World

อีกขั้นของความทรงจำ เมื่อนักวิทยาศาสตร์สามารถถ่ายโอนความทรงจำได้สำเร็จ

By: TOIISAN January 18, 2019

บ่อยครั้งที่ภาพยนตร์เลือกหยิบเรื่องราวเกี่ยวกับความทรงจำมาเล่าอย่างเหนือจริง ทั้งการถ่ายโอนความทรงจำของคนหนึ่งไปสู่อีกคน เมื่อโอนความทรงจำสำเร็จเราก็จะกลายเป็นคนคนนั้น เราจะมีลักษณะและบุคลิกที่เหมือนกันเพราะใช้ความทรงจำเดียวกัน สิ่งเหล่านี้ดูเป็นสิ่งที่เป็นจริงได้แค่จินตนาการหรือหนังเท่านั้น

แต่ UNLOCKMEN อยากจะบอกว่าการถ่ายโอนความทรงจำไม่ได้มีแค่ไหนหนัง Sci-fi อีกต่อไป เพราะนักวิทยาศาสตร์สามารถถ่ายโอนความทรงจำของสัตว์ได้แล้ว

imdb

แม้จะยังไม่สามารถถ่ายโอนความทรงจำของมนุษย์ได้ แต่การถ่ายโอนความทรงจำของสัตว์สำเร็จถือเป็นความก้าวหน้าครั้งใหญ่ที่ทำให้วงการวิทยาศาสตร์พัฒนาไปอีกขั้น มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียหรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า UCLA ได้เริ่มทำการทดลอง Memory transplant เปลี่ยนถ่ายความทรงจำของหอยทากทะเล Aplysia californica ได้สำเร็จ

ผลการวิจัยครั้งนี้ตีพิมพ์ลงวารสาร eNeuro รายงานถึงการฝึกให้หอยทากทะเลกลุ่มหนึ่งสร้างกลไกเพื่อป้องกันตัวเองจากอันตรายเมื่อโดนกระแสไฟอ่อน ๆ สัมผัสบริเวณส่วนหาง โดยสาเหตุที่เลือกใช้หอยทากทะเล Aplysia californica นั้นเป็นเพราะเซลล์ประสาทของหอยทากทะเลชนิดนี้มีระบบกลไกการทำงานที่คล้ายกันหลายอย่างกับเซลล์ประสาทของมนุษย์

Earth

ผลจากการฝึกให้หอยทากกลุ่มตัวอย่างมีปฏิกิริยาต่อสิ่งเร้าและรู้จักป้องกันตัว ในที่สุดหอยทากทะเลกลุ่มนี้ก็เรียนรู้ที่จะหดตัวกลับเข้าเปลือกเพื่อไม่ให้ตัวเองต้องโดนกระแสไฟฟ้าช็อตอีกครั้ง และหลบอยู่ในเปลือกนานกว่า 50 วินาที ซึ่งถือว่าเป็นพฤติกรรมการหลบหนีที่นานกว่าหอยทากกลุ่มอื่น ๆ ที่ไม่เคยได้รับการฝึก

เมื่อสอนให้หอยทากมีปฏิกิริยาตอบสนองแตกต่างจากหอยทากทั่วไปได้แล้ว ทีมนักวิทยาศาสตร์ได้สกัด RNA ของหอยทากกลุ่มนี้ออกจากระบบประสาทและนำไปฉีดให้กับหอยทากทะเลอีกกลุ่มหนึ่งที่ยังไม่เคยถูกฝึกให้หลบหนีจากกระแสไฟฟ้าช็อต

ผลลัพธ์ที่ออกมาน่าทึ่งเพราะหอยทากกลุ่มหลังที่ไม่เคยผ่านการฝึกมาก่อนมีปฏิกิริยาตอบสนองแบบเดียวกับหอยทากที่ผ่านการฝึก โดยการถ่ายโอน RNA ไม่ทำให้หอยทากทะเลกลุ่มที่สองได้รับบาดเจ็บหรือสร้างความเสียหายทางกายภาพจากการทดลองครั้งนี้อีกด้วย

New Orbit Magazine

กุญแจสำคัญของการถ่ายโอนความทรงจำอยู่ใน RNA ที่มีชื่อเรียกแบบเต็ม ๆ ว่ากรดไรโบนิวคลีอิก (Ribonucleic acid – RNA) ที่มีขนาดความยาวน้อยกว่าโมเลกุลของ DNA แต่มีโครงสร้างที่คล้ายคลึงกัน และเกิดจากการคัดสำเนาข้อมูลโดยการถอดรหัสจาก DNA เรียกได้ว่า RNA คือพิมพ์เขียวของสิ่งมีชีวิต เพราะสิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลกจะต้องอาศัย RNA ในการสังเคราะห์โปรตีน

ไวรัสหลายชนิดก็ใช้ RNA เป็นสารพันธุกรรมแทน DNA จึงทำให้ RNA กลายเป็นผู้รับบทบาทสำคัญในเซลล์โดยมีหน้าที่เร่งปฏิกิริยาทางชีวภาพ ควบคุมการแสดงออกของยีน รวมถึงควบคุมการรับรู้และสื่อสารการตอบสนองต่อสัญญาณของเซลล์

UCLA Newsroom

ศาสตราจารย์ David Glanzman หัวหน้าทีมวิจัยกล่าวว่า ผลทดลองดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าความทรงจำนั้นไม่ได้ถูกเก็บอยู่เพียงแค่ใน Synapse หรือรอยต่อระหว่างเซลล์ประสาทอย่างที่นักวิทยาศาสตร์เคยเข้าใจกัน แต่ความทรงจำบางส่วนยังถูกแบ่งเก็บไว้ใน RNA ซึ่งอยู่ในนิวเคลียสของเซลล์ประสาทอีกด้วย จึงส่งผลให้การวิจัยในครั้งนี้ประสบความสำเร็จ

แม้การถ่ายโอน RNA อาจยังใช้ไม่ได้กับความทรงจำที่มีรายละเอียดซับซ้อนอย่างความทรงจำของมนุษย์ แต่ศาสตราจารย์ David Glanzman และทีมวิจัยระบุว่าการย้าย RNA ในทากทะเลสำเร็จสามารถนำไปสู่การรักษาโรคอัลไซเมอร์ของมนุษย์ได้

รวมถึงช่วยฟื้นฟูจิตใจและความทรงจำที่เกิดจากภาวะความเครียดจากการพบเรื่องราวสะเทือนใจ (PTSD) และการทดลองดังกล่าวช่วยให้เข้าใจกลไกของความทรงจำในระดับเซลล์ให้กับเหล่านักวิทยาศาสตร์และบุคคลทั่วไปได้มากขึ้นอย่างแน่นอน

Business Insider

อย่างไรก็ตามแม้การทดลองครั้งนี้จะมีทฤษฎีและหลักฐานยืนยันเรื่องการถ่ายโอนความทรงจำผ่าน RNA แต่แวดวงประสาทวิทยาก็ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับการทดลองครั้งนี้ เพราะไม่แน่ใจว่าจะเรียกการวิจัยครั้งนี้ว่าเป็นการปลูกถ่ายความทรงจำได้หรือไม่ เพราะเซลล์ประสาทของหอยทากทะเล Aplysia Californica แม้จะมีบางส่วนคล้ายกับมนุษย์จริง แต่ความซับซ้อนและความแตกต่างในหลายด้านทำให้ไม่สามารถนำหอยทากทะเลมาเทียบกับสมองมนุษย์ได้ สมองมนุษย์มีเซลล์กว่าพันล้านเซลล์ แต่หอยทากทะเลนั้นมีเพียงแค่ 20,000 เซลล์เท่านั้น

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. Tomas Ryan จาก Trinity College Dublin, The University of Dublin ให้ความเห็นว่าเหตุที่หอยทากกลุ่มที่สองทำพฤติกรรมเหมือนกับกลุ่มหอยทากที่ถูกฝึกเนื่องจาก RNA ที่นำมาฉีดนั้นจะเป็นตัวควบคุมระบบการทำงานของยีน คล้ายกับการถ่ายโอนความทรงจำในเรื่องง่าย ๆ ซึ่งสามารถทำได้จริง

The Health Edge

แม้หลายคนคิดว่าหนทางยังอีกยาวไกลกว่าจะถึงวันที่มนุษย์สามารถรักษาโรคอัลไซเมอร์ให้หายขาด หรือสามารถแลกเปลี่ยนความทรงจำระหว่างกันด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์แบบในหนัง แต่การทดลองครั้งนี้ก็คือก้าวหนึ่งที่จะพามนุษย์ไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับความทรงจำได้มากขึ้น

SOURCE1 SOURCE2

TOIISAN
WRITER: TOIISAN
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line