World

NIHON STORIES: ว่าด้วยศาสนาและเสรีภาพกับ SAINT YOUNG MEN เมื่อสองศาสดาขอลาพักร้อน

By: TOIISAN September 9, 2019

ถ้าพูดถึงสิ่งที่เรียกว่า ‘ศาสนา’ คุณจะคิดถึงอะไรและให้นิยามกับคำนี้ว่าอย่างไร ?

แน่นอนว่าคำตอบที่ได้จะต้องหลากหลาย บางคนกล่าวว่าศาสนาคือเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ บ้างก็ว่าคือความเชื่อที่สืบทอดกันมาหลายยุคสมัยและเป็นคำตอบสำหรับการใช้ชีวิตให้มีความสุข บางคนอาจนึกถึงหลักคำสอนที่ให้เราเป็นคนดี มีเมตตาต่อผู้อื่น ปล่อยวางให้จิตใจมีความสุข แต่คำตอบที่ตรงกันมากที่สุดเมื่อถูกถามว่าถ้าพูดถึงศาสนาจะนึกถึงอะไรก็คงหนีไม่พ้นศาสดาของศาสนาอย่างพระเยซู อัลเลาะห์ และพระพุทธเจ้า

แค่คำถามสั้น ๆ ทำให้เราสามารถต่อบทสนทนากันได้อย่างไม่จบสิ้น หลายประเทศในโลกสามารถพูดคุยและวิจารณ์ศาสนากันได้อย่างเสรี บางประเทศทำศาสนาให้เข้าถึงง่ายจนรู้สึกว่าเป็นเรื่องใกล้ตัว แต่สำหรับบางประเทศศาสนาก็กลายเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ยากจะจับต้อง

ด้วยความหลากหลายทางสังคมและวัฒนธรรมเกี่ยวกับการพูดคุยเรื่องศาสนา ทำให้ UNLOCKMEN นึกถึงการ์ตูนญี่ปุ่นที่เคยได้รับความสนใจจากคนไทยในช่วงเวลาหนึ่งอย่าง Saint Young Men ที่ทำให้คำว่าศีลธรรมและความเหมาะสมเกี่ยวกับศาสนาและความเชื่อถูกพูดถึงพร้อมกันเป็นวงกว้างในสังคมไทย

จุดเริ่มต้นของเรื่องราวเกิดขึ้นเมื่อนักวาดการ์ตูนชื่อดังของเกาะญี่ปุ่นอย่าง Hikaru Nakamura (中村光) ได้ไอเดียโคตรบ้าที่มาจากการตั้งคำถามเล่น ๆ ว่า ‘ถ้าศาสดาของศาสนาคริสต์และพุทธทำงานหนักมาเป็นเวลายาวนาน แล้ววันหนึ่งพวกเขาเกิดอยากลงจากสวรรค์มาพักร้อนด้วยการเช่าอพาร์ตเมนต์อยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นเวลาหนึ่งปีจะเป็นอย่างไร’ เมื่อคิดได้ดังนั้น Hikaru Nakamura จึงไม่รอช้าที่จะเล่าเรื่องราวนี้ผ่านการ์ตูน Saint Onii-San (聖 おにいさん) หรือในชื่อภาษาอังกฤษ Saint Young Men  

การ์ตูนเรื่องนี้ว่าด้วยการใช้ชีวิตของสองศาสดาชื่อดังของโลกอย่างพระพุทธเจ้าและพระเยซู พวกเขาไม่ต้องแบกรับภาระหนักหนาอะไรอีกต่อไปและพากันไปเช่าอพาร์ตเมนต์อยู่ที่ญี่ปุ่น ซ่อนตัวตนที่แท้จริงจากผู้ยิ่งใหญ่กลายเป็นชายธรรมดา พร้อมกับเรียนรู้สังคมวัฒนธรรมของญี่ปุ่นยุคปัจจุบันที่ใคร ๆ ก็ทำกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องธรรมดาสามัญอย่างพระพุทธเจ้าซักผ้า พระเยซูออกไปซื้อของที่ซูเปอร์มาร์เก็ตพร้อมกับสะสมแสตมป์แลกซื้อ พากันไปงานเทศกาลฤดูร้อน ไปสวนสนุก หรือขึ้นรถไฟช่วงเวลาเร่งด่วน เรียกได้ว่าศาสดาผู้ทรงคุณูปการต่อโลกใช้ชีวิตแบบปุถุชนจริง ๆ

นอกจากนี้ Saint Young Men นำเสนอบุคลิกของเยซูให้เป็นชายหนุ่มผมยาวมองโลกในแง่ดีผู้เปี่ยมด้วยอารมณ์ขัน และบอกเล่าพระพุทธเจ้าในมุมมองของชายผู้จริงจังแต่ก็มีมุมที่ทำให้ต้องยิ้มตาม เพราะพวกเขาทั้งสองจะขอพักจากการเป็นบุคคลสำคัญเพื่อลองมาเป็น ‘มนุษย์คนหนึ่ง’ ที่ไม่ต่างจากใคร ๆ 

Saint Young Men ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารรายเดือนของสำนักพิมพ์ Kodansha ชื่อ Morning 2 ในปี 2006 และวางแผงเป็นหนังสือการ์ตูนครั้งแรกเมื่อเดือนกันยายนปี 2009 แถมยังได้รับรางวัลชนะเลิศประเภทการ์ตูนสั้นที่งาน Tezuka Osamu Culture Prize (手塚治虫文化賞) ในปีเดียวกันอีก ด้วยเรื่องราวน่าสนใจที่ไม่มีใครเคยทำก่อน ทำให้คนส่วนใหญ่ในสังคมญี่ปุ่นชื่นชอบการ์ตูนเรื่องนี้จนสามารถทำยอดขายกว่า 16 ล้านฉบับ แถมติดอันดับหนังสือการ์ตูนขายดีอีกหลายปี

แต่เวลาเดียวกันในความรุ่งโรจน์ก็ต้องมีคนที่ไม่เห็นด้วย การ์ตูนเรื่อง Saint Young Men ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงในประเทศไทยถึงความไม่เหมาะสมของเนื้อหาที่ลบหลู่พระศาสดา คล้ายว่าการ์ตูนเรื่องนี้จะดึงศาสนาลงต่ำ 

ด้วยความเห็นว่าไม่เหมาะสมจึงทำให้องค์กร Knowing Buddha โดยมูลนิธิโรงเรียนแห่งชีวิตในประเทศไทยส่งหนังสือร้องเรียนไปยังกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อยับยั้งการเผยแพร่การ์ตูนเรื่อง Saint Young Men ทางสื่อออนไลน์ของไทย พร้อมกับส่งจดหมายถึงกระทรวงต่างประเทศให้ส่งคำร้องนี้ต่อไปยังประเทศญี่ปุ่นเพื่อตรวจสอบเนื้อหาของการ์ตูนเรื่องนี้อย่างถี่ถ้วน

ต่อมากระทรวงต่างประเทศได้แจ้งข้อมูลกลับมายังกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อตอบกลับ Knowing Buddha โดยข้อความจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียวมีใจความว่า

“การ์ตูนเรื่อง Saint Young Men เผยแพร่ในญี่ปุ่นเมื่อปี 2006 พร้อมกับความนิยมอย่างสูง ถูกนำไปดัดแปลงเป็นภาพยนตร์โดยไม่มีกระแสต่อต้านเรื่องดังกล่าว เนื่องจากชาวญี่ปุ่นนับถือพุทธศาสนานิกายมหายาน ซึ่งพระสงฆ์สามารถดำเนินชีวิตโดยทั่วไปในลักษณะเดียวกับฆราวาสได้หลายด้าน ทำให้แนวคิดและมุมมองของชาวญี่ปุ่นเกี่ยวกับพุทธศาสนาต่างจากชาวไทยและ

รัฐธรรมนูญญี่ปุ่นให้สิทธิชาวญี่ปุ่นมีอิสระทางความคิดและการแสดงออกในเชิงศาสนาอย่างเต็มที่โดยไม่มีการปิดกั้น 

น่าแปลกที่รัฐธรรมนูญของประเทศไทยก็ให้สิทธิและเสรีภาพไม่แตกต่างจากรัฐธรรมนูญญี่ปุ่นมากนัก แต่ว่าผลที่ได้กลับตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง และประเด็นดังกล่าวจึงเป็นเรื่องน่าสนใจชวนให้ขบคิดว่ามันเกิดอะไรขึ้นกันแน่ ? ประเทศญี่ปุ่นคิดน้อยไปหรือเป็นเพราะเราที่คิดเยอะเกิน ? แล้วทางฝั่งยุโรปที่นับถือพระเยซูรู้สึกโกรธแค้นบ้างไหม ? และการ์ตูนเรื่อง Saint Young Men ทำให้พุทธศาสนาแปดเปื้อนได้จริงหรือไม่ก็เป็นสิ่งที่ยังคงถกเถียงกันมาถึงปัจจุบัน

เป็นที่เข้าใจตรงกันทั่วโลกว่าสื่อบันเทิงอย่างภาพยนตร์หรือการ์ตูนต่างก็ถูกสร้างขึ้นเพื่อความบันเทิงเท่านั้น วงการหนังในประเทศสหรัฐอเมริกาที่โด่งดังไปทั่วโลกอย่างฮอลลีวูดก็เคยทำภาพยนตร์เกี่ยวกับเยซูบุตรแห่งพระเจ้าและทำหนังสงครามระหว่างศาสนาอยู่บ่อยครั้ง ส่วนประเทศอินเดียกับวงการบอลลีวูดก็มีหนังชีวประวัติของพระพุทธเจ้าเหมือนกัน ซึ่งแต่ละเรื่องก็รับคำวิจารณ์ที่แตกต่างกันไป

สำหรับกรณี Saint Young Men ผู้แต่งอย่างอาจารย์ Hikaru Nakamura ก็ไม่ได้มีเจตนาจะลบหลู่ความเชื่อของใครแต่แค่อยากทำจินตนาการของตัวเองให้เป็นจริงผ่านลายเส้นเท่านั้น และใครหลายคนก็มองว่า Saint Young Men ทำให้ศาสนาที่คนรุ่นใหม่มองว่าน่าเบื่อกลายเป็นสิ่งที่เข้าถึงง่ายขึ้นอีกด้วย เพราะคำสอนจากพระคัมภีร์อาจไม่ดึงดูดให้ผู้คนรับรู้หรือใกล้ชิดกับศาสนาเมื่อเทียบภาพยนตร์หรือการ์ตูนที่ย่อยง่ายกว่า

เพราะการ์ตูนเรื่องนี้เล่าถึงศาสดาของสองศาสนา เนื้อหาของเรื่องจึงสามารถสอดแทรกคำสอนจากทั้งพุทธและคริสต์ไปอย่างเนียน ๆ พร้อมกับบอกเล่าวัฒนธรรมญี่ปุ่นให้คนนอกได้รับรู้แถมเสียดสีสังคมญี่ปุ่นอย่างเจ็บแสบไปพร้อมกัน ด้วยความนิยมที่มีมากทำให้การ์ตูนเรื่องนี้ถูกสร้างเป็น anime film บรรจุลงแผ่น DVD ไปจนถึงการนำเรื่องราวจากหนังสือการ์ตูนไปสร้างเป็นซีรีส์ฉบับคนแสดงเรียบร้อยแล้วเมื่อปี 2018 แถมยังได้รับอนุมัติให้มีซีซั่น 2 และ 3 ตามมาตอกย้ำว่าคนญี่ปุ่นไม่ได้มองว่า Saint Young Men เป็นสิ่งที่ดึงศาสนาลงมาต่ำแต่อย่างใด

จะเห็นได้ว่าเรื่องราวของศาสนาเป็นสิ่งที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงในแง่ความเหมาะสมอยู่บ่อยครั้ง ส่วนความศรัทธาที่บางคนมองว่างมงายจะถูกหยิบมาวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่ตลอดเวลา เกิดการตั้งคำถามเกี่ยวกับศาสนาทำให้เห็นการแสดงออกทางความคิดที่ต่างกันไป เราทุกคนสามารถพูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างปัญญาชนกันได้นะครับ เพราะในบางครั้งบทสนทนาที่เต็มไปด้วยคำถามและความขัดแย้งอาจทำให้เราพบคำตอบแสนน่าสนใจที่ไม่คาดคิดมาก่อนก็เป็นได้

 

SOURCE: 1 / 2

TOIISAN
WRITER: TOIISAN
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line