Entertainment

NIHON STORIES: ความเศร้า ทางตัน และความทะเยอทะยานของ ‘INOUE TAKEHIKO’

By: TOIISAN January 26, 2021

หากเอ่ยถึงนักวาดการ์ตูนที่มีลายเส้นเป็นเอกลักษณ์ เชื่อได้เลยว่าชื่อของ อิโนอุเอะ ทาเกฮิโกะ (Inoue Takehiko) จะต้องติดอันดับต้น ๆ แน่นอน แม้เขาจะคิดว่าตัวเองไม่สามารถถูกเรียกว่าเป็นศิลปินได้ แต่ผลงานทั้งหมดได้การันตีแล้วว่าทาเกฮิโกะคือหนึ่งในตำนานนักวาดการ์ตูนที่ขึ้นหิ้งไปเสียแล้ว

แม้เขาจะกลายเป็นหนึ่งในปรมาจารย์ แต่ชายคนนี้ก็ต้องประสบปัญหากับตัวเองที่ต้องทบทวนว่าเขาจะสามารถก้าวเดินต่อในเส้นทางนี้ได้หรือไม่

อิโนอุเอะ ทาเกฮิโกะ เกิดเมื่อวันที่ 21 มกราคม 1967 เป็นเด็กผู้ชายธรรมดาคนหนึ่งที่รู้สึกว่าตัวเองชอบวาดรูป พอได้เรียนวาดรูปจริง ๆ จัง ๆ ทาเกฮิโกะกลับเคยคิดว่าแม้จะชอบวาดรูป แต่เขาอาจไปไม่ถึงขั้นศิลปิน จึงจำต้องเบนสายมาเรียนวรรณกรรมในมหาวิทยาลัยคุมาโมโตะ

แม้เขาจะมองว่าตัวเองไปไม่ถึงฝัน แต่เวลาว่างก็ยังไม่ละทิ้งสิ่งที่ชอบ ซ้ำยังจับความชอบส่วนตัวมาคู่กับสิ่งที่การเรียนวรรณกรรมสอนแก่เขา ทาเกฮิโกะจึงวาดการ์ตูนส่งประกวดอยู่บ่อย ๆ และเคยอยู่ในทีมผู้ช่วยของอาจารย์โฮโจ สึคาสะ (Hojo Tsukasa) นักวาดการ์ตูนเรื่อง City Hunter ที่ทำให้เขาได้เห็นการทำงานของนักวาดการ์ตูนแบบใกล้ชิดนานเกือบหนึ่งปี

การ์ตูนที่เขาซ้อมมือบ่อย ๆ เรื่อง Kaede Purple สามารถคว้ารางวัลที่จะมอบให้กับศิลปินหน้าใหม่ Tezuka Prize ไปได้เมื่อปี 1988 ถ้าจะให้พูดถึงผลงานที่ทำให้คนส่วนมากรู้จักชื่อเสียงของเขาคงหนีไม่พ้นมังงะเกี่ยวกับทีมบาสเกตบอล Slam Dunk ในปี 1990 เก็บเกี่ยวประสบการณ์ส่วนตัวสมัยอยู่ในชมรมบาสฯ มาเล่าเป็นการ์ตูนเพราะรู้สึกว่าทำไมมีแต่คนเล่าเรื่องฟุตบอล เบสบอล แต่บาสเกตบอลยังไม่ถูกตีแผ่นัก และเขาที่ได้ใช้เวลาช่วงหนึ่งคลุกคลีอยู่ในสนาม หันมาเป็นคนเล่าเรื่องเสียเอง

กลายเป็นว่า Slam Dunk ที่ได้รับความนิยมจนทำให้มียอดขายหนังสือการ์ตูนกว่า 100 ล้านเล่มทั่วโลก ส่งให้แฟน ๆ ได้ดูทั้งแอนิเมชันและภาพยนตร์เดอะมูฟวี่กันอีกหลายภาค ล่าสุดก็ได้รับการยืนยันแล้วว่าคนทั่วโลกจะได้รับชม Slam Dunk เวอร์ชันคนแสดงกันอย่างแน่นอน ยิ่งตอกย้ำว่ามังงะเกี่ยวกับบาสเกตบอลเรื่องนี้ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม

นอกจากตำนาน Slam Dunk ที่เขาสร้างขึ้นมากับมือ ทาเกฮิโกะยังมีผลงานอีกประมาณหนึ่ง อาทิ Real มังงะบาสเกตบอลเนื้อหาหนัก เล่าถึงการต่อสู้ของคนพิการที่อยากเล่นกีฬาบาสเกตบอล และคนปกติที่จมกับการโทษตัวเองที่ต้องทำให้คนอื่นกลายเป็นผู้พิการ

อีกหนึ่งมังงะเท่ ๆ ที่เล่าถึงตำนานซามูไรที่เคยมีชีวิตโลดแล่นอยู่ในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นอย่าง มิยาโมโตะ มูซาชิ กับ ซาซากิ โคจิโร่ ในเรื่อง วากาบอนด์ (Vagabond) ที่รับแรงบันดาลใจหลัก ๆ มาจากผลงานของยอดผู้กำกับ คุโรซาวะ อากิระ ผู้กำกับหนังซามูไรที่กลายเป็นตำนานจำไม่ลืมของวงการหนัง ทั้งจาก ราโชมอน (1950) และ 7 เซียนซามูไร (1954) และหนังสือนิยายที่เล่าถึงมูซาชิ หลอมรวมให้เขาตัดสินใจสร้างมูซาชิของตัวเองขึ้นมา

ความทรงพลังของมังงะเรื่อง Vagabond นอกจากจะอยู่ที่เรื่องราวของบุคคลสำคัญที่มีตัวตนจริง เทคนิคการวาด รวมถึงลำดับการเล่าเรื่องของทาเกฮิโกะก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ผู้อ่านจำนวนไม่น้อยติดงอมแงม การวาดเส้นโรนินหนุ่มที่ระหกระเหเร่ร่อนไปทั่ว ผมยาวและหน้าตาของชายชาตรีถูกวาดออกมาได้จับใจด้วยพู่กันญี่ปุ่น เล่าเรื่องราวการเดินทางเพื่อประลองฝีมือและพบเจอผู้คนของมูซาชิออกมาได้โดดเด่นไม่เหมือนใคร เพราะไม่มีนักวาดการ์ตูนคนไหนเคยทำแบบเขามาก่อน

แม้เรื่องราวของมูซาชิจะเท่แค่ไหนก็ตาม แต่ตอนล่าสุดกลับถูกตีพิมพ์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2015 แล้วเงียบหายมาจนถึงทุกวันนี้ รวมถึงเรื่อง Real ที่ยังไม่มีตอนใหม่ออกมาเช่นกัน ตอนแรกอาจเป็นเหตุผลเรื่องสุขภาพเหมือนกับนักวาดมังงะคนอื่น ๆ ที่มักหายไปเป็นสัปดาห์บ้าง หรือหายไปเป็นปีจนคนบ่นคิดถึงไม่หยุดหย่อน ทว่าเหตุผลด้านการเขียนของอาจารย์ทาเกะฮิโกะยังขึ้นอยู่กับ ‘ไม่อยากเขียนอีกแล้ว’ ที่ชวนใจหายเป็นที่สุด

“ผมไม่มีความอยากเขียนเลย ผมพยายามก้าวข้ามความคิดนี้และทำต่อ บางครั้งก็หวังให้อารมณ์นี้มันหายไปเอง แต่ความคาดหวังของผมคือการเอาตัวเองออกห่างจาก Vagabond จนกว่าความวิตกกังวลกับอารมณ์ที่ไม่จำเป็นจะจางหายไป และผมอาจพร้อมวาดตอนต่อไปอีกครั้ง แต่ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะถูกอนุญาตให้รอได้นานถึงขนาดไหน”

เขาเขียนงานต่อไม่ได้ ทว่าทาเกะฮิโกะจะไม่เรียกสิ่งที่เกิดขึ้นกับเขาว่าเป็นช่วง ‘ขาลง’ หรือ ‘จุดต่ำสุดของอาชีพ’ เพราะเขาคิดอยู่เสมอว่าผลงานทั้งหมดไม่ได้ทำเพื่อใครคนใดคนหนึ่ง ย้ำเสมอว่าไม่เคยพอใจกับงานตัวเองแบบหมดใจ เขาจะต้องวาดการ์ตูนตอนต่อไปให้ดีกว่าตอนก่อนหน้า เพื่อแสดงให้ผู้อ่านทุกคนได้เห็นถึงการเติบโตของเขา และเราทุกคนในฐานะผู้ชม ผู้อ่าน ผู้หลงใหล ก็คงทำอะไรมากไม่ได้นอกจากให้กำลังใจแก่ทาเกะฮิโกะ เพื่อให้เขาสามารถกลับมาเขียนตอนต่อไปได้อีกครั้ง


 

Source : 1 / 2 / 3 / 4
Source Photo : 1 / 2 / 3 / 4 / 5

TOIISAN
WRITER: TOIISAN
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line