World

NIHON STORIES: ‘JAPAN SKATEBOARD’ กลุ่มแก๊งชายขอบผู้ก้าวสู่วัฒนธรรมกระแสหลัก

By: TOIISAN March 18, 2021

คนญี่ปุ่นเล่นสเก็ตบอร์ดไหม? แล้วทำไมคนที่ถือแผ่นบอร์ดในญี่ปุ่นจะต้องมักถูกมองว่าเป็นอันธพาล NIHON STORIES หาเหตุผลเพื่อตอบคำถามคาใจมาให้แล้ว

คำว่าสเก็ตบอร์ด skateboard ในญี่ปุ่นมักออกเสียงว่า ‘sukeetoboodo’ ส่วน skateboarders มักเรียกกันสั้น ๆ ว่า ‘sukebo’ ที่รับอิทธิพลมาจากสหรัฐอเมริกาโดยเฉพาะการวัฒนธรรมสเก็ตบอร์ดผ่านภาพยนตร์ฮอลลีวูด ชาวสเก็ตรุ่นแรกเริ่มมากจะรวมตัวกันวาดลวดลายอยู่บนบอร์ดในซอยแคบๆ ที่มีลานโล่ง แม้แสงไฟของเสาไฟสาธารณะจะเป็นแค่แสงสลัว แต่หากเดินผ่านแล้วสังเกตดี ๆ ก็จะเห็นเหล่าวัยรุ่นขาโจ๋ลากแผ่นบอร์ดติดล้อกันไปมาอยู่เป็นอิสระ

แม้การเล่นสเก็ตบอร์ดในปัจจุบันจะกลายเป็นกิจกรรมที่ใครก็สามารถมีส่วนร่วมได้ แต่พอย้อนกลับไปยังหลายสิบปีก่อน กลุ่มแก๊งที่เล่นสเก็ตบอร์ดในญี่ปุ่นมักถูกมองว่าเป็นพวกเกเร ทำตัวไร้สาระ นิสัยไม่เป็นมิตร ต่อต้านสังคม และค่อนข้างไม่น่าคบหา ผิดเพี้ยนกับหลายพื้นที่บนโลกที่ในเวลาเดียวกันไม่ได้มองว่าคนเล่นสเก็ตบอร์ดมีภาพลักษณ์แย่เท่ากับที่คนญี่ปุ่นมอง ไม่ว่าจะมองไปทางไหนในลานโล่ง ๆ ที่จอดรถ หรือสวนสาธารณะ ก็มักเห็นป้ายตัวใหญ่ที่เขียนว่า ‘ห้ามเล่นสเก็ตบอร์ด’ เป็นผลมาจากการต่อต้านวัฒนธรรมป๊อปของอเมริกันชนในญี่ปุ่น

บ่อยครั้งที่วัยรุ่นชายถือสเก็ตบอร์ดเดินเข้าสถานีรถไฟฟ้า แล้วจะถูกเจ้าหน้าที่เรียกเพื่อขอค้นกระเป๋า เป็นความคิดแบบเหมารวมที่กาหัวไว้ก่อนแล้วว่าอาจเป็นพวกป่วนเมือง เรียกร้องความสนใจ หรือมีโอกาสพกอาวุธสูงกว่าคนอื่น ๆ ในสังคม

ฮิกาอิ โยชิโระ (Higai Yoshiro) ช่างภาพสเก็ตบอร์ดรุ่นเก๋าวัย 55 ปี นั่งย้อนจินตนาการถึงการหัดเล่นในช่วงแรกว่า “รู้สึกถึงสายลมแห่งแคลิฟอร์เนีย โคล่าและเสื้อยืดฮาวาย มันให้ความรู้สึกสดชื่น” ตอนนี้เขาก็ยังเป็นอีกหนึ่งคนที่มีความสุขกับการยืนอยู่บนแผ่นบอร์ด และคำบอกเล่าของเขาก็ถือเป็นหนึ่งในเครื่องยืนยันว่าสเก็ตบอร์ดนำพาวัฒนธรรมของชาวอเมริกันเข้ามาในญี่ปุ่นจริง ๆ

ชาวสเก็ตในช่วงทศวรรษ 1980 มักเป็นกลุ่มคนที่ไม่ชอบอะไรก็ตามที่อยู่ในกระแสหลักหรือได้รับความนิยมในหมู่มาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดนตรี แฟชั่น หรือการทำกิจกรรม ฮิกาอิยกตัวอย่างว่าถ้าช่วงนั้นเพลงป๊อปเพลงหนึ่งถูกเปิดเป็นประจำในคลื่นวิทยุ แก๊งเด็กสเก็ตก็จะไม่ชอบเพลงนั้น พวกเขาจะไปชอบพังก์หรือร็อกแทน ถ้าคนส่วนใหญ่ชอบเล่นชอบดูเบสบอล พวกเขาก็จะไม่ชอบเบสบอล ด้วยเหตุผลสุดอินดี้ว่าไม่อยากเป็นส่วนหนึ่งของพวกกระแสหลัก

แม้จะถูกสั่งห้ามไม่ให้เล่น แต่พอพระอาทิตย์ตกดิน ชาวแก๊งที่มีคอความชอบเดียวกัน ก็นัดรวมตัวกันในสนามเด็กเล่นหรือสวนสาธารณะที่ไม่มีใครออกมาใช้ อวดเทคนิคแลกเปลี่ยนการเล่นบอร์ดกันอย่างมีความสุข และเวลาของพวกเขาจะถูกจำกัดไว้ในตอนกลางคืนเท่านั้น

โชได บาบะ (Shodai Baba) นักสเก็ตชาวโตเกียวมองว่าการเล่นสเก็ตบอร์ดในเมืองหลวงเป็นเรื่องยาก ชาวโตเกียวคุ้นเคยกับสังคมที่เป็นระเบียบ บทจะวุ่นวายก็วุ่นวายสุดขีด และเหล่าคนทำงานในเมืองหลวงที่เหน็ดเหนื่อยจากการทำงานในแต่ละวัน ต้องการนั่งเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติในสวนกลางเมือง พวกเขาจะรู้สึกไม่ชอบใจแก๊งเด็กสเก็ตที่ส่งเสียงดังและไถสเก็ตผ่านหน้าไปมา (แต่ถ้าใครเคยดูโคนัน คงพอจะนึกภาพความวุ่นวายนั้นออก เพราะจะเห็นว่าเจ้าเด็กแว่นสร้างความวุ่นวายในหลายเมืองด้วยสเก็ตบอร์ดไฟฟ้าของเขา)

นอกเหนือเหตุผลภาพลักษณ์ที่ดูเป็นเด็กเกเร อีกหนึ่งเหตุผลสำคัญที่ทำให้ชาวญี่ปุ่นเมื่อหลายสิบปีก่อนไม่ค่อยเล่นสเก็ตบอร์ดคือเรื่องของราคา ทั้งบอร์ด ล้อ แบริ่ง และแว็กซ์ ล้วนเป็นสิ่งจำเป็นของการเล่นสเก็ตบอร์ด ขณะนั้นแบรนด์สเก็ตบอร์ดของญี่ปุ่นก็มีอยู่แค่ไม่กี่แบรนด์ ดังเช่นร้าน Stormy ที่เปิดมาตั้งแต่ปี 1977 และการสั่งซื้ออุปกรณ์จากต่างประเทศก็ยิ่งเพิ่มต้นทุนเข้าไปอีก ซึ่งผู้เล่นมือใหม่ที่ไม่ได้มีทุนหนาก็ต้องเลิกของแบบตามมีตามเกิดในร้านขายของมือสองที่ก็มีอยู่ไม่กี่ร้านเช่นกัน

ญี่ปุ่นมีที่เล่นสเก็ตบอร์ดแบบในร่มไม่มากเท่าไหร่ เนื่องจากที่ดินของประเทศขึ้นชื่อเรื่องราคาแพง โดยเฉพาะย่านชุมชนกลางเมืองที่มีค่ายิ่งกว่าทองคำ เรามักเห็นลานสเก็ตขนาดใหญ่ที่อยู่ในโกดังแค่เฉพาะเมืองใหญ่ ๆ เท่านั้น และมีพื้นที่สาธารณะไม่กี่แห่งเท่านั้นที่อนุญาตให้ได้ พอวันเวลาผ่านไปสเก็ตบอร์ดได้รับความสนใจจากเหล่าวัยรุ่นมากขึ้น เริ่มเกิดการตั้งคำถามว่ารัฐบาลจะผ่อนผันยอมให้เล่นในสวนสาธารณะได้หรือไม่

ความนิยมของสเก็ตบอร์ดในญี่ปุ่นเพิ่มพูนขึ้นเรื่อย ๆ อย่างช้า ๆ ประกอบกับสหรัฐอเมริกาเริ่มส่งออกนักสเก็ตบอร์ดของตัวเองมายังเกาะญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น เพื่อนำเสนอสิ่งนี้อย่างจริงจัง คู่กับการขายภาพลักษณ์แฟชั่นของตัวเอง ทำให้มีแบรนด์น้อยใหญ่จำนวนมากอาทิ Converse และ Swatch โดยนักสเก็ตบอร์ดที่ว่ามีทั้ง Tony Hawk, Stave Caballero, Lance Mountain ตีคู่มากับที่ญี่ปุ่นเริ่มออกดอกออกผลมาเป็นนิตยสารสเก็ตบอร์ดและสมาคมคนเล่นสเก็ตที่ชื่อว่า All Japan Skateboard Association ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1996

ฮอมมะ อากิโอะ (Homma Akio) อีกหนึ่งนักสเก็ตรุ่นเก๋าที่ตอนนี้เปิดร้านขายสเก็ตบอร์ด ‘Instant’ กว่า 5 สาขา ร่วมแบ่งปันประสบการณ์เมื่อหลายสิบปีก่อนว่า เขาชื่นชอบการเล่นเซิร์ฟบอร์ดเป็นชีวิตจิตใจ แต่ด้วยค่าใช้จ่ายยิบย่อยที่เริ่มตั้งแต่การเดินทางไปชายหาด ถ้าค้างคืนต้องหาที่พัก ค่าเช่าบอร์ด หรือถ้าซื้อบอร์ดเป็นของตัวเองก็ราคาหนักเอาเรื่อง เขาจึงเริ่มหันมามองสเก็ตบอร์ดที่สามารถเล่นที่ไหนก็ได้

พอตกดึกฮมมะจะไถสเก็ตไปตามตรอกซอกซอย ถนนเส้นเล็ก ๆ ที่ไร้ผู้คนและรถยนต์คือพื้นที่ของเขา บนท้องถนนก็คือสนามแห่งการฝึกซ้อม แต่ถ้าเป็นเวลาปกติโดยเฉพาะช่วงเวลาเร่งด่วน ชาวสเก็ตจะรู้ถึงธรรมเนียมและมารยาทว่าไม่ควรไถบอร์ดตามถนนเพราะอาจจะทำให้รบกวนผู้สัญจรไปมา รวมถึงมีโอกาสสูงมากที่จะดึงความสนใจจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ดังนั้นช่วงเวลากลางคืนคือสวรรค์สำหรับชาวสเก็ตในยุคเก่า

นักสเก็ตญี่ปุ่นรุ่นเก่าที่เลิกเล่นไปก็มีมาก เวลาเดียวกันก็ยังมีอีกไม่น้อยที่ยังคงอยู่ในวงการ เปลี่ยนจากผู้เล่นผันตัวเป็นโค้ช เป็นครูสอน เป็นศิลปิน หรือคนขายอุปกรณ์ ส่วนฮมมะที่นอกจากจะเป็นคนขายสเก็ตบอร์ด เขายังมีส่วนสานต่อความสะดวกให้นักสเก็ตรุ่นหลังด้วยการช่วยออกแบบสวนสเก็ตในฟุกุอิ เมืองทางฝั่งตะวันตกของญี่ปุ่น และนอกจากเขา ชาวสเก็ตอีกจำนวนมากก็คิดเหมือนกันว่าจะต้องมีที่ให้ฝึกซ้อมเป็นหลักเป็นแหล่ง เพราะสเก็ตบอร์ดไม่ใช่เพียงแค่กิจกรรมของเด็กเกเร แต่กลายเป็นกีฬาและเป็นส่วนสำคัญของวัฒนธรรมญี่ปุ่นไปเสียแล้ว

ปัจจุบันญี่ปุ่นมีลานสเก็ตมากกว่า 400 แห่ง แต่ส่วนใหญ่จะเป็นลานสเก็ตขนาดกระทัดรัด แต่ก็ยังดีกว่าสมัยก่อนที่ไม่มีที่ปักหลักและมักจะเห็นป้ายติดว่าห้ามเล่นสเก็ตบอร์ด นอกจากนี้การแข่งขันโอลิมปิกในยุคปัจจุบันก็ได้บรรจุสเก็ตบอร์ดเข้าเป็นหนึ่งในกีฬาแล้วด้วย ทำให้มีคนรุ่นใหม่จำนวนมากทั้งชายและหญิงให้ความสนใจกับกีฬาชนิดนี้มากขึ้น แม้จะยังไม่ค่อยเห็นใครไถสเก็ตตามท้องถนนของญี่ปุ่นก็ตาม

TOIISAN
WRITER: TOIISAN
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line