Life

ไม่สื่อสาร งานไม่เดิน “พูดไม่ค่อยเก่ง” ส่งผลยังไงต่อการทำงาน พร้อมทางออกให้กล้าเอ่ยมากขึ้น

By: unlockmen October 8, 2018

ทำงานด้วยกันทีไร ก็มีแต่คนบ่นเรื่องการสื่อสาร พูดน้อยจัง ไม่ออกความเห็นหน่อยหรอ มีไอเดียอีกมั้ย คำถามเหล่านี้ชวนให้เราอึกอักทุกครั้งที่ได้ยิน ไม่รู้ว่าจะตอบยังไงให้น่าฟังเลยเลือกการไม่ตอบเลยซะดีกว่า จนเรากลายเป็น “คนพูดน้อย” ไปโดยปริยาย อาจจะรู้สึกว่ามันเป็นบุคลิกส่วนตัวนี่นา จะเปลี่ยนกันง่าย ๆ ได้ไง แต่จริง ๆ มันส่งผลทั้งการทำงานและความสัมพันธ์ เราอาจจะมองข้ามเรื่องความสัมพันธ์ในที่ทำงานได้ ถ้าเราเป็นคนไม่เข้าสังคม แต่เราจะไม่สนใจเรื่อง Performance ของงานไม่ได้

ถ้ารู้สึกว่าไอ้อาการ “พูดน้อย” ของเรามันกำลังทำให้เราเข้ากับที่ทำงานได้ยาก UNLOCKMEN ขอแนะนำทางออกให้หนุ่มพูดไม่ค่อยเก่ง ได้ Improve ตัวเองให้เจ๋งแบบผิดหูผิดตา

พูดน้อยแล้วผิดตรงไหน ?

คนพูดน้อยเนี่ย เขามักจะพูดแต่อะไรที่จำเป็น อาจจะออกมาในรูปแบบ ถามคำตอบคำ เอ่อ ๆ อืม ๆ ตามความเห็นของคนอื่นไป ถ้ายังไม่แน่ใจในความคิดของตัวเอง ทำแบบนั้นบ่อย ๆ เข้า เขาจะรู้สึกว่า “เมื่อเราไม่ได้พูดเป็นต่อยหอยเหมือนคนอื่น มันผิดตรงไหนกันนะ ?” ถ้ามองในแง่การเข้าสังคม มันไม่ผิดหรอก เพราะแต่ละคนย่อมมีบุคลิกที่แตกต่างกันไป แต่ในแง่ของการทำงานร่วมกับผู้อื่น มันเหมือนกับ “ขาดการสื่อสาร” คนอื่นจะไม่รู้ถึงความต้องการ ไอเดีย หรือความคิดเห็นอะไรเลย ถ้าหากมันไม่ถูกสื่อสารออกไป เราจะไม่ได้ในสิ่งที่เราต้องการ หากเราไม่ร้องขอ เราอาจจะถูกเข้าใจผิด ถ้าเราไม่พูดความคิดเห็นของเราออกไป หรือแย่ที่สุดก็คงเป็น ความคิดเห็นของเราไม่ใช่สิ่งจำเป็นอีกต่อไป สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่เป็นปัญหา เพราะฉะนั้น ลองมาปรับเปลี่ยนตัวเองกันดีกว่า

เริ่มพูดเท่าที่อยากพูด

การจะเริ่มต้นอะไรสักอย่าง มันก็ต้อง Step By Step จะให้มาถึง จากคนพูดน้อยสู่นักพูดในตำนานจนในที่ประชุมอึ้งกันหมดก็เป็นไปไม่ได้ เก็บความคิดเห็น ไอเดีย เอาไว้ในกระดาษก่อน พอถูกถามขึ้นมา รวบรวมความกล้า แล้วเอาไอ้สิ่งที่จดไว้ขึ้นมาพูด อธิบายเล็กน้อยพอให้คนอื่นได้เข้าใจรายละเอียด ที่บอกให้จดไว้ เพราะว่าถ้าหากโดนถามตรง ๆ ตอนนั้นเราอาจสติแตกกระเจิง อะไรที่คิดไว้ก็วิ่งหนีไปหมด แล้วมันจะเกิด Dead Air เอาเข้าให้

พอได้พูดแล้ว ก็ไม่ต้องฝืนพูดยืดยาว ชักแม่น้ำทั้งหน้า เพราะในเมื่อเราเคยเบื่อคนพูดมาก เราก็ไม่จำเป็นต้องกลายเป็นคนแบบนั้นเพื่อให้เข้ากับคนอื่นได้ ค่อย ๆ ขยับไปทีละก้าว พูดเท่าที่เรารู้สึกว่ามันไม่ทำให้อึดอัดก็พอ

หัดเป็นผู้ฟัง

บางคนอาจเป็นผู้ฟังที่ดีอยู่แล้ว และชอบการฟังมากกว่าการพูด ข้อนี้ไม่มีปัญหา แต่บางคนที่พูดน้อย เขามักจะขาดการสื่อสารกับคนอื่นไปด้วย ก็คือไม่เข้าสังคม ไม่รับฟังคนอื่นด้วย ลองถามไถ่เรื่องราวที่สนใจร่วมกัน มีสังคมกับเพื่อนร่วมงานบ้าง ยังไม่ต้องเอ่ยปากเล่าเรื่องของตัวเองถ้ารู้สึกว่ามันทำให้เรารู้สึก Insecure ลองฟังว่าคนอื่นเขาพูดถึงเรื่องอะไรกันบ้าง เขาพูดยังไง ถ้ามีเรื่องไหนที่เราสนใจเหมือนกัน ลองพูดถึงว่าเราก็เป็นหนึ่งในหัวข้อนั้นเหมือนกันนะ ทีนี้อาจจะมีเรื่องให้คุยกันยาว ๆ เลยก็ได้

พูดให้ชัดเจน

ช่วงแรกอาจจะเขินอายที่ต้องอธิบายอะไรให้คนอื่นเข้าใจเหมือนกับเรา จนทำให้พูดวกไปวนมา จากที่เหมือนจะเข้าใจกลายเป็นไม่เข้าใจ ลองลำดับเรื่องราวไว้ในใจหรือจดลงกระดาษก่อน แล้วเล่าไปทีละหัวข้อ อย่างนี้ก็เจ๋งเหมือนกัน นอกจากความชัดเจนในเนื้อหาแล้ว น้ำเสียงก็ต้องชัดเจนด้วย พูดอู้อี้ในลำคอ คำพูดคั่น อืม ๆ เอ่อ ๆ ต้องพักเอาไว้ก่อน คนฟังก็ลุ้นคนพูดก็ลุ้นว่าจะรู้เรื่องวันไหน ฝึกพูดแบบชัดเจน ชัดถ้อยชัดคำดู อาจจะช่วยให้คำพูดของคนพูดไม่เก่งน่าฟังมากขึ้น

พูดให้เหมาะสมกับบุคคล

เรื่องนี้ก็อาจทำให้หนุ่มพูดน้อยเกร็ง ๆ อยู่เหมือนกัน กับการพูดคุยกับลูกค้า เจ้านาย หัวหน้าทีม ญาติผู้ใหญ่ หรือใครก็ตามที่ทำให้เรามีข้อจำกัดในการพูด ไม่ต้องกังวลไป เอาการพูดน้อยของเรานี่แหละเป็นอาวุธเด็ด พูดเท่าที่จำเป็นไปก่อน อย่าเพิ่งสาธยายอะไรนัก ถ้ายังไม่มั่นใจ บวกเอาความสุภาพเข้าสู้ พูดให้มีหางเสียง นอกจากจะช่วยให้เราพูดได้ดีแล้ว ดูเป็นคนมีมารยาทอีกด้วย ลองค่อย ๆ เอาข้ออื่นมาประยุกต์ใช้ไปด้วยก็ได้

แม้จะเข้าสังคมไม่เก่ง ไม่ได้แปลว่าเราต้องปิดปากเงียบกระทั่งตอนทำงาน เพราะการทำงานร่วมกับผู้อื่นก็ต้องอาศัยการสื่อสารกันอยู่ดี การพัฒนาตัวเองไม่ใช่เรื่องแย่ ถ้าหากเราจะต้องเปลี่ยนตัวเองในทางที่ดีขึ้น

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line