Entertainment

NIHON STORIES: “GODZILLA” ประวัติศาสตร์อันยาวนานของราชันแห่งมอนสเตอร์ทั้งปวง

By: TOIISAN September 23, 2020

เป็นเวลานานกว่า 60 ปี มาแล้วที่โลกได้รู้จักกับสัตว์ประหลาดดึกดำบรรพ์สุดยิ่งใหญ่อย่างก็อตซิลลา (Godzilla) ที่เกิดขึ้นจากความคิดสุดสร้างสรรค์ของ ทานากะ โทโมยูกิ (Tanaka Tomoyuki) ที่ได้ดูหนังจากฝั่งฮอลลีวูดเรื่อง The Beast from 20,000 Fathoms (1953) แล้วเกิดแรงบันดาลใจว่าในเมื่ออเมริกันทำหนังสัตว์ประหลาดได้ แล้วทำไมชาวญี่ปุ่นถึงจะมีสัตว์ประหลาดเป็นของตัวเองบ้างไม่ได้

นายทานากะได้พบกับผู้กำกับนามว่า ฮอนดะ อิจิโระ (Honda Ishiro) ภาพยนตร์สัตว์ประหลาดของพวกเขามีชื่อว่า ‘โกจิระ’ จากการทำคำว่า กอริลลา มารวมกับคำว่าคุจิระ ที่มีความหมายว่าปลาวาฬ เพราะเจ้าโกจิระตัวนี้ปรากฏตัวมาจากท้องทะเลอันกว้างใหญ่ที่ยังมีพื้นที่อีกมากมายที่มนุษย์ยังไม่สามารถย่างกรายไปถึง

ทานากะ โทโมยูกิ

ก็อดซิลลาเป็นสัตว์โบราณจากยุคที่โลกยังมีไดโนเสาร์ มันรอดตายอย่างปาฏิหาริย์ นอนหลับใหลอยู่ในถ้ำที่ลึกสุดของก้นมหาสมุทรมานานนับล้านปี ทว่าการจำศีลของมันต้องจบลงเมื่อมนุษย์ทดลองนิวเคลียร์จนเกิดแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ที่สะเทือนไปถึงถิ่นที่อยู่ของก็อดซิลลา ปีศาจร้ายที่น่าสะพรึงกลัวที่สุดในโลกได้ตื่นขึ้นแล้ว

ก็อดซิลลาขึ้นสู่เหนือน้ำและพบกับเกาะญี่ปุ่น มันทำลายล้างเมืองจนย่อยยับ ทุกอย่างพังพินาศราบเป็นหน้ากลอง ซึ่งการทำลายล้างของก็อดซิลลาสร้างความรู้สึกคลับคล้ายคลับคลาให้กับชาวญี่ปุ่นที่ได้รับชมเป็นอย่างมาก สัตว์ร้ายที่ทำลายเมืองตัวนี้ไม่ต่างอะไรกับลิตเติ้ลบอย (Little Boy) กับ แฟตแมน (Fat Man) ที่ถูกปล่อยลงสู่เมื่อฮิโรชิม่าและนางาซากิเลยสักนิด เพียงเปลี่ยนจากระเบิดนิวเคลียร์สองหัวมาเป็นสัตว์ประหลาดตัวใหญ่เท่านั้นเอง

ฮอนดะ อิจิโระ

หากคิดว่า UNLOCKMEN โยงเรื่องเองว่าก็อดซิลลาสะท้อนความเจ็บปวดของญี่ปุ่นจากการพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ถือว่าผิดถนัด เพราะนักออกแบบผู้สร้างโกจิระเวอร์ชันแรกที่ถูกเรียกว่าก็อดซิลลาแห่งยุคโชวะ (1954-1975) อย่าง วาตานาเบะ อากิระ (Watanabe Akira) สร้างสรรค์ความน่าสะพรึงกลัวของสัตว์ที่ไม่มีอยู่จริงบนโลกขึ้นมาจากการผสมผสานของสัตว์หลายสายพันธุ์ อาทิ จระเข้ ไดโนเสาร์หลายสายพันธุ์ ที่มีความสูงถึง 50 เมตร ผิวหนังขรุขระหนาที่ปกป้องการโจมตีน่าขนลุก ก็รับแรงบันดาลใจมาจากผิวหนังพุพองจนถึงขั้นเน่าตายของชาวบ้านที่รับผลกระทบจากระเบิดนิวเคลียร์

นอกจากนี้ สิ่งที่ช่วยยืนยันว่าทีมงานโกจิระรับแรงบันดาลใจมาจากสงครามโลกยังเห็นได้จากที่เจ้าโกจิระสามารถพ่นลำแสงกัมมันตภาพรังสีทำลายล้าง เผานครโตเกียวได้ง่าย ๆ โดยไม่ต้องทำอะไรมาก

โกจิระออกฉายในเดือนธันวาคมปี 1954 พร้อมกับความนิยมถล่มทลาย ลูกเด็กเล็กแดงร่ำร้องให้พ่อแม่พาไปดูหนัง ส่วนพวกวัยรุ่นก็ตื่นเต้นกับสัตว์ประหลาดยากจะล้ม ส่วนผู้ใหญ่วัยทำงานรู้สึกสนุกไปกับเรื่องราวอันน่าเหลือเชื่อนี้ คำวิจารณ์ด้านบวกกับคำชมอันล้นหลามที่พูดกันแบบปากต่อปาก ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้มียอดจำหน่ายตั๋วสูงถึง 9.6 ล้านใบ กวาดกำไรไปอย่างงดงาม ทำให้บริษัทสร้างหนังทุนหนาอย่างโทโฮ ไฟเขียวให้รีบสร้างภาคสองอย่าง Godzilla Raids Again (1955) เพื่อสานต่อความแมสครั้งนี้ให้เร็วที่สุด

Godzilla (1954)

ในปี 1956 หนังสัตว์ประหลาดสายพันธุ์ญี่ปุ่นมีโอกาสไปฉายยังสหรัฐอเมริกา ทางทีมงานจึงต้องหาชื่อที่เป็นสากลมากขึ้น หลังจากเลือกอยู่นานสุดท้ายได้ชื่อว่า ‘ก็อดซิลลา’ ทำโปสเตอร์พร้อมชื่อภาพยนตร์อย่างเป็นทางการว่า Godzilla King of the Monsters! (ฉบับปี 1954) ที่ถูกหั่นเวลาให้สั้นลงจากเวอร์ชันที่ฉายในญี่ปุ่น

หลังจากภาคแรกดำเนินเรื่องอยู่ในกรุงโตเกียวเป็นส่วนใหญ่ ทางทีมผู้สร้างอาจกลัวผู้ชมเบื่อกับบรรยากาศและโลเคชันแบบเดิม ๆ จึงเล่าเรื่องการทดลองนิวเคลียร์ ณ ชายฝั่งของจังหวัดโอซาก้า แถมยังเปลี่ยนเรื่องราวของการทำลายล้างที่คล้ายกับเงาของสงครามโลกครั้งที่ 2 มาเป็นการต่อสู้ระหว่างมอนสเตอร์ เพราะในภาคนี้มีตัวละครใหม่ชื่อว่า ‘แองกิรัส’ ที่ตื่นขึ้นมาเหมือนกับโกจิระ ท่าทางโทโฮจะไม่ยอมจบความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่นี้ไว้แค่สองภาค แต่ต้องการสร้างจักรวาลมอนสเตอร์เป็นของตัวเอง

 

สัตว์ประหลาดแห่งยุคโชวะหลังจากสองภาคแรกมีสไตล์ที่แตกต่างกันไป บางภาคมีสัตว์ประหลาดสามหัว บางภาคโกจิระก็ดูหน้าตาเป็นมิตรขึ้น แต่บางภาคกลับน่ากลัวยิ่งกว่าเก่า แถมเรื่องเล่ายังถูกเล่าในหลายแง่มุม มีประเด็นหลักที่หลากหลาย บางภาคซีเรียสเน้นหนักเรื่องวิทยาศาสตร์ แต่บางภาคก็เน้นการผจญภัยถูกใจวัยรุ่น รวมถึงบางภาคยังสอดแทรกมุกกวน ๆ เอาใจแฟนคลับรุ่นเยาว์ มีเพื่อนสัตว์ประหลาดมากมายแวะเวียนมาร่วมแจงอย่าง คิงคอง คิง กิโดร่าห์ และราดอน (โรแดน) รวมถึงบทบาทของก็อดซิลลาก็ถูกเปลี่ยนจากผู้ทำลายล้างมาเป็นผู้พิทักษ์เสียอย่างนั้น

อย่างไรก็ตาม ด้วยเนื้อหาที่ไม่ต่อเนื่อง เดี๋ยวจริงจัง เดี๋ยวผจญภัย เดี๋ยวก็เอาใจเด็ก จากผู้ร้ายกลายมาเป็นฮีโร่ ก็อดซิลลาในช่วงยุค 70s เริ่มกลายเป็นสิ่งน่าเบื่อสำหรับชาวญี่ปุ่นไปเสียแล้ว ชื่อหนัง Terror of Mechagodzilla (1975) ขายตั๋วได้เพียงแค่ 9 แสนใบ จากที่เคยขายได้ถึง 10 ล้านใบในภาคอื่น โทโฮจึงยุติการสร้างภาพยนตร์สัตว์ประหลาด ปิดฉากก็อดซิลลาแห่งยุคโชวะไปแบบไม่สวยงามเท่าไหร่นัก

 

Terror of Mechagozilla (1975)

หลังว่างเว้นไปเกือบสิบปี ในที่สุดโทโฮก็หยิบความสำเร็จเก่ามาปัดฝุ่นใหม่อีกครั้ง (เรียกว่าทิ้งไม่ลงก็คงไม่ผิดนัก) โดยใช้ชื่อว่า The Return of Godzilla (1984) ที่มีเรื่องราวต่อเนื่องจากก็อดซิลลารุ่นตำนานในปี 1954 ที่ทำเหมือนกับว่าก็อดซิลลาหลายสิบภาคในยุคโชวะไม่มีอยู่ โดยเรื่องราวของเจ้าก็อดซิลลาเวอร์ชันนี้จะไม่ได้อยู่ในถ้ำใต้สมุทรแต่อยู่บนเกาะอันห่างไกลที่รอดพ้นจากยุคไดโนเสาร์สูญพันธุ์

แรกเริ่มมันก็เป็นเพียงไดโนเสาร์ที่รอดตายแต่เมื่อรับสารพิษกัมมันตภาพรังสีที่ปนอยู่ในน้ำจากการทดลองนิวเคลียร์ มันจึงกลายพันธุ์เป็นมอนสเตอร์ร้ายกาจน่าเกรงขาม มีประเด็นจริงจัง เล่าถึงความน่ากลัวของนิวเคลียร์ สัตว์ร้ายออกทำลายเมือง ความขึงขังจริงจังที่ทำให้ผู้คนตกหลุมรักก็อดซิลลาภาคแรกกลับคืนสู่จอเงินอีกครั้ง ส่งให้ก็อดซิลลายุคเฮเซหลายภาคในช่วงปี 1984-1995 ประสบความสำเร็จมากกว่าช่วงปลายยุคโชวะ

 

Godzilla: Final Wars (2004)

ก็อดซิลลากลับมาอีกครั้งในยุคมิลเลนเนียม (1999-2004) ทว่าความสำเร็จของสัตว์ประหลาดยุคนี้ไม่แตกต่างอะไรกับปลายยุคโชวะเท่าไหร่นัก ถึงจะตัวใหญ่น่าเกรงขามขึ้นก็ไม่สามารถดึงดูดผู้ชมเท่าที่ควร ท้ายที่สุดโทก็เตรียมสั่งลาก็อดซิลลาอีกครั้งกับ Godzilla: Final Wars (2004) ซึ่งเป็นภาคที่ครบรอบ 50 ปี พอดิบพอดี ปิดฉากก็อดซิลลายุคมิลเลนเนียมด้วยการรวมตัวสัตว์ประหลาดทั้งหลายไว้มากที่สุดเท่าที่เคยทำมา หลังการต่อสู้ครั้งสุดท้ายจบลง อสูรร้ายจึงจำต้องกลับไปจำศีลในที่ห่างไกลผู้คนนานถึง 12 ปี

ในปี 2016 เกิดการรีบูตก็อดซิลลาอีกครั้งกับ Godzilla: Resurgence (หรือในอีกชื่อว่า Shin Godzilla) เรื่องราวของสัตว์ลึกลับใต้ทะเลที่กลายพันธุ์เพราะกินกากกัมมันตภาพรังสีเข้าไป โดยประเด็นหลักของภาคนี้จะเข้มข้น อันแน่นด้วยเรื่องราวทางการเมืองการปกครองที่ถูกเล่าผ่านมุมมองนักการเมือง ทหาร และนักวิทยาศาสตร์ ด้วยความจริงจังของเนื้อเรื่อง การร่วมมือร่วมใจของชาวญี่ปุ่นทุกภาคส่วนเพื่อเอาตัวรอดจากอสูรร้าย ทำให้ก็อดซิลลาเวอร์ชันนี้สามารถขายตั๋วได้มากถึง 5.7 ล้านใบ ซ้ำยังกวาดคำชมจากนักวิจารณ์ไปยกใหญ่

ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปอีกกี่สิบปี โทโฮก็ยังไม่หยุดสร้างก็อดซิลลา เรื่องราวอันยาวนานที่ทำให้คนทั่วโลกจดจำสัตว์ประหลาดตัวยักษ์น่าสะพรึงนี้ทำให้ค่ายหนังทางฝั่งฮอลลีวูดอย่าง Legendary สนใจจะนำก็อดซิลลาไปรีบูตในแบบฝรั่งกันบ้าง จนทำให้เกิด Godzilla (2014) ที่ถูกชมมากกว่าก็อดซิลลาหลายภาคของโทโฮด้วยซ้ำ นอกจากนี้เรื่องราวของหนังลิงยักษ์บนเกาะห่างไกลอย่าง Kong: Skull Island (2017) ที่ได้นักแสดงคุ้นหน้าคุ้นตาอย่าง ทอม ฮิดเดิลสตัน (Tom Hiddleston) บรี ลาร์สัน (Brie Larson) และ ซามูเอล แอล. แจ็กสัน (Samuel L. Jackson) ก็มีความเกี่ยวข้องกับก็อดซิลลาเวอร์ชันฝรั่งเสียด้วยเพราะอยู่ในจักรวาลเดียวกัน แต่ปูเรื่องเล่าของสัตว์ประหลาดทีละตัวเพื่อสร้างความผูกพันและยั่วให้เราอยากเห็นการเจอกันของคองกับก็อดซิลลาเร็ว ๆ

 

บางคนอาจชอบออริจินัลโกจิระเวอร์ชัน 1954 บางคนอาจชอบก็อดซิลลาปี 2016 ที่มีเนื้อหาหนักแน่นกินใจชวนให้รู้สึกฮึกเหิม แต่หลายคนก็พอใจก็อดซิลลายุคล่าสุดที่อัดแน่นด้วยงานสร้างอลังการ เอฟเฟกต์ ซีจี และเทคนิคภาพอันแนบเนียนสมจริง แล้วคุณล่ะครับ ชื่นชอบก็อดซิลลาเวอร์ชันไหนมากที่สุด ?

Source: 1 / 2 / 3/ 4

Source Photo: 1 / 2 / 3 /4

TOIISAN
WRITER: TOIISAN
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line