World

NIHON STORIES: “HIKIKOMORI” เรื่องเศร้าของกลุ่มคนที่ตัดขาดตัวเองจากสังคม

By: TOIISAN November 24, 2020

‘แม้ยากูซ่าคือกลุ่มคนที่มีจำนวนไม่น้อยในสังคมญี่ปุ่น แต่คนญี่ปุ่นที่มีอาการฮิคิโคโมริ มีมากกว่ายากูซ่าถึง 10 เท่า’

ฮิคิโคโมริ ซินโดรม (Hikikomori Syndrome) หมายถึง ชื่อที่นิยามถึงบุคคลผู้ปฏิเสธการเข้าสังคม เก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน ไม่ออกไปใช้ชีวิต ไม่ไปโรงเรียน ไม่ไปทำงาน บางคนจะไม่สุงสิงกับคนอื่นที่ไม่ใช่คนในครอบครัว บางคนหนักข้อถึงขั้นไม่คุยกับใครเลยแม้กระทั่งพ่อแม่พี่น้อง โดยระยะเวลาการตัดขาดที่จะทำให้ถูกนับว่าเป็นฮิคิโคโมริจะเริ่มต้นจาก 6 เดือน จนถึงตลอดชีวิต ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขคาดว่าทั่วประเทศญี่ปุ่น มีคนเป็นฮิริโคโมริมากถึง 1.15 ล้านคน ถือว่าเป็นจำนวนที่มากจนรัฐบาลต้องกลับมาถามตัวเองซ้ำ ๆ ว่า ความผิดพลาดอะไรที่ทำให้ชาวญี่ปุ่นนับล้านเลือกปิดกั้นตัวเองออกจากผู้คน

ตัวเลข 1.15 ล้านคน คือจำนวนคร่าว ๆ ที่ทางกระทรวงสาธารณสุขคาดการณ์ ทว่า จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องคิโคโมริ ซินโดรม มองว่า ตัวเลขดังกล่าวคือเสี้ยวเดียวของชาวญี่ปุ่นที่กำลังเผชิญกับอาการนี้ โดยเขาคิดว่าน่าจะมีคนญี่ปุ่นกว่า 2 ล้านคนที่ประสบอาการดังกล่าว และตัวเลขนี้จะพุ่งขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี จนถึงหลักสิบล้านคน

จุดเริ่มต้นของการเกิดอาการฮิคิโคโมริมีหลายสาเหตุด้วยกัน แต่ละคนก็มีเรื่องราวต่างกันออกไปโดยเฉพาะกับความผิดหวังขั้นรุนแรง เด็กบางคนตัดสินใจเลือกเก็บตัวอยู่แต่ในห้องเพราะผลคะแนนสอบไม่เป็นอย่างหวัง บางคนผิดหวังเรื่องการสอบเข้ามหาวิทยาลัย หรือสะเทือนใจจากการถูกเพื่อนร่วมชั้นรังแก ผู้ใหญ่ที่ตกงานมาเป็นเวลานานบางคนอาจรู้สึกหมดกำลังใจจะใช้ชีวิตต่อ หมดกำลังใจ รู้สึกด้อยค่าในตัวเอง อับอายจนเลือกที่จะซ่อนตัวไม่ยอมไปพบปะเพื่อนฝูงเหมือนเก่า รวมถึงเหตุผลอื่น ๆ อย่าง ถูกบีบให้ออกจากงานเพื่อแต่งงาน ดูแลพ่อแม่ที่แก่เฒ่า จนเกิดอาการอ่อนล้าทางจิตใจ

แม้สาเหตุของการเกิดอาการฮิคิโคโมริจะยังไม่ได้รับการยืนยันแน่ชัด แต่ผู้มีอาการส่วนใหญ่มักพบกับความผิดหวังขั้นหนักควบคู่กับมีสุขภาพร่างกายอ่อนแออยู่ก่อนแล้ว บางคนรู้สึกอับอายจนไม่อยากเจอหน้าใคร หมดความมั่นใจในตัวเอง พานให้รู้สึกว่าสายตาของคนรอบข้างมันช่างจับจ้องจนชวนให้อึดอัดกดดันเสียเหลือเกิน ทำให้พวกเขาเริ่มปฏิเสธสังคม หนีออกจากโลกภายนอกและมองว่าการอยู่คนเดียวในที่ที่หนึ่งคือสถานที่ที่ปลอดภัยที่สุด พร้อมกับสิ่งของบางอย่างที่ตรงกับความชอบโดยไม่ต้องก้าวออกจากห้อง เช่น หนังสือที่สนใจ นิตยสาร เกม เพลง ภาพยนตร์ หรือการดูทีวีทั้งวัน

เมื่อหลายคนเริ่มเก็บตัวอยู่คนเดียว เด็กวัยรุ่นส่วนใหญ่จะถูกมองว่าเรียกร้องความสนใจ เป็นอาการของเด็กต่อต้านผู้ใหญ่ที่ทำได้พักหนึ่งเดี๋ยวก็เลิก หรือไม่ก็แค่ขี้เกียจเท่านั้น หลายคนถูกมองว่าติดเกม บ้าอ่านการ์ตูน กรณีเด็กแบบที่ว่าอาจจะมีอยู่จริง แต่เด็กที่เก็บตัวเพราะเป็นฮิคิโคโมริทว่าถูกเหมารวมว่าเรียกร้องความสนใจคือการผลักพวกเขาไปไกลขึ้นเรื่อย ๆ จนรู้ตัวอีกทีเด็กเหล่านี้ก็หายไปจากสังคมนานหลายปีเพราะหาทางกลับเข้าสู่สังคมอีกครั้งไม่ได้เลยก็มี

ซาโต้ ฮามากิ (Sato Hamaki) นักจิตวิทยาผู้สนใจและศึกษาอาการฮิคิโคโมริ และตีพิมพ์หนังสือเรื่อง Social Withdrawal: Puberty Without End ปี 1998 ยกตัวอย่างกรณีชายหนุ่มวัย 21 ปี ที่มีอาการฮิคิโคโมรินานเกือบ 5 ปี เขาไม่สุงสิงกับใคร พาตัวเองออกมาจากสังคม แรกเริ่มพ่อแม่ก็ไม่เข้าใจและคิดว่าเขาแค่เป็นเด็กเรียกร้องความสนใจ แต่กลายเป็นว่าเขาต้องการอยู่อย่างโดดเดี่ยวหนักขึ้น พ่อแม่พยายามให้กำลังใจ ปลอบประโลม แต่ทั้งหมดก็ไม่ช่วยให้ดีขึ้น

พ่อแม่ของชายหนุ่มคนนี้ตัดสินใจเดินทางไปหาจิตแพทย์เพื่อรับคำปรึกษา แพทย์บอกว่าการปลอบโยนไม่ช่วยให้อาการเก็บตัวของลูกชายดีขึ้นได้ สิ่งแรกที่ต้องทำคือการดูแลเขาให้มากขึ้น แอบสังเกตว่าระหว่างอยู่บ้านเขาทำอะไรบ้าง แล้วค่อยเริ่มชวนคุยสิ่งที่เขาสนใจทีละน้อย ประกอบกับการนำความเปลี่ยนแปลงมาแจ้งกับหมออยู่เรื่อย ๆ จนสุดท้ายเวลาผ่านไป 2 ปี ชายหนุ่มผู้มีอาการฮิคิโคโมริเริ่มกลับคืนสู่สังคมอีกครั้ง เขาเริ่มมีปฏิสัมพันธ์กับพ่อแม่มากขึ้น จากนั้นพัฒนาเป็นเพื่อนฝูงคอเดียวกัน เริ่มออกไปร้านสะดวกซื้อใกล้บ้าน และกลับไปเรียนอีกครั้ง ถึงจะใช้เวลานานหลายปี แต่คนที่เป็นฮิคิโคโมริที่ได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด สามารถกลับเข้าสังคมอีกครั้งได้จริง ๆ

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถกลับคืนมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง มีหลายครอบครัวที่มีสมาชิกในบ้านเป็นฮิคิโคโมริ พยายามรักษาและพบจิตแพทย์แต่พ่อแม่กลับเสียชีวิตไปก่อนด้วยโรคชรา สิ่งที่น่าเศร้าที่สุดคือสมาชิกในครอบครัวที่เหลืออยู่และเป็นฮิคิโคโมริ ไม่สามารถใช้ชีวิตด้วยตัวเองได้ และสุดท้ายต้องจบชีวิตตัวเอง

อีกหนึ่งกรณีน่าสนใจคือข่าวดังในช่วงปี 2019 ฮิเดะอากิ คูมาซาวะ (Hideaki Kumazawa) อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรป่าไม้และประมง วัย 76 ปี ตัดสินใจสังหารลูกชายของตัวเองวัย 44 ปี ด้วยเหตุผลสุดสลดว่าเขากลัวสักวันหนึ่งตัวเองจะตาย แล้วลูกชายที่มีอาการฮิคิโคโมริจะไม่สามารถใช้ชีวิตด้วยตัวเองต่อได้

นอกจากนี้ ลูกชายของเขามักมีอาการฉุนเฉียวและชอบทำร้ายภรรยา เขาไม่อยากจะจินตนาการว่าจะเป็นอย่างไรต่อหากตัวเองตาย ลูกชายอาจทำร้ายตัวเองหรือถึงขั้นทำร้ายคนอื่น ประกอบกับก่อนหน้านี้มีข่าวชายที่มีอาการฮิคิโคโมริถือมีดไล่แทงคนบริเวณป้ายรถประจำทางที่เมืองคาวาซากิ กรุงโตเกียว จนมีผู้บาดเจ็บ 18 คน และเสียชีวิต 2 คน และลูกชายเขาที่อยู่บ้านตลอดเวลามักพูดว่ารำคาญเสียงของเด็ก ๆ ที่กำลังกลับจากโรงเรียนในละแวกใกล้เคียง เขาไม่มีทางออกอื่นนอกจากตัดสินใจฆ่าลูกชายตัวเอง

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าแม้ยากูซ่าจะมีเยอะเป็นผักปลา แต่ถ้าถามชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่ว่ามีญาติเป็นยากูซ่าบ้างไหม? คำตอบส่วนใหญ่อาจได้มาว่า ‘ไม่มี’ แต่ถ้าถามคนกลุ่มเดิมว่าแล้วมีญาติเป็นฮิคิโคโมริรึเปล่า? คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะต้องมีคนใกล้ชิดหรือญาติห่าง ๆ ที่เป็นฮิคิโคโมริมากกว่าเป็นยากูซ่าอย่างแน่นอน

Source: 1 / 2 / 3
Source Photo: 1 / 2 / 3 / 4

TOIISAN
WRITER: TOIISAN
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line