World

NIHON STORIES: “PRISON IN JAPAN”ระบบเรือนจำและการใช้ชีวิตในแดนขังของนักโทษญี่ปุ่น

By: TOIISAN April 9, 2020

ถ้าใครพอรู้จักสไตล์การใช้ชีวิตกับความคิดของคนญี่ปุ่น เราจะรู้ว่าพวกเขามุ่งเน้นความคิดและจิตวิญญาณ การทำบางสิ่งจากความต้องการภายใน การเคารพธรรมชาติ บูชิโด อิคิไกและคิสึงิ ดังนั้นเมื่อมีคนทำผิดกฎหมายพวกเขาต้องรับโทษไม่ต่างจากคนทำผิดในประเทศอื่น ๆ

ความแตกต่างที่น่าสนใจของกระบวนการยุติธรรมญี่ปุ่นคือพวกเขาไม่ต้องการให้นักโทษรู้สึกสูญสิ้นตัวตน ไม่ได้บอกว่าคนทำผิดเป็นคนสารเลว พยายามดึงให้คนที่จิตใจต่ำทรามที่สุดรู้สึกสำนึกให้กลับมาเป็นคนดีอีกครั้ง ผ่านการบีบคั้นอยู่ในห้องสอบสวนเป็นเวลานาน ๆ เพื่อให้นักโทษรับสารภาพให้ได้ ฟังเหมือนหนังสือการ์ตูนลูกผู้ชาย แต่ระบบความยุติธรรมและความคิดส่วนใหญ่ของชาวญี่ปุ่นเป็นแบบนี้จริงๆ 

หลายคนเมื่ออ่านแล้วอาจยังไม่อยากปักใจเชื่อ ดังนั้น UNLOCKMEN จะพาทุกคนไปสำรวจคุกญี่ปุ่นไปพร้อมกันว่าภาพของเรือนจำตรงกับที่จินตนาการไว้ตอนแรกหรือไม่ ภายใต้ความเรียบง่ายนั้นซ่อนความกดดันมหาศาลให้กับเหล่านักโทษอย่างไรบ้าง 

หลังผ่านกระบวนการสืบสวนสอบสวนสุดหนักหน่วงและพิสูจน์แล้วว่ามีความผิด คนเหล่านั้นถูกส่งตัวไปยังเรือนจำ พอเข้ามาในเขตเรือนจำก็พบกับสไตล์สุดมินิมัลตามแบบฉบับญี่ปุ่น บรรยากาศโล่ง ไม่อึดอัด ไม่สกปรก สีขาวสะอาดตาตัดกับลูกกรงสีเทาสูงเลยหัวและพื้นกระเบื้องสีน้ำตาลอ่อน เพียบพร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย แถมห้องพักของนักโทษญี่ปุ่นจะแตกต่างจากคุกประเทศอื่น ๆ 

ปกติแล้วห้องนอนในคุกควรเป็นเตียงเหล็กสองชั้นสามหลัง นอนได้หกคนท่ามกลางบรรยากาศทึบ สีเทาของพื้นปูน กำแพงคอนกรีตไร้หน้าต่าง แต่ญี่ปุ่นนำสไตล์การแต่งห้องดั้งเดิมอย่างการปูเสื่อทาทามิ มีฟูกพับได้ให้นอนที่พื้น บางห้องอยู่คนเดียว บางห้องจุคนได้ 6-12 คน การจัดห้องให้ความรู้สึกเหมือนบ้านและสะท้อนภาพลักษณ์ชาตินิยมอย่างชัดเจน แถมห้องอาบน้ำยังมีบ่อแช่ตัวเหมือนโรงอาบน้ำสาธารณะข้างนอกเรือนจำ

Dakara Watashi wa Oshimashi (2019)

การใช้จ่ายภายในเรือนจำเหมือนกับภาพยนตร์หรือซีรีส์คุกที่เคยดูทั้งของญี่ปุ่นและต่างประเทศ นักโทษจะไม่ได้รับอนุญาตให้พอเงินสดแต่เงินที่ญาติ ๆ ส่งมาจะถูกเปลี่ยนเป็นแสตมป์ โดยนำโทษนำแสตมป์ไปซื้อสิ่งของที่ต้องการได้ ณ ร้านสหกรณ์เหมือนอย่างซีรีส์เรื่อง Orange is the New Black 

เหมือนกับว่านักโทษญี่ปุ่นกำลังก้าวเท้าเข้าสู่แดนสวรรค์ แต่ภายใต้สไตล์มินิมัล ความสะอาด และห้องพักขนาด 7.5 ตารางเมตร ให้ความรู้สึกเหมือนบ้านกลับมีบางอย่างซ่อนอยู่ ระบบเรือนจำญี่ปุ่นนั้นเต็มไปด้วยเทคนิคทางจิตวิทยา การกดดัน ทำให้รู้สึกแย่จากภายในจิตใจ ไม่ต้องใช้ความรุนแรงหรือตะคอกใส่เหมือนหมูเหมือนหมาแต่ทำให้นักโทษเหงื่อตกได้ง่าย ๆ เพราะขึ้นชื่อว่าสถานที่กักขังคนกระทำความผิด พวกเขาต้องไม่ยอมให้คนทำผิดรู้สึกใช้ชีวิตอยู่ในนั้นอย่างสบายใจแน่นอน 

In a room shared by seven prisoners, the folded futon and bedding for three of them sits neatly beside black cases in which they can store their personal belongings during the day in Onomichi prison, Japan. Monday, May 19th, 2008

เมื่อเข้ามาอยู่ในคุกคุณจะหมดสิ้นอิสระ ชีวิตและการตัดสินใจไม่ได้ขึ้นอยู่กับการทำตามใจตัวเองอีกต่อไป ทุกคนต้องตื่นเจ็ดโมงเช้า เข้านอนเวลาสามทุ่ม เมื่อเดินไปไหนนักโทษต้องเดินเรียงแถวให้เป็นระเบียบ ต้องเดินห่างเพื่อนนักโทษที่อยู่ด้านหน้าหนึ่งช่วงแขน รวมถึงเวลานอนห้ามคลุมโปงปิดหน้า

นักโทษไม่มีสิทธินั่งหรือนอนเฉย ๆ ต้องทำงานตามเพศและความถนัด เช่น นักโทษหญิงนั่งทำตุ๊กตาดารุมะ (ตุ๊กตาไม้ที่เป็นตัวแทนของความหวัง) หรือนั่งเย็บโอบิใส่คู่กับชุดกิโมโน นักโทษชายทำงานช่าง มีหนึ่งสิ่งที่นักโทษทุกคนต้องเจอเหมือนกันคือพวกเขาไม่มีสิทธิมองหน้าผู้คุม ห้ามสบตา ห้ามเงยหน้า เวลาเดินไปไหนต้องก้มหน้าตลอดเวลา ได้รับอนุญาตให้อาบน้ำสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ในฤดูร้อน พอเขาหน้าหนาวจะได้อาบน้ำสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ห้ามมากกว่าหรือน้อยกว่าเรือนจำกำหนดยกเว้นกรณีพิเศษอย่างการป่วยที่ต้องพิจารณาเป็นคน ๆ ไป

เหล่านักโทษจะมีเวลาทำตามใจตัวเองได้เพียงแค่ช่วงเดียวเรียกว่า ‘การพักผ่อนตามอัธยาศัย’ นักโทษสามารถใช้เวลานั่งฟังข่าวจากวิทยุ อ่านหนังสือ เล่นหมากรุก พูดคุยกับเพื่อน ๆ ช่วงเวลาอิ่มเอมใจที่สุดของนักโทษหญิงส่วนใหญ่คือเวลาได้นั่งกินขนมดังโงะคู่กับชาเขียวร้อน ส่วนนักโทษชายล้อมวงเล่นหมากรุก และพวกเขามีเวลาออกกำลังกายวันละ 30 นาที 

ระเบียบอันเคร่งครัดก่อให้เกิดความเครียด มีนักโทษจำนวนมากรู้สึกอึดอัด เก็บกดเพราะการทำตามใจตัวเองถูกริบไปจนหมด พวกเขาต้องอยู่ในกรอบห้ามแหก เมื่อมีคนอยากลองของพวกเขาต้องพบกับบทลงโทษ บางคนอาจเริ่มจากโทษง่าย ๆ อย่างสูญเสียสิทธิที่จะเขียนหนังสือ ลดอาหาร ห้ามออกไปสูดอากาศบริสุทธิ์ที่สวน งดออกกำลังกาย หนักขึ้นมาหน่อยคือห้ามเขียนจดหมายถึงญาติ และจะไม่ได้อ่านจดหมายที่คนข้างนอกเขียนส่งมาให้ ห้ามพบญาติ หรือถูกจับไปขังในแดนเดี่ยว ซึ่งแดนเดี่ยวเป็นสถานที่ที่นักโทษหลายคนไม่อยากย่างกรายเข้าไป 

กฎระเบียบในแดนเดี่ยวมีมากมายจนชวนคลื่นไส้ นักโทษไม่ทำตามกฎและมีท่าทีต่อต้านแข็งกร้าวถูกนำตัวมาอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมแคบ ๆ ต้องนั่งอยู่ในท่าที่ผู้คุมกำหนด ห้ามยืน ห้ามเดิน ห้ามนอน ห้ามกระดิกตัว นั่งเฉย ๆ ปล่อยให้เวลาไหลไปเรื่อย ๆ ซึ่งการนั่งเฉย ๆ เป็นเวลานานคือความทรมานส่งผลต่อจิตใจมากกว่าที่คิด  บางคนอยู่ท่าเดิมนาน ๆ ก็เริ่มร้องไห้ บางคนคลุ้มคลั่ง อ้อนวอนผู้คุมขอออกจากแดนเดี่ยวก็มี 

แดนเดี่ยวในมุมมองของอดีตนักโทษนามว่า ทาคาชิ อาเกมิตสึ (Takashi Akemitsu) คือความทรงจำไม่น่าภิรมย์ เมื่อถูกส่งตัวมายังแดนเดี่ยวเขาถูกผู้คุมจับมัดกับเก้าอี้ด้วยเข็มขัดหนัง ใส่กุญแจ นั่งอยู่เฉย ๆ แบบนั้นทั้งวันจนกระทั่งถึงเวลาอาหาร กับข้าวที่ควรมีหลายอย่างกลับกลายเป็นเพียงข้าวเปล่ากับซุปมิโสะเย็นชืด เขาไม่ได้ถูกแก้มัดเพื่อให้กินข้าวแต่ผู้คุมจะเป็นคนป้อนข้าวเขาทีละคำ ต้องกินทั้งที่ก้มหน้าอยู่ 

เมื่อหมดเวลากินข้าวผู้คุมมัดเขาติดกับเก้าอี้ให้แน่นขึ้นก่อนจากไป ทิ้งให้ทาคาชิพบกับความอึดอัด เขาเล่าว่าตอนนั้นรู้สึกแน่นท้อง หายใจไม่ออก พยายามดิ้นรนงับอากาศเหมือนคนจมน้ำพร้อมอาการคลื่นไส้แทบอ้วก ทำให้เขาตั้งมั่นว่าจะไม่มีวันพาตัวเองไปยังแดนเดี่ยวอีกเป็นครั้งที่สอง

นักโทษร้ายแรงอย่างนักโทษประหารจะไม่ถูกแจ้งว่าตายวันไหน สำหรับนักโทษประหารกลัวความตายต้องใช้ชีวิตอยู่ในคุกอย่างวิตกกังวล เวลาผู้คุมทำท่าเดินมาหาก็ระแวงว่าเขาอาจนำข่าวร้ายมาแจ้ง นักโทษชายบางคนรู้ว่าตัวเองต้องถูกประหารชีวิตวันพรุ่งนี้ บางคนรู้ว่าจะมีชีวิตอีกสามชั่วโมง ความเงียบงันอันน่ากลัวสามารถปั่นประสาทนักโทษหนักหลายคนได้ง่าย ๆ 

ชีวิตของคนคุกสะท้อนอยู่ในวัฒนธรรมป๊อปอย่างภาพยนตร์หรือซีรีส์ญี่ปุ่นอยู่บ่อย ๆ อย่างละครเรื่อง Million Yen Women (2017) เล่าเรื่องพ่อของตัวเอกที่ฆ่าคนตายสามคนรวมเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้มาพบเหตุการณ์ ทำให้เขาถูกตัดสินโทษประหารชีวิต 

ลูกชายไปเยี่ยมทุกเดือนและนั่งคุยกันผ่านกระจก ทั้งคู่ไม่รู้ว่าวันประหารชีวิตจะมาถึงเมื่อไหร่ รู้ตัวอีกทีมีโทรศัพท์โทรมายังบ้านของลูกชายเพื่อแจ้งข่าวว่าพ่อของเขาถูกประหารเรียบร้อยแล้ว และให้มาเก็บกระดูกไปทำพิธีทางศาสนาโดยไม่ทันได้ใช้การพบกันครั้งสุดท้ายร่ำลาผู้เป็นพ่อเลยด้วยซ้ำ

แม้บรรยากาศในคุกเต็มไปด้วยความกดดันแต่เรื่องอาหารและโภชนาการก็ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน ประเทศญี่ปุ่นเป็นดินแดนที่ขึ้นเรื่องอาหารการกินกับคุณภาพชีวิตดีสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก จนทำให้หลายคนอยากรู้ว่าหน้าตาอาหารที่นักโทษได้กินในแต่ละวันเป็นอย่างไร 

ทางรัฐบาลจึงเพิ่มข้อมูลที่ประชาชนอยากรู้ไว้ยังพิพิธภัณฑ์เรือนจำอะบาชิริ เมืองฮอกไกโด เรือนจำที่ขึ้นชื่อว่าโหดสุดของประเทศญี่ปุ่นเมื่อ 150 ปีก่อน (แม้ขึ้นชื่อว่าสุดโหดแต่ก็เคยถูกโยชิเอะ ชิราโทริ ราชาแหกคุกแหกได้สำเร็จ) เพื่อให้คนเห็นสภาพความเป็นอยู่ของนักโทษ ทำให้เห็นภาพว่าการกระทำผิดจนต้องเข้ามาอยู่ในกรงไม่ใช่สิ่งที่ดี 

ความแปลกของพิพิธภัณฑ์เรือนจำในเมืองฮอกไกโดคือ พวกเขาจะขายเซตอาหารบางเมนูแบบเดียวกับที่ทำให้นักโทษแก่นักท่องเที่ยว โดยเมนูจะมีข้าวเปล่า ปลาซันมะย่างหรือปลาชิมะฮอกเกะย่างที่ขึ้นชื่อของฮอกไกโด (สลับเปลี่ยนไปตามฤดูกาล) เสิร์ฟพร้อมซุปมิโสะ มันฝรั่ง และสลัดญี่ปุ่น ใครอยากลิ้มลองรสชาติที่คนคุกรับประทานกันอยู่ทุกวันก็ลองสั่งมากินกันดูได้ครับ

เมื่อเกิดภัยพิบัติอย่างแผ่นดินไหว คนในคุกมักรู้สึกอุ่นใจ เพราะระบบการก่อสร้างโครงอาคารของเรือนจำญี่ปุ่นแข็งแรงและมั่นคงแบบสุด ๆ เห็นได้จากเวลาเกิดแผ่นดินไหวรุนแรง รัฐบาลจะให้ประชาชนบางส่วนอพยพไปยังเรือนจำที่ใกล้ที่สุด ส่วนคนในคุกก็ชิล ๆ เพราะรู้อยู่แล้วว่าในคุกปลอดภัยกว่าข้างนอก 

หลายคนอยากรู้เรื่องราวของขาโจ๋และเหล่ายากูซ่าติดคุก อยากรู้ว่าพวกเขาสามารถเข้าไปสร้างอิทธิพลในคุกเหมือนตอนที่ทำกับชุมชนหลายแห่งในญี่ปุ่นได้หรือไม่ แต่กลายเป็นว่าอดีตนักโทษส่วนใหญ่ไม่ค่อยพูดถึงกลุ่มยากูซ่าในคุก แต่จะขนลุกกับกฎระเบียบอันเคร่งครัดของเรือนจำมากกว่า

นักโทษส่วนใหญ่ก็ต่างคนต่างอยู่ นาน ๆ ทีถึงมีเหตุทะเลาะวิวาทหาเรื่องให้ตัวเองไปแดนเดี่ยว แสดงให้เห็นว่าความน่ากลัวที่แท้จริงไม่ใช่ขาโจ๋หรือการเล่นตุกติกของผู้มีอิทธิพลแต่เป็นเพราะระบบอันเข้มงวดมากกว่า ทั้งหมดคือสิ่งที่เรือนจำพยายามทำให้คนที่เคยเข้ามาใช้ชีวิตอยู่ในคุกได้รู้ถึงความทรมานและไม่อยากให้คนที่เคยทำผิดออกไปแล้วหาเรื่องให้ตัวเองต้องกลับเข้ามาอีก

 

SOURCE 1 / 2 / 3 / 4 / 5

TOIISAN
WRITER: TOIISAN
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line