Business

ธนาคารระดับโลก ปลดพนักงาน 4,000 คน CEO ที่สร้างกำไรก็ต้องออกจากตำแหน่ง เกิดอะไรที่ HSBC?

By: anonymK August 8, 2019

ธนาคารปลดพนักงานหลักพันคน! แถม CEO ยังลี้จากเก้าอี้ตัวเอง

2-3 วันที่ผ่านมาใครเห็นข้อความนี้คงรู้ได้ทันทีว่าเป็นแบรนด์ธนาคารเจ้าดังที่รั้งอันดับท็อปโลกอย่าง HSBC อย่างแน่นอน ความเปลี่ยนแปลงอะไรที่ HSBC ยกเครื่องครั้งใหญ่หนนี้ UNLOCKMEN จะนำมาบอกต่อ เพราะทุกครั้งของการตัดสินใจลีนองค์กรย่อมมีเหตุผลเสมอ

Pre ความรู้เรื่อง HSBC กับไทยก่อนไปมองเรื่องระดับโลก เพราะบางคนอาจจะมองว่าเป็นธนาคารต่างประเทศ เราคนไทยจะไปสนใจอะไรมากมาย ไกลตัวเหลือเกิน บางคนที่โตมาในยุคนี้อาจจะยังไม่เห็นความเกรียงไกรของ HSBC มากนัก แต่ในความเป็นจริงแล้วเป็นธนาคารแห่งนี้มีบทบาทกับประเทศไทยเรามายาวนาน

เชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยเห็นโลโก้คุ้นตาบนอาคารสำนักงานที่ตั้งอยู่แถวอื้อจือเหลียงกันมาบ้าง “HSBC” ย่อมาจาก Hongkong and Shanghai Banking Corporation เป็นธนาคารพาณิชย์เอกชนแห่งแรกที่ตั้งขึ้นในประเทศไทยและเปิดสำนักงานมาตั้งแต่ปี 1888 มีลูกค้าคนแรกเป็นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แถมยังเป็นธนาคารพาณิชย์เแห่งแรกที่พิมพ์ธนบัตรไทยให้เราใช้งานกัน

แม้จะแข็งแกร่งในระดับโลก แต่สายงานธนาคารเป็นอีกสายงานที่ตลอดหลายปีที่ผ่านมายังคงแขวนอยู่บนเส้นด้ายจากการ Disrupt ธุรกิจ แค่ภายในบ้านเรา ธนาคารหลากหลายสีก็หันมาใช้โครงสร้างเดียวกันนี้ ดังนั้น สำหรับธนาคารระดับโลกที่มีสาขากระจายอยู่ทั่วทุกมุมโลก ภาวะการ Lay off เพื่อปรับองค์กรที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่สัญญาณที่เกิดขึ้นแบบปุบปับแต่มีมาเป็นระยะ

Timeline การลีนและวิกฤตที่เกิดขึ้นในรอบทศวรรษที่ผ่านมาของ HSBC
  • 2552 – HSBC ประกาศปลดพนักงาน 2 % ในอังกฤษเพื่อปรับองค์กรให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ จากความตั้งใจเพิ่มทุน 18,300 ล้านดอลลาร์ ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจโลก โดยปฏิเสธรับความช่วยเหลือทางการเงินจากรัฐบาลอังกฤษ
  • 2554 – HSBC ประกาศปิด 24 สาขาในประเทศอินเดียและประกาศแผนบุกเอเชีย โดยกำหนดแนวทางลดตำแหน่งงานทั่วโลกเป็นจำนวน 30,000 ตำแหน่งภายในช่วงเวลา 2 ปีข้างหน้า (2555-2556)
  • 2558 – HSBC ปรับลดตำแหน่งกว่า 25,000 ตำแหน่ง ลดลง 10% จากทั่วโลก และปิดการดำเนินงานในประเทศบราซิลและตุรกี รวมทั้งย้ายสำนักงานใหญ่ไปอยู่ที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ หลังจากตั้งใจว่าจะประหยัดค่าใช้จ่าย 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐให้ได้ภายในระยะเวลา 2 ปี
  • 4 มิถุนายน 2558 – HSBC จ่ายค่าปรับให้รัฐบาลเป็นจำนวนเงิน 40 ล้านสวิสฟรัง ( 43 ล้านดอลลาร์) จากการโดนกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่สวิสปิดบังภาษีให้กับลูกค้าเศรษฐี
  • 2562 – ลดตำแหน่งพนักงาน 4,000 ตำแหน่ง นับเป็น 2% ของพนักงานขององค์กรทั้งหมด และ John Flint ซีอีโอออกจากบริษัท จากการปรับโครงสร้างครั้งนี้ CFO ชี้แจงว่าสามารถประหยัด 4% ของค่าจ้างทั้งหมด

 

ตัดทุกอย่างเพื่อฟันกำไร กลยุทธ์ต่อชีพ

สิ่งหนึ่งที่เราเห็นท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของแทบทุกองค์กรคือการตัดกำลังพลออกบางส่วนเพื่อรักษารายได้และผลกำไรไว้ คนที่มีอยู่ต้องทำหน้าที่ Multifuction มากขึ้นท่ามกลางเศรษฐกิจถดถอย และอีกสิ่งที่หลายคนไม่เคยมองข้ามคือการย่อองค์กรลงจากการยุบสาขา ซึ่งที่ผ่านมา HSBC ทยอยทำเช่นนั้นมาเรื่อย ๆ ดังนั้น การปลดพนักงานจำนวน 4,000 คนวันนี้จึงไม่ถือเป็นเรื่องใหม่ที่เดินออกนอกแผน แต่เป็นกลยุทธ์ที่ HSBC และหลายแบรนด์ยึดมาอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างผลกำไรหรือพยุงสถานการณ์บริษัท

ลดขั้นตอนได้ก็ลดราคาได้

องค์กรใหญ่ ขั้นตอนเยอะ เหมือนโดนคำสาปหมายหัวว่า Fat เยอะ ขั้นตอนเพียบ จึงมักจะต้องโดนจับลีนก่อนคนอื่นเสมอ ยิ่งกับสายงานธนาคารที่มีความท้าทายอย่าง Fintech และ Innovation ซึ่งพร้อมเข้ามาให้บริการเซอร์วิสแทนที่มนุษย์ ดังนั้นการ shortcut ขั้นตอนงานลงเพื่อสร้างรายได้และดึงประสิทธิภาพของคนทำงานที่มีให้ออกมาสูงสุดจึงเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ากว่า

ปลดวันนี้ Manager ก็ไม่รอด

ความน่าสนใจของรูปแบบการลีนวันนี้คือ เราเข้าใจว่าเลเวลแรกของการ Cut คือระดับปฏิบัติการทั่วไปก่อน ซึ่งเราเข้าใจไม่ผิด แต่ตอนนี้เขาหันมาเร่งเด็ดหัวออกเช่นกันเพื่อปรับองค์กร เริ่มจาก Middle Manager ก่อน เพราะมันเป็นตำแหน่งที่ดูไม่คุ้มทุนเท่าไหร่เมื่อวัดจากรายจ่าย

เหตุผลหลัก ๆ ก็สัมพันธ์กันกับเหตุผลด้านบนคือ การมี Manager คั่นระหว่างกลางมาก ไม่เพิ่มผลกำไรแต่เพิ่มรายจ่ายมากกว่า และเงินเดือนก็สูงเสียด้วย ดังนั้นปรากฏการณ์ 25,000 ตำแหน่ง หรือ 4,000 ตำแหน่งที่ผ่านมาจึงเกิดจากการรวมมาหลาย ๆ ตำแหน่ง ตั้งแต่ระดับล่างถึงระดับบน

John Flint ซีอีโอสร้างผลกำไรที่ลุกมาลาออกจาก HSBC

การก้าวลงจากตำแหน่งด้วยตัวเองของซีอีโอวัย 51 ที่ทำงานร่วมกับ HSBC ในตำแหน่งอื่นยาวนานถึง 30 ปี ก่อนมารับตำแหน่งเป็นซีอีโอและเพิ่งได้ดำรงตำแหน่งซีอีโอเพียงปีครึ่ง ตลอดระยะเวลาการดำเนินงานในรอบปีที่ผ่านมา HSBC สร้างผลกำไรเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า ทำไมเขาถึงก้าวลงจากตำแหน่งยังเป็นสิ่งที่หลายคนสงสัย

เรื่องนี้แม้ยังไม่ได้รับการไขปริศนาให้กระจ่างจากปากของเจ้าตัว แต่มีข่าวลือจาก channelnewsasia เปิดเผยว่าคนใกล้ชิดกล่าวว่าการลาออกของเขาครั้งนี้มาจากความขัดแย้งทางความคิดระหว่าง John Flint กับคณะกรรมการระดับสูงเรื่องการลดรายจ่ายของผู้บริหารระดับสูงลงเพื่อสร้างกำไรเพิ่มเติม

มุมการวิเคราะห์ส่วนตัวของเรา เราสันนิษฐานว่าหากข่าวลือด้านบนเป็นจริง Flint ที่อยู่ในระดับบริหารเขาย่อมรับรู้นโยบายของบริษัทในระยะยาวอยู่แล้วว่าทิศทางจะก้าวต่อไปอย่างไร และคงรู้ดีว่ากำไรภาพรวมที่เกิดส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการลดต้นทุน รวมถึงกำลังจะมีการปลดพนักงานเพิ่มในอนาคต การเลือกก้าวออกมาก่อนในช่วงเวลานี้อาจจะดีที่สุด

อย่างไรก็ตามบางสื่ออย่าง marketwatch.com ได้นำเสนอข้อมูลอีกด้านว่าแม้ Flint จะเดินลงจากตำแหน่ง แต่เขาจะยังสามารถทำหน้าที่ช่วย HSBC ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ได้ (ดูยังมีมิตรไมตรีที่ดีต่อกัน)?

ไม่ว่าผลสรุปจะออกมาเป็นอย่างไร ตำแหน่งซีอีโอในอนาคตที่ยังคงว่างอยู่และรอการคัดเลือกคนขึ้นมาแทนนั้นถือว่าค่อนข้างน่าจับตามอง บุรุษหรือสตรีขี่ม้าขาวคนไหนจะเข้ามาพลิกสถานการณ์ของ HSBC ในอนาคต  HSBC จะกลับมาอย่างองอาจได้หรือไม่ หรือวงจรการปลดคนเพิ่มจะยังไม่สิ้นสุดแม้เขาจะเข้ามาแล้ว เนื่องจากเป้าหมายหลักอย่างเอเชียที่ HSBC ตั้งใจจะลงทุนกำลังพบวิกฤตเศรษฐกิจจากสงครามการค้า (Trade War) ซึ่งส่งผลกระทบกับธุรกิจเข้าอย่างจัง เรื่องนี้คงต้องรอดู

 

SOURCE: 1 / 2 / 3 / 4 / 5 

anonymK
WRITER: anonymK
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line