Business

6 บ่อน้ำเย็นหนี้การเงินของชาว MILLENNIAL ที่คน GENERATION โตกว่าไม่ได้อาบ

By: anonymK September 30, 2018

“รู้ไหมก่อนหน้านี้พี่ได้เงินเดือนแค่ 9,000 เราน่ะสบายแล้ว เงินเดือนตั้ง 15,000”

เราเชื่อว่าชาว MILLENNIAL ที่เกิดมาในวันที่ความไฮเทคมากมายรายล้อม คงอยากเถียงแทบขาดใจกับคำสบประมาทบางอย่างของรุ่นพี่ยุคก่อน ทั้งคำกล่าวหาเรื่องความอดทน วุฒิภาวะการทำงาน หรือที่ร้ายกาจกว่านั้นคือเรื่องการจัดการเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ว่าเป็น Generation แห่งความฟุ้งเฟ้อ ใช้เงินไม่เป็น เพราะทุกวันนี้ชาว MILLENNIAL จำนวนไม่น้อยกำลัง Run The World ด้วยการเป็นนักช้อปขาใหญ่ของตลาด

ถ้าคุณคือคนหนึ่งที่มีอายุนอกช่วงระหว่าง พ.ศ. 2524 และ พ.ศ. 2539 เราขอให้คุณเปิดใจมาอาบน้ำเย็น รับความต่างเผชิญหน้าเพื่อสร้างความเข้าใจกับปัญหาหนี้สินของเหล่ารุ่นน้องที่อาบ “น้ำเย็น” มาทีหลังจาก 6 เหตุผลเหล่านี้ แล้วคุณจะรู้ว่าชีวิตของพวกเขามันไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด ไม่ต่างจาก “น้ำร้อน” ที่คุณอาบมาก่อนที่ก็ไม่ง่ายเช่นกัน

ส่วนชาว MILLENNIAL ถ้าคุณได้อ่านแล้ว จะออกมาให้ความเห็นหลังอ่านจบก็ได้ว่าสิ่งที่คุณเจอมันเป็นแบบนี้จริงไหม ผู้เขียนหวังว่านี่จะเป็นพื้นที่ปะทะทางความคิดเพื่อความเข้าใจ เพราะ “เงิน” ไม่เคยเป็นเรื่องง่าย ไม่ว่าคุณจะเกิดมาในยุคไหนก็ตาม

เด็กที่เกิดในยุคข้าวยากหมากแพง

ตั้งแต่เกิดมา ชาว MILLENNIAL แทบไม่เคยได้สัมผัสกับคำว่า “เศรษฐกิจดี” เลยสักครั้ง ดูเหมือนเศรษฐกิจมันจะแย่ยาวมาทันทีที่ลืมตา แถมทุกปีก็มีแนวโน้มจะแย่ลงเรื่อย ๆ ดังนั้นการใช้ชีวิตของเขาจึงไม่ได้มาด้วยกลีบกุหลาบ แต่พบตัวแดงและมีแต่ “หนี้” หรือ “ปัญหาทางการเงิน” เกาะหนึบติดตัวไม่ต่างจากผีร้ายในหนังเรื่อง Shutter เลยทีเดียว

เงินเดือนที่เพิ่มขึ้นราว 67 % ที่เหล่ารุ่นพี่อิจฉา แต่รุ่นน้องอย่างชนกลุ่ม M ชอบออกมาบอกว่าไม่พอกิน อันที่จริงมันมีที่มา และนี่คือ 5 ปัญหาการเงินของพวกเขาที่คุณอาจไม่เคยรู้

เรียนแสนแพง เราต้องเป็น “หนี้” ความรู้

แม้จะมีสถาบันมากมายให้เลือกเรียน แต่ก็ต้องแลกมากับค่าเทอมค่อนข้างสูง ชาว MILLENNIAL ต้องเผชิญกับหนี้ความรู้ หรือการกู้ยืมเรียนกันตั้งแต่ยังหารายได้ไม่ได้ ถ้าเปิดข่าวเชื่อว่าคงเคยได้ยินคำว่ากู้เงิน “กยศ.” หรือกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษากันบ้าง จากค่าเทอมราคาหลักพันรุ่นพ่อรุ่นแม่วันนี้ค่าเทอมมีอัตราก้าวหน้ายิ่งคิดยิ่งแพงเป็นหลักหมื่น  ชาว M เองก็ตั้งใจเรียนแบกหนี้มาจนจบ หาเงินได้ก็หักไปคืน เงินที่มีกับค่าครองชีพที่ต้องเจอบวกหนี้ทำให้ทำให้บางทีมันก็เงินไม่พอใช้

ฝันเหมือนรุ่นพี่ว่าอยากมีบ้าน แต่หนี้ผูกพันบานตะไท

ราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ขึ้นเร็วเป็นจรวด ทำให้ชาว M ต้องปวดหัวกับการทำงานที่ “เป็นเจ้าของอะไรไม่ได้สักอย่าง” เงินเดือนที่เยอะก็ยังไม่พอจะซื้อบ้านอยู่ดี อดีตคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ซื้อที่ดินพร้อมบ้านราคาแค่หลักแสน แต่วันนี้ถ้า MILLENNIAL อยากมีกับเขาบ้างต้องเก็บเงินหลักล้าน

นอกจากนี้ Student Loan Hero ยังเผยผลการศึกษาว่า ถ้าชาว M อยากจะมีบ้านหลังแรกกับเขาบ้าง ต้องจ่ายเงินมากกว่า baby boomer ถึง 39% เพราะค่าบ้านมันเพิ่มสูงขึ้นถึง 73% จากการปรับอัตราเงินเฟ้อปี 2503 ดังนั้น ถ้าอยากมีบ้านก็ต้องผ่อนกันยาว ๆ ตายไปก็ยังไม่รู้ว่าจะผ่อนหมดไหมไปก่อน ยิ่งถ้าโปะบ่อย ๆ เพราะอยากให้เงินต้นหมดไว ๆ ก็แทบไม่เหลือเงินไว้ใช้เลี้ยงชีพตัวเองเลยทีเดียว

บ้านยังไม่ได้ “หนี้” ค่าเช่าบ้านก็มาหลอกหลอน

ไม่มีบ้านแต่เมื่อทำงานในเมืองก็ต้องมีที่ซุกหัวนอน แม้จะได้เงินเยอะแค่ไหนก็ต้องเอามาจ่ายค่าเช่าคอนโดหรือห้องพักที่ซุกหัวนอนอยู่ทุกวันนี้ ถ้าเป็นย่านเศรษฐกิจบางที่ก็สูงถึงหลักหมื่นไม่รวมน้ำไฟ แล้วถามว่าเงินแต่ละเดือนที่ดูเหมือนมากหนีไปจมอยู่ที่ไหนกัน? หวังว่าตอนนี้พี่ ๆ Gen อื่นจะเข้าใจบ้าง งานนี้ Student Loan Hero เจ้าเดิมออกมาชี้ตัวเลขค่าเช่าที่เหมือนโดนปล้นว่าเพิ่มสูงขึ้นถึง 46% นับจาก พ.ศ. 2503 – 2543

อับโชคเรื่องสร้างความมั่งคั่ง

ชาว M ที่แท้ไกลจากความมั่งคั่ง เรื่องนี้ธนาคารกลางสหรัฐของ St. Louis เขาถึงกับให้คำจำกัดความว่าเหล่า MILLENNIAL มีความเสี่ยงที่จะเป็น “lost generation” เรื่องการสะสมความมั่งคั่งเลย ส่วนหนึ่งก็มาจากเรื่องรายจ่ายที่เราบอก ๆ ไปว่ามันคือปัญหาการเงินที่ทำให้ชักหน้าไม่ถึงหลัง แถมผลรายงานในปี 2559 กล่าวว่าความมั่งคั่งที่เขาครอบครองตอนนี้มันต่ำกว่าสิ่งที่เขาควรจะมีถ้าไม่เจอวิกฤตถึง 34 % แม้สัดส่วนตัวเลขนี้จะไม่ใช่เลขที่ศึกษาจากประเทศของเรา แต่เราก็มองว่าใจความสำคัญเส้นทางอันลำบากลำบนสู่ความมั่งคั่งก็ไม่แตกต่างกันเท่าไหร่

กตัญญูต่อพ่อแม่ก็ต้องใช้เงิน

ธรรมเนียมการเลี้ยงดูพ่อแม่มันเป็นหัวใจของเราอยู่แล้ว ชาว M ที่ทำงานหาเงินทุกวันนี้ส่วนใหญ่เลี้ยงพ่อแม่ด้วยความรักและพร้อมควักค่าใช้จ่ายเพื่อสร้างความเป็นอยู่ที่ดีกว่าเพื่อครอบครัว ถึงหลายคนจะอิจฉาที่ชาว Millenail ได้สวัสดิการดี ๆ มากมายจากบริษัทในยุคนี้แต่สวัสดิการที่ได้ก็ไม่ได้ครอบคลุมไปถึงพ่อแม่ที่พวกเขาดูแล จากการรายงานของ Clare Ansberry of The Wall Street Journal บอกสัดส่วนที่น่าชื่นใจสำหรับพ่อแม่ของชาว M ว่าถ้าเทียบกับ Gen อื่นแล้ว ชาว MILLENNIAL ส่วนใหญ่ปันรายได้ 27 % หรือมากกว่านั้นเพื่อเลี้ยงดูพ่อแม่

เรื่องนี้แม้จะไม่เป็นเรื่องใหญ่สำหรับคนที่เงินเดือนเยอะหน่อยเพราะยังไหว แต่ถ้าคิดสภาพว่าเงินเดือนในระดับมาตรฐานหรือน้อยกว่านั้นแต่ต้องแบ่งไปดูแลพ่อแม่ทุกเดือนก็คงไม่ใช่เรื่องง่ายเท่าไหร่

ปัญหาวางแผนเกษียณ

รัดเข็มขัดกันให้แน่นจนหายใจไม่ออกเลยกับปัญหาสุดท้ายด้านการเงินอย่างการวางแผนการเกษียณ ด้วยอัตราเงินเฟ้อที่นับวันจะยิ่งเพิ่มขึ้น แต่เรื่องการลงทุนของคน MILLENNIAL ยังก้าวขาไม่เต็มข้าง เท่าที่สังเกตถ้าเทียบกับวัยอื่น ชาว M มักพบปัญหาถังแตกหลังเกษียณ เพราะพอเข้าโปรแกรมคำนวณแล้ว เงินที่มีวันนี้ยังไม่พอกิน ครั้นพอจะฝากเงินส่วนมากก็ทำแค่ฝากแต่ไม่ใช่การลงทุน ผิดกับวัย Baby Boomer ที่สภาพแวดล้อมเอื้อให้ลงทุนเพราะตลาดไม่ดุเดือดอย่างทุกวันนี้ หรือ Gen Z ที่รู้ว่าไม่ควรจมกับเงินฝากอย่างเดียวแต่กระจายความเสี่ยงไปลงทุนกันตั้งแต่วัยเรียนแล้ว

ปัญหานี้เรามองว่ายังไม่ถึงจุด Point of no return แค่ต้องหาความรู้เรื่องการลงทุนแล้วปันส่วนหนึ่งออมไว้ให้งอกเงยได้ ทุกวันนี้มีสถาบันการเงินมากมายอัปเดตช่องทางที่น่าสนใจไว้ให้เลือกไม่หวาดไม่ไหว อย่ารอนิ่งเฉยไม่หาทางขยับขยายจนเหลือไม่กี่ปีจะแตะวัยเกษียณ เพราะถึงตอนนั้น GAME OVER แน่ ๆ

ย้ำอีกครั้งว่าบทความนี้ไม่ได้มีมาเพื่อตำหนิรุ่นพี่ เนื่องจาก Baby Boomer หรือวัยอื่นบางคนอาจพบกับปัญหาการเงินบางข้อในนี้เหมือน ๆ กัน แต่เราเขียนขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้มองเห็นมุมมองที่แตกต่างและเข้าใจกันระหว่างวัยมากขึ้น ช่องว่างที่มีจะได้หดแคบลง อคติที่เป็นอุปสรรคการทำงานจะได้จางหายไปด้วย เพื่อเอาเวลาไปสร้างความสนุกกับการทำงานให้มากขึ้น

สุดท้ายไม่ว่าคุณจะอยู่ในวัยใด เรายังคงอยู่ในสังคมเดียวกัน

 

SOURCE

anonymK
WRITER: anonymK
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line