World

NIHON STORIES: VAN GOGH จิตรกรชื่อก้องโลกผู้เศร้าโศกและหลงใหลศิลปะภาพพิมพ์แกะไม้ญี่ปุ่น

By: TOIISAN September 4, 2019

ถ้าให้พูดถึงศิลปินที่โด่งดังในโลกนี้ ก็คงจะต้องมีชื่อของชายหนุ่มชีวิตสุดรันทดอย่าง Vincent Van Gogh อยู่ด้วยแน่นอน เพราะเขาเป็นชายผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่หลงเหลือผลงานไว้เป็นมรดกให้เหล่าคนรุ่นหลังเข้าถึง จากรูปภาพที่บอกเล่าความเศร้าและความรู้สึกโดดเดี่ยวได้อย่างชัดเจน ทั้งที่ผลงานภาพวาดของเขาเต็มไปด้วยสีสันสดใส 

ก่อนหน้านี้ UNLOCKMEN เคยถ่ายทอดชีวิตแสนเศร้าของ Van Gogh ไปแล้วใน (เรื่องเล่าที่สุดแสนจะรันทดของ VINCENT VAN GOGH ชายผู้เคยตัดหูซ้ายเพื่อโสเภณี) วันนี้เราจะมาพูดถึงงานอดิเรก ของสะสม ความหลงใหลคลั่งไคล้วัฒนธรรมและศิลปะการแกะไม้สไตล์ญี่ปุ่นของเขากันบ้าง

 

แม้ไม่เคยมาเหยียบเกาะญี่ปุ่น แต่เขากลับตกหลุมรักสไตล์นิฮงจนหมดใจ

Van Gogh เป็นชายที่มีอาการป่วยทางจิต เขาใช้เวลาเกือบทั้งชีวิตเข้าออกสถานบำบัดและโรงพยาบาล พร้อมกับวาดภาพเพื่อถ่ายทอดความรู้สึก Van Gogh เสียชีวิตด้วยอายุเพียง 37 ปี ทำให้ตลอดชีวิตของเขาไม่เคยได้มาเยือนประเทศญี่ปุ่นเลยแม้แต่ครั้งเดียว

ถึงแม้เขาจะไม่เคยเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น แต่ Van Gogh ก็มีโอกาสเสพศิลปวัฒนธรรมธรรมของชาวญี่ปุ่นที่มหานครปารีสผ่านงานนิทรรศการงานเขียนและภาพวาดจากญี่ปุ่นมาจัดแสดงในยุโรป เมื่อผลงานจากฝั่งตะวันออกข้ามทวีปมาให้เขาได้ชมถึงที่ Van Gogh วัยหนุ่มผู้เต็มไปด้วยแรงบันดาลใจแต่ไร้ชื่อเสียงก็พบกับศิลปะอันเป็นเอกลักษณ์ของญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก

ศิลปินหนุ่มชื่นชอบงานศิลปะของญี่ปุ่นเป็นอย่างมากโดยเฉพาะกับผลงาน Woodcut หรือที่เรียกกันว่า ภาพพิมพ์แกะไม้ ศิลปะภาพพิมพ์แบบนูนบนแผ่นไม้ เมื่อเขาเห็นและศึกษาเทคนิคงานแกะไม้ของญี่ปุ่นมาพักหนึ่ง Van Gogh ก็นำสไตล์ดังกล่าวมาอยู่บนผืนผ้าใบด้วย

นอกจากนี้วัฒนธรรมจากฝั่งตะวันออกโดยเฉพาะจีนยังได้รับความนิยมในกลุ่มชนชั้นสูงทวีปยุโรป อิทธิพลจากอีกซีกโลกเข้ามาด้วยรูปของสิ่งของประดับตกแต่งบ้าน เช่น รูปภาพที่มักแขวนติดผนังห้องรับแขกของผู้มีฐานะมั่งคั่ง จึงไม่แปลกที่ทวีปยุโรปช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 1860 ชาวปารีสจะมีโอกาสสัมผัสกับงานสไตล์ญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน

 

หลักฐานของการสะสมงานสไตล์ญี่ปุ่นของกลุ่มเศรษฐีและความคลั่งไคล้ศิลปะแดนปลาดิบส่วนตัว ยืนยันได้จากผลงานของ Van Gogh ในปี 1887 ครั้งที่เขาได้รับเกียรติให้เป็นหนึ่งในศิลปินวาดภาพเหมือนของนักสะสมชื่อดังจากเมืองน้ำหอมนาม Pere Tanguy จากภาพด้านขวาจะเห็นได้ชัดว่าด้านหลังของ Pere มีภาพวาดสไตล์ญี่ปุ่นประดับอยู่ที่ผนัง ขณะที่ภาพด้านซ้ายที่เป็นภาพเหมือนของตัวเขาเองที่วาดขึ้นในปี 1889 ก็มีผลงานจากญี่ปุ่นแปะอยู่ด้วยเช่นกัน

 

“ภาพพิมพ์แกะไม้” ของสะสมชิ้นโปรดของ VAN GOGH 

หลายคนรู้ว่าศิลปินชื่อก้องโลกอย่าง Van Gogh ชื่นชอบเทคนิคและศิลปะสไตล์ญี่ปุ่น แต่ข้อมูลเกี่ยวกับคอลเลกชันของสะสมของเขาเป็นสิ่งที่ผู้คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยให้ความสนใจเท่ากับภาพที่เขาวาด

Van Gogh เก็บภาพพิมพ์แกะไม้ไว้กี่อันและเลือกเก็บภาพประเภทไหน ?

สุดท้ายการขุดค้นข้อมูลเพื่อนำมาเขียนครั้งนี้ เราได้คำตอบน่าประทับใจไม่น้อยเพราะเขาใช้เวลาในช่วงชีวิตอันน้อยนิดตั้งแต่ปี 1886-1887 สะสมภาพพิมพ์แกะไม้ญี่ปุ่นไว้มากถึง 600 ชิ้น จากตัวแทนจำหน่ายผลงานศิลปะ Siegfried 

ผลงานภาพพิมพ์แกะไม้ที่ Van Gogh เลือกซื้อไม่ใช่ผลงานดีที่สุดหรือมีราคาแพงที่สุด (ตามสไตล์ศิลปินไส้แห้ง) แต่เขาจะเลือกชิ้นงานจากสีสันสดใสกับลวดลายที่ดึงดูดใจ เช่น ภาพของเกอิชาสวมชุดกิโมโนที่มีฉากหลังเป็นภูมิทัศน์ที่ไม่มีในทวีปยุโรป ด้วยความแตกต่างด้านภูมิศาสตร์และวัฒนธรรมเหนือกระดาษส่งผลให้รูปที่หลายคนมองข้ามเหล่านี้มีความพิเศษมากขึ้นสำหรับเขา 

 

ผลงานของ VAN GOGH กับลายเส้นสไตล์ญี่ปุ่น 

ช่วงเวลาที่ Van Gogh เช่าอพาร์ตเมนต์อยู่ในปารีสกับ Theo น้องชายของเขา ภายในห้องจะรายล้อมไปด้วยผลงานศิลปะของเขาและผลงานสไตล์ญี่ปุ่น หลายคนคิดไปทางเดียวกันว่าแรงบันดาลใจส่วนหนึ่งที่ทำให้เขาสามารถสร้างสรรค์ผลงานให้โลกไม่ลืมมาจากภาพพิมพ์แกะไม้ที่ติดอยู่ทั่วห้องทำงานของเขา

หลังจากสะสมภาพพิมพ์จำนวนมาก ด้วยความที่ตัวของเขาเองก็เป็นศิลปินมีพรสวรรค์ทางด้านศิลปะไม่น้อยไปกว่าใคร เขาจึงเกิดความคิดและไอเดียใหม่ ๆ จะเป็นอย่างไรหากเขาลงมือวาดภาพทิวทัศน์ญี่ปุ่นที่พบเห็นผ่านผลงานศิลปะโดยไม่ต้องข้ามน้ำข้ามทะเลเห็นของจริง ? เมื่อคิดได้ดังนั้นเขาก็ไม่รอช้าลงมือสร้างสรรค์ผลงานทันที

Van Gogh เริ่มศึกษาศิลปะแห่งการแกะไม้สไตล์ญี่ปุ่นอย่างจริงจัง จนกระทั่งปี 1887 ช่วงฤดูใบไม้ร่วงเขาวาดภาพสามภาพและถือเป็นเรื่องบ้ามาก ๆ ที่ลอกเลียนผลงานของคนอื่น โดยภาพแรกมีชื่อว่า Flowering Plum Orchard ที่ได้ต้นแบบมาจาก Kameido Umeyashiki (亀戸梅屋舗) โดย Ando Hiroshige วาดด้วยสีน้ำมันบนผืนผ้าใบขนาด 55.6 x 46.8 เซนติเมตร

ผลงานสีสันสดใสบางครั้งมักทำให้ Van Gogh อารมณ์ดี เขาวาดภาพสวนพลัมอย่างแม่นยำทุกองค์ประกอบ ถอดแบบมาจากต้นฉบับและดัดแปลงบางอย่างเล็กน้อย เช่น เปลี่ยนสีของต้นไม้จากเดิมเป็นสีดำเทาให้กลายเป็นโทนสีแดง พร้อมกับเส้นขอบสีส้มที่มีภาษาญี่ปุ่นเพิ่มเข้ามาอีกด้วย

Courtesan สีน้ำมันบนผ้าใบขนาด 100.7 x 60.7 เซนติเมตร ผลงานต้นเป็นฝีมือการแกะไม้ของ Keisei Eisen ภาพนี้โด่งดังจนได้รับการตีพิมพ์บนหน้าปกนิตยสาร Paris illustre ในปี 1886 ส่วน Van Gogh นำรูปมาคัดลอกพร้อมขยายให้ใหญ่ขึ้น โดยไม่ลืมการใช้เทคนิคสุดโปรดอย่างการเพิ่มสีสันให้สดใสกว่างานต้นฉบับอีกเช่นเคย

หญิงสาวสวมชุดกิโมโนที่โดนล้อมรอบด้วยสระบัว ต้นไผ่ และกบ มองเผิน ๆ อาจจะไม่เข้าใจที่มาที่ไปว่าทำไมต้องเอามาใส่ แต่องค์ประกอบทั้งหมดนี้ซ่อนความหมายลึกซึ้งไว้ เพราะคำว่า grenouille ในภาษาฝรั่งเศสที่แปลว่า ‘กบ’ นั้นสามารถใช้เป็นคำสแลงแทนคำว่า “โสเภณี” ได้

 

Bridge in the Rain จากผลงานต้นแบบของ Ando Hiroshige กับภาพที่มีชื่อว่า Ohashi atake no yudachi (大はしあたけの夕立) ใช้เทคนิคสีน้ำมันบนผืนผ้าใบเช่นเดียวกับสองรูปก่อน ขนาด 73.3 x 53.8 เซนติเมตร รักษาสัดส่วนตามแบบต้นฉบับ เป็นภาพสะพานไม้กับผู้คนท่ามกลางสายฝนที่โปรยลงมา ตามแบบของศิลปินภาพพิมพ์แกะไม้ชาวญี่ปุ่นชื่อดัง Utagawa Hirohige ทำให้โทนสีของภาพเข้มขึ้นกว่าเดิมและเติมภาษาญี่ปุ่นล้อมรอบรูปภาพ

ประเด็นที่น่าสนใจคือ Van Gogh เป็นศิลปินผู้เลือกสร้างสรรค์งานอันเป็นเอกลักษณ์ล้ำยุคสไตล์ Post Impressionist ทำให้ผลงานของเขาโดดเด่นจากผลงานในยุคเดียวกันแม้ความงามที่คงอัตลักษณ์นี้จะไม่ได้รับการยอมรับในวันที่ยังมีลมหายใจ แต่เขากลับใช้วิธีเลือกสร้างผลงานลอกเลียนศิลปะภาพพิมพ์แดนอาทิตย์อุทัยแล้วใส่สไตล์ตัวเองลงไปแทน

สิ่งนี้ทำให้คุณเห็นอะไรบ้าง ? สำหรับเรา เราเห็นความสุขและความพยายามของเขาจากผลงานที่อัดแน่นกลิ่นอายญี่ปุ่น แต่มีสีสัน แปลกใหม่ เต็มไปด้วยความรู้สึกสนุกสนาน เสน่ห์วัฒนธรรมต่างแดนที่ไม่เฉพาะแค่คนเอเชียเท่านั้นที่จะเข้าใจ แม้ว่ามันจะเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของความสุขในไทม์ไลน์ศิลปินผู้หมองเศร้าคนนี้ก็ตาม

 

SOURCE: 1 / 2 / 3 / 4 / 5

TOIISAN
WRITER: TOIISAN
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line