CARS

KENICHI YAMAMOTO จากเศษซากสงครามโลก สู่บิดาแห่งเครื่องยนต์ ROTARY ผู้พา MAZDA ยิ่งใหญ่ถึงปัจจุบัน

By: Chaipohn December 28, 2017

ชื่อของ Kenichi Yamamoto อาจจะไม่เป็นที่คุ้นหูของคนทั่วไป แต่สำหรับคนในวงการยานยนต์ตัวจริง น่าจะรู้ถึงความยิ่งใหญ่ของชื่อนี้เป็นอย่างดี ผู้ชายคนนี้เป็นบิดาแห่งเครื่องยนต์ Rotary เอกลักษณ์เฉพาะของแบรนด์ Mazda เป็นผู้สร้างสรรค์ให้เกิดรถยนต์สปอรต์ระดับโลกอย่าง RX-7 และ MX-5 จะเรียกว่าเป็นกุญแจดอกสำคัญที่นำพาให้รถยนต์ Mazda ประสบความสำเร็จถึงทุกวันนี้ก็ไม่ผิด

เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ Kenichi Yamamoto เพิ่งจะเสียชีวิตไปเร็ว ๆ นี้ด้วยวัย 95 ปี และเราคิดว่าทุกคนน่าจะได้รู้จักเรื่องราวของชายผู้ยิ่งใหญ่คนนี้กันมากขึ้น

จุดเริ่มต้นของ Kenichi นั้นไม่ง่ายเลย เกิดที่เมือง Hiroshima ในปี 1922 ก่อนจะเข้าไปเรียนจนจบมหาวิทยาลัย Tokyo Imperial University ในปี 1944 แต่ยังไม่ทันจะได้เริ่มต้นชีวิตหลังเรียนจบอย่างที่หวังไว้ หนึ่งปีผ่านไป ประเทศญี่ปุ่นก็เข้าสู่ช่วงท้ายของสงครามโลกครั้งที่ 2 Hiroshima บ้านเกิดของ Kenichi ถูกระเบิด atomic bomb ‘Little Boy’ ทิ้งใส่จนไม่เหลือซาก

ด้วยความหวาดกลัวว่าข่าวร้ายจะมาถึงตัวเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ วันนึงก็มีจดหมายจากแม่ของ Kenichi ส่งมาบอกว่า บ้านของเขาพังทลาย และที่น่าเศร้ากว่านั้นก็คือน้องสาวที่เพิ่งจะเรียนจบมัธยมเสียชีวิตลงไปจากเหตุการณ์นี้ด้วย เหตุการณ์นี้ทำให้ Kenichi เดินทางกลับไปบ้านเกิดเพื่อดูแลพ่อแม่ และหวังจะกอบกู้ทุกอย่างขึ้นใหม่อีกครั้ง ด้วยอะไรก็ตามที่สามารถทำได้

ความเศร้าที่มี เปลี่ยนเป็นแรงผลักดันให้ Kenichi ได้เริ่มทำงานในบริษัทผลิตรถบรรทุกขนาดเล็กในเมือง Hiroshima ที่ชื่อ ‘Toyo Kogyo’ ซึ่งแฟนพันธุ์แท้ Mazda อาจจะรู้ว่าเป็นชื่อเก่าแก่ดั้งเดิมของแบรนด์ Mazda นั่นเอง Kenichi เริ่มทำงานในทีมผลิตระบบส่งกำลังสำหรับรถบรรทุก 3 ล้อ ซึ่งในตอนนั้นเป็นยานพาหนะที่สำคัญในการสร้างเมือง Hiroshima ให้กลับคืนสู่สภาพเดิม และด้วยความมุ่งมั่นแรงกล้า ทำให้ Kenichi เติบโตจากช่างธรรมดา ไปสู่ตำแหน่งระดับสูง คุมทีมวิศวกรสร้างสรรค์ในองค์กรได้ภายใน 2 ปีเท่านั้น

ในช่วงปี 1964 ประเทศญี่ปุ่นมีนโยบายเลือกสนับสนุนทางนโยบายเฉพาะบางแบรนด์ที่มีศักยภาพขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ประเทศ ในวงการยานยนต์มี 3 แบรนด์ที่ได้รับเลือก คือ Toyota, Nissan และ Isuzu ซึ่งการที่ Mazda (Toyo Kogyo ในยุคนั้น) ไม่ติดโผ Economic Powerhouse จะส่งผลให้บริษัทตกที่นั่งลำบากทันที เพราะการขอกู้เงินทุนจากธนาคารจะทำได้ยากยิ่งขึ้น

ด้วยความที่มี Growth Mindset อย่างเต็มเปี่ยม เมื่อ Kenichi Yamamoto เห็นแบบนั้น จึงรีบสร้างสรรค์เครื่องยนต์ทางเลือกใหม่ เพื่อโชว์ศักยภาพทางเทคโนโลยีของบริษัท จึงเป็นที่มาของเครื่องยนต์ Twin-Rotor Rotary engine ในรถยนต์สปอร์ต Cosmo Sport แน่นอนว่า Ministry of International Trade and Industry (MITI) เห็นอนาคตที่ยิ่งใหญ่ของ Mazda และให้การสนับสนุนทันที ช่วยให้บริษัทหลุดจากปัญหาด้านเงินทุนในยุคฟืดเคือง นับว่าเป็นผลงานที่ยิ่งใหญ่มากของ Kenichi และเป็นวันที่เครื่องยนต์ Rotary ของ Mazda ถือกำเนิดขึ้น

“I think that if I had not become involved in the rotary engine, I would not be sitting here now.”

ด้วยความเชื่อมั่นในเครื่องยนต์ Rotary ที่มีสมรรถนะสูง แต่มีข้อเสียคือไม่ประหยัดน้ำมัน ในช่วงปี 70s ซึ่งเป็นยุคน้ำมันแพง เครื่องยนต์ Rotary ของ Kenichi เสี่ยงต่อการถูกเลิกผลิต แน่นอนว่า Kenichi ไม่สามารถยอมรับความคิดนี้ได้ เพราะถ้าทำแบบนั้นจริง ลูกค้าจะสูญเสียความเชื่อมั่นที่มีต่อ Mazda และกลายเป็นว่าเครื่องยนต์ Rotary engine ที่ผลิตขายไปแล้วกว่า 300,000 เครื่องเป็นของห่วยที่พัฒนาไม่ได้

ทีมงานของ Kenichi และวิศวกรทั้ง 47 คน ซึ่งสนิทและเคารพ Kenichi มากจนได้ฉายาว่า ’47 Ronin’ ได้ร่วมกันหาวิธีแก้ไขเครื่องยนต์ Rotary ใน Cosmo Sport ให้ประหยัดน้ำมันมากขึ้น ใช้งานได้ดีขึ้น จนในที่สุดทีมก็ประสบความสำเร็จ ในการส่งเครื่องยนต์รุ่นใหม่ สู่ผลงานที่เป็น Iconic ของวงการรถยนต์ทั่วโลก จุดเริ่มต้นของรถยนต์ RX-7 ‘SA22C’ เครื่องยนต์ 1,146cc Twin-Rotor Rotary Engine สมรรถนะ  100 hp และแรงบิด 105 lb-ft of torque ทำความเร็ว 0 – 100 km/h ไม่ถึง 10 วินาทีในสมัยนั้น นับว่าเป็นตัวเลขที่ไม่ธรรมดา

ด้วยความทุ่มเทและผลงานมากมายของ Kenichi Yamamoto ทำให้เขาได้ก้าวไปถึงตำแหน่ง President ในปี 1985 และเป็น Board Chairman ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดในปี 1987 ซึ่งแม้จะเข้าสู่ยุคปัจจุบัน Mazda ก็ยังคงพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องยนต์ Rotary engine อยู่ตลอดเวลา วันนี้ Kenichi อาจจะลาจากโลกนี้ไปแล้ว แต่ทุกสิ่งที่เคยสร้างไว้ ยังคงสืบทอดตำนานความยิ่งใหญ่ที่เกิดจากเศษซากปลักหักพังของเมือง Hiroshima ในตอนนั้นได้อย่างสมบูรณ์แบบ

Chaipohn
WRITER: Chaipohn
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line