FASHION

JULIAN DUNKERTON ไม่ต้องเรียนจบก็มีอาณาจักรเสื้อผ้าพันล้านอย่าง SUPERDRY ได้

By: Thada May 17, 2018

มีหนังสือสมัยนี้หลายเล่มที่มักเขียนว่าไม่ต้องเรียนจบก็รวยได้ แต่นั่นเป็นเพียงคำพูดเท่ ๆ เพราะไม่ใช่ทุกคนที่ไม่มีวุฒิการศึกษาแล้วประสบความสำเร็จในชีวิตเหมือน Steve Jobs หรือ Bill Gates ยิ่งสำหรับในประเทศไทยที่ค่อนข้างถือเรื่องวุฒิการศึกษาสำคัญเหนือสิ่งใด การที่เราไม่ได้เป็นคนอัจฉริยะระดับเดียวกับคนเหล่านั้น จึงจำเป็นจะต้องขยันหมั่นเพียรทำงานหนักเพื่อที่จะก้าวไปอยู่ในระดับเดียวกับพวกเขา

แต่ทว่าวันนี้ UNLOCKMEN ได้นำเรื่องราวของเจ้าพ่ออาณาจักรแฟชั่น Cult Clothing ผู้อยู่เบื้องหลังแบรนด์เสื้อผ้าระดับโลกอย่าง Superdry ซึ่งมีหัวเรือใหญ่อย่าง Julian Dunkerton ที่ตัดสินใจหันหลังให้กับการศึกษาตั้งแต่อายุ 19 และเริ่มต้นธุรกิจของตัวเอง มาเพื่อเป็นแรงบันดาลใจสำหรับคนที่อาจจะมีแต้มเป็นรองคนอื่นให้รู้สึกอยากลุกขึ้นมาฮึดสู้กับชีวิต

ย้อนกลับไป Julian Dunkerton  ต้องเดินทางไปอยู่ที่ Hereforshire เนื่องจากครอบครัวแยกทางกัน ซึ่งเขาลงวิชาผิดไปหมดเลือกเรียน ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ ที่ตัวเขาเองไม่ได้มีความถนัดเลย สุดท้ายก็สอบตกไปตามระเบียบ เกรดของ Julian  นับว่าแย่มาก จนเขาคิดว่าหนทางสู่การเรียนต่อมหาวิทยาลัยได้จบลงไปเรียบร้อย เขาจึงใช้เวลาหลังจากเรียนจบไฮสคูลเดินทางไปทำงานยังโรงงานและฟาร์มเพราะหวังว่าจะใช้เก็บเงินก้อนนี้ในการเดินทางท่องเที่ยว ที่นั่นเองที่ Julian ได้พบกับชายคนหนึ่งที่ทำงานขายพรม ซึ่งถือเป็นแรงบันดาลใจให้เขาเริ่มต้นขายเสื้อผ้าของตัวเอง Julian ต้องเดินทางไปรับเสื้อผ้าจาก London เพื่อมาขายต่อ

เขามองช่องทางหาเงินโดยการเข้าร่วมโปรแกรมท้องถิ่นที่ชื่อว่า Allowance Scheme ที่จะมอบเงินให้กับคนตกงาน โดย Julian ได้รับเงินราว ๆ 40 ปอนด์ต่อสัปดาห์ในขณะที่เริ่มต้นธุรกิจและยังไปขอกู้เงินมาจากครอบครัวอีก 2,000 ปอนด์ เพื่อเปิดร้านค้าที่ Hereforshire

Julian สามารถจ่ายเงินกู้คืนได้ทันทีภายในปีเดียว เพราะเขาถือคติที่ว่า…..

ผมเกลียดหนี้สิน ผมรู้สึกว่าต้องจ่ายเงินคืนอย่างรวดเร็ว

เมื่อ Julian รู้สึกว่าธุรกิจของเขาไม่สามารถก้าวไปต่อได้ จึงได้ตัดสินใจขายมันทิ้งไปและเหมือนโชคชะตานำพาให้เขาไปรู้จักกับ Ian Hibb ระหว่างการเดินทาง ทั้งคู่มีความคิดที่คล้าย ๆ กันพร้อมคุยกันถูกคอ จึงตัดสินใจลงขันซื้อที่ย่าน Cheltenham เพื่อเปิดร้านเสื้อผ้าเล็ก ๆ ชื่อว่า “Cult Culture” ในปี 1985

ทั้งคู่ค่อย ๆ ขยายกิจการอย่างต่อเนื่องในทศวรรษที่ 90s สามารถเปิดสาขาเพิ่มเติมในย่านการศึกษาไม่ว่าจะเป็น Oxford, Cambridge, Edinburgh, และ Belfast กระทั่งในปี 2003 ตัวของ Julian ได้เดินทางไปท่องเที่ยวที่ Tokyo ประเทศ Japan จึงเกิดแรงบันดาลใจ เลยชวนเพื่อนร่วมธุรกิจของเขาอีกหนึ่งคน James Holder ที่ควบตำแหน่งเจ้าของแบรนด์เสื้อ Bench อยู่แล้วเพื่อสร้างแบรนด์เสื้อผ้าใหม่ในแนววินเทจอเมริกาที่ผสมผสานกับงานศิลป์แบบญี่ปุ่น ดึงเอาจุดเด่นของทั้งสองสไตล์มาบวกกันจนเกิดเป็น Superdry

ผลปรากฎว่า Superdry แพร่กระจายความนิยมไปอย่างรวดเร็ว เป็นที่ถูกอกถูกใจคนดังมากมายนำมาสวมใส่ ทำให้พวกเขาแทบจะไม่ต้องเสียเงินค่าโฆษณาจ้างพรีเซนเตอร์มาโปรโมตตัวเอง ทำให้ผลประกอบการของแบรนด์ในกลุ่ม Supergroup ซึ่งเป็นบริษัทแฟชั่นที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ของอังกฤษและ Superdry ประสบความสำเร็จภายในเวลาแค่ 6 ปี มูลค่าของ Supergroup ถีบตัวขึ้นไปสูงถึง 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา

จากความสำเร็จของแบรนด์ Supredry ส่งผลให้ Julian กลายเป็นมหาเศรษฐีและเข้าไปอยู่ในทำเนียบการจัดอันดับคนรวยของประเทศอังกฤษคือ Sunday Times Rich list ปี 2010 ด้วยเงินส่วนตัวสูงกว่า 180 ล้านปอนด์สเตอร์ลิง

ทว่าความสำเร็จบวกกับแผนการณ์ขยายสาขาไปทั่วโลกที่รวดเร็วจนเกินไป หลังจากนั้นเพียงแค่ 4 ปี หุ้นของ Supergroup ตกลงถึง 18%  Julian รู้ตัวว่าถึงเวลาที่ตัวเองควรลงจากตำแหน่งเมื่อปี 2014 และมอบหมายงานที่เหมาะสมให้กับคนที่ใช่มากกว่า เขาเลยปล่อยตำแหน่ง CEO ให้กับ Euan Sutherland มาดูแลงานแทน และปลีกตัวไปดูเรื่องไลน์การผลิตแบบที่เขาถนัด หลังจากนั้น Julian Dunkerton ก็ค่อย ๆ ปล่อยขายหุ้นของตัวเองไปเรื่อย ๆ แต่เขาก็ยังถือหุ้นใหญ่สุดของบริษัท Supergroup นอกเหนือจากความสามารถ Julian ยังเป็นคนใจบุญสุนทานเพราะหุ้นที่ขายไป เขานำเงินไปมอบให้กับมูลนิธิเพื่อการกุศลแทนที่จะเก็บเอาไว้ใช้เอง

นอกจากความสามารถในการสร้างแบรนด์ Superdry เราอยากจะนำเคล็ดลับการทำงานของ Julian Dunkerton มาปลุกไฟในตัวคุณสำหรับคนที่อยากจะประสบความสำเร็จเช่นเดียวกับเขา

คุณไม่สามารถบงการผู้บริโภคได้

ผู้บริโภคคือตัวกำหนดธุรกิจ แต่หลายบริษัทมักทำผิดและหลงลืมลูกค้าของตัวเอง เพราะที่แท้จริงแล้วเราควรเก็บเกี่ยวประสบการณ์คอยสอบถามความพึงพอใจและสร้างสิ่งที่พวกเขาต้องการออกมาให้สินค้าของคุณคู่ขนานไปกับพร้อม ๆ กัน

อย่าจำกัดขีดความสามารถตัวเอง

Julian Dunkenton ไม่เคยจำกัดขีดความสามารถของตัวเอง เราสามารถพัฒนาตัวเองไปข้างได้เสมอ อย่าให้ข้อจำกัดมาปิดกั้นการก้าวเดินไปข้างหน้าของเรา

พรุ่งนี้ต้องดีกว่าเดิม

ที่ Supredry จะไม่พูดคำว่าดีออกมา เพราะนั่นจะทำให้พวกเราหยุดพัฒนาตัวเอง โดยทุกคนจะพยายามหาแง่มุมมองมาติเพื่อก่อให้เกิดสิ่งใหม่ ๆ ที่ต้องยอดเยี่ยมกว่าเดิม ที่นี่จะไม่พอใจแค่ชมว่าดีเท่านั้น

รู้ว่างานไหนเหมาะกับคนไหน

Julian Dunkenton รู้ตัวเองว่าไม่ถนัดงานบริหารงาน ดังนั้นเมื่อถึงเวลาที่บริษัทก้าวถอยหลัง เขาจึงยอมสละตำแหน่งเพื่อให้คนที่มีความสามารถเหมาะสมกว่ามาทำงาน บริษัทจะได้เดินหน้าก้าวต่อไป

ไม่ใช่จ่ายเกิน 10% ของเงินที่หามาได้

“ผมจะไม่ใช้เงินที่หามาได้เกิน 10% เพราะบางคนหาเงินมาได้แล้วก็ใช้จ่ายไปอย่างฟุ่มเฟือยจนทำให้ไม่มีเงินเหลือเก็บ” น่าเป็นเคล็ดลับสำคัญที่ทำให้ Julian Dunkerton กลายเป็นหนึ่งในคนที่ร่ำรวยที่สุดของประเทศอังกฤษก็เป็นได้

จงฟังเสียงของลูกค้าเสมอ

การฟังจะทำให้เราพัฒนามากกว่าการพูด เมื่อเราตั้งใจฟังความต้องการของคนอื่น เราก็จะรู้ว่าพวกเขาต้องการอะไร ตัวอย่างเช่น เขารู้มาว่าผู้บริโภคต้องการโปรดักต์ที่มีความสปอร์ตมากขึ้น เขากลับไปพัฒนากับทีมผลิตจนเกิดเป็น Superdry สปอร์ตแวร์ที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของพวกเขามากยิ่งขึ้น

นี่ก็เป็นเรื่องราวของ Julian Dunkerton ที่ปัจจุบันแม้จะก้าวลงจากตำแหน่งสำคัญของ Superdry  แต่เขาถือเป็นหัวเรือสำคัญที่คอยผลักดันแบรนด์ให้ก้าวขึ้นมาเป็นท๊อปแฟชั่นระดับโลก แม้จะไม่ได้เรียนจบมหาวิทยาลัย เขากลับไม่ได้นำมันมาเป็นอุปสรรคในการผลักดันสิ่งที่ตัวเชื่อและมุ่งมั่นตั้งใจว่าจะต้องทำให้ประสบความสำเร็จให้จงได้ สำหรับชาว UNLOCKMEN  ที่มีฝันอยากจะทำธุรกิจของตัวเอง อาจจะใช้เรื่องราวของ Julian Dunkerton มาเป็นแรงบันดาลใจเพื่อจะทำฝันให้เป็นจริง

 

source , source 2 , source 3 ,source 4

Thada
WRITER: Thada
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line