Entertainment

หนังคือการเรียนรู้: คุยกับ “เต๋อ นวพล”ผู้กำกับไม่แมสที่สร้างปรากฏการณ์แมส ๆ ผ่านหนัง

By: PSYCAT February 26, 2018

“เราจะไม่พยายามบอกใครว่ารักผมเถอะครับหรือแบบชอบงานผมหน่อยนะ” คือคำพูดที่ “เต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์” ผู้กำกับหนุ่มบอกกับเรา จึงไม่น่าแปลกใจที่งานกำกับทุกชิ้นของเขาออกมามีอัตลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่เรียกร้องให้ใครมารัก แต่ใครหลาย ๆ คนก็ตกหลุมรักกันไปแบบไม่ทันตั้งตัวแล้ว

ในโลกของผู้กำกับอย่างนวพลที่ไม่ได้เอาจำนวนผู้ชมมหาศาลเป็นตัวชี้วัดว่าหนังตัวเองประสบความสำเร็จหรือเปล่า แต่กลับใช้ความรักในสิ่งที่ทำ ความเป็นตัวของตัวเองและขอแค่คนจำนวนเพียงไม่มากที่เชื่อมโยงถึงกันได้เป็นตัวบ่งบอก UNLOCKMEN ว่าโคตรน่าสนใจ เราถือโอกาสแห่งความน่าสนใจนี้ชวนเขามาพูดคุยกัน พร้อมโปรเจ็กต์ใหม่ที่ทำร่วมกับเบิร์ด ธงไชย แมคอินไตยที่นวพลถึงกับออกปากว่า “เหมือนได้เจอเทพเจ้า”

วินาทีแรกที่อยากเป็นผู้กำกับ? มันมีวินาทีนั้นอยู่จริงไหม หรือไม่ได้คิดอะไรอยู่ ๆ ก็เป็นขึ้นมาเอง

มันน่าจะมีวินาทีนั้นที่อยากเป็นผู้กำกับอยู่นะ แต่คิดว่ามันน่าจะค่อย ๆ เกิดมากกว่า เพราะตอนแรกหมายถึงสมัยก่อน เด็ก ๆ เลยอยากวาดการ์ตูน แต่ว่าก็ลองแล้วมันก็ไม่ค่อยเวิร์คเท่าไหร่ เพราะเราไม่เก่งเท่าเพื่อน แล้วมันก็เริ่มดูหนังมากขึ้น เราก็เลยรู้สึกว่าหนังมันอาจจะตอบสนองสิ่งที่เราอยากเล่าได้มากกว่า

แต่ตอนเด็ก ๆ มันก็ไม่ได้รู้ว่ามันเป็นภาพและเสียงอะไรหรอก มันเป็นแค่แบบ รู้สึกว่า หนังมันเหมือนเอาจินตนาการมาทำให้เกิดขึ้นจริงบนจอ แล้วเรารู้สึกว่าเราอยากทำอะไรแบบนั้นมากกว่าวาดการ์ตูน สำหรับเราหนังมันไปได้ตรงความต้องการกว่าการวาดการ์ตูน ไปได้ไกลกว่า ตอบสนองสิ่งที่เราอยากเล่าได้จริง ๆ

เราโตมากับยุคพวก CG หนังแบบจูราสิคพาร์คภาคหนึ่งเลยมั้ง มันเลยตื่นตาตื่นใจ ก็เลยรู้สึกว่าค่อย ๆ เริ่มอยาก และก็เริ่มคราวนั้น จากนั้นก็เริ่มดูหนังมาเรื่อย ๆ มันก็เลยยิ่งรู้สึกว่ามันค่อนข้างตรงมากขึ้นเรื่อย ๆ เหมือนกับเราชอบเห็นการแสดง เราชอบเห็นการตัดต่อ มันเล่นอะไรได้หลายรูปแบบมากเพราะหนังมันคือศิลปะที่มันรวมศิลปะหลาย ๆ แขนงเข้ามาใช้ด้วยกัน บางเรื่องก็เด่นเรื่องคอสตูม บางเรื่องเล่นเด่นเรื่องแสง บางเรื่องซาวน์เป็นพระเอก มันดูเหมือนเป็นของเล่นที่มันหยิบไปได้เรื่อย ๆ ก็เลยรู้สึกว่าอยากทำ

แสดงว่าเริ่มอยากเป็นผู้กำกับ อยากทำหนังมาตั้งแต่ก่อนเข้ามหาวิทยาลัย?

ใช่ จริง ๆ ม.3 ก็เริ่ม ๆ เอาจริง ๆ อาจจะม.4 เพราะว่าช่วงม.4 ได้ดูพวกหนังอินดี้  มันเป็นหนังที่ ไม่ใช่ Hollywood หมายถึงว่าไม่ใช่ดูยากแต่เป็นหนังเล็ก เหมือนกับ เป็นเรื่องของคน สองสามคน แต่ว่าเราก็รู้สึกว่ามันสนุก บางเรื่องมีแค่คนเดินคุยกันแต่ว่าสนุกเท่าดู Titanic เลยว่ะ

เราเลยยิ่งรู้สึกว่ามันมีความเป็นไปได้มากขึ้น แต่ตอนม.ต้นเราอาจจะดูหนัง CG แล้วรู้สึกว่ามันไกลตัวมาก ๆ แต่พอม.ปลายแล้วเรารู้สึกว่ามันมีหนังอีกแบบนึงนะ ที่มันเล็กกว่านั้นแต่ว่ามันสนุกได้เท่ากัน พอเราเห็นว่ามันเล็กอย่างนั้นแล้วมันสนุก แล้วเราก็รู้สึกว่า เออ มันดูเป็นไปได้ที่เราจะทำได้บ้างเหมือนกัน หนังเลยดูมีความใกล้ตัวขึ้น

แล้วทำไมเลือกเรียนคณะอักษรศาสตร์ ?

ช่วงนั้นมันเป็นเรื่องปัจจัยทางเศรษฐกิจด้วย หมายถึงว่ามันยุคหลัง 1997 หลังเศรษฐกิจล่ม  มันก็จะมีความแบบ โอ๊ย เรียนนิเทศตกงานนะ แต่ว่าอีกใจหนึ่งเราก็รู้สึกว่าเราก็ชอบอักษร คือไม่ได้เรียนแบบเสียไม่ได้ คือชอบทั้งคู่ นิเทศอักษรอะไรก็ได้เลย

เราก็เลยรู้สึกว่า คือบ้านเราก็กลาง ๆ  หมายถึงว่าไม่ได้รวยมาก เราก็เลยคิดว่าต้องทำอะไรให้เหมือน Make sense ในความเป็นจริง ก็รู้สึกว่า อ่ะ เรียนอักษรละกัน เผื่อจะไม่ตกงาน

แต่ในใจหนึ่งก็รู้สึกว่า ถ้าเรียนอักษรมันก็จะได้เรื่องสคริปต์ เพราะว่า เรียนอักษรจริง ๆ คือมนุษยศาสตร์ มันคือสังคม ปรัชญา ประวัติศาสตร์อะไรแบบนี้  รู้สึกว่าถ้าเรารู้เรื่องพวกนี้ เราจะสามารถเขียนสคริปต์ได้ แล้วเดี๋ยวเรื่องเทคนิคภาพยนตร์ เดี๋ยวก็ไปเรียนรู้กัน เพราะว่า พอเข้าอักษรไปแล้วจริง ๆ ก็มีกระโดดเข้าไปเรียนนิเทศบ้างในบางวิชาเท่าที่เวลาที่คณะจะอำนวย เลยรู้สึกว่าไปพร้อม ๆ กันน่าจะพอไหว ก็เลยตัดสินใจเข้าอักษรไป

แล้วการเรียนอักษรมันทำให้เรามีความเป็นผู้กับแบบที่เราคิดว่ามันแตกต่างจากคนอื่นไหม หรือว่ามันสอนอะไรที่เราเอามาใช้กับการทำหนังของตัวเอง?

มันได้เรื่องความเข้าใจตัวละคร มันได้แน่ ๆ เพราะอย่างที่บอกคือเราเรียนมนุษยศาสตร์ เหมือนเราเรียนปรัชญา สำหรับคนทั่วไปอาจจะรู้สึกว่าปรัชญาเป็นแบบ เฮ้ย กูเถียงอะไรกันก็ไม่รู้ แต่จริง ๆ ปรัชญามันเกี่ยวกับเรื่องคนมาก ๆ  เช่น ประเด็นทำแท้งดีไหม ทำแท้งได้หรือเปล่า มันถูกหรือไม่ถูก

เวลาเรียนที่คณะเขาก็จะไม่ได้บอกว่า ต้องถูกหรือต้องไม่ถูก แต่ว่าให้ Discuss กันไปว่า ทำไม อะไร ยังไง ฝังนี้คิดแบบไหน ฝั่งนั้นคิดแบบไหน เพราะว่าเวลาตอบข้อสอบวิชานี้ มันจะเหมือนกับ เราจะโดนสุ่มให้อยู่ฝ่ายไหนฝ่ายหนึ่งแล้วต้องให้เหตุผลที่จะทำให้ Convince อีกฝั่งได้อะไรงี้ คล้าย ๆ โต้วาที

มันก็เลยรู้สึกว่ามันได้เทรนด้านสคริปต์ คือเราไม่ได้เรียนเขียนบทหรอก แต่ว่ามันเป็นใจความของบทภาพยนตร์ เรื่องการเลือกตัวละคร เรื่องความเข้าใจคน เรื่องการถกเถียงกันใน Topic ต่าง ๆ

อีกอันหนึ่งที่สำคัญคือเรื่องการลำดับความคิด  เพราะว่าคณะเราแม่งซีเรียส แบบเวลาตอบข้อสอบมันต้อง เรียงลำดับความคิดในการตอบให้ได้ ยิ่งโดยเฉพาะพวกวิชา ไม่ใช่แค่ปรัชญาหรอก ประวัติศาสตร์ หรือภาษาอังกฤษ วรรณกรรม  เวลาตอบข้อสอบ โคตรจะต้องลำดับความคิดให้ได้นะ ไม่ใช่แบบอธิบายอะไรมั่วซั่ว

ความคิดในการที่จะเล่าอะไรบางอย่างหรือถกเถียงอะไรบางอย่าง มันเหมือนเป็นเรื่องเล็ก ๆ นะ แต่จริง ๆ แล้วมันเป็น  Editing ทางความคิดหรือ Editing ทางการเล่าเรื่อง เราเลยเรื่องได้พวกนี้มาอยู่ในตัวแล้วค่อยเอาสิ่งเหล่านี้ไปจับกับการทำภาพยนตร์จริง ๆ

เราก็จะรู้ตัวอีกทีตอนที่เราต้องตัดต่อหนังแล้วแบบ อ๋อว่ะ แม่งเหมือนกับตอบข้อสอบตอนเรียนเลย เพียงแต่ว่าคราวนี้มันเป็น Story ว่าแบบจะเปิดด้วยอะไรก่อน จะดึงความสนใจคนมาทางขวาค่อยตบกลับไปซ้ายแล้วค่อยจบที่นี่

นวพลมีนิยามของผู้กำกับที่ประสบความสำเร็จไหม?

คงเป็น 2 ยุคมั้ง แต่ก่อนคิดว่า เราสำเร็จถ้าทำหนังแล้วมีคนดูมาก ๆ แต่หลัง ๆ พอผ่าน เริ่มแก่ขึ้นแล้ว ก็รู้สึกว่า การประสบความสำเร็จ คือคนที่ได้เล่าเรื่องในสิ่งที่ตัวเองอยากเล่าจริง ๆ  มีคนดูจำนวนหนึ่งที่สนับสนุนมันและทำให้มันเกิดขึ้นอีกได้  คนดูมันอาจจะไม่ได้เยอะมหาศาล แต่ว่าเยอะพอที่จะเป็นกลุ่มให้ไปต่อได้ ให้ทำหนังทำได้อีก เราคิดว่าอันนี้คือแบบ Success จริง ๆ

เพราะหลัง ๆ ก็จะเริ่มรู้ว่าบางที เราอาจจะไม่สามารถทำหนังที่ให้ทุกคนชอบขนาดนั้นได้ เราก็เลยรู้สึกว่าเราทำหนังที่เราอยากทำดีกว่า กระบวนการระหว่างทำถ้าเราสนุกมาก ๆ นั่นก็ถือว่าเรา Success มาก ๆ ถ้าเราได้เรียนรู้อะไรระหว่างที่ออกไปถ่าย 4-5 เดือน ถือว่าเราได้อะไรแล้ว

แต่ว่าก็ทำให้รู้สึกว่าทำหนังแล้วสนุกขึ้น มันไม่ใช่การไปพิชิตอะไรอยู่แล้ว มันคือเรามีเรื่องจะเล่า แต่ในขณะเดียวกันเราก็ทำให้มัน Make sense นะ เราไม่ได้ ฉันจะทำอะไรก็ทำ ใครจะดูอะไรก็ดู  มันก็มีความพยายามทำให้มันเข้าถึงคนดูได้ อาจจะเป็นกลุ่มคนดูที่ไม่กว้างมาก แต่ว่ามันก็สามารถ  Connect คนดูได้เหมือนกัน

ถ้าในนิยามนี้เราคิดว่าตัวเองประสบความสำเร็จหรือยัง ?

คิดว่าประสบความสำเร็จ เพราะว่า ทุกวันนี้เวลาออกไปทำงานพวกนี้ เราสนุก และได้เรียนรู้ คือการทำหนังมันถ้าเราแบบไม่ได้ Take ว่าเป็น Job หรือเป็นสิ่งที่ต้องทำหรือจะแบบพิชิต Box Office เรารู้สึกว่าทุก ๆ Production หรือทุก ๆ กองมันให้เราเรียนรู้อะไรสักอย่างเกี่ยวกับการใช้ชีวิตด้วย

หนังมันเป็นงานที่เป็นงานกลุ่มขนาดใหญ่ คุณต้องปะทะกับคน 50 คน หรือ 100 ในกอง คุณต้องเจอคนหลาย ๆแบบ คุณต้องเจอความไม่แน่นอน คุณต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าตลอดเวลา และสิ่งเหล่านี้มันเทรน ให้เราได้อะไรบางอย่างมาเหมือนกัน และนำไปใช้ในชีวิตได้ เพราะ ชีวิตคุณที่ใช้ชีวิตอยู่ทุกวันนี้ก็เจอแต่เรื่องไม่แน่นอน เจอคนหลาย ๆ แบบเหมือนกัน  เราก็เลยรู้สึกว่ามันโยนข้ามกันได้และก็รู้สึกดีที่ได้ทำ คือสนุกและได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ

เวลาคนดูหนังของนวพลทุกคนจะรู้สึกสัมผัสได้เลยว่านี่คือหนังของนวพล เวลาเราทำมันออกมาเราตั้งใจให้มันเป็นอย่างนั้นไหม หรือเราก็ไม่ได้ทำอะไร

มันอาจจะเกิดจากการที่เราคิดว่าเราอยากทำแบบนี้แล้วเราก็ทำมากกว่า โดยที่เราไม่ได้ไปคิดว่ามันจะเวิร์คหรือเปล่า เพราะว่าถ้าคนคิดว่ามันจะเวิร์คหรือมันจะไม่เวิร์ค คนเราก็จะเริ่มไปหาตัวอย่างเก่าที่มันเวิร์ค อ่อ ต้องทำแบบนั้นว่ะ ซึ่งอาจจะเป็นสิ่งที่เราไม่ถนัดหรือไม่ชอบ แต่ว่าเขาเคยทำกันอย่างนั้นแล้วเวิร์คว่ะ งั้นเราไปทำแบบนั้นกันดีกว่า เราไปถ่ายแบบนั้นกันดีกว่า

แต่ว่าเราจะไม่ทำอย่างนั้น  เราอยากทำในสิ่งที่เราเห็น เราอยากเอาภาพที่เราคิดว่าสวย ที่ตัวเองคิดว่าสวยให้คนดู เราอยากถ่ายแบบที่เราชอบ โดยที่ตอนถ่ายก็ไม่ได้รู้หรอกว่ามันจะเวิร์คหรือมันจะไม่เวิร์ค แต่นี่คือสิ่งที่เราอยาก Present  แค่นั้นเอง

เราก็ทำอย่างนี้กับทุกเรื่อง เพราะฉะนั้นมันก็เลยออกมาดูเป็น เป็นตัวเรา  ซึ่งเราไม่ได้แคร์ว่าตัวเราจะมีคนชอบกี่ล้านคน  งานที่เราทำทำให้ทุกคนชอบหมดไม่ได้หรอก แต่อย่างน้อยคือ มันก็เป็นเราอ่ะ

เราคิดเหมือนเป็นคน เราเกิดมาใช้ชีวิตแบบนี้ แต่งตัวแบบนี้  คนคงไม่ได้ชอบเราทุกคนหรอกที่เราเป็นแบบนี้ หนึ่งคือเราก็มีเพื่อนของเราใช่ป่ะแล้วก็เราก็สามารถอยู่ร่วมกับคนอื่นได้  มันไม่ได้คอขาดบาดตาย แล้วพอเราไม่ได้จะทำตัวให้เป็นที่รักของทุกคน หนึ่งเราก็สบาย สองเราก็คิดว่า เดี๋ยววันหนึ่งถ้าเรา ตัวเรามีอะไร Connect กับคนที่เขาไม่ได้ถูกจริตแบบเราได้ซักวันหนึ่งเขาก็คงเข้ามาคุยกับเราเองมั้ง แต่เราจะไม่พยายามบอกใครว่า “รักผมเถอะครับ” หรือแบบ “ชอบงานผมหน่อยนะ”

กว่าจะมาเป็นที่รู้จักหรือกว่าจะเป็นผู้กำกับที่ประสบความสำเร็จในนิยามของตัวเอง ใช้ความพยายามมากไหม หรือคิดว่าเรามาเรื่อย ๆ

คิดว่ามาเรื่อย ๆ แต่พยายาม ไม่ได้เหนื่อย แต่พยายาม หมายถึงว่า Enjoy พอเราชอบงานนี้มาก ๆ แล้ว มันเจอปัญหาอะไรมันจะไม่ค่อยรู้สึกว่าเราเหนื่อย คือเราเหนื่อยทางกายแต่มันจะไม่ค่อยเหนื่อยใจ

แล้วเวลาเราทำอะไรพลาดมันก็จะเป็นบทเรียนไป ไม่รู้สึกว่าโลกจะแตก มันจะเป็นแบบ “ว้า เฮ้ยที่คิดไว้แม่งพลาดว่ะ” หรือว่าที่เราไม่ฟังคนอื่น แล้วเราเดินไปทางนี้แม่งผิดว่ะ  แล้วก็เรียนรู้ไป

เราก็เลยรู้สึกว่ามัน Roll ไปเรื่อย ๆ กลิ้งไปเรื่อย เพราะฉะนั้นที่ผ่านมาก็เลยไม่ได้รู้สึกเหนื่อย ทำไปแบบที่มันควรจะทำ แล้วก็ทำให้ดีที่สุดกับทุกงาน ซึ่งเราค่อนข้างเชื่ออันนี้นะ พอมันมาถึงวันนี้ก็จะรู้สึกว่ามันได้ผลจริง ๆ ว่ะ เวลาคนมาหาเรา เขาก็มาซื้อแบบที่เราเป็นอ่ะ แล้วเวลาทำงานมันจะสบายมากเลย เพราะเขาไม่ได้เป็นคนที่มาให้เราทำอะไร  ต้องมานั่งบอกว่าคุณต้องทำแบบที่ผมชอบนะ เขาจะบอกว่าเอาแบบที่คุณทำแหละ แล้วเราก็รู้สึกว่า ดีจัง สำหรับเรานี่คือ ดีมาก ๆ แล้ว

แต่ว่าที่ว่ามาคือ วิธี สไตล์เราคนก็คงไม่ได้ชอบทุกคนหรอก งานเราอาจจะไม่ได้เยอะแยะมหาศาลมีทุกเดือน แต่มันมีมาเรื่อย ๆ และอยู่ในจำนวนที่โอเค หรือว่ามันมีงานที่น่าสนใจมาให้ทำเยอะแยะมากมาย อย่างที่ได้ทำกับพี่เบิร์ด เราก็ไม่นึกว่าชีวิตหนึ่งเราจะได้ทำนะ เพราะเราดูยืนอยู่คนละฟากกับเขาแบบสุดขีดมากเลย

ถ้าเกิดว่าดูหนังของนวพลมาก็จะเห็นว่าแบบ บทสนทนามัน Real มาก มีคำว่า เหี้ย มีคำว่าแม่ง เต็มไปหมด ครั้งแรกที่เราใส่มันลงไปใน  เราคิดยังไง เราเอาบทสนทนาที่มันดูจริงอย่างนี้มาจากไหน

เราคิดว่ามันคงเป็นบทสนทนาที่ดูจริงในชีวิตเรา มันอาจจะไม่จริงในชีวิตคนอื่น ตัวละครที่เราเขียนมันขึ้นมาแบบนี้ สุดท้ายแล้วมันก็จะเขียนในสิ่งที่เราเห็น เราแค่คิดว่าหนังแต่ละเรื่องมันคือโลกที่ผู้กำกับอยู่ โลกที่เขาเห็น โลกที่เขาได้ยิน

เวลาเราดูหนังสมัยนี้ก็จะ Enjoy กับการดูว่า โลกของผู้กำกับคนนี้มันเป็นยังไงวะ เขาไม่เหมือนเราแน่ ๆ  แค่แบบการประดิษฐ์  Shot ขึ้นมาหรือว่าการเปิดด้วยภาพไหนมันก็เป็นรสนิยมของคนกำกับแล้ว

เพราะฉะนั้นเราตอนทำอ่ะก็ไม่ได้คิดหรอกว่า ใส่คำหยาบเยอะ ๆ ไปเลยจะได้แบบเท่ ๆ หรือจะได้แบบดู Real เราถึงบอกว่ามันคง Real ในสภาพแวดล้อมล่ะมั้งหรือเราอาจจะพูดเองมั้ง มันไม่ได้เป็นจะฮาต้องพูดหยาบเพราะเราก็เห็นหนังบางเรื่องฮาแล้วพูดสุภาพมากก็มี เพียงแต่ว่าของเรามันเป็นอย่างนี้ ต้องใจเย็น ๆ ต้องเข้มแข็งไว้เข้าไว้ มันเป็นแค่วิธีของเราแค่นั้นเอง

ผลงานล่าสุดที่ทำกับพี่เบิร์ด ธงไชย สนุกแค่ไหนเล่าให้ฟังหน่อย

โปรเจ็กต์มินิมาราธอน เป็นโปรเจ็กต์ที่พี่เบิร์ด  Collaborate กับศิลปินรุ่นใหม่ โดยเบสิคก็คือ ศิลปิน 8 ท่าน มาทำเพลง 8 เพลงตาม Stage การวิ่ง 8 ขั้นของมาราธอน  Part ภาพเคลื่อนไหว เขาก็ให้เราทำ ที่เรียกว่า Part ภาพเคลื่อนไหวเพราะว่าจริง ๆ ตอนแรกเขาไม่ได้บอกให้เราทำหนังสั้นหรือ MV

เขาบอกว่าให้ทำ Music Content ซึ่งมันคืออะไรก็ได้ เราก็เลยรู้สึกว่า เออ ดีว่ะ เพราะว่า มันเปิดให้เราคิดอะไรก็ได้ ซึ่งเรา Enjoy กับการคิดอะไรแบบนี้อยู่แล้ว หมายถึงว่าเราไม่ได้ Fix ตัวเองว่าเราจะทำ หนัง หนัง หนัง

บางครั้งเราก็ไปทำคลิปสั้น ๆ  ตลก ๆ บางทีเราก็ไปถ่ายเบื้องหลัง แต่เรา  Mix ความเป็นภาพยนตร์เข้าไปในวิดีโอถ่ายเบื้องหลัง มันโยนข้ามกันได้ไปหมดเลยอะไร เราก็เลยรู้สึกว่าการที่เขาตั้งมาว่า Music Content โดยที่ไม่ได้บอกว่าเป็น เป็นไร มันดี  เปิดกว้าง มาก ๆ ก็เลยรู้สึกว่า น่าสนใจ แต่ตอนแรกก็ยังมีความแอบรู้สึกว่า “พี่จะปล่อยผมจริงๆใช่ไหมอ่ะ” (หัวเราะ)

เวลาคนให้ทำงานบอกว่าอะไรก็ได้นี่จะกลัวมาก แบบว่าจริงหรอวะ  แต่ว่าพอเริ่มทำงานไปเรื่อย ๆ จะรู้สึกว่า เขาให้เราทำอะไรไปเลยก็ได้จริง ๆ ว่ะ ก็เลยรู้สึกว่าสนุกกับการทำงานนี้

การได้ทำงานกับนักร้องเบอร์หนึ่งของประเทศ มันแตกต่างกับการทำงานครั้งที่ผ่าน ๆ มาอย่างไร

เหมือนได้เจอเทพเจ้า เราเจอเขามาตั้งแต่เด็ก ๆ หรือคุณต้องมีความสัมพันธ์อะไรกับเขาซัก อย่าง เช่น เพลงของเขาต้องมีสักเพลงที่ร้องได้หรือเคยเต้นงานโรงเรียนอะไรก็ตาม มันจะต้องมีส่วนเกี่ยวข้องอยู่แล้ว

เราไม่คิดว่าชีวิตนี้เราจะได้เจอเขาหรอก เพราะวงที่มันอยู่คนละวงกันมากจริง ๆ เราก็ไม่รู้จะเจอกันโอกาสไหน มันเลยเป็นความ ตื่นเต้นแต่ก็สนุก เฮ้ย วันนี้เราได้ทำงานกับพี่เบิร์ดว่ะ มันจะเป็นยังไงวะ นึกไม่ออกเหมือนกันตอนแรก แล้วเราจะทำอะไรออกมา เราก็นึกไม่ออก

มันก็เลยต้องไปเริ่ม Research เริ่มคุย เริ่มไปพูดคุยกับเขา สัมภาษณ์ด้วยตัวเอง ก็เลยรู้สึกว่าเป็นวาระแห่งชาติที่พิเศษอันนึง ถ้ามันโคจรมาหาก็ทำเถอะ เราก็ไม่รู้หรอกมันออกมาดีไม่ดี แต่เราก็รู้สึกว่านี่เป็นโอกาสพิเศษ

จากตอนแรกที่เรารู้สึกว่า ไม่รู้จะเป็นยังไง พอสุดท้ายเราทำออกมาแล้ว เราผสมผสานความเป็นตัวเองซึ่งบางคนมันรู้สึกว่า เฮ้ย นวพลเข้าถึงยากกับความแมสมาก ๆ ของเบิร์ด ธงไชย  เราผสมผสานมันยังไง

จริง ๆ เราลืมตรงนั้นไปเลย เราคิดแค่ว่าเราจะจับมือกับเขายังไงมากกว่าในการผลิตงานชิ้นนี้ออกมา เราไม่ได้คิดว่าเราจะต้องทำให้มันแมสหรืออินดี้ แค่คิดว่า ทำยังไงให้เป็นงานที่มันเกิดขึ้นจากเราและเขา ในสัดส่วนที่เท่า ๆ กัน

ก่อนที่เราจะทำ เขาก็จะเปิดให้เราฟัง 8 เพลง แล้วเราก็รู้สึกว่า เออว่ะ แม่งแจ๋ว เพราะว่าตัวเพลงเป็นตัวของศิลปินคนนั้น แต่เสียงร้องจะเป็นพี่เบิร์ด  สมมติเพลงพี่สแตมป์มันรู้สึกได้เลยว่า โห นี่มันเพลงพี่สแตมป์ชัด ๆ แต่มันคนร้องมันเป็นพี่เบิร์ดว่ะ เราเลยรู้สึกว่าโห มันแบบ 50/50 แล้วมันออกมาพอดีอ่ะ  เป็นการ Collaborate กันจริง ๆ เป็นการ Mix กันจริง ๆ

เราแค่คิดว่า เราอยากเอาแบบนี้ เราไม่อยากทำงานที่เป็นเรามาก ๆ แล้วมีพีเบิร์ดอยู่จึ๋งนึงหรือ เป็นแค่พี่เบิร์ดมาแปะ เรารู้สึกว่าน่าจะทำออกมาในสัดส่วนพอ ๆ กัน แล้วเราจะทำอะไรได้บ้างมากกว่า

ความพิเศษที่รู้สึกว่า คนดูไม่ควรพลาดการดูแบบ ภาพเคลื่อนไหวครั้งนี้คืออะไร

ความพิเศษก็คงเป็น นวพล กับ ธงไชย ธงไชย กับ นวพล นี่ยังไงวะ? ผสมกันแล้วมันจะแบบ เละไหมวะ ส่วนตัวเราชอบอะไรแบบนี้ด้วยมั้ง บางครั้งเราไม่ได้สนว่า งานมันผลออกมามันจะยังไง ดีไม่ดีอะไร  แต่เรารู้สึกว่า เราได้เห็นการ Mix หรือการผสมกันแล้วเกิดสิ่งที่ไม่รู้จะออกมาเป็นยังไงอย่างนี้สนุกกว่า เพราะฉะนั้นเราคิดว่าอาจจะไม่ต้องคาดหวังอะไรมากมาย แค่แบบ ลองไปดูมากกว่าว่า มันจะออกมาเป็นยังไง

นวพลรู้สึกว่าการได้ทำงานกับเบิร์ด ธงไชยเป็นการ UNLOCK อะไรบางอย่างในชีวิตหรือยัง หรือว่ายังมีอะไรที่รู้สึกว่า เฮ้ย อยาก UNLOCK  อยากทำอีก

การได้ทำงานกับพี่เบิร์ดอ่ะ เป็นการ UNLOCK ที่ไม่ได้คาดคิดมากกว่า หมายถึงเราไม่คิดว่าเราจะได้เจอเขา แต่ว่าการได้เจอเขาก็ถือว่าเป็นการปลดล็อคอันนึงวะว่าเป็นแบบ อยู่ดี ๆ ก็ได้ทำงานกับ มันแปลกมาก แล้วมันก็พิเศษมาก

ในทางหนึ่งคือ ถ้าเกิดดูตัวงานจบแล้วก็จะพบว่าเราได้ปลดล็อคอีกตัวหนึ่งเหมือนกัน ที่เป็นเรื่อง Personal หรือว่าเป็นที่ผสมอยู่ในงานชิ้นนี้ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเหมือนกันนะ

เดี๋ยวนี้มันไม่ได้คิดว่าเราจะมีปลดล็อค เราจะไปปลดล็อคอะไรแล้ว เราแค่คิดว่า ถ้าได้ปลดล็อคก็ดี เราแค่ทำงานให้มันดีอ่ะ แล้วเดี๋ยวจะมีพลังบางอย่างผลักเราไปสู่ที่อื่น ๆ ที่จะได้ไปปลดล็อคกับสิ่งที่ไม่ได้คาดคิด มากกว่า

ไม่ได้มีเป้าหมายว่า เราจะไปทำอะไรแล้ว มันเป็นแค่ว่า ปีนี้เราจะมีอะไรจะเข้ามาบ้าง แล้วเราจะได้ทำอะไรบ้าง ซึ่งมันดีตรงที่ว่ามักจะเป็นสิ่งที่ไม่คาดคิดและสนุก หมายถึงว่ามันอาจเป็นสิ่งที่เราไม่คิดว่าเราจะได้ทำ แต่เราคิดว่ามันสนุก แล้วก็ลองดู จะปลดล็อคได้ไหมไม่รู้เหมือนกันบางทีอาจจะล็อคติดไปเลย แต่ว่าทุก ๆ อัน ไม่ว่าคุณจะทำได้หรือทำไม่ได้ มันจะปลดล็อคอะไรบางอย่างในตัวเองและมันจะมีเรื่องบางเรื่องที่เราเพิ่งจะเรียนรู้จากโปรเจ็กต์ใหม่ ๆ มันจะมีเรื่องบางเรื่องที่เราเรียนรู้ เราว่า มันสนุกที่เราไม่รู้เหมือนกันว่า อะไรจะเข้ามาในหนึ่งครั้ง ซึ่งทำได้อย่างเดียวก็คือทำให้งานอันนี้มันดี

ใครที่คิดถึงงาน ตัวตน และความเป็นนวพลในหนังของเขา เราก็ขอแนะนำว่าไม่ควรพลาด MY MARATHON
หนังสั้นในโปรเจ็กต์ bird mini marathon project โดยเด็ดขาด เชิญรับชมกันชิล ๆ ได้เลย

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line