World
NIHON STORIES: การเมืองร้อนแรง เมื่อหนุ่มญี่ปุ่นแต่งตัวคล้าย JOKER ลงสมัครผู้ว่าฯ
By: TOIISAN March 18, 2021 197636
‘ญี่ปุ่น’ นับเป็นดินแดนที่อะไรก็เกิดขึ้นได้ ดินแดนที่ผู้คนจำนวนมากล้วนอัดแน่นไปด้วยความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ ที่มีตั้งแต่ในระดับพอดีไปจนถึงสุดโต่ง เห็นได้จากการกลายเป็นประเทศที่มีผู้ผลิตมังงะแฟนตาซีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก หนังบางเรื่องของญี่ปุ่นก็ต้องใช้พลังกายพลังใจจำนวนมากที่จะดูเพื่อเข้าถึง หรือไลฟ์สไตล์กับลัทธิความเชื่อกระฉ่อนโลกอย่าง โอมชินริเกียว ไปจนถึงแก๊งแฟชั่นหลุดโลกที่ยากจะคาดเดาของเหล่าวัยรุ่น ทั้งหมดจึงทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยความฉูดฉาดและไม่คาดฝัน
ความฉูดฉาดอันเป็นเอกลักษณ์ของญี่ปุ่นไม่ได้อยู่ที่เรื่องเอนเตอร์เทนเมนต์ แฟชั่น และความเชื่อเท่านั้น แต่ยังอยู่ในโลกการเมืองที่ดุเดือดจริงจังเช่นกัน เมื่อจังหวัดชิบะเปิดรับสมัครคนในพื้นที่ที่สนใจอยากเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้สมัครก็มีตั้งแต่โปรไฟล์สุดปังไปจนถึงสุดแปลก แต่สิ่งที่สร้างเสียงฮือฮามากที่สุดคนหนีไม่พ้นชายสวมสูทแดง ทาหน้าขาวคล้ายกับตัวละครโจ๊กเกอร์ ผู้ยืนยันว่าจะทำให้จังหวัดชิบะไม่เหมือนเก่าอีกต่อไป
ยูซูเกะ คาวาอิ (Yusuke Kawai) ไม่มีใครรู้ว่าเขาเป็นชายหัวหมอที่คิดหาวิธีโปรโมตตัวเองให้ประชาชนรู้จัก หรือเป็นแค่ชายที่ไม่ได้คิดอะไรในหัวเลยแม้แต่น้อย ทั้งที่เขาตั้งใจลงสมัครท้าชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ แต่ผู้คนกลับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับเขาน้อยมาก ยูซูเกะเป็นชายวัย 40 ปี ก่อนมาสมัครผู้ว่าฯ เคยทำงานเป็นหัวหน้าฝ่ายวางแผนของบริษัทจัดหางาน ที่คาดว่าคงมีชีวิตไม่ได้แตกต่างแปลกประหลาดไปจากคนอื่นเท่าไหร่นัก แต่กลับสร้างภาพจำให้กับชาวชิบะด้วยการแต่งตัวเลียนแบบโจ๊กเกอร์ วายร้ายตลอดกาลแห่งเมืองก็อตแธม
ยูซูเกะทาหน้าขาว เซตผมเปิดหน้าผาก ใช้ลิปสติกทาเลยริมฝีปากให้เหมือนกับตัวตลกหรือคนปากฉีก ใส่คอนแทคเลนส์สีทอง ก่อนใช้สีแต้มเป็นเส้นบริเวณดวงตา หากสังเกตดี ๆ จะเห็นว่าผู้ลงสมัครผู้ว่าฯ ท่านนี้ พยายามทำตัวเหมือนกับโจ๊กเกอร์ฉบับวาคีน ฟินิกซ์ (Joaquin Phoenix) ที่โด่งดังจนได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ แต่ในความคล้ายเขาก็ไม่ได้ทำจนเหมือนเป๊ะ และเมื่อกองพิจารณาผู้สมัครถามถึงรายละเอียดปลีกย่อยที่แตกต่างว่าเพราะอะไรถึงไม่เอาให้เหมือนสุด ๆ ไปเลย เขาก็ตอบกลับมาว่า “เหมือนเป๊ะก็โดนลิขสิทธิ์สิครับ อย่าเรียกผมว่าโจ๊กเกอร์เลย เรียกว่าตัวตลกก็ได้”
ผู้สมัครยูซูเกะพยายามนำเสนอนโยบายพัฒนาจังหวัดและชุมชน ด้วยการบอกว่าจะเปลี่ยนจังหวัดชิบะให้กลายเป็นดินแดนแห่งความฝันที่เต็มไปด้วยเวทมนตร์ สร้างความงุนงงให้กับชาวบ้านไม่น้อย เพราะเขาไม่ได้อธิบายขยายความว่าแดนความฝันกับเวทมนตร์ที่ว่าคืออะไร แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดว่าชายคนนี้พยายามอย่างมาก คือการป่วนคู่แข่งทางการเมืองคนอื่น โดยเฉพาะ มาซายูกิ ฮิราสึกะ (Masayuki Hiratsuka) หัวหน้าพรรคอธิปไตยประชาชน ที่ต่อต้านการระบาดของไวรัสโควิด-19 สุดโต่ง เพราะเชื่อว่าโควิด-19 ไม่ใช่เรื่องจริง ชาวญี่ปุ่นไม่จำเป็นต้องสวมหน้ากากก็ได้ และวัคซีนคือสิ่งที่อันตรายยิ่งกว่าไวรัส
แม้ยูซูเกะจะเหมือนตั้งใจมาลงสมัครผู้ว่าฯ เพื่อป่วนฮิราสึกะโดยเฉพาะ แต่แผนของเขากลับผิดพลาด เมื่อฮิราสึกะไม่ได้ลงสมัครผู้ว่าฯ ตามที่เคยประกาศไว้ แต่เมื่อแต่งตัวเตรียมตัวมาขนาดนี้แล้ว การหาเสียงของยูซูเกะในคราบผู้สมัครตัวตลกจำต้องเดินหน้าต่อไป
การเลือกตั้งผู้ว่าฯ ชิบะ จะมีขึ้นในวันที่ 21 มีนาคม 2021 คงต้องมาลุ้นกันว่าจะมีชาวชิบะกี่คนที่บ้าจี้เข้าคูหากาเบอร์ของยูซูเกะ หลังจากภาพและคลิปของเขาถูกส่งต่อเป็นวงกว้าง มีชาวเน็ตคนหนึ่งเขียนคอมเมนต์ว่า ‘ผมว่าตอนนี้จุดจบของชิบะคงใกล้เข้ามาทุกทีแล้ว’ เช่นเดียวกับคนส่วนใหญ่คิดว่าถึงลงสมัครกี่ครั้ง ทั้งยูซูเกะและฮิราสึกะที่เขาตั้งใจมาป่วน ก็คงไม่มีวันได้ตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดชิบะอย่างแน่นอน
ความประหลาดในโลกการเมืองญี่ปุ่นไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นเพราะยูซูเกะแต่งตัวเป็นโจ๊กเกอร์มาลงสมัครผู้ว่า ก่อนหน้านี้โลกเคยเห็นข่าวใหญ่ขณะประชุมสภาญี่ปุ่นช่วงเดือนพฤษภาคม 2020 มี ส.ส. ท่านหนึ่งแอบดูคลิปจระเข้ในมือถือเหมือนกับว่าเขาไม่สนใจวาระการประชุม กลายเป็นเรื่องใหญ่จนต้องตั้งโต๊ะแถลงข่าว ก้มหัวขอโทษ พอวันเวลาผ่านไป หลายคนคิดว่าเรื่องเหล่านี้อาจถูกลืม แต่พอ ส.ส. ท่านนี้ได้กลายเป็นรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลและไอที เขาก็ถูกชาวญี่ปุ่นเรียกว่า ‘รัฐมนตรีจระเข้’ ยืนยันว่าคนไม่ได้ลืมสิ่งที่เขาทำ กลายเป็นอีกหนึ่งความอับอายและการสร้างภาพจำให้กับตัวเองโดยไม่ได้ตั้งใจ
นอกจากรัฐมนตรีจระเข้ ย้อนกลับยังปี 2013 เคยมีข่าวใหญ่ว่านักการเมืองจากจังหวัดโออิตะ ถูกสั่งห้ามเข้าร่วมประชุมสภา เนื่องจากไม่ยอมถอดหน้ากากมวยปล้ำ และการกระทำของเขาคือการไม่ให้เกียรติงานและสถานที่ ส่วนจังหวัดโอซาก้าก็เคยมีกรณีคล้ายกันกับนักการเมืองที่ชอบสวมหน้ากากมวยปล้ำเวลาทำงาน ที่ทั้งสองคนมีเหตุผลที่สวมหน้ากากคล้ายกันว่า สวมหรือไม่สวมก็ไม่ได้ทำให้เขาทำงานได้แย่ลง แถมประชาชนยังจดจำพวกเขาและสนใจการเมืองมากขึ้นด้วยซ้ำ
ลองนึกว่าในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือเลือกตั้ง ส.ส. แบบเขต มีผู้สมัครแต่งตัวเป็นโจ๊กเกอร์หรือฮีโร่จากการ์ตูนตัวอื่นๆ มาลงสมัครซ้ำยังได้รับเลือกให้ทำงานในสภา คงเป็นภาพที่สร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไปทั่วได้ง่าย ๆ แต่หากย้อนกลับไปดูดี ๆ ก็ไม่ใช่ว่าไม่เคยมีเหตุการณ์ทำนองเดียวกันมาก่อน