลืมเรื่องราวในอดึต รวมทั้งการลืมข้อมูลต่างๆ ที่ได้รับ ไม่ว่าคุณจะอยู่ในสถานะใดก็ตาม จะเป็นนักเรียนที่ต้องคอยจดจำความรู้จากเรื่องที่เรียน พนักงานออฟฟิศที่ต้องคอยทำงานต่างๆ ที่ได้รับมอบหมาย นักธุรกิจที่จะต้องจดจำข้อมูลต่างๆ เพื่อไปเจรจาในธุรกิจ หรือใครก็ตามที โดยจากผลการวิจัยพบว่า การที่เรามักเกิดภาวะหลงลืมอยู่บ่อยๆ นั้นมีสาเหตุมาจากการ “ขาดการทำความเข้าใจ” อย่างแท้จริงนั่นเอง ซึ่งหลายคนคงรู้กันอยู่แล้วว่าการนึกอะไรแล้วนึกไม่ออก มันน่าหงุดหงิดขนาดไหน

นี่เป็นเหตุผลที่เราได้หยิบกลวิธีจดจำทุกสิ่งที่คุณเรียนรู้ได้อย่างแม่นยำไม่มีลืม จากหนังสือจิตวิทยา Make It Stick: The Science Of Successful Learning เขียนโดย Henry Roediger และ Mark McDaniel นักจิตวิทยาชื่อดัง แห่งมหาวิทยาลัย Washington University  ตามมาดูกันเลยดีกว่าครับ ไม่แน่ เมื่ออ่านจบ คุณอาจนำเทคนิคเหล่านี้ไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ได้มากมายกว่าที่คิด

 Force yourself to recall. บังคับตัวเองให้ทบทวน

Henry Roediger และ Mark McDaniel บอกว่า ทักษะการเรียนรู้ของมนุษย์มีกลไกเหมือนกับการยกน้ำหนักดัมเบลล์ เมื่อคุณเริ่มที่จะพาตัวเองไปสู่ดัมเบลล์ที่หนักขึ้น คุณก็จะเริ่มแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกับระบบการจัดเก็บความคิดของมนุษย์ เมื่อเราเรียนรู้ว่าสิ่งไหนยาก สมองจะทำการจดจำและเก็บข้อมูลนั้นไว้อย่างแม่นยำเป็นพิเศษ ดังนั้นเทคนิคที่จะให้คุณจดจำข้อมูลที่สำคัญใดๆ ได้ พวกเขาได้แนะนำว่าให้คุณคอยบังคับตัวเองให้ทบทวนข้อมูลนั้น ๆ อยู่เสมอ เดินก็คิด นั่งก็คิด กินก็คิด

เมื่อเราทบทวนบ่อยๆ สมองจะทำการสั่งการว่าข้อมูลนั้นเป็นข้อมูลพิเศษ และสามารถทำให้คุณจดจำได้อย่างแม่นยำในที่สุด

 

Don’t fall for fluency. ห้ามประมาทคิดว่าง่ายและจำได้แน่นอน

ข้อนี้ค่อนข้างต้องทำความเข้าใจเล็กน้อย Henry Roediger และ Mark McDaniel พบว่า เมื่อเราได้ทำการรับข้อมูล หรือทำอะไรบางอย่าง แล้วเรารู้สึกว่าสิ่งนั้นง่าย ครั้งต่อไปเราจะทำการถ่ายทอดข้อมูลเหล่านั้นออกมาด้วยความคล่องแคล่ว ไม่ว่าจะผ่านพฤติกรรม หรือการพูด ก็ตาม ซึ่งแท้จริงแล้วเจ้า “ความคล่องแคล่ว” นี้แหละที่จะสร้างปัญหาให้ต่อระบบความคิดของเรา

ซึ่งมีผลตัวอย่างการวิจัยอย่างง่ายๆ ว่า สมมุติว่าคุณไปที่สนามบิน แล้วต้องการจะดูเครื่องบินไฟลท์ที่คุณกำลังจะขึ้นนั้น ต้องเข้าประตู Gate ที่เท่าไหร่ คุณก็ทำการเงยหน้ามองจอมอนิเตอร์ เมื่อจอมอนิเตอร์บอกว่า “B44” ซึ่งเป็นตัวเลขที่สั้นมาก คุณก็จะรู้สึกว่าข้อมูลเหล่านั้นง่าย ทำให้ขาดการทบทวน ผลปรากฏก็คือ เมื่อคุณเดินออกมาจากจุดนั้น แล้วทำการควักโทรศัพท์มือถือขึ้นมาดูอะไรเพียงครู่เดียว คุณก็จะลืมตัวเลขข้อมูลเหล่านั้นไปจนหมดสิ้น

ดังนั้นวิธีที่ถูกต้องที่ Henry Roediger และ Mark McDaniel แนะนำก็คือ เมื่อคุณได้รับข้อมูลอะไรบางอย่างแล้ว ให้ลองทบทวนถามตัวเองถึงข้อมูลเหล่านั้นในใจดูอีกครั้งหรือในระยะนึง ถ้าคุณสามารถตอบคำถามให้ตัวเองได้ตลอด นั่นแหละถึงจะมั่นใจได้ว่าสมองคุณได้จดจำข้อมูลเหล่านั้นได้สมบูรณ์เรียบร้อยแล้ว

 

Connect the new thing to the old things. นำความรู้ใหม่ไปเชื่อมโยงกับข้อมูลเก่า

ในหนังสือ Make it Stick กล่าวไว้ว่า เมื่อคุณสามารถที่จะอธิบายความรู้ที่คุณได้รับมาใหม่ ให้สามารถไปเชื่อมโยงกับความรู้เก่าได้ อธิบายให้เห็นภาพก็เหมือนการทำ Mind Mapping ที่หลายคนทำเป็นประจำโดยไม่รู้ตัว การคิดแบบเชื่อมโยงขยายความต่อไปเรื่อย ๆ จะสามารถทำให้คุณสามารถจดจำข้อมูลนั้นได้แม่นยำมากขึ้น และจะจดจำได้แบบเป็นกลุ่มก้อนใหญ่ ซึ่งสามารถลิงค์ไปสู่ความจำอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องได้ง่ายกว่า

Henry Roediger และ Mark McDaniel กล่าวว่า ระบบความคิดของสมองจะสามารถจัดเก็บข้อมูลได้ดียิ่งขึ้น หากข้อมูลเหล่านั้นมีความเชื่อมโยงกัน โดยข้อมูลเชื่อมโยงที่ว่านี้ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นข้อมูลแบบเดียวกัน แต่ขอเพียงแค่ให้ส่วนหนึ่งส่วนใดของข้อมูลนั้นมีความเชื่อมโยงกันแม้เพียงเล็กน้อยก็เพียงพอแล้ว

 

Reflect วิเคราะห์สิ่งที่ตัวเองทำเสมอ

จากผลการสำรวจของ Harvard Business School พบว่า พนักงานที่ใช้เวลา 15 นาทีหลังเลิกงานในการครุ่นคิดวิเคราะห์ถึงงานตัวเองที่ทำไปต่างๆ มักมีเพอร์ฟอร์แมนซ์ที่สูงกว่าบุคคลอื่นถึง 22.8 เปอร์เซ็นต์โดย ศาสตราจารย์ Francesca Gino แห่ง HBS ได้กล่าวว่า “เมื่อคนเราได้ครุ่นคิดถึงสิ่งที่ตัวเองได้ทำลงไป จะสามารถเพิ่มความมั่นใจให้แก่พวกเขาได้ว่ามีสิ่งที่ทำลงไปนั้นถูกต้องและดีที่สุดแล้วหรือยัง เพราะในขณะทำงานหรือพยายามจะจำอะไรบางอย่าง เราอาจจะเร่งรีบหรือโฟกัสในบางรายละเอียดมากเกินไป อาจทำให้มองข้ามภาพรวมหรือความสำคัญของชุดข้อมูลบางส่วนไป การทบทวนวิเคราะห์อีกครั้งหลังจากปล่อยให้งานและหัวสมองเย็นลง จะทำให้พวกเขาเรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้นต่อสิ่งที่จะตามมา”

 

 

 

Source : businessinsider.com

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line