FASHION

เสื้อผ้าทำให้เรามั่นใจ ทำความเข้าใจทฤษฎี ‘ENCLOTHED COGNITION’ ที่เชื่อมโยงเสื้อผ้ากับความรู้สึก

By: unlockmen August 15, 2020

เสื้อผ้าไม่ได้มีไว้ใส่เพื่อเสริมความเท่ หรือปกคลุมร่างกายของเราเวลาออกจากบ้านเท่านั้น แต่มันยังส่งผลต่อจิตใจของเราได้ด้วย ซึ่ง UNLOCKMEN อยากให้ทุกคนเข้าใจเรื่องนี้ โดยการอธิบายผ่านทฤษฎีทางจิตวิทยาที่ชื่อว่า ‘Enclothed Cognition’ มันคืออะไร รู้ไปแล้วได้อะไร วันนี้เราจะเล่าให้ฟัง

‘Enclothed Cognition’ เป็นแนวคิดที่พยายามอธิบายว่า เสื้อผ้าที่เราสวมใส่มีผลต่อเราในทางจิตวิทยาอย่างไร คิดค้นโดย 2 นักจิตวิทยา ได้แก่ Hajo Adam และ Adam d.Galinsky ซึ่งทั้งคู่ร่วมกันทำงานวิจัยชื่อว่า Enclothed Cognition ที่ได้รับการเผยแพร่ในวารสาร Journal of Experimental Social Psychology (2012)

Your Clothing Impacts Your Thinking

งานวิจัยชิ้นนี้มีการทดลอง 3 ครั้ง ทั้งหมดเพื่อดูว่าเสื้อกาวน์ (lab coat) มีผลทางจิตวิทยากับคนอย่างไร แต่ก่อนเริ่มการทดลอง นักวิจัยได้มีการทำ pretest และพบว่า เสื้อกาวน์มักเกี่ยวข้องกับ ความเอาใจใส่ (attentiveness) และความระมัดระวัง (carefulness) จากนั้น นักวิจัยจึงนำข้อมูลที่ได้มาตั้งสมมติฐานการทดลองว่า การใส่ lab coat จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานประเภทที่ต้องใช้ความใส่ใจ (attention-related tasks)

และหลังจากการทดลองทั้ง 3 ครั้งเสร็จสิ้น ทีมวิจัยก็พบว่า การสวม lab coat ช่วยเพิ่มความสามารถในการจดจออยู่กับสิ่งที่เราสนใจ (selective attention) ได้มากกว่า ไม่ได้สวมใส่ lab coat จากการทดลองครั้งแรก

ส่วนในการทดลองครั้งถัด ๆ มา พบว่าการสวม lab coat ที่ถูกนิยามว่าเป็นเสื้อคลุมของแพทย์ จะช่วยเพิ่มความสามารถในการคงสมาธิได้อย่างต่อเนื่อง (sustained attention) ได้มากกว่า สวมใส่ lab coat ที่ถูกอธิบายว่าเป็นเสื้อคุมของจิตรกร

งานวิจัยชิ้นนี้ทำให้เกิดการนิยามคำว่า Enclothed Cognition ที่อธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างเสื้อผ้าที่เราใส่กับผลในทางจิตวิทยา ซึ่งทีมนักวิจัยก็ได้อธิบายถึงที่มาของ enclothed cognition ว่าเกิดจาก ความหมายเชิงสัญลักษณ์ของเสื้อผ้า (the symbolic meaning) และประสบการณ์ในการสวมเสื้อผ้าเหล่านั้น (the physical experience)

ยกตัวอย่างเช่น หมอมักถูกนิยามว่าเป็นคนฉลาด มีความรอบคอบ และคิดอะไรเป็นเหตุเป็นผล ฯลฯ เมื่อเราสวมใส่ชุดที่ได้รับการอธิบายว่าเป็นชุดของหมอ คำนิยามเหล่านั้นก็ดูจะมีผลต่อจิตใจของเราด้วย เช่น อาจทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองฉลาดเหมือนหมอมากขึ้น

แม้ทฤษฏี enclothed cognition จะยังใหม่อยู่ เพราะเพิ่งเกิดขึ้นในปี 2012 แต่มันก็มีงานวิจัยก่อนหน้าที่มาสนับสนับสนุนทฤษฏีนี้ เช่น งานวิจัยชื้นหนึ่งที่ได้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่าง เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม (cultural identity) เสื้อผ้า และจิตใจของคน โดยมีกลุ่มตัวอย่าง เป็นเด็กนักเรียนชาวอังกฤษผิวขาว และ เด็กนักเรียนชาวบังกลาเทศ จำนวนรวมกันกว่า 1,000 คน ได้รับการจำแนกออกเป็นกลุ่มต่าง ๆ ได้แก่ กลุ่มจารีต (traditional groups) กลุ่มบูรณาการ (integrated groups) และกลุ่มกลมกลืนหรือชายขอบ (assimilated or marginalised groups)

จากการวิจัยกลุ่มตัวอย่างผ่านการสอบถาม (survey) ในระหว่างปี 2001 – 2003 พบว่า ในกลุ่มเด็กนักเรียนหญิงชาวบังกลาเทศ ผู้ที่เลือกแต่งกายด้วยชุดประจำชาติ (traditional clothing) จะมีโอกาสเจอปัญหาทางสุขภาพจิตในอนาคตน้อยกว่า แต่ในกลุ่มเด็กหญิงชาวอังกฤษ ผู้ที่ใส่เลือกใส่ชุดแบบบูรณาการ (integrated clothing) จะมีความเสี่ยงต่อปัญหาทางสุขภาพจิตน้อยที่สุด

กลับกัน ในกลุ่มเด็กผู้ชายชาวบังกลาเทศที่ใส่ชุดกลมกลืนกัน (assimilated clothing) โอกาสที่จะเจอปัญหาทางด้านสุขภาพจิตจะต่ำกว่า ในขณะที่กลุ่มเด็กชายชาวอังกฤษที่ใส่ชุดแบบบูรณาการ (integrated clothing) จะเสี่ยงกับปัญหาสุขภาพจิตต่ำที่สุด

รู้อย่างนี้แล้ว เราก็ควรเลือกใส่เสื้อผ้าให้สอดคล้องกับอารมณ์และความรู้สึกที่เราอยากให้เป็น และวันนี้เราก็ได้เอาเกร็ดความรู้เล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับผลของการแต่งตัวแต่ละแบบ และที่มีต่อจิตใจของเรา มาฝากทุกคนด้วยเช่นกัน

การแต่งกายในที่ทำงาน

งานวิจัยชิ้นหนึ่งได้ศึกษาผลของสไตล์การแต่งตัว ต่อการรับรู้ของพนักงานออฟฟิศยังไงบ้าง ซึ่งผลที่ได้ คือ พนักงานออฟฟิศที่ใส่ formal business attire เช่น ใส่สูท ผูกไท ฯลฯ จะรู้สึกว่าตัวเอง มีความน่าเชื่อถือ มีอำนาจ และมีความสามารถ ในขณะที่เวลาพวกเขาใส่ชุดลำลอง หรือ business casual attire จะรู้สึกว่าตัวเองมีความเป็นมิตรมากกว่า ดังนั้นจากงานวิจัยนี้เราจึงกล่าวได้ว่า การแต่งตัวก็อาจมีผลต่อ performance ในการทำงานของเราเหมือนกัน

แต่ถ้าใครไม่รู้ว่าจะแต่งตัวไปทำงานยังไงดี เราอยากขอแนะนำให้ลองอ่านบทความของเราเรื่อง “The Proper Dress For Modern Office : หนุ่มๆ ออฟฟิศยุคใหม่แต่งตัวยังไงให้เหมาะสม” ดูเผื่อจะได้ไอเดีย โดยสามารถตามอ่านกันได้ที่ลิงก์นี้: https://www.unlockmen.com/the-proper-dress-for-modern-office/

 

สีของเสื้อผ้ากับอารมณ์

สีเสื้อก็ส่วผลต่ออารมณ์และความรู้สึกของเราได้ไม่แพ้เสื้อที่เราใส่ และ อย่างงานวิจัยชิ้นหนึ่งของ Keith Jacobs และ Frank Hustmyer ในปี 1974 ได้เคลมว่า สีที่แตกต่างกัน สามารถเปลี่ยนอัตราการเต้นของหัวใจ ความดันเลือด รวมถึง การหายใจของเราได้ ดังนั้น เราจึงต้องมีความเข้าใจเรื่องฟังก์ชันของแต่ละโทนสีด้วย เช่น สีแดงจะให้ความรู้สึกมีแพสชั่น หรือ ความเกรียวกราด, สีเหลืองจะให้ความรู้สึกมองโลกในแง่บวก หรือ มีความสุข เป็นต้น

แต่ความรู้เพิ่มเติมเรื่องสี เช่น โทนสีผ้าที่เหมาะกับแต่ละสีผิว ก็ช่วยให้เรารู้สึกมั่นใจเวลาแต่งตัวได้มากขึ้นเช่นกัน สามารถหาอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่: https://www.unlockmen.com/new-mitsubishi-xpander-cross-the-urban-suv

 

สินค้าหรูกับการรักษาสถานะทางสังคม

David Dubois ผู้เชี่ยวด้านการตลาดจากสถาบัน INSEAD และทีม ได้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างแนวคิดทางการเมือง และการตัดสินใจซื้อของหรูหรา ในกลุ่มที่เป็นเสรีนิยมและอนุรักษ์นิยม พวกเขา พบว่า ในสถานการณ์ที่ทั้งสองกลุ่มคิดว่าการซื้อของหรูหราจะช่วยรักษาสถานะทางสังคมได้ กลุ่มที่เป็นอนุรักษ์นิยม จะมีโอกาสตัดสินใจซื้อของหรูหรามากกว่า กลุ่มที่เป็นเสรีนิยม นั่นเป็นเพราะ กลุ่มอนุรักษ์นิยมมีความลำเอียงในการรักษาระเบียบทางด้านสังคมและเศรษฐกิจ รวมถึง เกลียดชังการเปลี่ยนแปลงชนชั้นทางสังคม ดังนั้น พวกเขาจึงอ่อนไหวต่อของหรูหรา เพราะพวกเขารู้สึกว่ามันช่วยรักษาสถานะทางสังคมของพวกเขาได้

แต่การรักษาสถานะทางสังคมก็ไม่ใช่เหตุผลเดียวที่เราควรตัดสินใจซื้อของหรูหรา หรือ ของแบรนด์เนม แต่มันยังมีอีกหลายเหตุผลที่เราควรมีของเหล่านี้ติดบ้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง คุณภาพ หรือ บริการหลังการขาย ซึ่งสามารหาอ่านเพิ่มเติมได้ในคอนเทนต์นี้: https://www.unlockmen.com/the-different-of-real-brandname-and-fake-brand/

 


Contributor: วัศพล โอภาสวัฒนกุล

 

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line