Music

Next Cover, Same Mood 09 : อ่านหนังสือเล่มไหนต่อดี เมื่ออินกับเพลงในอัลบั้ม ‘All My Purple Feeling’ ของ LANDOKMAI

By: GEESUCH February 20, 2024

พอลองนับ ๆ ดูเราก็รู้จักกับวง Landokmai ได้เกือบ 5 ปีแล้วนะ จำได้แม่นเลยว่าโดนตกให้หลงรักครั้งแรกจากเพลง The Diary เพลงที่เหมือนเอาภาพฝันของวัยเยาว์มาระบายด้วยสีสันสวยงาม ก่อนจะเจือด้วยน้ำให้กลายเป็นภาพเลือนรางในความรู้สึก จนถึงตอนนี้ทุกเพลงที่ออกมาของ ‘คุณอูปิม (ลานดอกไม้ ศรีป่าซาง)’ และ ‘คุณแอนท์ (มนัสนันท์ กิ่งเกษม)’ ก็ยังทำให้เรารู้สึกไม่ต่างจากวันแรกที่ได้ฟังเลย

Next Cover, Same Mood 09 เราจับความสัมพันธ์ของตัวละครในหนังสือ ภาพยนตร์ อนิเมะ และมังงะ ที่มีเรื่องราวเชื่อมโยงกับเพลงในอัลบั้ม All My Purple Feeling ทั้ง 11 เพลงที่เป็นเหมือนนิทานก่อนนอนซึ่งแต่งจากความสัมพันธ์ของใครหลายคน กลายเป็นอารมณ์สีหม่น ไม่ได้สุขถึงขนาดยิ้มจนแก้มปริ และก็ไม่ได้เศร้าจนต้องร้องไห้ฟูมฟายออกมา เป็นอารมณ์พิเศษที่ทำให้เราได้กลับไปวิ่งเล่นในโลกลานดอกไม้ด้วยกันอีกครั้งหนึ่ง : )  


Song : เมื่อไหร่ที่คิดถึงเธอ (Echo) 
Book : My Broken Mariko
Relationship : ชี่จัง & มาริโกะ

“เพลงของ ‘เธอ’ คนที่อยากลืม .. แต่ก็ไม่ได้อยากลืมจริง ๆ หรอก” 

ในเพลงนี้เราเห็นเด็กสาวคนหนึ่ง คนที่ชายหนุ่มของเธอได้ปลิวสลายไปกับเหล่าดอกไม้ของทุ่งที่ทั้งคู่มีความทรงจำร่วมกัน เขาได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของท้องฟ้าสีฟ้า โดยที่ก็ทิ้งส่วนหนึ่งของตัวเองอยู่ตัวของเด็กสาวเช่นกัน สิ่งที่เธอทำได้นอกจากดมกลิ่นดอกไม้เพื่อทุเลาความคิดถึงแล้ว ก็คงเป็นการตั้งคำถามถึง ‘อนาคต’ ที่ไร้คำตอบ (จากเขา) ทุกวันนับจากนี้

เพลงนี้อะเรนจ์แบบเห็นอิมเมจชัดจนเหมือนสามารถเอามือคว้าความรู้สึกได้ตรงหน้าเลย มีความเป็นเหมือนการเล่านิทาน ที่มีภาพประกอบแบบเด็ก ๆ ถูกเขียนขึ้นด้วยความไร้เดียงสา ดนตรีฟังง่าย แต่ความรู้สึกมันซับซ้อนจนน่าเหลือเชื่อ อยากรู้เลยว่าตอนที่คุณอูปิมเขียนประโยคแรก กับตอนที่คุณแอนท์ขึ้นกีตาร์คอร์ดแรก ใช้วิธีหลับตาจินตนาการถึงภาพเดียวกันแล้วทำออกมารึเปล่านะ 

ว่าด้วยภาพความสัมพันธ์ของเพลง ‘​​เมื่อไหร่ที่คิดถึงเธอ (Echo)’ แปลกดีที่เราคิดถึงตัวละครอย่าง ‘ชี่จัง’ กับเพื่อนผู้แตกสลายของเธอ ‘มาริโกะ’ ในมังงะ My Broken Mariko ที่เล่าเรื่องราวของเด็กสาวผู้ต้องการพาอัฐิของเพื่อนที่จากโลกนี้ไปเห็นทะเลเป็นครั้งสุดท้าย เดาว่าคงเป็นเพราะ Landokmai เองก็เป็นวงของมิตรภาพเพื่อนสาวด้วยมั้งเราเลยซิงก์เข้ากับมังงะ One Short เรื่องนี้ แต่จริง ๆ อันนั้นไม่ใช่เหตุผลหลัก เรารู้สึกว่าตัวละครหลักทั้งในหนังสือกับเพลงเผชิญสถานการณ์ที่ไม่ต่างกันเลย แถมตัวชี่จังตั้งคำถามปนอารมณ์รู้สึกผิด โกรธ เสียใจ เหมือนกับเธอคนนั้นในเพลงเปี๊ยบ โดยเฉพาะในฉากสุดท้ายที่เธอตามมาริโกะไปไม่ทัน มันคือท้องฟ้าสีเดียวกันเลย เป็นท้องฟ้าที่ถูกเรียกว่า ‘ความคิดถึง’ ยังไงล่ะ


Song : เกาะลอยฟ้า (Still)
Book : Sunny
Relationship : เซย์ / ฮารุโอะ

“เพลงของคนที่รอ และถึงจะทรมานมากแค่ไหน แต่ใจก็เอาแต่หวังให้คนที่ไม่อยู่ด้วยกันสบายดีมากกว่า คิดถึงกันก็พอ ให้รู้ว่าจะรอวันที่เราพบกันอยู่ที่เดิม”

โห เศร้ามากนะ เพลงของคนที่รอแต่ฉันจะไม่ให้เธอรู้ว่าตัวเองกำลังเศร้า “ระหว่างนี้ดูแลตัวเอง อย่าลืมคิดถึงกัน” ประโยคแรกของท่อนฮุคคือทำงานกับหัวใจของคนที่รอรุนแรงมาก แล้วเข้ากันกับความเป็น Dream Pop ในแบบของ Landokmai ซึ่งดีโดยส่วนตัวกับเราตรงที่ไม่ได้หวาน ฟุ้ง คลุ้ง เลี่ยนจนเกินไป เหมือนวงตั้งใจทำให้เพลงนี้เปรียบเสมือน ‘ความฝัน’ ของคนที่รอ แต่ในความฝันนั้นก็ยังมี ‘ความชัดเจน’ อยู่ด้วย เพื่อที่จะเล่าว่ายังไงสักวันฝันที่เขาจะกลับมาก็คงจะเป็นจริง

มังงะเรื่อง Sunny ของอาจารย์ Taiyo MATSUMOTO เล่าเรื่องชีวิตประจำวันของเหล่าเด็กในบ้านพักรับเลี้ยงเด็กแห่งหนึ่ง ที่เด็กแต่ละคนก็มีเหตุผลในการมาอยู่ที่แห่งนี้ต่างกันไป บางคนเป็นเพราะแม่ทำงานในเมืองใหญ่ไม่มีเวลาดู บางคนเป็นเพราะพ่อติดเหล้าจนเลี้ยงลูกไม่ได้ แต่ถึงจะต่างที่มากันแค่ไหน สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนเหมือนกันก็คือเด็กเหล่านี้กำลัง ‘รอคอย’ อะไรบางอย่างในชีวิตของตัวเอง 

‘เซย์’ เป็นเด็กที่เหมือนกับว่าพ่อและแม่ของเขาจะไม่กลับมารับอีกแล้วหลังจากวันที่ขับรถพามาส่งในบ้านรับเลี้ยงเด็กแห่งนี้ ในขณะที่ต้องทำใจ เซย์ก็หลับฝันแทบทุกคืนว่าตัวเองได้เดินกลับบ้านที่ได้จากมา ต่างกันกับ ‘ฮารุโอะ’ เด็กเกเรประจำบ้าน ที่แม่ของเขามีเวลามารับไปอยู่ด้วยปีละไม่กี่ครั้ง เขารักช่วงเวลาที่ได้อยู่กับแม่แต่ก็เกลียดการจากลาที่ทำให้ตัวเองต้องรอคอยอีกครั้ง 

เราอยากให้ทุกคนอ่าน Sunny แล้วเปิดหน้าที่ 78 ทุกคนจะได้เห็นเซย์ที่กำลังนั่งหลับตาอยู่ตรงบันไดทางเดินกลับบ้านในฝัน และเปิดต่อไปที่หน้า 112 ที่ฮารุโอะกำลังยิ้มหลังจากที่ยื่นตัวออกนอกหน้าต่าง เราว่านั่นคือภาพของการรอคอยของเพลงนี้ที่ไม่ได้สุขและเศร้าจนเกินไป (ถึงเนื้อหาเพลงจะเศร้ามากก็ตาม)   


Song : ยอม (White Flag) 
Anime : Rascal Does Not Dream Of Bunny Girl Senpai
Relationship : ซากุตะ & คุณไม

เพลงนี้น่ารักม๊ากกก เจอแบบนี้ใครไม่ยกธงขาวยอมแพ้ถือว่าใจร้ายมากนะ มันมีความเป็นคู่รักที่ชอบแข่งขัน ชอบปั่น ชอบกวนตีนกันอะ แต่เนื้อเรื่องในเพลงคือเป็นวัน Bad Day ของเด็กสาว ที่ต้องขอจริง ๆ ว่าครั้งนี้คนรักของเธอช่วยยกธงขาวให้ก่อนนะ แล้วอะเรนจ์ดนตรีมันสนุกสุด ๆ + กับเสียงร้องของคุณอูปิม ก็เลยเป็นการขอร้องแบบอ้อน ๆ แก ๆ เราขอวันนึงไรงี้  

ปีที่แล้วได้ดูอนิเมะ ‘เรื่องฝันปั่นป่วยของผมกับรุ่นพี่บันนี่เกิร์ล’ (ที่แนะนำโดยคุณอิสระ ฮาตะ) แล้วชอบมาก ๆ เป็นอนิเมะที่ชื่อเรื่องงง ๆ จนไม่เคยกดดูเอง 555 เป็นอนิเมะ Romantic Comedy ที่เนื้อหาเข้มข้นสุด ๆ เล่าเรื่องของนักเรียนมัธยมปลายชื่อ ‘อาซาสะกาวะ ซาคุตะ’ ที่วันหนึ่งบังเอิญเห็น ‘ซากุราจิมะ ไม’ รุ่นพี่นักแสดงชื่อดังที่เรียนอยู่โรงเดียวกัน ทั้ง ๆ ที่ไม่มีใครมองเห็นเธอเลย ก่อนที่จะรู้ว่านี่คือสิ่งที่เกี่ยวข้องกับโรคในวัยรุ่นที่มีชื่อว่า ‘ภาวะผิดปกติในวัยรุ่น’

คือต้องเล่าต่อว่าสำหรับคนที่ยังไม่ได้ดูอนิเมะเรื่องนี้ เราจะได้เห็นความั่นประสาทของไอเด็กหนุ่มซากุตะคอยปั่นประสาทคุณไมแบบ Non Stop ซึ่งก็น่ารักม๊ากกกเหมือนในเพลงเลย ไม่ว่าคุณไมจะทำงานนักแสดงหนักหน่วงขนาดไหน มันก็ยังจะไปกวนตีนเขาตลอดเวลา แต่ทุกครั้งที่คุณไมบอกให้ยอมเถอะ ซากุตะก็จะยอมทุกครั้งเบยแหละ


Song : ฤดูฝัน (Drizzle)
Anime : Sonny Boy
Relationship : นาการะ & โนโซมิ 

คงจะไม่แปลกใจเลยถ้าคุณอูปิมกับคุณแอนท์จะให้สัมภาษณ์ว่านี่คือเพลงที่พวกเธออัดกันเองในห้องนอน บนเตียงนอน ในวันหนึ่งที่ฝนตกกระทบหน้าต่างจนไม่สามารถออกไปข้างนอกได้ และความเป็นอคูสติก Lo-Fi นั้นเกิดขึ้นจากการอัดในครั้งเดียว จนเกิดเป็นเพลงไม่ถึง 2 นาที ที่ทุกท่อนผ่านไปแล้วผ่านเลยไม่มีช่วงเวลาวนกลับมาซ้ำอีกครั้ง 

ถ้าถามว่าเพลงไหนมีความรู้สึกของ Purple Feeling ที่สุดของอัลบั้ม เราก็คงจะยื่นกระดาษคำตอบที่เขียนชื่อเพลงนี้ลงไปล่ะ

และคงเป็นเพราะสิ่งนี้เองล่ะมั้งนะที่ทำให้เราคิดถึงซีนหนึ่งของ Sonny Boy อนิเมชั่นที่เล่าเรื่องของเหล่านักเรียนมัธยมที่จู่ ๆ วันหนึ่งก็พบว่าโรงเรียนของพวกเขาได้หลุดเข้าไปในโลกต่างมิติที่ไม่รู้จัก และแน่นอนว่าพวกเขาก็พยายามสุดชีวิตเพื่อกลับไปโลกเดิมอีกครั้ง ก่อนจะพบว่าหลาย ๆ สิ่งก็ไม่เคยเป็นแบบที่คิดเสมอไป 

ในเรื่องนี้เราชอบความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครที่ชื่อ ‘นาการะ’ กับ ‘โนโซมิ’ นี่คือตัวละครขั้วตรงข้ามที่เป็นหัวใจหลักของอนิเมะเรื่องนี้ที่ว่า “ถ้ารู้ว่าชีวิตวัยเยาว์ที่ควรจะได้มีกำลังจะหายไปต่อหน้าต่อตาจะทำอย่างไร ?” ในขณะที่เธอต้องการสนุกกับชีวิตมัธยมที่จะเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวเดียว เขากลับอยากให้มันผ่านไปไว ๆ เหมือนว่าไม่เคยเกิดขึ้น แต่ทว่า การเดินทางเพื่อกลับสู่โลกเดิมได้ทำให้โนโซมิทำตามสิ่งตัวเองอยากไม่สำเร็จ ในขณะที่นาการะที่อยากเจอกับเธออีกก็เกิดมุมมองที่เปลี่ยนไปในตอนสุดท้าย เขาได้รู้ว่าการได้คิดถึงใครสักสำคัญต่อการมีชีวิตบนโลกนี้แค่ไหน แต่มันก็เป็นเพียงความคิดถึงที่ไม่ต่างอะไรจากเม็ดฝนบนหน้าต่างของห้องนอนนั่นล่ะ เลือนราง จับต้องไม่ได้ ทำได้แค่เฝ้ามองเท่านั้น


Song : เพลงรักเพลงแรก (Blooming)
Book : The Guy She Was Interested In Wasn’t a Guy at all
Relationship : โคกะ มิตสึกิ & โอซาวะ อายะ

“เพลงนี้คงไม่มีความหมายสักเท่าไหร่ หากไม่มีเธอเป็นท่วงทำนองต่อจากนี้”

โอ้โห แค่ชื่อเพลงก็คือนึกว่าเป็น OST ของมังงะ ‘คนที่เธอปิ๊งความจริงไม่ใช่ผู้ชาย’ แล้วพอตั้งใจฟังเนื้อร้องก็ โอ้โห (รอบ 2) เหมือนกับว่า ‘เพลงรักเพลงแรก’ กำลังเล่าภาพห้วงขณะตกหลุมรักของมิตสึกิกับอายะเอาไว้ยังไงอย่างงั้น

เข้าใจเลยว่าทำไมคนชอบเพลงนี้มาก เราเรียกอะเรนจ์ดนตรีแบบนี้ว่า Melt Music คือฟังแล้วเหมือนทั้งร่างค่อย ๆ ละลายด้วยความรู้สึกดีแบบเดียวกับตอนกินไอติม แต่เรากลายเป็นไอติมซะเอง

‘โอซาวะ อายะ’ บังเอิญไปตกหลุมรักข้างเดียวให้กับพี่ชายในร้านขายซีดีแห่งหนึ่งเข้า เพราะว่ารสนิยมฟังเพลงเข้ากันเด๊ะ Foo Fighter / Nirvana / Beck เธอหลงเขาในชนิดที่ไม่ว่าพี่คนนั้นจะทำอะไรก็เท่ไปหมด โดยที่ไม่รู้เลยว่าพี่ชายคนนั้นไม่ใช่ผู้ชาย แต่เป็น ‘โคกะ มิตสึกิ’ เพื่อนร่วมห้องที่นั่งโต๊ะติดกันเลย ! / ใครยังไม่ได้อ่านเรื่องนี้ก็ขอแนะนำมาก ๆ มาร่วมเพลิน ๆ ไปกับการ Flirt โปรยเสน่ห์ใส่อีกฝ่ายโดยไม่ตั้งใจตลอดเวลาของมิตสึกิ แล้วหัวเราะให้กับอายะที่เขินไม่ไหวเกินนน

 มังงะเรื่องนี้เปรียบความสัมพันธ์แอบรักข้างเดียวโดยที่ไม่รู้ว่าจริง ๆ ไม่ใช่รักข้างเดียว แต่เป็นเพราะอีกฝ่ายไม่กล้าบอกไปต่างหาก เป็นเหมือน ‘หูฟัง’ ที่หายไปข้างนึงของกันและกัน เมื่อเจอหูฟังที่ถูกคู่ โลกใบนี้ก็สีสันชัดขึ้นมาด้วยเสียงเพลง และในซีนหนึ่งใครบางคนก็ใช้วิธีบอกความในใจด้วยเพลงรักเพลงแรก ที่โคตรเท่คือเพลงนั้นมันเป็นของ Radiohead เว้ย ! 


Song : B-D-BUB-BA
Movie : Sing Street (2016)
Relationship : คอเนอร์ & ราฟีน่า

แล้วฉากเต้นรำในจินตนาการของ Sing Street (2016) ก็ผุดขึ้นมาในความทรงจำของเราทันทีที่เสียง “B-D-BUB-BA” ถูกร้องบรรเลง ท่ามกลางดนตรีอันสนุกสนาน เย้ายวนใจ ด้วยเสียงเพอร์คัชชั่น ล้อกับเสียง String ของซินธิไซเซอร์ที่เปรียบดั่งเครื่องสายของวงออเครสตร้าในโถงเต้นรำจากศิลปินลานดอกไม้ เราเห็น ‘คอเนอร์’ กับ ‘ราฟีน่า’ อยู่ที่นั่นด้วย 

ถ้าถามว่าเราชอบหนังเรื่องไหนที่สุดของ John Carney ก็ไม่เคยลังเลที่จะตอบ Sing Street เลยสักครั้ง ไม่คิดว่าจะมีหนังเรื่องไหนทำงานกับความฝันวัยมัธยมได้มากเท่านี้อีกแล้ว สำหรับคนที่ยังไม่เคยดู หนังพาเราดูการเติบโตทางไลฟ์สไตล์ดนตรี (และชีวิต) ของเด็กหนุ่มชื่อคอเนอร์ ที่พยายามหาสิ่งที่ตัวเองเป็นผ่านการตั้งวงกับเพื่อนที่โรงเรียนมัธยม แล้ววันหนึ่งเด็กหนุ่มก็ได้เจอกับราฟีน่า นางแบบสาวลึกลับ เธอเป็นใครมาจากไหน เขาจะหาคำตอบนั้นผ่านการชวนเธอมาเป็นนางเอก MV ประจำของวง

ความสัมพันธ์ระหว่างเด็กหนุ่มที่ยังไม่รู้ว่าตัวเองจะเป็นใครบนโลกใบนี้ กับเด็กสาวที่ต้องการหนีจากชีวิตเส็งเคร็ง ชีวิตที่ทั้งคู่ต่างใฝ่ฝันมาบรรจบที่ฉากเต้นรำของหนัง มันถูกเรียกว่า ‘ฉากเต้นรำในจินตนาการ’ เพรราะพวกเขาทำได้แค่มีความสุขกับการเต้นรำด้วยกันในนั้น 


Song : Taxi
Series : Tokyo Midnight Diner (2009)
Relationship : Taxi Girl & Radio Boy

เพลงที่ฟังแล้วรู้สึกว่าเหมือนมีเพื่อนทำงานตอนกลางคืน ในกลางดึกของคืนหนึ่ง Youtube บังเอิญสุ่มให้เราเจอกับเพลงนี้ หลับตาฟังแล้วเหมือนได้เอาใจออกไปนั่งบนแท็กซี่ ขับออกไปบนถนนที่ไม่มีใคร หลีกหนีจากแสงไฟของเมืองใหญ่ที่ในเวลานั้นก็เงียบจนแทบไม่มีแสงไฟให้เห็น ก่อนจะพบว่ากำลังมุ่งหน้าสู่ถนนที่ชื่อว่า ‘ตัวเอง’ นี่เป็นเพลงทำสมาธิอยู่กับปัจจุบันที่เหนื่อยล้าของเราเลย ต้องปรบมือให้ทางคอร์ดแสนเหงา และเสียงร้องที่ร่าเริงขึ้นมาเสียเฉย ๆ ในท่อนฮุค 

พอพูดถึง Taxi ก็มีรถสีเหลืองคันหนึ่งในซีรีส์ Tokyo Midnight Diner ที่ติดอยู่ในใจของเราอยู่เหมือนกัน เรื่องราวของซีรีส์ที่ว่าด้วยร้านอาหารที่เปิดหลังเที่ยงคืนและผู้คนที่ต่างมีเรื่องทุกใจของตัวเองที่จะถูกคลายด้วยมื้ออาหารที่มีความทรงจำร่วมกับชีวิต ในตอนที่ 1 ที่ชื่อทันเมน เล่าเรื่องของนักจัดรายการวิทยุคนหนึ่งที่บังเอิญได้ขึ้นแท็กซี่ที่คนขับเป็นหญิงผู้มีอดีตเป็นนักแสดงในขบวนการซุปเปอร์เซ็นไตที่ชายหนุ่มหลงใหลมองเป็นฮีโร่ในชีวิตมาตลอด แต่เธออยากหนีตัวตนนั้นมาทั้งชีวิต ก่อนจะพบว่าเราต้องยอมรับอดีตของเราเพื่อมีความสุขกับอนาคต

ตอนจบของซีรีส์คงเป็นเหมือนตอนที่เราลืมตาหลังจากนั่งบน Taxi ที่คนขับเป็นลานดอกไม้จบแล้วล่ะมั้งนะ 


Song : I Miss You When I’m Drunk
Movie : The Perks Of Being a Wallflower (2012)
Relationship : แพทริค & แบรด 

จู่ ๆ น้ำตามันก็รื้นพร้อมที่จะเอ่อล้นออกมาอาบแก้ม อาจเป็นเพราะเสียงเปียโนที่ถูกกดย้ำ ๆ อย่างอ่อนแรงเหมือนคนหมดกำลัง ในเสียงร้องชวนฝันที่แอลกอฮอลล์ไม่ได้ลดทอนความไพเราะลงไปแม้แต่นิด และก็อาจจะเป็นเพราะเนื้อเพลงที่ร้องว่า 

“ทุกวันทุกวันฉันคงเข้าใจผิดไป ใช้ชีวิตจนคิดว่าลืมเธอได้ .. I Miss You When I’m Drunk”

เพลงนี้ลำดับกราฟความรู้สึกได้งดงามมาก มันเหมือนกับว่าช่วงวินาทีที่ 0:00 เป็นการเริ่มต้นดื่มไวน์แก้วแรก ก่อนที่ในท่อนโซโลเสียงกีตาร์บาด ๆ นั้นจะทำให้เรารู้ว่าเธอคนที่คิดถึงเขารินแก้วจนจะหมดขวดแล้ว มันช่างทำให้คิดถึงภาพช่วงเวลาอันเรือนลางของตัวละครคู่หนึ่งใน The Perks Of Being a Wallflower ขึ้นมาเลย 

เรื่องมันเป็นงี้ ‘แบรด’ เป็นนักกีฬาอเมริกันฟุตบอลกัปตันทีมของโรงเรียนซึ่งป๊อปปูล่าสุด ๆ แต่ ‘แพทริค’ เป็นคนที่ถูกคนในโรงเรียนว่า ‘Nothing’ ทั้งคู่แอบคบกันลับ ๆ ต้องหลบซ่อนไม่ให้ใครเห็น เป็นความสัมพันธ์แบบ LGBT ที่ไม่มีใครยอมรับได้ โดยเฉพาะพ่อของแบรดที่หากรู้ขึ้นมาก็จะทำร้ายลูกชายทันที สิ่งที่แย่ในความสัมพันธ์นี้คือแบรดเองก็ไม่ได้รักแพทริคถึงขนาดที่จะปกป้องจากคนอื่น และแบรดจำเป็นที่จะต้องเมาทุกครั้งเพื่อที่จะสามารถบอกความรู้สึกจริง ๆ ของตัวเองออกไป เพราะใจหนึ่งเขาก็เชื่อว่าสิ่งที่สังคมบอกว่าตัวเองเป็นผู้ชายที่รักผู้หญิงอาจจะเป็นตัวตนที่แท้จริงของเขา ซึ่งมันไม่ใช่เลยเว้ย แพทริคจึงทำได้แค่รอความรักในตอนที่แบรดเมาเท่านั้น I Miss You When I’m Drunk ของจริง : (


Song : ในวันพรุ่งนี้ขอให้เป็นวันที่ดี (Nomad’s Lullaby)
Manga : Frieren: Beyond Journey’s End
Relationship : ฟรีเรน & ฮิมเมล 

“เธอคิดถึงใครหลายคนที่จากไป บางคนผ่านมามีค่าแล้วหายไป”

อ่อนโยนตั้งแต่เนื้อร้องที่เชียร์อัพในทุกประโยค และดนตรีที่คอยขับกล่อมเบา ๆ พยายามให้คนฟังหลับตาและล่วงหล่นไปในห้วงนิทรา ค่อยตื่นมาเจอกับวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า หนึ่งในเพลลงที่ใจดีกับคนฟังมากที่สุดเท่าที่เคยฟังมาล่ะ (และไม่รู้ทำไมถึงรู้สึกว่ามันมีความเป็นเพลงอคูสติกแบบ French Music ชวนให้คิดถึงสีในหนังเรื่อง Amélie ตลอดเวลาเลย)

ขอยกเพลงซัพพอร์ตเตอร์สุดหัวใจนี้ให้ ‘ฟรีเรน’ เอลฟ์ในปาร์ตี้ผู้กล้าที่ปราบจอมมารและคืนความสงบสุขให้โลกได้สำเร็จ แต่ด้วยอายุขัยที่มีนับพันปี ทำให้เธอต้องคอยมองดูเพื่อนและเหล่าคนที่รักจากไปตลอดทั้งชีวิต โดยเฉพาะกับ ‘ฮิมเมล’ ผู้เป็นทั้งผู้กล้าและเพื่อนคนที่มีความหมายมากที่สุด ที่ตอบคำถามซึ่งค้างคาใจเธอมาตลอดว่า “การมีชีวิตยืนยาวนับพันปีนี้จะมีความหมายได้อย่างไรกัน” ครั้งแรกที่ฟรีเรนร้องไห้ให้ฮิมเมลมันเหมือนโลกทั้งใบมันค่อย ๆ ล่มสลายลงมาเลยอะ ไม่เป็นไร ๆ พรุ่งนี้ต้องเป็นวันที่ดีเพราะ ‘สตาร์ค’ กับ ‘เฟรุน’ ก็ยังอยู่ตรงนี้ 


Song : I’m Saying Goodbye
Movie : Marriage Story (2019)
Relationship : ชาร์ลี & นิโคล

ปิดเพลงสุดท้ายของอัลบั้มเหมือนเป็นการปิดหน้าสุดท้ายของหนังสือนิทานก่อนนอนเรื่อง All My Purple Feeling กลับสู่แก่นดนตรีของลานดอกไม้ที่เป็นจุดเริ่มต้นของทุกอย่างอีกครั้ง กีตาร์โปร่งของคุณแอนท์ เสียงร้องของคุณอูปริม และเปียโนอีกเล็กน้อย

อย่างที่เราชมทุกเพลงในอัลบั้มนี้มาตลอด 9 เพลงก่อนหน้า เพลงนี้ก็ยังคงเป็นเพลงที่สร้างจินตนาการต่อคนฟังได้แบบชัดมาก ๆ ทุกคนเข้าไปอยู่ในนิทานของลานดอกไม้ และรู้สึกได้เลยเมื่อเขาร้องออกมาว่า “ฉันไม่มีเธออีกแล้ว ทิ้งทุกคำสัญญาแม้ว่าจะเสียดาย” ว่าสิ่งนี้คือการลาจากแบบที่จำใจจริง ๆ

รู้จักจดหมายของ ‘นิโคล’ กับ ‘ชาร์ลี’ ใน Marriage Story กันมั้ยครับ จุดประสงค์เดิมจริง ๆ ของจดหมายนี้มีเพื่อเป็นกาวเชื่อมรอยที่แตกร้าวระหว่างชายหนุ่มผู้กำกับละครเวทีแสนทะเยอทะยาน และภรรยานักแสดงละครเวทีในคณะของเขา แต่ทว่า จดหมายนี้ไม่ได้ทำหน้าที่อย่างที่ทั้งคู่หวังเอาไว้แต่แรก แต่อย่างน้อย ๆ ที่สุดเลย มันก็ได้เป็นจดหมายบอกลาและเป็นตัวแทนว่าทุกถ้อยคำที่มีลายมือของของเขาและเธออยู่ในนั้น ก็มีความรักเจือปนอย่างเต็มเปี่ยม ในช่วงเวลาหนึ่ง แต่ในช่วงเวลานี้คงต้องบอกลาแล้ว

“And I’ll never stop loving Him, even though it doesn’t make sense anymore.”

– จดหมายของนิโคลที่อ่านโดยชาร์ลี   

GEESUCH
WRITER: GEESUCH
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line