Life

‘อยากดีเหมือนคนอื่น แต่ไม่ยอมลงมือทำ’ เข้าใจที่มาของภาวะขี้แพ้ และหนทางสู่การเป็นผู้ชนะ

By: unlockmen August 29, 2020

หลายคนคงเคยมีช่วงเวลาที่เรียกตัวเองว่าเป็น ไอ้ขี้แพ้ (Losers) อยู่บ้าง บางคนอาจจะเรียกตัวเองแบบนั้นเพียงชั่วคราว เพราะเจอกับความล้มเหลวมา แต่พอเวลาผ่านไปสักพักก็อาจลืมมันไป แต่สำหรับบางคนอาจเจอกับปัญหาที่ซับซ้อนกว่านั้น จนอาจตัดสินไปแล้วว่าตัวเองเป็นไอ้ขี้แพ้ตัวจริง และไม่มีวันที่จะเป็นผู้ชนะได้ (winners) หรือ ผู้ที่ประสบความสำเร็จในชีวิตได้

ซึ่งในบทความนี้ UNLOCKMEN อยากอธิบายให้ฟังทุกคนเข้าใจว่า ไอ้ขี้แพ้ อาจเป็นสิ่งที่เราสร้างกันขึ้นมาเอง และสามารถเปลี่ยนแปลงกันได้


ก่อนอื่นเราอยากให้ทุกคนเข้าใจความหมายของคำว่า ‘ไอ้ขี้แพ้’ (Losers) ตรงกันก่อน ในบทความนี้เราหมายถึง

“คนที่อยากเป็นเหมือนกับคนอื่นที่ประสบความสำเร็จ แต่ไม่ยอมลงมือทำอะไรเพื่อให้ตัวเองไปอยู่ในจุดเดียวกับคนเหล่านั้น อาจเป็นเพราะรู้สึกว่าตัวเองไม่มีพรสวรรค์ หรือความสามารถเหมือนคนอื่น (แต่ก็ไม่ยอมพัฒนาตัวเอง) กล่าวโทษเรื่องนั้น เรื่องนี้ว่าเป็นอุปสรรค์ (แต่ก็ไม่ยอมลงมือแก้ไข)”

ซึ่งที่มาของ losers เราเชื่อว่า ไม่มีใครเกิดมาพร้อมกับนิสัยขี้แพ้ แต่พวกเขาล้วนเคยผ่านประสบการณ์แย่ๆ มาก่อน เช่น เคยถูกผู้ที่มีอำนาจ (เช่น ครู หรือผู้ปกครอง) คุกคาม เคยถูกกลั่นแกล้งในวัยเด็ก เคยอกหักจากคนรัก หรืออาจเคยพยายามทำงานที่ยิ่งใหญ่ให้ประสบความสำเร็จ แต่สุดท้ายต่อให้พยายามยังไงก็ล้มเหลวอยู่ดี

เหตุการณ์นี้จึงกลายเป็นปมในใจของเขา และทำให้เขาสูญเสียความทะเยอทะยานในการทำสิ่งต่างๆ ไป เป็นต้น

ประสบการณ์แย่ ๆ เหล่านี้ได้หล่อหลอมให้พวกเขากลายเป็นไอ้ขี้แพ้ ดังนั้น “อาการขี้แพ้จึงเป็นเรื่องของความเชื่อ (Mindset) ไม่ใช่เรื่องของธรรมชาติ” กล่าวคือ ไม่มีใครที่เกิดมาแล้วเป็นไอ้ขี้แพ้โดยสมบูรณ์ และทุกคนสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองได้

ซึ่งคำถามที่สำคัญคือ คนที่มีความเชื่อแบบขี้แพ้ (loser mindset) ติดตัวจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองหรือไม่? เพราะถ้ามองในอีกมุมหนึ่ง นิสัยขี้แพ้ก็มีข้อดีนะ เพราะมันช่วยป้องกันเราจากความเครียดและแรงกดดันที่เกิดจากความรับผิดชอบในการตัดสินใจที่อาจจะผิดพลาด โดยการกระตุ้นให้เราละทิ้งความรับผิดชอบ ยกหน้าที่นั้นให้เป็นของคนอื่น

อย่างไรก็ตาม การเป็นไอ้ขี้แพ้ก็มีค่าใช้จ่ายที่หนักหนาสาหัสเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็น การไม่มีความสุขในชีวิต (เพราะมองโลกในแง่ลบมากเกินไป) ไม่พอใจในสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ (แต่ก็ไม่คิดเปลี่ยนแปลงตัวเอง เพราะไม่คิดว่าตัวเองจะมีความสามารถในการเปลี่ยนแปลงตัวเองได้) ไม่มีกระจิตกระใจในการทำสิ่งต่างๆ (เพราะไม่คาดหวังก้าวหน้า ถ้าเป็นเรื่องงานก็เหมือนทำงานไปวันๆ) เป็นต้น

แถมการเป็นไอ้ขี้แพ้ยังสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อสุขภาพจิตด้วย เพราะคนขี้แพ้มีโอกาสได้รับความเจ็บปวดทางอารมณ์จากภาวะซึมเศร้ามากกว่าคนกลุ่มอื่นถึง 25 เท่า ส่วนงานวิจัยชิ้นหนึ่งจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด พบว่าคนขี้แพ้มีโอกาสที่จะได้รับความเจ็บปวดจากภาพพจน์ทางเพศเชิงลบ (เช่น ขี้เหร่ อ้วน ฯลฯ ) มากกว่าคนกลุ่มอื่นถึง 5 เท่า นอกจากนี้ ความรู้สึกเชิงลบ ได้แก่ ความหมดอาลัยตายอยาก ความสิ้นหวัง และความเกลียดชังตัวเอง ยังเป็นสิ่งที่พบเจอในกลุ่มขี้แพ้ (Go-nowhere Lowlife Losers) ได้บ่อยกว่าในคนปกติถึง 3 เท่า


แม้ความคิด Loser Mindset จะเป็นพิษภัยต่อเรา แต่สามารถแก้ไขได้อย่างที่บอกไปแล้ว เราเลยอยากจะมาพูดถึงแนวทางการเปลี่ยนความคิดจากขี้แพ้เป็นผู้ชนะกัน เพื่อให้ทุกคนเข้าใจและนำไปปรับใช้กับตัวเอง เพื่อการเลิกเป็นผู้แพ้ทั้งในสายตาของตัวเองและคนอื่นเสียที! จะมีวิธีใดบ้าง ไปดูกันเลย

หาเป้าหมายในการทำสิ่งต่างๆ

ปัญหาหนึ่งของการเป็นคนขี้แพ้ คือ พวกเขามักขาดเป้าหมายในการใช้ชีวิต พอขาดเป้าหมาย ก็ขาดแรงจูงใจในการทำงาน ส่งผลให้พวกเขาไม่มีกระจิตกระใจ และไม่ตั้งใจทำงานให้ดีที่สุด ซึ่งเป็นอุปสรรค์ต่อความก้าวหน้าในหน้าที่การงานของพวกเขาอีกด้วย (สร้างผลเสียให้ตัวเองโดยไม่รู้ตัว)

ดังนั้น การทำสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตหรือการทำงาน ต้องมีการระบุเป้าหมายที่ชัดเจนว่าจะทำไปเพื่ออะไร เช่น เพื่อเงิน เพื่อพิสูจน์ตัวเองว่าทำได้ เพื่อเพื่อสร้างความประทับใจจากคนอื่น เป็นต้น พอมีเป้าหมายหรือความคาดหวังที่ชัดเจนแล้ว แรงจูงในการทำสิ่งต่างๆ ก็จะตามมาเอง

สำหรับใครที่ไม่รู้ว่าจะเริ่มตั้งเป้าหมายอย่างไรดีเราอยากแนะนำให้ลองอ่านบทความชิ้นนี้ดู: https://www.unlockmen.com/why-your-goal-arent-success/


เลิกบ่น แล้วลงมือทำซะ!

อย่างที่ได้บอกไปแล้วว่า ไอ้ขี้แพ้มักไม่พอใจในสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ แต่ในขณะเดียวกันกลับไม่ยอมลงมือทำอะไรเลย (หรือยอมเจ็บตัว) จึงไม่ทำให้ได้อะไรเพิ่มขึ้นมา ดังสำนวนฝรั่งที่ว่า ‘no pain no gain’ ดังนั้น ถ้าไม่ชอบในสิ่งที่ตัวเองเป็นอยู่ ยังไงก็ต้องลงมือทำอะไรสักอย่างเพื่อเปลี่ยนแปลงมันซะ! แต่อย่าใช้เวลาคิดนานนะ เพราะการเปลี่ยนแปลง ยิ่งเริ่มต้นได้เร็ว ก็ยิ่งเปลี่ยนแปลงและเข้าใกล้การประสบความสำเร็จได้เร็วขึ้นเหมือนกัน


ตั้งสติ และควบคุมตัวเองให้ได้

บางทีคนที่มีนิสัยขี้แพ้ อาจปล่อยตัวปล่อยใจมากเกินไป จนถูกอารมณ์ด้านลบ (เช่น ความน้อยเนื้อต่ำใจ ความโกรธ) ครอบงำได้ ดังนั้นหากเราต้องการก้าวข้ามไอ้ขี้แพ้ในตัวเอง เราต้องควบคุมอารมณ์ของตัวเองให้ได้ เริ่มจากการ “ไม่ตอบสนองต่อเรื่องแย่ ๆ ด้วยพฤติกรรมแย่ ๆ” (เช่น จมอยู่กับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในอดีต หรือ ก่นด่าหัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงานเมื่อถูกตั้ง Comment ในไอเดียผลงานที่นำเสนอ เป็นต้น) แต่ใช้วิธีอื่นแทน เช่น ใช้การปลง (เช่น ปลงกับเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีต) หรือ ใช้ความเห็นอกเห็นใจ (เช่น คิดว่าคนที่ขับปาดหน้าเราอาจมีธุระเร่งด่วนมาก ๆ) เป็นต้น พอเราฝึกฝนจนกระทั่งเรื่องแย่ ๆ ไม่สามารถทำอะไรเราได้แล้ว เราก็จะแข็งแกร่งขึ้นและเลิกเป็นขี้แพ้ไปได้เองโดยอัตโนมัติ


อย่าใช้เวลาอยู่กับปัญหานานเกินไป

เหมือนที่บอกไปก่อนหน้านี้ว่า ไอ้ขี้แพ้มักมีปัญหาในการควบคุมอารมณ์ ซึ่งส่งผลต่อความสามารถในการแก้ไขปัญหาด้วย เพราะเมื่อไอ้ขี้แพ้มักพ่ายแพ้ต่ออารมณ์ด้านลบ เช่น ความโกรธ หรือ ความเครียด พวกเขาเลยเสียเวลาและเสียพลังงานไปกับการบ่นจมปลักอยู่กับปัญหา จนการแก้ไขปัญหาเกิดขึ้นได้ช้า ดังนั้น ขี้แพ้จึงต้องรู้จักควบคุมอารมณ์ เลิกโฟกัสแต่ผลด้านลบของปัญหาเพียงอย่างเดียว พร้อมกับฝึกฝนการบริหารเวลาเพื่อทำสิ่งต่าง ๆ ให้ดี ซึ่งการบริหารเวลาอาจลองนำหลัก 80/20 มาใช้ดูก็ได้ (ใช้เวลา 20% ในการจมอยู่กับปัญหา และใช้เวลา 80% ในการลงมือทำ)


แต่งกายให้เหมือนเป็นผู้ชนะ

หากจำกันได้ เราเคยเขียนบทความอธิบายถึงผลของเสื้อผ้าการแต่งกายที่มีต่อจิตวิทยาในตัวเรา หรือ ทฤษฎี ‘Enclothed Cognition’ (สามารถไปย้อนอ่านกันได้ที่: https://www.unlockmen.com/enclothed-cognition/) การแต่งกายจึงมีส่วนช่วยให้เราสามารถเอาชนะอาการขี้แพ้ได้ด้วย (เช่นสร้างความมั่นใจ) อีกทั้งการแต่งกายที่ดียังมีประโยชน์ต่อการเข้าสังคม เพราะทำให้คนอื่นมองเราในแง่ดีด้วย

 

ดังนั้น ทุกคนจึงควรใส่ใจ เสื้อผ้า หน้า และทรงผมของตัวเอง ควบคู่ไปกับการสลัดความคิดแบบขี้แพ้ออกไป เป็นก้าวเล็ก ๆ ทีละก้าวที่ยิ่งเริ่มทำได้เร็วยิ่งดี เพื่อความสุขในการใช้ชีวิตประจำวัน และเพื่อไม่ให้ใครกล้ามาหาว่าเราเป็นไอ้ขี้แพ้ได้อีกต่อไป โดยเฉพาะตัวเราเองครับ

 


Appendix: 1 / 2 / 3

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line