World

NIHON STORIES: มิยาโมโตะ มุซาชิ ซามูไรไร้พ่าย ผู้เขียนวิชาคัมภีร์ห้าห่วงที่กลายเป็นตำนาน

By: unlockmen May 28, 2020

ถ้าพูดถึงซามูไรที่โด่งดังที่สุดบนหน้าประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น แทบทุกครั้งจะต้องมีชื่อของ มิยาโมโตะ มุซาชิ (Miyamoto Musashi) อยู่ด้วยเสมอ เขาคือตำนานที่คนเล่าแบบปากต่อปากว่าเป็นยอดซามูไรผู้ไม่เคยพ่ายแพ้ในการประลองสักครั้ง เป็นนักรบที่คิดค้นเพลงดาบเป็นของตัวเอง เชี่ยวชาญด้านอักษรศาสตร์ ศิลปะ เป็นนักวางกลยุทธ์ยอดเยี่ยม แถมยังเชี่ยวชาญเรื่องการจัดสวน จนไม่อยากจะเชื่อว่าคนคนเดียวมีความสามารถหลายด้านได้ขนาดนี้

UNLOCKMEN จะพาย้อนเวลากลับไปยังญี่ปุ่นราว 400 ปีก่อน พบเจอกับเด็กหนุ่มที่มุ่งมั่น จริงจัง เต็มไปด้วยความฝัน เปี่ยมด้วยพรสวรรค์เรื่องเพลงดาบจนกลายเป็นนักรบที่มีเรื่องราวยิ่งใหญ่ไว้เล่าขานให้คนรุ่นหลังฟังดั่งยอดซามูไรคนอื่น ๆ หรืออาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ

เรื่องราววัยเด็กของมุซาชิมีเส้นเรื่องหลากหลาย แต่ละเรื่องเล่าแทบไม่สามารถตรวจสอบได้ด้วยซ้ำว่าจริงหรือไม่ แต่ตำนานที่ถูกลือตรงกันมากที่สุดคือ เด็กชายมุซาชิเกิดที่จังหวัดฮาริมะ (Harima) ในปี 1584 ตอนเป็นเด็กเล็กมักถูกพ่อที่ทำอาชีพชาวไร่เรียกว่า “เบนโนะสุเกะ” (Bennosuke) เป็นเด็กที่เติบโตมาท่ามกลางธรรมชาติเงียบสงบ สวยงาม ในเมืองเล็ก ๆ ที่ห่างไกล

ไม่มีใครรู้ว่าเขาออกจากบ้านเพราะอะไร แต่มุซาชิเริ่มจับดาบไม้ตั้งแต่เด็ก ร่ำเรียนวิชากับโรนินหรือซามูไรพเนจรนามว่า อาริมะ คิเฮ จากสำนักดาบชาชิมาชินโตริว

พออายุได้ 13 ปี เริ่มประลองฝีมือกับอาจารย์จริงจังครั้งแรก มุซาชิมีนิสัยใจร้อน กล้าหาญไม่เกรงกลัวกับสิ่งใด เด็กชายไม่สามารถประเมินความสามารถของตัวเองเลยเถิดจนพลั้งมือสังหารอาจารย์ ไม่รู้ว่าเหตุผลนี้หรือเปล่าที่ทำให้มุซาชิชอบอยู่คนเดียว ไม่สุงสิงกับใครเท่าไหร่นัก

ตลอดชีวิตของมิยาโมโตะ มุซาชิ ไม่เคยเข้ารับราชการอย่างจริงจัง เขาพึงพอใจกับการเป็นโรนิน เดินทางไปเรื่อย ๆ เก็บเกี่ยวประสบการณ์ไปตามทาง ไม่มองหาขุนนางหรือเจ้านายเพื่อเข้าสังกัด เติบโตเป็นชายชาตรีที่มีเพลงดาบยิ่งใหญ่ จนทำให้เขาได้ประลองฝีมือกับนักดาบต่าง ๆ มาท้าสู้อยู่บ่อยครั้ง ด้วยอารมณ์ร้อนแบบวัยรุ่นบวกกับพรสวรรค์การต่อสู้ที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด ทำให้เขาบ้าคลั่งและพร้อมลุยกับทุกคนที่เข้ามาท้า

“หากซามูไรคนไหนต้องการหาตัวของมิยาโมโตะ มุซาชิ ขอให้ท่านจงมองหาโรนินท่าทางสุขุมที่พกดาบสองเล่ม”

เขาเร่ร่อนไม่อยู่ติดที่ แต่ก็มีคนพยายามตามหาเขา ขุนนางผู้ยิ่งใหญ่หลายคนอยากได้มุซาชิมาไว้ใกล้ตัว ส่วนคนที่ต้องการพิสูจน์ตัวเองก็อยากสังหารเพื่อสร้างชื่อ ทุกคนต้องมองหาชายผมยาวพกดาบคู่ เพราะเขาเป็นนักดาบที่ใช้วิชาเพลงดาบไม่เหมือนกับคนอื่น ๆ และการใช้ดาบคู่ของมุซาชิทำให้นักประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นหลายคนเชื่อว่า เขาคือซามูไรคนแรกของโลกที่ริเริ่มใช้ดาบ 2 เล่ม

ถือดาบสองเล่มก็ว่าแปลกแล้ว ชื่อเสียงของเขายังเลื่องลือจากเหตุการณ์คืนเดือด จัดการลูกศิษย์ฝีมือดีของสำนักดาบชิโอกะกว่า 60 คนด้วยตัวเดียว

การตีกันครั้งนี้เป็นผลจากการประลองระหว่างมุซาชิกับเจ้าสำนักชิโอกะ แล้วเจ้าสำนักดันแพ้ พวกลูกศิษย์ต่างไม่พอใจ คิดว่าโรนินคนนี้เล่นตุกติกในการต่อสู้ จึงยกพวกมาเกือบหมดสำนักหวังสั่งสอนให้หลาบจำ (การยกพวกรุมคนคนเดียวถือเป็นขั้นกว่าของการตุกติกเสียอีก)

ทว่าพวกเขาแพ้หมดรูป เสียงลือเสียงเล่าอ้างกล่าวกันว่ามุซาชิว่องไว มีสมาธิ สามารถรับการโจมตีจากหลายทางได้อยู่หมัดด้วยเพลงดาบที่ชื่อว่า “นิเทนอิจิริว” กระบวนท่าการต่อสู้ด้วยสองดาบที่คิดขึ้นเอง

ความดุเดือดเลือดพล่านของมุซาชิเริ่มสงบลงเมื่อเขาพบกับพระรูปหนึ่งนามว่า ‘ทากุอัน’ เก่งกาจทั้งด้านอักษรศาสตร์และการต่อสู้ เขาเป็นคนดึงให้เด็กหนุ่มบ้าเลือดกลับมาเป็นคนที่สงบขึ้น สอนให้โรนินฝึกฝนตัวเองให้เป็นชายมีสติ ใจเย็น แต่ยังเก่งกาจ มอบความรู้เกี่ยวกับการต่อสู้ที่ผสมผสานแนวคิดแบบเซน (การนั่งขัดสมาธิโดยไม่ขยับตัวเป็นเวลานานเพื่อให้จิตสงบ การชมศิลปะ ธรรมชาติ และสวนแบบเซน)

ความเก่งกาจของมุซาชิเกิดขึ้นจากการฝึกฝนซ้ำแล้วซ้ำเล่า ประยุกต์เพลงดาบต่าง ๆ ที่เคยเจอมา เพ่งสมาธิฟังเสียงรอบตัวหลอมรวมกับธรรมชาติจนแทบเป็นหนึ่งเดียวกัน หนักแน่น มั่นคง ควบคู่กับการเขียนบันทึกเพื่อทบทวนตัวเอง ว่าง ๆ ก็จัดสวน จัดดอกไม้ สังเกตความเป็นไปของสรรพสิ่ง จนได้กระบวนท่าขั้นสูงที่เกิดจากการผสมผสานหลายอย่างเข้าด้วยกัน

หลังจากเหตุการณ์คืนเดือด ยังมีอีกหนึ่งเรื่องเล่าที่ทำให้เขาเป็นที่ยอมรับไปทั่วทุกแคว้น นั่นคือการประลองกับ ซาซากิ โคจิโร่ นักดาบมีชื่อ คาดเดาว่าเกิดขึ้นเมื่อปี 1612 บนเกาะกิวริวจิม่า ทั้งสองนัดกันอย่างดีว่าจะเริ่มต่อสู้ตอน 8 โมงเช้า ซึ่งโคจิโร่มาตามเวลาที่นัดไว้แต่มุซาชิมาสายเกือบ 2 ชั่วโมง

 

เมื่อโรนินวิชาดาบคู่พายเรือถึงเกาะการต่อสู้ก็เริ่มขึ้น เขาไม่ใช้ดาบแต่เลือกใช้ไม้พายมาเป็นอาวุธ กระโจนลงจากเรือแล้วพุ่งเข้าใส่โคจิโร่ ใช้ไม้ในมือฟาดจนคู่ต่อสู้จนล้มเพียงหวดเดียวแล้วโค้งให้อย่างมีมารยาทและจากไป อย่างไรก็ตามมีการเล่าอีกแบบหนึ่งว่ามุซาชิใช้ดาบฟันโคจิโร่ตายคาที่ ซึ่งเขาก็มาสายจริง ๆ ดังที่เส้นเรื่องอีกแบบเล่าเอาไว้

มุซาชิผ่านการต่อสู้โชกโชน จนวันหนึ่งเริ่มรู้สึกถึงความว่างเปล่า อาจเป็นเพราะเขาเบื่อหน่ายที่ไม่มียอดฝีมือคนไหนสามารถล้มตัวเองได้

โรนินดาบคู่ใช้เวลาหลายปีครุ่นคิดว่าทำไมตัวเองถึงชนะการดวลทุกครั้ง เขารู้ว่าเพลงดาบของตัวเองยอดเยี่ยม แต่มันต้องมีเหตุผลอื่นนอกจากความเก่งกาจที่ทำให้เขาไม่เคยพลาด

มุซาชิพบว่าชัยชนะที่ได้มาเกิดขึ้นจากความพลาดพลั้งของคู่ต่อสู้ การช่างสังเกตเพื่อหาช่องว่าง การคาดเดาจิตใจของศัตรู รวมถึงการตัดสินใจในเสี้ยววินาทีที่ส่งผลต่อผลแพ้ชนะ

เขาบันทึกเรื่องราวการต่อสู้ของตัวเองควบคู่กับการเป็นอาจารย์สอนวิชาดาบ เริ่มเขียน ‘ตำรา 35 กลยุทธ์’ ตามด้วย ‘ตำรา 42 กลยุทธ์’ ‘กระจกแห่งวิถี’ ทั้งหมดกลายเป็นโครงร่างของ ‘คัมภีร์ห้าห่วง’ โดยเฉพาะกับตำรา 35 กลยุทธ์ จนได้บันทึกเกี่ยวกับหนทางไปสู่การสมดุลทั้ง 5 คือ

ดิน – การตระหนักถึงความสำคัญของพื้นฐานที่มั่นคง
น้ำ – การฝึกดาบขั้นพื้นฐานทำให้มองเห็นความยืดหยุ่น แปรเปลี่ยนได้ลื่นไหลในสถานการณ์ต่าง ๆ
ไฟ – เคล็ดลับสู่ชัยชนะ ตระหนักถึงรายละเอียดปลีกย่อยที่ถูกลืม และนำเรื่องเล็ก ๆ เหล่านั้นมาช่วยพลิกสถานการณ์
ลม – บทเรียนจากการศึกษาการต่อสู้ของศัตรู รู้เขารู้เรา
ความว่างเปล่า – การทบทวนบทเรียนทั้งหมดที่ร่ำเรียนมา มองหาโอกาสใหม่และทะยานออกจากกรอบเดิม ๆ

บันทึกสุดท้ายก่อนสิ้นลมหายใจของเขาคือ ‘วิถีแห่งการก้าวเดินลำพัง’ มีใจความสำคัญคือหลัก 21 ประการ พึงระลึกถึงการใช้ชีวิตทุกย่างก้าวให้รอบคอบ คัมภีร์ส่วนใหญ่ของมุซาชิโดยเฉพาะกับคัมภีร์ห้าห่วง ถูกยกย่องเป็นตำราพิชัยสงครามที่ทั่วโลกยอมรับ ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ซ้ำแล้วซ้ำอีกจนถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม มีคนจำนวนมากไม่อยากปักใจเชื่อเรื่องราวสุดยิ่งใหญ่ของมิยาโมโตะ มุซาชิ เพราะบันทึกส่วนใหญ่มุซาชิเป็นคนเขียนขึ้นมาเอง ดังนั้นเขาจะเขียนอะไรก็ได้ เล่าเรื่องราวสุดตื่นเต้นจากการต่อสู้ไร้พ่ายกว่า 60 ครั้ง หรือเขียนว่าตัวเองเป็นยอดนักวางแผนก็ได้ทั้งนั้น นอกจากนี้เขายังไม่ได้รับราชการเลยทำให้ไม่มีผลงานจับต้องได้จริงในสงคราม

ทว่าหากตัดเรื่องราวยากจะเชื่อออกไป บันทึกเรื่องแนวคิดปรัชญากับคัมภีร์ห้าห่วงก็นับว่าเป็นประโยชน์ต่อคนรุ่นหลังอย่างมาก และสามารถปรับใช้ในชีวิตได้จริง ๆ ทั้งโลกของนักสู้ที่ปัจจุบันเปลี่ยนไปเรียกกันว่า นักกีฬา รวมถึงเคล็ดลับการศึกษาศัตรูในโลกธุรกิจ

 

SOURCE:  1/2/3/4
SOURCE PHOTO: kwunion / allthatsinteresting / mythicalstrength / warhistoryonlin 

 

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line