Life

รับมือกับ Impulsivity เมื่อเราทำอะไรแบบไม่ยั้งคิดบ่อยจนตัวเองและคนรอบข้างเกิดบาดแผลทางใจ

By: unlockmen November 29, 2021

หลายคน พอยิ่งโต อาจยิ่งควบคุมอารมณ์ได้เก่งขึ้น แต่ก็มีบางคนเหมือนกันที่ถูกมองว่าเป็นเด็กอยู่ตลอดเวลา เพราะพวกเขาชอบทำอะไรตามใจ และไม่ค่อยคิดถึงผลของการกระทำของตัวเอง สุดท้ายพวกเขาก็ตัดสินใจได้แย่อยู่เสมอ จนเกิดผลเสียต่อตัวเองและคนรอบข้าง เราเรียกพฤติกรรมหุนหันพลันแล่นว่า ’Impulsivity’ ซึ่ง UNLOCKMEN ได้นำวิธีป้องกันพฤติกรรมดังกล่าวมาฝากทุกคนด้วย

 

อะไร คือ Impulsivity

นักจิตวิทยาใช้คำว่า ‘Impulsivity’ ในการอธิบายพฤติกรรมลงมือทำอะไรบางอย่างโดยไม่คิดถึงผลลัพธ์ที่ตามมา เช่น การเสียเงินให้กับสิ่งล่อตาล่อใจได้ง่าย หริอ เดินข้ามถนนโดยไม่มองซ้ายมองขวา เป็นต้น พฤติกรรมเหล่านี้มักส่งผลเสียต่อเราและคนรอบข้าง เพราะการทำอะไรแบบไม่ยั้งคิด อาจนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่ไม่คาดฝันได้ เช่น การสูญเสียคนรัก การสูญเสียเงินโดยใช้เหตุ หรือ การเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน เป็นต้น

Impulsivity เกิดขึ้นได้กับทุกคนโดยเฉพาะกับเด็กที่ยังไม่ค่อยมีวุฒิภาวะมากนัก และสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น ความผิดปกติของสมองส่วน Prefrontal Cortex ซึ่งเกี่ยวข้องกับการประมวลผลข้อมูลในการตัดสินใจ การสืบทอดความผิดปกติทางกรรมพันธ์ุ สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเกิด Impulsivity ไปจนถึงความผิดปกติทางจิตประเภทต่าง ๆ เช่น ภาวะอารมณ์สองขั่ว โรคสมาธิสั้น (ADHD) ภาวะบุคลิกภาพผิดปกติชนิดก้ำกึ่ง (BPD) รวมไปถึง ความผิดปกติในการควบคุมตัวเอง เช่น ภาวะระเบิดอารมณ์ชั่วคราว (IED) โรคดึงผม (Trichotillomania) หรือ โรคชอบขโมย (kleptomania) ซึ่งต้องได้รับการวินิจฉัยและรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

เราควรสำรวจตัวเองก่อนว่าทำพฤติกรรมเสี่ยงบ่อยเป็นเวลาหลายครั้งต่อวันรึเปล่า โดยพฤติกรรมเสี่ยงจะประกอบไปด้วย พฤติกรรมก้าวร้าวหัวร้อน การตัดสินใจแบบหุนหันพลันแล่น อาการกระสับกระส่ายอยู่นิ่งไม่ได้ เสียสมาธิง่าย และชอบรบกวนคนอื่น หากพฤติกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นบ่อย อาจบ่งบอกว่าคุณอาจมีปัญหาเรื่องการจัดการกับอารมณ์ของตัวเอง

 

เราจะลด Impulsivity ได้อย่างไรบ้าง

ความสัมพันธ์ที่พังทลาย และการตัดสินใจที่ล้มเหลว มักเกิดขึ้นจากการทำอะไรโดยไม่คิดทั้งนั้น ดังนั้น การหลีกเลี่ยง impulsivity จึงช่วยให้เราตัดสินใจดีขึ้น และลดความเสี่ยงที่จะทำอะไรผิดพลาด UNLOCKMEN อยากมาแนะนำเคล็ดที่จะช่วยให้ทุกคนสามารถบังคับการกระทำของตัวเองได้ดีขึ้น ลองดูว่ามีอะไรกันบ้าง

ทำสิ่งอื่นแทน – เวลาทำอะไรหุนหันพลันแล่น เราจะรู้สึกดีเป็นเวลาสั้น ๆ แต่หลังจากนั้นอาจเรียกได้ว่าเป็นนรก เพราะเมื่อรับรู้ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้ว เรามักรู้สึกเสียใจกับการกระทำของตัวเอง และได้รับความเจ็บปวดทางจิตใจยาวนาน จึงดีกว่าถ้าเราจะหลีกเลี่ยงพฤติกรรมประเภทนั้น โดยเมื่อเราเกิดความรู้สึกอยากทำอะไรบางอย่างขึ้นมา ให้เราลองทำพฤติกรรมอื่นเพื่อเปลี่ยนจุดโฟกัส เช่น ออกไปเดินเล่นนอกบ้าน พูดคุยกับเพื่อน หรือ จดบันทึกความรู้สึกลงกระดาษ เป็นต้น

ฝึกหายใจ – การหายใจเป็นวิธีการผ่อนคลายที่ดีเสมอ เราควรรู้จักใช้เทคนิคนี้ให้เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะในเวลาที่เราถูกกระตุ้นด้วยความรู้สึกอยากทำ ให้เราลองฝึกหายใจเข้าลึก ๆ ตลอดทั้งวัน เพื่อให้เกิดความสามารถในการควบคุมตัวเอง และทำอะไรหุนหันพลันแล่นน้อยลง

คิดถึงอนาคต – เวลาที่เรารู้สึกอยากทำอะไรสักอย่าง เราควรฝึกหยุดคิดก่อนตัดสินใจทำทุกครั้ง เพราะมันจะช่วยให้เราได้คิดอย่างรอบคอบ และตัดสินใจเลือกทำในสิ่งที่น่าพึ่งพอใจที่สุดได้มากขึ้น และที่สำคัญ คือ เราควรคิดถึงเหตุการณ์ที่สามารถเกิดขึ้นได้ หลังจากที่เราลงมือทำมันด้วย

ขัดขวางพฤติกรรมของตัวเอง – หากเราพบว่าการทำอะไรหุนหันพลันแล่น เช่น กินจุ หรือ ช้อปปิ้งออนไลน์มากเกินไป เป็นเรื่องที่หยุดยั้งได้ยาก สิ่งเราควรทำ คือ สร้างสิ่งแวดล้อมที่ทำให้พฤติกรรมเหล่านั้นเกิดได้ยากขึ้น เช่น ไม่ซื้ออาหารเข้าบ้าน หรือ กำหนดเวลาในการใช้งานโทรศัพท์ เป็นต้น

พบผู้เชี่ยวชาญ – ถ้าการเผชิญหน้ากับปัญหานี้ด้วยตัวเองเป็นเรื่องยาก หรือ อาการมันรุนแรงจนถึงขั้นเป็นสัญญาณของโรคร้าย เราขอแนะนำให้ลองไปพบผู้เชี่ยวชาญ เช่น นักบำบัด หรือ จิตแพทย์ เพื่อรับการบำบัดและรักษาต่อไป

ในช่วงแรก เราอาจไม่คุ้นเคยกับการทำสิ่งเหล่านี้ แต่ด้วยความอดทน และความมีวินัย พอเราทำมันไปนาน ๆ มันก็จะเกิดเป็นความเคยชิน และกลายเป็นนิสัยใหม่ของเราไปเอง ดังนั้น หากใครท้อแท้กับการเปลี่ยนแปลง เราขอแนะนำให้พยายามต่อไป ถ้าแรงจูงใจมันยังอยู่จนสุดทาง สุดท้ายเราก็เปลี่ยนแปลงตัวเองได้อย่างแน่นอน


Appendix: 1 / 2 / 3

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line