Entertainment

NIHON STORIES: KUROSAWA AKIRA ผู้กำกับหนังซามูไรที่กลายเป็นตำนานจำไม่ลืมของวงการหนัง

By: TOIISAN January 15, 2020

ถ้าเอ่ยชื่อถึงเหล่าคนดังที่ขับเคลื่อนวงการบันเทิง ใครหลายคนคงจะคุ้นชื่อของผู้กำกับ Steven Spielberg (สตีเวน สปีลเบิร์ก) ชายที่ถูกเรียกว่า ‘พ่อมดฮอลลีวูด’ รู้จักชื่อของผู้กำกับฝีปากจัดแต่โคตรเก่งอย่าง Martin Scorsese (มาร์ติน สกอร์เซซี) หรือรู้จักชื่อของ George Lucas (จอร์จ ลูคัส) ชายผู้สร้างค่ายหนัง Lucusfilm ที่ทำเรามีหนังอวกาศเรื่อง Star Wars ดูตั้งแต่รุ่นพ่อจนถึงรุ่นลูก 

แล้วถ้าเป็นชื่อของ Kurosawa Akira (คุโรซาวะ อากิระ) หลายคนอาจไม่รู้จักชื่อของเขา UNLOCKMEN จึงอยากแบ่งปันให้ทุกคนได้รู้จักเรื่องราวและผลงานยิ่งใหญ่ที่ส่งผลต่อวงการบันเทิงโลก 

ทำไม Kurosawa ถึงเป็นชายที่ Spielberg ชื่นชมอยู่เสมอ ถูกอัจฉริยะอย่าง Scorsese ชมว่า ‘Kurosawa คืออัจฉริยะตั้งแต่เกิด’ และทำไมผลงานหนังซามูไรของเขาถึงได้เป็นแรงบันดาลใจให้ George Lucas สร้างหนัง Star Wars ออกมาเหมือนอย่างทุกวันนี้ ? 

 

ความฝันที่ล้มเหลวก่อนมาเป็นผู้กำกับหนังซามูไร

Getty Images

Kurosawa Akira (คุโรซาวะ อากิระ) เป็นลูกชายคนสุดท้องคนที่ 7 ของตระกูลซึ่งสืบเชื้อสายซามูไร พ่อเป็นทหาร แม่เป็นแม่บ้าน และใฝ่ฝันอยากจะเป็นศิลปินวาดภาพ ตัวเขาเองรวมถึงคนรอบข้างไม่เคยคิดมาก่อนว่าเด็กชายที่มีชีวิตธรรมดาเหมือนกับคนอื่น จะไต่เต้าขึ้นมาเป็นสุดยอดผู้กำกับหนังญี่ปุ่นที่ถูกผู้คนยกย่องให้เขาเป็นถึง ‘จักรพรรดิผู้กำกับ’

การไล่ตามความฝันเพื่อเป็นศิลปินของ Kurosawa มาพร้อมกับการฝึกฝนการวาด อ่านวรรณกรรมตะวันตกและเริ่มต้นมองหางานที่เหมาะกับตัวเอง จนในที่สุดเขาได้งานวาดภาพประกอบนิตยสาร วาดภาพเสียดสีสังคม วิพากษ์วิจารณ์เศรษฐกิจ วิถีชีวิต ทหาร และการเมือง แต่ผลที่ได้กลับไม่ค่อยดีนักเพราะพวกผู้ใหญ่มักมองว่า Kurosawa เป็นพวกเด็กรุ่นใหม่ที่มีนิสัยขี้ติเตียน 

AKIRA KUROSAWA MAKES HIS 30TH FILM ‘MADADAYO’ (Photo by Yamaguchi Haruyoshi/Sygma via Getty Images)

เมื่อการวาดภาพที่หลงรักไม่สามารถสร้างรายได้มากพอเลี้ยงชีพตัวเอง Kurosawa จึงตัดสินใจหันหลังให้กับการวาดถึงแม้ว่าเขาจะรักมันมากก็ตาม แต่จุดเปลี่ยนในชีวิตกลับสร้างตำนานบทใหม่ขึ้น เมื่อเขาเริ่มสมัครงานในตำแหน่ง ‘ผู้ช่วยผู้กำกับ’ และได้งานในสตูดิโอภาพยนตร์น้องใหม่ของญี่ปุ่นชื่อว่า Toho แถมยังได้ร่วมงานกับผู้กำกับมีชื่อของยุค Yamamoto Kajiro ผู้ชื่นชอบการเล่าเรื่องสงคราม สารคดีเงียบ หนังตลก

การเริ่มเส้นทางอาชีพใหม่ของ Kurosawa อาจเรียกได้ว่าโชคเริ่มเข้าข้างเขาบ้างแล้ว การได้ร่วมงานกับ Yamamoto ทำให้เขาสามารถเก็บเกี่ยวความรู้เรื่องภาพยนตร์ได้เต็มที่ ผู้กำกับเต็มใจแบ่งปันความรู้ให้ เขากลายเป็นมือขวาของผู้กำกับมีชื่อ ในที่สุด Kurosawa Akira ก็พร้อมทำให้โลกรู้จักเขาในฐานะผู้กำกับอย่างเต็มตัว

 

ทำหนังท่ามกลางคำแช่งว่า “มึงต้องเจ๊งแน่”

Getty Images

ภาพยนตร์ที่เขาลงมือกำกับเองครั้งแรกมีชื่อว่า Sanshiro Sugata (1943) แม้ยังไม่เกี่ยวข้องกับนักรบโบราณอย่างเต็มที่ แต่เขาเลือกจะเล่าเรื่องของหนุ่มผู้มีความฝันอยากเป็นปรมาจารย์ยูโด เขารู้ว่าตัวเองไม่สามารถก้าวไปเป็นยอดฝีมือด้วยตัวเองจึงเริ่มตามหาอาจารย์เพื่อฝึกฝนการต่อสู้ จนพบกับอาจารย์สุดโหดที่ฝึกเขาด้วยการไปปล่อยไว้ในป่าตอนกลางคืน ให้ทำหลายสิ่งซ้ำ ๆ เพื่อให้ร่างกายปรับตัว โดยหนังจะเล่าถึงชีวิตของวัยรุ่นคนหนึ่งที่พยายามอย่างเต็มที่เพื่อก้าวไปสู่ฝัน 

ระหว่างถ่ายทำจนถึงขั้นตอนตัดต่อภายใต้การควบคุมของ Kurosawa ดูเหมือนจะดำเนินไปได้ด้วยดี แต่เมื่อถึงวันเปิดตัวภาพยนตร์ออกสู่สายตาประชาชน Kurosawa พบว่ากองเซนเซอร์ญี่ปุ่นหั่นบทหนังที่สมบูรณ์แบบของเขาจนไม่เหลือชิ้นดีโดยไม่ผ่านความคิดเห็นของเขาซึ่งเป็นผู้กำกับ 

ภาพกว่า 1,845 ฟุตเทจ ถูกตัดทิ้งเนื่องจากต้องทำให้ภาพยนตร์สอดคล้องกับนโยบายความบันเทิงของญี่ปุ่นที่กำลังอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะเนื้อหาในเรื่องมีส่วนพูดถึงเด็กวัยรุ่นไร้มารยาท ความเห็นแก่ตัวของสังคมญี่ปุ่น หยิบจับประเด็นที่เป็นสากลมาเล่า แหกคอกจารีตเดิมแบบไม่ไยดี และดูเป็น ‘หนังต่างประเทศ’ มากเกินไป (ท้ายที่สุด Deleted Scenes ทั้งหมดถูกนำมาใส่อยู่ใน DVD ที่วางจำหน่ายใหม่ในปี 1952) 

งานแรกก็โดนขัดขาด้วยกลุ่มคนที่มีความคิดอนุรักษนิยมจ๋าเสียแล้ว แต่ถึงอย่างนั้น Kurosawa Akira ยังไม่ยอมแพ้ต่อเส้นทางการกำกับภาพยนตร์ เขาเดินหน้ากำกับหนังต่อไป มีผลงานหลายสิบเรื่องในช่วงเวลาสิบปี ท่ามกลางคำวิจารณ์จากคนกลุ่มเดิม ๆ ว่างานของผู้กำกับคนนี้มีกลิ่นอายและเทคนิคตัดต่อเหมือนกับ ‘หนังต่างประเทศ’ มากเกินไป โดนดูถูกว่าสักวันหนึ่งจะต้องล้มเหลวเพราะไม่ยอมเดินตามเส้นทางการทำหนังที่คนรุ่นก่อน ๆ ขีดเขียนเอาไว้ 

‘ตำนานของราโชมอน’

ภาพยนตร์เรื่อง Rashomon (1950) ที่ใช้ชื่อตามประตูเมืองทิศใต้ของเกียวโต ถือว่าเป็นผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้เขาเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกเลยก็ว่าได้ โดยเรื่องราวในหนังจะดัดแปลงจากผลงานปี 1915 ของราชาเรื่องสั้น Ryunosuke Akutagawa (ริวโนะสุเกะ อาคุตางาวะ) ซามูไรคนหนึ่งเดินทางระหว่างเมืองพร้อมกับภรรยาแต่เขากลับถูกสังหารและทิ้งศพไว้กลางป่า การสืบสวนเพื่อหาคนกระทำผิดจึงเริ่มต้นขึ้นด้วยการเริ่มสอบสวนคน 4 คน คือ โจรป่า ภรรยาซามูไร ชายตัดไม้ และร่างทรงที่ถูกวิญญาณของซามูไรเข้าสิงมาให้การ 

คำบอกเล่าของพยานที่อาจเป็นฆาตกรตัวจริงเริ่มต้นขึ้น บางคนเล่าเรื่องตรงกันในบางช่วง บางคนเล่าเรื่องที่ฟังอย่างไรก็ไม่น่าเชื่อ ต่างฝ่ายต่างโทษกันไปมา แถมไม่แน่ว่าอาจจะมีคดีที่สองจากเหตุการณ์ครั้งนี้ หนังของ Kurosawa ใช้วิธีการเล่าเรื่องแปลกใหม่ นำเสนอมุมมองความขี้ขลาด ความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ได้น่าสนใจชวนให้ติดตามไปจนจบโดยไม่เบื่อ 

บางคนอาจไม่เข้าใจว่าหนังสืบสวนสอบสวนภาพขาวดำเนื้อเรื่องธรรมดาทำไมคนถึงอวยกันขนาดนี้ ให้ลองคิดว่าปีที่หนังฉายคือ 1950 ภาพยนตร์ในยุคนั้นต่างก็เล่าเรื่องราวในสไตล์ใกล้เคียงกัน ดูหนังสืบสวนสิบเรื่องเล่าเหมือนกันไปแล้วแปดเรื่อง แต่วิธีการเล่า มุมกล้อง การเริ่มใช้เทคนิค Flashblack ของ Kurosawa ถือเป็นสิ่งใหม่ที่ผู้กำกับหนังในยุคเดียวกันไม่นิยมทำ แถมการตัดต่อของเขาก็เฉียบคมได้ใจมากจริง ๆ 

Rashomon (1950) สามารถดังไกลถึงต่างประเทศพร้อมกับคว้ารางวัล Golden Lion หรือ ‘รางวัลสิงโตทองคำ’ จากงานเทศกาลหนังเวนิสในปี 1951 และในปี 1952 คว้ารางวัล Best Art Direction (Black and White) จากเวทีประกาศรางวัลภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกอย่างออสการ์มาได้ เมื่อมองย้อนกลับไปก็พบว่าน่าเสียดายมากจริง ๆ ที่ในเวลานั้นออสการ์ยังไม่มีรางวัลภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม 

นอกจากสร้างชื่อเสียง คว้ารางวัลจากเวทีระดับโลก Rashomon (1950) ยังคงสร้างปรากฏการณ์ใหญ่ทิ้งไว้ด้วย “Rashomon effect” หรือการเล่าเรื่องแบบเดียวกับที่ Kurosawa เคยเล่าไว้เมื่อปี 1950 มีนักสร้างหนังหลายคนหยิบยืมการเล่าเรื่องของราโชมอนมาใช้กับหนังของตัวเอง เช่น The Usual Suspects (1995) ของผู้กำกับ Bryan Singer (แต่มีนักวิจารณ์หลายคนบอกว่าไม่เหมือนราโชมอน) หนังไทยอย่างอุโมงค์ผาเมือง (2011) ก็มีต้นแบบเล่าเรื่องจากราโชมอน นอกจากนี้ยังมีหนังจากนวนิยายเรื่อง Gone Girl (2014) ที่เล่าเรื่องได้อึ้งจนจำกันได้ถึงทุกวันนี้ และหนังรางวัลสัญชาติเกาหลีเรื่อง The Handmaiden (2016) ใช้เทคนิคการเล่าเรื่องสไตล์ราโชมอนด้วยเช่นเดียวกัน 

Getty Images

ทั้งหมดที่กล่าวมาการเดินทางบนเส้นทางผู้กำกับ จากจุดเริ่มต้นที่โดนหั่นหนังเรื่องแรกจนดูแทบไม่รู้เรื่อง ผ่านคำสาปแช่งและบทวิจารณ์ที่กล่าวว่าเขาจะต้องล้มเหลวในเส้นทางการกำกับภาพยนตร์ Kurosawa Akira ทำให้ทุกคนเห็นว่าเขาห่างไกลจากคำว่า ‘หนังมึงต้องเจ๊งแน่’ แบบสุดกู่เลยครับ 

 

นึกถึงหนังซามูไรก็ต้องคุโรซาวะ 

แม้ว่า Rashomon (1950) จะเป็นภาพยนตร์สร้างชื่อในวงกว้างให้กับ Kurosawa Akira แต่หนังที่ถูกพูดถึงมากที่สุดมาจนถึงปัจจุบันคงต้องเป็นเรื่อง Seven Samurai (1954) หรือในชื่อไทยโคตรเท่ว่า ‘7 เซียนซามูไร’ อย่างที่รู้กันแล้วว่า Kurosawa เติบโตมาจากครอบครัวเชื้อสายซามูไร ในที่สุดเขาเริ่มเล่าเรื่องของเหล่านักรบโบราณของญี่ปุ่นอย่างจริงจังสักที และการเล่าเรื่องของเขาครั้งนี้ก็สร้างตำนานขึ้นอีกครั้ง 

Seven Samurai (1954) เล่าถึงหมู่บ้านห่างไกลแห่งหนึ่งในยุคสมัยเซ็นโงกุ หมู่บ้านนี้มักถูกปล้นเสบียงทุกครั้งเมื่อถึงช่วงเก็บเกี่ยว การปล้นครั้งแรก ๆ ยังพอทน แต่เมื่อกองโจรเห็นว่าชาวบ้านไม่ทำอะไรก็ปล้นมันอย่างต่อเนื่อง ชาวบ้านบางคนที่ไม่รู้วิชาดาบสู้จนตัวตาย ผู้หญิงหลายคนถูกล่วงละเมิดทางเพศ แถมพวกเจ้าเมืองยังเก็บภาษีราคาแพงแต่ไม่ดูแลชาวบ้าน 

ในที่สุดผู้เฒ่าของหมู่บ้านจึงตัดสินใจให้หากลุ่มคนมาปกป้องชุมชน แต่ปัญหาคือหมู่บ้านที่ถูกปล้นบ่อย ๆ ไม่มีเงินมากพอจ้างซามูไรชื่อดัง ผู้คนในหมู่บ้านจะต้องออกตามหาซามูไรหรือโรนินที่ยอมทำงานแลกกับข้าวสามมื้อก่อนการเก็บเกี่ยวผลผลิตครั้งต่อไปจะมาถึง

เมื่ออ่านเรื่องย่อครั้งแรกหลายคนถึงกับหลุดขำ เพราะเนื้อเรื่องมันเชยเอามาก ๆ อ่านแล้วไม่พบความน่าสนใจ ดูไร้สาระจับต้องยาก แต่กลายเป็นว่าเมื่อมันถูกเล่าโดย Kurosawa ผลที่ได้กลับจับใจและเผยให้เห็นตัวตนของมนุษย์ได้อย่างน่าอัศจรรย์ ภายในเวลา 3 ชั่วโมง 26 นาที เขาเดินเรื่องเหมือนกับเรื่องย่อที่ UNLOCKMEN เล่าให้ฟังก่อนหน้า

ระหว่างทางดำเนินเรื่องเขาพาเราไปพบกับจิตใจอันโสมมของชนชั้นปกครอง ความเย่อหยิ่งของซามูไร พูดถึงชนชั้น ปรัชญา ความตาย ความสามัคคี ความเห็นแก่ตัวไม่แยแสต่อความถูกต้องเพียงเพราะมันไม่ใช่เรื่องของตัวเอง ในเวลาเดียวกันก็สอดแทรกมุกตลกร้าย ความโรแมนติกได้กลมกล่อม จนแทบไม่มีใครอยากจะเชื่อว่าภาพยนตร์เรื่องหนึ่งจะเล่าเรื่องราวและแตกประเด็นพร้อมคงความลึกซึ้งมากถึงขนาดนี้

ในตอนแรก Seven Samurai (1954) มีงบประมาณอยู่ที่ 70,000 เหรียญ แต่กลายเป็นว่าพอเปิดกองจริง ๆ ค่าใช้จ่ายกลับบานปลายไปถึง 500,000 เหรียญ Kurosawa ต้องการความสมจริงทุกกระเบียดนิ้ว เขาสั่งให้สร้างหมู่บ้านขึ้นมาจริง ๆ และยืนยันว่าหนังเรื่องนี้จะต้องถ่ายในสถานที่จริงไม่ใช่ในสตูดิโอที่มีฉากปลอมไร้อารมณ์ แถมเรื่องเวลาก็ชวนให้ค่ายหนังอย่าง Toho ปวดหัวเพราะถ่ายทำยาวเป็นปี

แม้ทุกอย่างไม่เป็นไปตามแผนเลยทั้งเรื่องของทุนสร้างและเวลาถ่ายทำ แต่สุดท้ายเขาทำให้ค่ายหนังยิ้มออกเพราะ Seven Samurai (1954) กลายเป็นภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในประวัติศาสตร์วงการหนังญี่ปุ่น นักวิจารณ์ญี่ปุ่นและต่างประเทศชมกันไม่ขาดปาก เรื่องเล่าโดนใจผู้ชมทั่วไป แถมยังทำกำไรคืนให้กับค่ายหนังได้อีก 

Seven Samurai (1954) ของ Kurosawa กลายเป็นต้นแบบของการทำหนังช่วงยุค 50-60 มีค่ายหนังและผู้กำกับหลายคนนำเรื่องราวของ 7 เซียนซามูไรมาเล่าใหม่ในแบบของตัวเอง วงการหนังที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกอย่างฮอลลีวูดทำหนังเรื่อง Magnificent Seven (1960) ส่วนฮ่องกงสร้างหนังชื่อ Seven Warriors (1989) ส่วนประเทศต้นฉบับอย่างญี่ปุ่นเองพยายามสร้างแอนิเมชันเรื่อง Seven Samurai อีกครั้ง แต่เชื่อเถอะครับว่าถึงจะมีอีกหลายร้อยเวอร์ชัน Seven Samurai (1954) ก็ยังคงขึ้นแท่นเป็นหนังซามูไรสุดคลาสสิกในตำนานอยู่ดี 

 

SAMURAI สู่ STAR WARS 

ความยิ่งใหญ่ของ Kurosawa Akira ถูกการันตีด้วยผลงานที่เขาทุ่มเทสร้างสรรค์มันออกมากเป็นภาพยนตร์ การขึ้นรับรางวัลในฝั่งฮอลลีวูดของเขาทำให้ผู้กำกับรุ่นใหม่หลายคนมอง Kurosawa เป็นแรงบันดาลใจ ยกย่องว่าเขาคือมือพระกาฬของวงการกำกับภาพยนตร์ 

หนึ่งในคนที่สร้างสรรค์ผลงานได้จับใจและได้แรงบันดาลใจมาจาก Kurosawa คือ Gorge Lucus หลังจากที่เขาได้ชมภาพยนตร์เรื่อง The Hidden Fortress (1958) เขาเกิดไอเดียขึ้นมาว่าอยากทำหนังเป็นของตัวเอง อยากเล่าเรื่องสงครามอวกาศในช่วงเวลาที่วงการหนังฮอลลีวูดกำลังซบเซา เนื่องจากหนังสมัยนั้นหนักไปทางเสียดสีการเมือง บอกเล่าว่าผู้คนอเมริกันท้อแท้กับสงครามและสังคม ทำให้แทบจะไม่มีภาพยนตร์แฟนตาซีตะลุยอวกาศสนุก ๆ บ้างเลย

เมื่อ Lucus เริ่มเขียนบทภาพยนตร์ Star Wars (ในเวลานั้นใช้ชื่อว่า Journal of View) ปรับแต่งแก้ไขอยู่หลายครั้ง รับอิทธิพลจากเรื่อง The Hidden Fortress (1958) จนได้พล็อตหลักที่เล่าถึงยุคสมัยแห่งความวุ่นวายโดยมีตัวละครหลักเป็นเจ้าหญิงฝ่ายกบฏกับขุนพลเฒ่านามว่า Rokurota 

นอกจากแนวทางการดำเนินเรื่องแล้ว The Hidden Fortress (1958) ยังมอบตัวละครสุดฮิตสองตัวชื่อว่า R-2D2 และ C-3PO หุ่นดรอยด์คู่หูที่มีต้นแบบมาจาก Taihei กับ Matahishi ชาวนาสองเกลอที่คอยช่วยเหลือขุนพลกับเจ้าหญิง ส่วนตัวร้ายหน้าแดงฝีมือโคตรเทพ Darth Maul ก็ได้แรงบันดาลใจสำหรับเมคอัพมาจากการแต่งหน้าของนักแสดงคาบูกิ ละครดั้งเดิมญี่ปุ่นที่กลายเป็นวัฒนธรรมอันโด่งดังไปทั่วโลก 

อัศวินเจได = ซามูไรจากนอกโลก 

เหล่าอัศวินนิกายเจไดได้ต้นแบบทั้งการแต่งตัว อาวุธคู่กายกระบี่แสงไลท์เซเบอร์ หลักการดำรงอยู่ของเจได ลำดับขั้น และระเบียบวินัยจากซามูไร แถมปรมาจารย์เจไดชื่อ Yoda ก็มีต้นแบบมาจากชายแก่ชาวญี่ปุ่น 

สไตล์ แฟชั่น เมคอัพของเจ้าหญิง Padme Amidala รับบทโดย Natalie Portman ดัดแปลงมาจากแฟชั่นของเหล่าราชวงศ์สมัยโบราณทั้งจากจีน มองโกล ทิเบต ชุดกิโมโนกับการแต่งหน้าแบบญี่ปุ่น รวมถึงมีต้นแบบมาจากตัวละคร Yuki จากเรื่อง The Hidden Fortress (1958)

insidejapantours

insidejapantours

insidejapantours

insidejapantours

ถ้าเอ่ยถึงแรงบันดาลใจจากญี่ปุ่นจนได้คอสตูมโคตรเท่ในเรื่อง Star Wars ที่เห็นได้ชัดกว่าตัวละครใด ๆ คงหนีไม่พ้นสุดยอดวายร้าย Dath Vader เพราะ George Lucus ชื่นชมและคลั่งไคล้ผลงานของ Kurosawa เป็นอย่างมาก เขานำแรงบันดาลใจที่เห็นจากหนังซามูไรของผู้กำกับชาวญี่ปุ่นมาดัดแปลงออกแบบให้ชุดของวายร้ายมีรูปแบบเหมือนกับชุดเกราะนักรบญี่ปุ่น จากนั้นนำความเท่ของชุดเกราะญี่ปุ่นมาผสมกับมุมมืดของกองทัพนาซีช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จนได้ Dath Vader แบบที่เราเห็นกันในปัจจุบัน 

แถม Lucus เคยเล่าเองว่าบินไปยังประเทศญี่ปุ่นเพื่อดูการถ่ายทำภาพยนตร์ของ Kurosawa อย่างใกล้ชิด ทั้งหมดนี้ทำให้เราพบว่า George Lucus นี่มันโคตรโอตะตัวพ่อของ Kurosawa 

 

ความสำเร็จตลอดชีวิต

LOS ANGELES, CA – CIRCA 1990: Steven Spielberg, Akira Kurosawa and George Lucas attends the 62nd Academy Awards circa 1990 in Los Angeles, California. (Photo by Miguel Rajmil/IMAGES/Getty Images)

“ผมจะทำงานด้านภาพยนตร์ให้หนักที่สุด ทำเต็มที่เท่าที่ผมจะทำได้ ผมจะพยายามเข้าถึงแก่นแท้ของหนังเพื่อให้สมกับรางวัลที่ได้รับ” – Kurosawa Akira

ประโยคที่เต็มไปด้วยความมุ่งมั่นของเขาในงานประกาศรางวัลออสการ์ครั้งที่ 62 ในปี 1990 ใจกลางมหานครลอสแองเจลิส เกิดขึ้นหลังจากชื่อของเขาถูกประกาศให้ขึ้นรับรางวัล ‘Lifetime Achievement’ หรือในชื่อ ‘รางวัลความสำเร็จตลอดช่วงชีวิต’ ถือเป็นรางวัลใหญ่อันทรงเกียรติที่ไม่ได้ให้กันบ่อย ๆ แถมเขายังได้รับคำชื่นชมจากพ่อมดฮอลลีวูด Steven Spielberg และแฟนพันธุ์แท้ของเขา George Lucus 

Getty Images

ช่วงชีวิตของเขาทุ่มเทให้กับวงการภาพยนตร์ เขากำกับหนังหลายเรื่องจนถึงปี 1993 ซึ่งในตอนนั้นเขาก็มีอายุปาเข้าไป 83 ปีแล้ว และยังคงทำงานที่รักอย่างต่อเนื่อง ในที่สุด Kurosawa Akira จากไปอย่างสงบในปี 1998 ด้วยวัย 88 ปี ถึงแม้ชีวิตของเขาจะจบลงแต่ผลงานภาพยนตร์ที่เป็นตำนานก็จะยังคงถูกหยิบมาพูดถึงซ้ำแล้วซ้ำอีก เพราะเขาคือตำนานที่แท้จริง

 

SOURCE: 1 / 2 / 3 / 4 / 5 / 6

TOIISAN
WRITER: TOIISAN
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line