Business

อย่าให้ความเครียดทำร้าย ‘วิธีคิดรับมือความเครียดอยู่หมัดแบบคนประสบความสำเร็จ’

By: PSYCAT August 19, 2020

ความเครียดอยู่คู่กับมวลมนุษยชาติมาโดยตลอด โดยเฉพาะในยุคที่เราต้องแข่งกันทำงาน ฟาดฟันกันทางธุรกิจ ความเครียดย่อมรุมเร้าเป็นเงาตามตัว ความเครียดในระดับที่เหมาะสมอาจหมายถึงเราได้เผชิญความท้าทาย ได้ก้าวออกจากคอมฟอร์ตโซน แต่ความเครียดที่พุ่งทะลุขีดก็อาจหมายถึงปัญหาสุขภาพที่ตามมา หรืองานที่ไม่มีประสิทธิภาพได้

การจัดการกับความเครียดให้อยู่หมัดจึงเป็นสิ่งที่เราทุกคนควรเรียนรู้และฝึกฝน ไม่ใช่เพื่อให้ชีวิตนี้ไม่มีเรื่องเครียดมากวนใจ แต่เมื่อมีปัญหาและเรื่องเครียดมาทักทายแล้วเราสามารถรับมือกับมันได้อย่างที่มนุษย์ที่ประสบความสำเร็จหลาย ๆ คนเขาทำกัน

 อย่ามัวคลายเครียด แต่หาสาเหตุแล้วกำจัดต้นตอของมัน

กิจกรรมผ่อนคลายความเครียดไม่ได้ผิดอะไร เราสามารถทำกิจกรรมเหล่านั้นเวลาเราต้องการเพิ่มความรู้สึกรื่นรมย์ให้ชีวิต หรือเมื่อความเครียดนั้นอยู่ในระดับแค่เบี่ยงเบนความสนใจก็ดีขึ้น แต่เราไม่สามารถหาทางคลายเครียดเพื่อหนีความเครียด หรือกำจัดมันให้พ้นไปตลอดกาลได้ ดังนั้นหนทางสำคัญจึงเป็นการหาที่มาของความเครียดนั้นให้เจอ และจัดการกับมันอย่างตรงจุด

การศึกษาวิจัยตลอดทศวรรษที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่ามนุษย์ที่ประสบความสำเร็จจากหลายแขนง ทั้งนักธุรกิจ ผู้นำการทหาร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ กระทั่งนักกีฬามากความสามารถล้วนแต่โฟกัสไปที่การแก้ปัญหา ตั้งแต่ที่สถานการณ์เริ่มสร้างความตึงเครียดให้พวกเขา วิธีการก็คือการพยายามระบุแหล่งที่มาของความเครียดให้ได้ จากนั้นจึงจัดการกับมันอย่างตรงจุด

เช่นกรณีของศัลยแพทย์ที่ต้องผ่าตัดครั้งสำคัญ นอกจากความยากของการผ่าตัดที่เป็นความท้าทายครั้งสำคัญซึ่งเลี่ยงไม่ได้แล้ว การนอนไม่พอหรือการหายใจผิดจังหวะจากความเครียดของตัวเองก็อาจทำให้ทุกอย่างเลวร้ายลงไปอีก ดังนั้นทางแก้ที่พวกเขาเลือกจึงเป็นการนอนให้เพียงพอก่อนวันผ่าตัด การฝึกการหายใจเพื่อให้รับมือกับความเครียดในห้องผ่าตัดได้ดีขึ้น

หรือกรณีของนักธุรกิจที่ต้องเครียดจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในองค์กร เขาจะไม่เลือกเพิกเฉย แล้วรอแก้ปัญหาที่ตามมา แต่เลือกหาสาเหตุของปัญหาเหล่านั้นและรีบคลี่คลายมันก่อนที่ทุกอย่างจะลุกลาม

คนที่ประสบความสำเร็จจำนวนมาก จึงไม่ได้เลือกทางที่ความเครียดเกิดขึ้นแล้วหาทางบรรเทาอารมณ์ความรู้สึกนั้นแต่พวกเขาจะพยายามหาสาเหตุของความเครียดที่พวกเขารู้สึกเป็นอันดับแรก แล้วหาทางมาจัดการกับต้นตอนั้นให้เร็วที่สุด

อารมณ์เชิงลบ ไม่ได้แย่เสมอไป ถ้าใช้ให้ถูกวิธี

เชื่อว่าหลายคนเคยได้รับคำแนะนำเรื่องการจัดการความเครียดที่เน้นให้เราควบคุมอารมณ์เชิงลบของตัวเอง การไม่โกรธ การไม่ผิดหวัง คำแนะนำที่อยากให้เราผ่อนคลายอารมณ์จากความเครียดอันเผาไหม้ ด้วยการให้มองโลกมุมใหม่ การพยายามหามุมมองที่เป็นบวกกว่าให้ตัวเอง

วิธีเหล่านั้นได้ผลในหลาย ๆ กรณี โดยเฉพาะเมื่อเราเผชิญความเครียดจากเรื่องที่เราไม่อาจควบคุมหรือเปลี่ยนแปลงมันได้อีกแล้ว เช่น การต้องรับมือกับความสูญเสียใครสักคนที่เรารักไปตลอดกาล การถูกเชิญออกจากงานกะทันหัน คำแนะนำให้ไม่เศร้า ไม่เครียด และหาเรื่องดี ๆ ในสถานการณ์เหล่านี้นั้นจำเป็น (เพราะแสดงอารมณ์แย่ ๆ ไปก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง) แต่วิธีการปรับมุมมองทำนองนี้จะได้ผลน้อยกว่า เมื่อเราเผชิญกับความเครียดที่เกี่ยวกับการตัดสินใจครั้งสำคัญ

แต่การเปลี่ยนอารมณ์ลบ ๆ ด้วยมุมมองบวก ๆ นั้นไม่สามารถใช้ได้กับทุกสถานการณ์ ในทางตรงกันข้ามงานวิจัยหลายชิ้นกลับแสดงให้เห็นว่าคนที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงนั้นเลือกใช้อารมณ์ของพวกเขาเพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาที่เป็นต้นตอของความเครียดเลยด้วยซ้ำ

นี่นับเป็นความฉลาดทางอารมณ์อีกประเภทหนึ่ง ในแง่ความแข็งแกร่งทางจิตใจ ที่มนุษย์ที่ประสบความสำเร็จเลือกแสดงอารมณ์เพื่อประกาศจุดยืนว่าปัญหาที่เป็นต้นตอของความเครียด ควรได้รับการแก้ไขให้ชะงัด ไม่ใช่เอาแต่มาบอกให้มองมุมบวก หรือมองด้านดีเพียงอย่างเดียว แล้วปล่อยให้เรื่องแย่ ๆ อันเป็นสาเหตุแห่งความเครียดดำเนินต่อไป

ลองนึกถึงผู้บริหารธุรกิจชั้นนำที่กำลังเผชิญหน้ากับความเครียดขั้นสูง เพราะพนักงานออกมาเรียกร้องที่พวกเขาได้รับสวัสดิการที่ไม่เป็นธรรม ถ้าผู้บริหารเลือกมองโลกในแง่บวก เลือกคิดว่า เอาน่า ถึงจะมีคนออกมาเรียกร้องแล้วลาออก เดี๋ยวเราก็รับคนใหม่ ๆ ได้นะ การเลือกปรับมุมมองในระดับส่วนตัว อาจทำให้เขารู้สึกเครียดน้อยลง แต่ก็อาจทำให้การประเมินสถานการณ์นั้นไม่ตรงกับความเป็นจริงได้ และปัญหาที่เป็นต้นตอของความเครียดไม่ถูกแก้ไข

หรือกรณีของศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ที่แสดงฝีมือการผ่าตัดอย่างสุดความสามารถแล้ว แต่ติดปัญหาเรื่องเครื่องมือแพทย์ที่ต้องส่งมาจากส่วนกลาง การคิดว่าไม่เป็นไรนะ ถึงจะเสียคนไข้ไปหนึ่งคน แต่เราทำดีที่สุดแล้ว ต่างจากการที่เขาโกรธ เสียใจ และแปรความโกรธนั้นออกไปพูดถึงปัญหาขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์อย่างเป็นรูปธรรม ที่จะทำให้เขาไม่ต้องเครียด ไม่ต้องเสียผู้ป่วยคนไหนไปอีก และระบบแพทย์โดยรวมดีขึ้น

ดังนั้นความเครียดที่เรารู้ว่าสาเหตุคืออะไร ปัญหาคืออะไร และมันลงมือแก้ไขได้ (จะง่ายจะยากก็แก้ได้) การแสดงอารมณ์ หรือแปรอารมณ์ของเราอย่างถูกวิธีมาใช้เพื่อตัดสินใจลงมือแก้ปัญหานั้น ๆ มีส่วนช่วยกำจัดต้นตอความเครียดแบบถอนรากถอนโคนได้มากกว่า การแค่บอกตัวเองให้มองโลกในแง่ดี แต่ปัญหานั้นยังคงอยู่

ชีวิตที่ไม่มีความเครียดอาจไม่มีอยู่จริง แต่ชีวิตที่เราจัดการกับความเครียดอย่างถูกวิธีและมองเห็นมันในฐานะอีกหนึ่งปัญหาที่เราแก้ไขได้ถ้าเข้าใจตัวเองมากพอ มนุษย์แต่ละคนมีความเครียดที่แตกต่างกันไป วิธีรับมือแต่ละแบบจึงอาจแตกต่างกันไปด้วย อาจไม่ต้องทำตามให้ตรงเป๊ะทั้งหมด แต่ลองนำไปปรับให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของเรา ความเครียดอาจไม่ได้รับมือยากอย่างที่คิด


 

SOUECE: 1, 2

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line