Life

รับมือกับวิกฤต Dunning-Kruger Effect เมื่อคนโง่เขลา เข้าใจว่าตนเองฉลาด และการอธิบายไม่ใช่ทางออก

By: Chaipohn June 7, 2017

เคยไหมครับ? เมื่อมีคำถามอะไรบางอย่าง และเรามั่นใจว่าคำตอบของเราถูก ในขณะที่คำตอบของคนอื่นน่าจะผิด แต่ติดที่จำนวนคนที่ตอบถูกเหมือนเรา มีจำนวนน้อย ส่วนคนที่ตอบผิดมีจำนวนเยอะมาก แถมยังมาพร้อมคำอธิบาย พอเราแย้งไป กลับโดนรุมด่าพ่อด่าแม่กลับมาอย่างบ้าคลั่งดั่งไปฆ่าคนตายมา

สุดท้ายคนที่ตอบถูกกลับต้องยอมเป็นฝ่ายผิด หรือไม่ก็ปลง ไม่อยากเถียงอธิบาย ทิ้งให้คนตอบผิดจำนวนมากเข้าใจไปว่าเป็นฝ่ายถูก จนเข้าใจกันผิด ๆ แพร่กระจายกันไปเรื่อย ๆ ซึ่งเป็น  Fundamental  พื้นฐานปัญหาความขัดแย้งของสังคมออนไลน์ในปัจจุบัน

สิ่งนี้เคยเกิดขึ้นกับตัวเราเองผ่านทางโจทย์เลขง่าย ๆ ซึ่งเราอยากให้ทุกคนลองหาคำตอบกันดู คิดเสร็จแล้วค่อยเลื่อนลงไปดูคำตอบนะครับ

170607-Dunning-Kruger-Effect-1

คำตอบที่ได้จะแบ่งออกเป็นหลายกลุ่ม ตั้งแต่  8  หรือ  1  ไม่ก็  -4

ที่จริงโจทย์เลขข้อนี้เป็นหนึ่งในโจทย์คลาสสิกที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง ในเว็บต่างประเทศหลายที่ก็มีการพูดถึงเรื่องนี้เช่นกัน อย่างเช่น  Classroomprofessor.com  ที่ทดลองถามโจทย์ข้อนี้ใน  Facebook  และได้คำตอบไม่ต่างกัน และคำตอบที่ถูกต้องก็คือ  “8”  เมื่อคำนวณตามกฎคณิตศาสตร์  Ordering Mathematical Operations  ที่เรียกว่า  BODMAS

*วิธีคิดโจทย์เลขข้อนี้คือ  7 – (1×0) + (3÷3) = 8

170607-Dunning-Kruger-Effect-2

BODMAS, www.skillsyouneed.com

แต่ประเด็นที่เราต้องกังวลไม่ใช่เรื่องตอบผิด แต่เป็นคนตอบผิด ที่มั่นใจในคำตอบของตัวเอง และคิดว่าตัวเองถูก! ลองจินตนาการง่าย ๆ เราจะเจอเหตุการณ์แบบนี้

คนจำนวนมาก 1:  ไอ้โง่ มันต้องตอบ  -4  ดิวะ มึงเคยเรียนหนังสือมาเปล่าเนี่ย!!!

คนจำนวนมาก 2:  ไม่ต้องใช้สมองคิดเลย อะไรคูณ  0  ก็ได้  0  จบข่าว เชื่อกู กูเรียนมา!!!

คนจำนวนมาก 3:  พวกคุณอาจจะไม่รู้นะครับว่ามันต้องใช้กฎ  BODMAS  ดังนั้นต้องตอบ  6  ครับ (คือรู้จักกฎ แต่ใช้ผิด)

จากนั้นก็เกิดการโต้เถียงกันไปมาแทนที่จะได้รู้คำตอบ วิธีคิดที่ถูกต้อง เริ่มแบ่งข้างแบ่งกลุ่มกันด่า แชร์กันไปรุมด่าตามที่ต่าง ๆ สาปแช่งในความคิดที่แตกต่างกันโดยที่คนด่าอาจจะไม่รู้ว่าทำไมต้องโมโหขนาดนั้นด้วยซ้ำ คนด่ากันไปด่ากันมา ลุกลามไปด่าถึงคนที่ตอบถูก จนคนถูกเริ่มไม่มั่นใจ เอายังไงวะ ตกลงนี่กูถูกหรือกูผิด หรือไม่ก็ เออ ช่างแม่งละ ไปดีกว่า ให้พวกมันรู้ผิด ๆ กันไปแหละ

จากการทดลองของเว็บดังกล่าว พบว่ามีคนที่ตอบถูกอยู่เพียง  26%  เท่านั้น อีก  74%  ตอบผิด แต่เป็นการผิดที่เต็มเปี่ยมความมั่นใจ ไม่รับฟังเหตุผล ไม่คิดทบทวนความเป็นไปได้ ซึ่งพฤติกรรมนี้ทางวิทยศาสตร์เรียกว่า  “Dunning-Kruger Effect”  ทฤษฎีที่ได้รางวัล Ig  Nobel Prize (ten unusual or trivial achievements in scientific research, its stated aim being to “honor achievements that first make people laugh, and then make them think.) จากงานวิจัย  “Unskilled and Unaware of It: How Difficulties in Recognizing One’s Own Incompetence Lead to Inflated Self-Assessments [1999]”

170607-Dunning-Kruger-Effect-3

“Dunning-Kruger Effect”  คิดค้นโดย  David Dunning  และ  Justin Kruger  ได้อธิบายถึงความ  “Cognitive Bias”  พฤติกรรมของคนฉลาดกับคนโง่เอาไว้ง่าย ๆ ว่า คนโง่จะคิดว่าตัวเองฉลาด มั่นใจในคำตอบของตัวเอง ทั้ง ๆ ที่ไม่รู้ ไม่เคยสัมผัส ไม่มีประสบการณ์ หรือรู้อย่างตื้นเขิน แต่มั่นใจหัวชนฝาในสิ่งที่ตัวเองพูดออกไป ทำให้พลาดโอกาสการเรียนรู้ไปอย่างน่าเสียดาย จึงไม่มีการพัฒนาความสามารถ เรียกว่ารู้แค่ไหนก็หยุดอยู่แค่นั้น

ในทางตรงกันข้าม คนฉลาดมักจะประเมินความสามารถของตัวเองต่ำอยู่ตลอดเวลา ด้วยความคิดว่า “ถ้าเราทำได้ คนอื่นก็น่าจะทำได้เหมือนกัน” และมองหาคนที่เก่งกว่า เปรียบเทียบกับคนที่ทำได้ดีกว่าอยู่ตลอดเวลา ผลคือการพัฒนาความสามารถของตัวเองอยู่เสมอ

170607-Dunning-Kruger-Effect-4

ถ้าสังเกตการโต้เถียงของคนในเว็บบอร์ดต่าง ๆ หรือตาม  Facebook  เรามักจะเห็น  Dunning-Kruger Effect  โต้เถียงกันเช่นเดียวกับคำตอบของโจทย์เลขที่เรายกตัวอย่างมาแทบจะตลอดเวลา เรื่องศาสนา ร่างทรง คนดี วิธีเลี้ยงลูก ปลูกต้นไม้ ใช้ครีมตัวขาว ใช้สบู่แล้วรูฟิต ติดยันต์ห้าแถวใส่ลิปสติก นักการเมือง เรื่องดารา ปัญหาหมาแมว รองเท้ารุ่นไหนดี รถยี่ห้อนี้ดีแบบนี้ เรื่องแฟชั่นที่กูก็ไม่แน่ใจ เรือดำน้ำเข้าฝั่งได้หรือไม่ งบเอามาจากใคร

ผู้คนต่างมั่นใจในสิ่งที่ตัวเอง “เข้าใจ”  โดยที่ไม่รู้ว่าสิ่งนั้นถูกต้องหรือไม่ แทนที่จะเลือกคุยกันเพื่อทำความเข้าใจ ช่วยกันหาคำตอบและคำอธิบายในสิ่งที่ตัวเองไม่รู้ เพื่อพัฒนาติดอาวุธให้สมองและสองมือ กลายเป็นสังคมคุณภาพที่ฉลาดหลักแหลม นำพาบ้านเมืองไปสู่ยุคประเทศไทย 4.0 ก่อนที่บ้านเมืองจะดำดิ่งไปด้วยความ “นึกว่ารู้” ของผู้คน

ซึ่งมันสามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว เพราะสมัยนี้เจ้าของ  Facebook Page  หรือแม้แต่  Brand Influencer  ที่มีคนติดตามมาก ๆ ก็อาจจะอยู่ภายใต้  Dunning-Kruger Effect  ได้ คือรู้ไม่จริง แต่แชร์ข้อมูล ความเห็นผิด ๆ ไปให้ผู้ติดตามที่เชื่ออย่างหน้ามืดตามัว ส่งต่อกันไปทั้งทาง  Social Network  และทางไลน์ อันนี้เราว่าน่ากลัว เพราะเราก็เคยถกกับ  Brand Influencer  ของแบรนด์รองเท้ากีฬาเกี่ยวกับคำว่า  Branding vs Marketing  จนสาวกที่ไม่รู้จริง ไม่เข้าใจต้นสายปลายทาง ไม่แม้แต่จะเข้าไปอ่านคำอธิบายต่าง ๆ  แต่กลับรุมด่าเอามันส์ตามที่ท่านผู้นำชี้แนะมาแล้วเช่นกัน

หรือในกรณีเลวร้าย ก็พวกที่ผู้ใหญ่แชร์ กินน้ำนี่ผสมน้ำนั่น ช่วยรักษามะเร็ง ผลคือกินไปไม่นานกลายเป็นเสียชีวิต นับว่าอันตรายยิ่งนัก

สุดท้ายนี้อย่าลืมว่า จุดเริ่มต้นของการ  UNLOCK  ศักยภาพของตัวเอง ต้องเริ่มจากเข้าใจและยอมรับจุดอ่อนของตัวเองเสียก่อน เมื่อทำได้ จึงเกิดการเรียนรู้ พัฒนา และกลายเป็นความสามารถในที่สุด

แถมท้ายเล็ก ๆ อีกนิด เกี่ยวกับที่มาอันน่าทึ่งของทฤษฎี  Dunning-Kruger Effect  มันเกิดมาจากคดีในปี  1995  ที่ได้ชื่อว่าเป็น   The world’s dumbest criminals  จากเมือง  Pittsburgh  ประเทศสหรัฐอเมริกา  เมื่อนาย  McArthur Wheeler  ที่มีรูปร่างสูงใหญ่แบบเห็นครั้งเดียวก็จำได้ ควงปืนเข้าไปปล้นธนาคารตอนกลางวันแสก ๆ ถึง  2   แห่งต่อเนื่อง ที่สำคัญคือ ปล้นแบบไม่ใส่หน้ากากอำพรางใบหน้า แน่นอนว่าไม่พ้นวัน  McArthur Wheeler  ก็โดนจับโดยละม่อม ซึ่งเจ้าตัวค่อนข้างแปลกใจ ว่าทำไมตำรวจถึงรู้ว่าเป็นใคร เพราะก่อนปล้นได้เอามะนาวมาถูหน้าแล้ว กล้องวงจรปิดจึงไม่น่าจะจับภาพหน้าของเค้าได้ เมื่อตำรวจถามว่าทำไมถึงคิดแบบนั้น

เจ้าตัวก็ตอบว่า “เคยได้ยินว่าน้ำมะนาวใช้เป็น  Invicible Ink  ได้” และอีกปัญหาที่เกิดขึ้นจากน้ำมะนาว นอกจากจะทำให้ล่องหนไม่ได้แล้ว ตอนปล้นยังทำให้แสบตามากอีกด้วย

เมื่อ  David Dunning  และ  Justin Kruger  ได้ยินคดีนี้เข้า ก็ต้องประหลาดใจในความโง่แต่มั่นใจของมนุษย์ ก็เลยเกิดเป็นการเริ่มต้นศึกษาอย่างจริงจัง จนกลายเป็นทฤษฎี  Dunning-Kruger Effect  ถึงทุกวันนี้

 

Chaipohn
WRITER: Chaipohn
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line