World

NIHON STORIES: TSUCHIYA KEIICHI จากนักซิ่งข้างถนนสู่ตำนาน “DRIFT KING” ในการแข่งอาชีพ

By: TOIISAN August 31, 2020

ทุกพื้นที่บนโลกต่างต้องมีนักซิ่ง ถ้าพูดถึงนักซิ่งหรือการซิ่งที่โด่งดังก็จะต้องมีชื่อของประเทศญี่ปุ่นอยู่ในบทสนทนาด้วยเสมอ จึงทำให้ UNLOCKMEN หยิบเรื่องราวของตำนานนักซิ่งที่ยิ่งใหญ่มากที่สุดคนหนึ่งของญี่ปุ่น ทสึชิยะ เคอิชิ (Tsuchiya Keiichi) ชายที่ถูกเรียกว่าดริฟต์คิง (Drift King) และตำนานการดริฟต์อันทรงพลังของเขา

“ดริฟต์คิง” คือวลีที่ถูกพูดถึงหลายครั้งในภาพยนตร์เรื่อง The Fast and Furious: Tokyo Drift (2006) อยู่บ่อย ๆ คนญี่ปุ่นในแวดวงนักซิ่งต่างก็รู้ว่า ดริฟต์คิงที่มีตัวตนจริงในหน้าประวัติศาสตร์คือ ทสึชิยะ เคอิชิ ชายหนุ่มที่เริ่มต้นจากความรักในการขับขี่ ช่วยที่บ้านทำธุรกิจขนาดเล็กด้วยการเป็นเด็กขับรถส่งของ

เมื่อว่างจากงานส่งของเขาเข้าร่วมกับแก๊งนักซิ่งแถบชนบท นิยมแข่งความเร็วกันบนนถนนที่ทอดยาวไปยังยอดเขา การแข่งขันบนถนนภูเขาถูกเรียกว่า โทเกะ (Tougei) ที่ต้องใช้ความชำนาญเส้นทาง สัมผัสที่ว่องไว การขับผ่าหมอกในช่วงค่ำหรือช่วงเช้า ความคดเคี้ยวของถนนและหน้าผาสูงชัน แล้วหากวันหนึ่งเกิดเหตุผิดพลาดบนโทเกะ นั่นหมายถึงชีวิตของคนขับที่ต้องแลก

การเติบโตมากับแก๊งซิ่งบนภูเขาทำให้เขารู้จังหวะการเบรก การขับบนเส้นทางลาดชัน การเข้าโค้ง แก๊งส่วนใหญ่มักขับรถแบบโอเวอร์สเตียร์ที่ล้อหลังลื่นกว่าล้อหน้า ท้ายรถจะกวาดออกเมื่อเข้าสู่ทางโค้งมุมอับ ผ่านสภาพอากาศสุดโหดอย่างหิมะหรือฝนกระหน่ำ การดริฟต์หรือการควบคุมการไถลของรถที่จะประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ไม่ได้อยู่ที่การแต่งอย่างเดียวแต่อยู่ที่ฝีมือการควบคุมรถของคนจับพวงมาลัยรถด้วย

เคอิชิ เก็บเกี่ยวประสบการณ์ด้านการขับขี่มาหลายปี เขาไม่ได้เรียนขับรถเพื่อเข้าสู่สนามแข่งอาชีพแต่โตมากับท้องถนนในชนบท ได้ลองปรับแต่งรถหลายคัน ขับรถหลายยี่ห้อ เล็งเห็นว่าหัวใจของการขับขี่บางทีอาจไม่ได้อยู่แค่การแต่งรถให้เข้ากับตัวเองหรือยี่ห้อ หากเป็นเทคนิคที่ค้นพบระหว่างขับที่มีส่วนช่วยให้รถยนต์ทรงพลังมากยิ่งขึ้น

การอยู่กับรถแทบจะตลอดเวลาทำให้เคอิชิรู้ว่าตัวเองหลงใหลการขับขี่แบบหมดใจ เขาอยากขับรถแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ได้ลิ้มรสความตื่นเต้น ฟังเสียงของยางที่บดบนถนน เริ่มก้าวเข้าสู่วงการแข่งรถ (แข่งรถจริง ๆ ที่ไม่ใช่นัดซิ่งกันเองเหมือนแต่ก่อน) ในปี 1977 เริ่มจากการแข่งขันเล็ก ๆ ที่ไม่ถูกจับจ้องมากนัก จากนั้นค่อยก้าวเข้าใกล้กับทัวนาเมนต์ใหญ่ เหมือนกับการเดินขึ้นบันไดทีละก้าวเพื่อเข้าไปสู่จุดหมาย ในที่สุดทสึชิยะ เคอิชิ ได้เป็นนักแข่งของทีม แอสแวน (Asvan) มีรถคู่ใจเป็น Toyota AE86

เคอิชิเป็นนักแข่งประเภทเซอร์กิต (Circuit) การแข่งขันทางเรียบที่มีทั้งทางตรงทางโค้ง ที่หลายคนอาจรู้สึกว่าเคอิชิไม่ได้ใช้เทคนิคการขับขี่แบบหวือหวาเมื่อครั้งยังขับอยู่บนภูเขามาใช้ในการแข่งขันเท่าไหร่นัก แต่ทว่าทุกคนต้องเปลี่ยนความคิดครั้งใหญ่ ในการแข่งขันหนึ่งเขากำลังรั้งท้ายสุด เมื่อมองเห็นโค้งอยู่ข้างหน้าเคอิชิตัดสินใจทำสิ่งที่ผู้ชมทั้งสนามตื่นตะลึงด้วยการดึงเบรกมือ การเบรกกะทันหันส่งให้ท้ายรถสะบัด ควบคุมพวงมาลัยไม่ให้รถเสียหลักควบคู่กับเหยียบคันเร่ง ส่งให้เขาสามารถพุ่งไปตามเส้นทางได้อย่างรวดเร็ว รอดพ้นจากการเป็นอันดับสุดท้ายได้อย่างน่าประทับใจ

หลังจากสร้างปรากฏการณ์บนสนามแข่งเป็นครั้งแรก เคอิชิก็พา AE86 Sprinter Trueno 1986 คู่ใจเข้าสู่สนามแข่งอีกหลายครั้ง เคยไปเยือนการแข่งขันรถยนต์สุดยิ่งใหญ่ 24 ชั่วโมง เลอมังส์ (24 Hours of Le Mans) โชว์เทคนิคการเบรกเมื่อเข้าโค้งได้อย่างทรงพลัง แม้เคอิชิจะเป็นนักแข่งที่ไม่ค่อยชนะเลิศอันดับหนึ่ง ถูกจัดว่าเป็นนักแข่งรถระดับกลาง ๆ แต่มีเทคนิคการเข้าโค้งมัดใจคนความชอบเดียวกันได้อยู่หมัด

เมื่อถูกถามว่าการขับแบบนี้เรียกว่าอะไร เขาตอบว่า “ผมเรียกมันว่าดริฟต์” ฝีมือเทพหาตัวจับยากทำให้ใคร ๆ ต่างพากันเรียกว่าดริฟต์ตามเคอิชิจนถึงปัจจุบัน แถมนักแข่งอาชีพคนนี้ยังชอบแวะเวียนไปเข้าร่วมการแข่งรถซิ่งแบบผิดกฎหมายในหลายเมืองของญี่ปุ่นอยู่บ่อยครั้ง จนทำให้เสียงวิจารณ์เกี่ยวกับตัวเขาแตกออกเป็นสองฝั่ง ทั้งฝั่งที่ชื่นชอบฝีมือกับฝั่งที่มองว่าไม่เหมาะสมที่จะไปแข่งรถแบบใต้ดินเพราะเขามีชื่อเสียงและมีสังกัดแล้ว

ถึงเขาจะไม่ใช่นักแข่งรถแชมป์เปี้ยน การดริฟต์น่าเหลือเชื่อของเขาสร้างแรงบันดาลใจให้หลายคน อาจารย์ชูอิจินำเรื่องราวของเคอิชิมาปรับแต่งจนได้มังงะเรื่อง อินิเชียล ดี (Initial D) การ์ตูนแข่งรถของตัวเอกที่เป็นเด็กหนุ่มส่งเต้าหู้ ขับรถ Toyota AE86 เหมือนกับเคอิชิที่เด็กผู้ชายชอบรถต้องเคยอ่านสักครั้ง

แถมการพูดถึงดริฟต์คิงในหนังตระกูลเร็ว แรง ทะลุนรก ภาคโตเกียว ก็ไม่ได้มาแค่การพูดถึงแบบลอย ๆ ตัวของทสึชิยะ เคอิชิ ได้รับเชิญให้ร่วมแสดงในหนังเรื่องนี้เพื่อแสดงความเคารพถึงความเท่ที่สร้างแรงบันดาลใจ (แม้บทในเรื่องจะเป็นชายที่นั่งตกปลาไม่ได้รับบทเป็นนักแข่งรถก็ตาม)

นอกจากได้เข้ามาในวัฒนธรรมกระแสหลักอย่างการ์ตูนและภาพยนตร์ ทำให้คนที่ไม่ได้สนใจการขับขี่ได้รู้จักกับการดริฟต์ เคอิชิยังมีส่วนที่ทำให้เกิดการแข่งขันประเภทใหม่ที่เรียกว่าดริฟต์ มุ่งเน้นควบคุมรถยนต์ด้วยโอเวอร์สเตียร์ ไม่มุ่งเน้นการเร่งความเร็วเพื่อเข้าเส้นชัย คณะกรรมการจะประเมินให้คะแนน ดูว่านักแข่งสามารถควบคุมทิศทางของรถได้มากน้อยแค่ไหน ดริฟต์ได้สมบูรณ์แบบหรือไม่

การแข่งประเภทดังกล่าวได้รับการรับรองจากสหพันธ์กีฬายานยนต์ (Federation International de I’Automobile-FIA) และในปี 1987 เกิดการบันทึกวิดีโอการขับขี่บนเขาที่คดเคี้ยวของเคอิชิไว้ประมาณ 23 นาที หากดูแล้วจะเห็นเลยว่าเขาคือของจริง

อย่างไรก็ตาม เคอิชิไม่ใช่นักซิ่งคนแรกของโลกที่คิดค้นการเข้าโค้งอันโด่งดัง เพราะบิดาของการดริฟต์คือ ทากาฮาชิ คุนิมิตสึ (Takahashi Kunimitsu) ถึงจะไม่ใช่คนแรกแต่เคอิชิก็สามารถทำให้คนทั้งโลกยกย่องในฝีมือการดริฟต์อันน่าประทับใจของเขาได้

การเป็นนักแข่งรถคล้ายกับว่านับถอยหลังอยู่ทุกวัน แม้จะเริ่มมีอายุมากขึ้นเรื่อย ๆ จากเด็กหนุ่มเลือดร้อนมากพรสรรวค์สู่ชายวัยกลางคนในสนามแข่งอาชีพ ก้าวไปอีกขั้นเมื่อต้องเข้าสู่วัยชราอย่างเลี่ยงไม่ได้ เคอิชิยังคงซิ่งรถเป็นประจำแม้อายุเข้าสู่วัย 60 ปี เขาจะตื่นมาเช็ดรถแต่เช้า เข้าสู่ที่นั่งคนขับ สตาร์ทรถ ออกเดินทางไปกับยานยนต์คู่ใจเพื่อทำให้ทุกวันคือความสุข

“การแข่งรถคือลมหายใจของผม”


 

SOURCE: 1 / 2 
SOURCE PHOTO: 1 / 2 / 3 / 4

TOIISAN
WRITER: TOIISAN
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line