Life

ศิลปะแห่งการติเตียน! เทคนิค COMPLAIN เจ๋ง ๆ ไม่ให้เสียน้ำใจ มองหน้ากันได้ไม่ AWKWARD

By: unlockmen September 19, 2018

หลายครั้งที่ขัดใจกับการกระทำของใครสักคน แล้วอยากจะเข้าไปบอกตรง ๆ ว่า “นายทำงี้ไม่ได้ว่ะ” แต่ด้วยสถานะ ความปากไว หรือความอ่อนไหวของคนฟังที่เราไม่อาจหยั่งรู้ได้ว่าใคร Sensitive กับเรื่องราวหรือคำพูดแบบไหน จนทำให้ต้องเก็บคอมเมนต์ไว้ในใจ

แต่ถ้าไม่พูดเลยก็คงไม่ได้ เพราะในเมื่อจุดประสงค์ของเราจริง ๆ คือการติเพื่อก่อ ไม่ใช่เพื่อความสะใจส่วนตัว ยิ่งในการทำงาน การคอมเมนต์กันถือเป็นเรื่องจำเป็นอย่างมาก เพื่อผลลัพธ์ที่ดียิ่งขึ้นในครั้งต่อ ๆ ไป UNLOCKMEN อยากชวนใครที่อึดอัดอยากจะติเตียนใคร แต่กลัวจะมองหน้ากันไม่ติด ด้วยเทคนิคเจ๋ง ๆ ที่เราแนะนำ

ตำหนิให้ถูกคน

ก่อนอื่นเลยต้องหาให้ถูกตัวซะก่อน ปัญหานี้มักเกิดในกลุ่มคนทำงานนี่แหละ บางครั้งมองในภาพรวมเราก็เดาไม่ออกว่าใครที่เป็นต้นเหตุของเรื่องกันแน่ จะไปติเขาแบบสุ่มสี่สุ่มห้าก็ไม่ได้ เพราะถ้าหากอีกฝ่าย Strike Back กลับมาว่า “ไม่ใช่กู” “กูไม่ได้ทำ” เรานี่แหละที่จะหน้าแตกแบบเต็ม ๆ

ทางออกของเรื่องนี้ง่ายมาก ๆ ถ้าไม่ทุ่มเทความสนใจตั้งแต่แรก จนรู้หมดว่า Process นี้ใครทำ ก็ต้องมีสปายคอยสอดส่องว่า ใครรับผิดชอบจุดไหน จะได้จับมือมาดมกันได้ถูกคน

ดูสถานะ

บางครั้งดูแค่เจ้านายกับลูกน้องมันยังไม่พอ ง่าย ๆ เลย เราจะไม่ตำหนิหัวหน้าทีมเหมือนกับเด็กฝึกงานหรือน้องใหม่ ไม่ใช่เพราะความลำเอียง แต่มันคือการให้เกียรติกัน ไม่ว่าจะต่อหน้าคนอื่น ในที่ประชุม หรือการพูดคุยกันเป็นการส่วนตัวก็ตาม การให้เกียรติกันควรเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรก ๆ ไม่ใช่ว่าเด็กใหม่ เด็กฝึกงาน ไม่จำเป็นต้องให้เกียรติ แต่หมายถึงลักษณะของคำพูด สำหรับน้องใหม่อาจจะพูดทีเล่นทีจริงเพื่อไม่ให้อีกฝ่ายรู้สึกเหมือนโดนดุจนเกินไป ส่วนหัวหน้าทีมหรือคนที่โตขึ้นมาหน่อยก็ลองใช้คำพูดที่ดูจริงจังมากขึ้นดู

ไม่ใช้ Hate Speech

แน่นอนว่าคำหยาบคายเป็นตัวเลือกที่ต้องตัดทิ้งอันดับแรก ๆ เลย เพราะมันแสดงถึงความหัวร้อน น็อตหลุด และนั่นทำให้เราดูไม่โปรเอาซะเลย ทั้งนี้ทั้งนั้น Hate Speech นั้นไม่ได้หมายถึงคำหยาบคายเพียงอย่างเดียว การพูดจาส่อเสียด กระแนะกระแหน หรือว่าง่าย ๆ ว่าแซะ ก็ไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีเช่นกัน

ถ้าอยากจะตำหนิอะไรเขา ก็เข้าประเด็นตรง ๆ ไปเลย อาจจะเกริ่นถามเรื่องการทำงาน ปัญหา มีอะไรติดขัดไหม ให้อีกฝ่ายพอได้เตรียมตัว แล้วก็ฮุกเข้าปัญหาตรง ๆ เพราะถ้ามัวอ้อมแอ้มไปมา คนฟังก็อาจจะไม่รู้ว่าเราต้องการอะไร แก้ไขไม่ตรงจุดสักที ทีนี้มันก็จะกลายเป็นปัญหาเรื้อรังและเราเองก็มีส่วนผิดที่เป็นฝ่ายไม่ยอมบอกความต้องการไปตรง ๆ เช่นกัน

ระวังน้ำเสียง

ไม่ใช่ว่าเป็นฝ่ายถือไพ่เหนือกว่าแล้วจะเอาเสียงเข้าข่มได้ มันดูไม่โปรพอ ๆ กับการหลุดคำหยาบนั่นแหละ ไม่ว่าจะขึ้นเสียง ตะคอก น้ำเสียงประชดประชัน มันไม่ช่วยให้อีกฝ่ายยอมจำนนกับความผิดของเขามากขึ้นหรอก มีแต่ทำให้เราน่าหมั่นไส้ขึ้นเท่านั้นแหละ หากเรามีเหตุผลมากพอ เราไม่จำเป็นต้องใช้น้ำเสียงเข้าข่มเลย อีกฝ่ายยินดีจะฟังเราด้วยความเต็มใจมากกว่า ถ้าหากเรามาในท่าทีที่ Relax พูดคุย แนะนำกัน มากกว่าท่าทีของการพาผู้ร้ายเข้าห้องสอบปากคำ

พูดทีละเรื่อง

แม้จะเกิดความผิดพลาดขึ้นหลายจุด แต่อย่าเพิ่งรัวใส่อีกฝ่ายเป็นปืนกล ลองพูดคุยทำความเข้าใจกันไปทีละเรื่อง ไม่งั้นมันจะดูเหมือนคนอัดอั้นตันใจแต่ไม่ยอมบอก ลองพูดเรื่องสำคัญ ๆ ก่อน แล้วค่อยปิดท้ายด้วยเรื่องที่ไม่ด่วนหรือไม่ได้ร้ายแรงมากนัก พูดในเชิงขอเพิ่มเติมเรื่องนี้นิดหน่อยนะ ไม่ต้องกดอีกฝ่ายว่าทั้งหมดนั่นคือความผิดที่จะต้องแบกรับเอาไว้ ลองแยกว่าเรื่องนี้เร่งด่วนนะ รีบแก้ไขหน่อย ส่วนเรื่องนี้ไม่รีบแต่ก็อยากให้แก้ไขด้วย เอาไว้ตอนที่สะดวก อะไรอย่างนี้ น่าฟังกว่ากันเยอะ

ศิลปะในการพูดคือสิ่งที่เราควรมี บางครั้งความหวังดีที่ถูกถ่ายทอดออกมาในรูปแบบที่ไม่น่าพิสมัย ก็อาจทำให้ถูกเข้าใจผิดไปเป็นอย่างอื่นได้

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line