World

สรุป #NOCPTPP กระแส MOB FROM HOME ที่หลายคนยังไม่รู้ พร้อมที่มาที่ไปที่คนลุกฮือประท้วง

By: anonymK April 30, 2020

อะไรคือ CPTPP นะ ? ทำไมเขาไม่ แล้วมี CP นี่คือของเจ้าสัว CP หรอหรืออะไร ?

ช่วงนี้หลายคนคงเคยเห็นตัวย่อ CPTPP ผ่านตากันบ้างแล้ว บางคนเห็นศัพท์วิชาการยาว ๆ ก็ถอยออกมา บางคนเห็นมีตัวย่อ CP เดาไว้ก่อนว่าเกี่ยวกับเซเว่น แต่ยังไม่อ่านสักที เอาเป็นว่าถ้าคุณปัดผ่านมานานแต่อยากรู้เรื่องแบบเนื้อ ๆ ไม่เอาน้ำ UNLOCKMEN จะสรุปให้คุณเข้าใจมันง่าย ๆ

กูต้องรู้เรื่องนี้ไหม ?

ก่อนอ่าน ใครตั้งคำถามว่า “กูต้องรู้เรื่องนี้ไหม” เราขอตอบกลับไปเลยว่า “มึงต้องรู้” เพราะ

1. มันเกี่ยวกับการใช้ชีวิตของเราโดยตรง ทั้งเรื่องกินอยู่ปกติไปจนถึงเรื่องงาน
2. มันเกี่ยวกับประเทศเรา การขาดดุลทางผลประโยชน์ ซึ่งสุดท้ายถ้าเราไม่ take action อาจจะได้แต่ยืนดูไกล ๆ แล้วต้องยืนรับชะตาชีวิต
3. มันเป็นข้อตกลงระดับโลก ที่สร้างผลกระทบระดับราก แต่ดันมาแบบเงียบ ๆ

CPTPP คืออะไร

CPTPP มาจากคำว่า Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership คือ ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 11 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น แคนาดา เม็กซิโก เปรู ชิลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม ซึ่งตอนนี้ไทยก็อยากจะเข้าไปขอเจรจาแล้วแจมด้วย

อธิบายแบบไม่วิชาการเราจะเรียกมันว่าเป็นชื่อแก๊งแล้วกัน แก๊ง CPTPP คือการรวมกลุ่มประเทศที่เห็นตรงกัน มาจับมือกันแล้วทำข้อตกลงส่วนตัวเพื่อเปิดโอกาสการลงทุน แต่แน่นอนว่าด้วยความเป็นแก๊งสเตอร์แล้ว มันก็ต้องมีกฎเกณฑ์บางอย่างเพื่ออยู่ร่วมกัน ไม่มีใครอยากโดนใครเอาเปรียบ ซึ่งตรงนั้นก่อนจะเข้าแก๊งก็ควรจะดูให้ดีก่อนว่ารับได้ไหม

เดิมก่อนจะมี CPTPP (ชื่อใหม่ล่าสุด) แก๊งนี้เคยใช้ชื่อว่า TPP เฉย ๆ ก่อตั้งมาตั้งแต่ 2560 แล้ว ตอนนั้นในกลุ่มมีสมาชิก 12 คน พี่เบิ้มที่ชิงหายไปจนตอนนี้เหลือ 11 ก็คือสหรัฐอเมริกา ช่วงที่เริ่ม ๆ ตั้งแก๊งตอนนั้นยังเป็นสมัยรัฐบาลโอบามา

เหตุผลของการรวมตัวมาจากความร่วมมือทางธุรกิจเพราะ WTO หรือองค์การการค้าโลกไม่ค่อยเดินหน้า หลายประเทศเลยใช้วิธีจับกลุ่มกันเองแทน แต่ก็ว่ากันว่าการรวมกลุ่มตอนนั้นมีเรื่องการเมืองมาเอี่ยวด้วย คืออยากจะรวมกลุ่มกันคานอำนาจจีน แต่บังเอิญว่าพอจะเริ่มเปิดแก๊ง จู่ ๆ โอบามาดันหมดวาระเจอทรัมป์มาขึ้นแทน ทรัมป์มาดูรายละเอียดในแก๊ง เห็นว่าผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมยาที่อเมริกาจะได้จากการร่วมก๊วนก็ไม่เท่าไร เลยตัดสินใจว่าไม่คุ้มอะ เราออกจากแก๊งนายละกัน แล้วหันไปจัดหนักกับจีนเป็น Trade War แทน แก๊งนี้ก็เลยค้างเติ่งอยู่

ช่วงระหว่างที่อเมริกาออกไป ทางแก๊งก็เลยปรับเปลี่ยนข้อกำหนดเก่า ๆ นิดหน่อย จากที่ตอนนั้นกังวลเรื่องพี่เบิ้ม พอไม่มีเขาแล้วก็ผ่อนปรนบางเรื่องแล้วก็ตั้งชื่อใหม่เป็น CPTPP แต่ด้วยเหตุผลทั้งที่อเมริกาถอนออกไป กับข้อจำกัด สมาชิก 11 ประเทศที่เคยตั้งใจว่าจะเป็นพันธมิตรเลยยังลงนามกันไม่ครบ จาก 11 ก็เข้าร่วมแค่ 7 ก่อน และเปิดรับประเทศอื่นที่สนใจ ซึ่งไทยที่กำลังมองอยู่ไกล ๆ ก็สนใจจะเข้าก๊วนนี้นี่เอง

เราจะได้อะไร เราจะเสียอะไร

“เราว่าเราต้องเข้าแก๊งนายว่ะ ถ้าเราไม่เข้าแก๊งนายเราแย่แน่”

ชนวนทั้งหมดมันเริ่มจากที่คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานที่ออกมาให้ความเห็นชอบว่าจะเอาไทยเข้าแก๊ง CPTPP ตอนต้นเดือนกุมภาฯ โดยให้รายละเอียดข้อดีถ้าเข้าร่วมกับข้อเสียถ้าเราไม่เข้าร่วม (ทางไหนก็ดูเหมือนว่าเราต้องเข้าร่วมสถานเดียว)

ข้อดีถ้าเข้าร่วม

  • GDP ไทยจะเพิ่ม 0.12% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 13,323 ล้านบาท
  • การลงทุนขยายตัว 5.14% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 148,240 ล้านบาท
  • การส่งออก จะขยายตัว 3.47% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 271,340 ล้านบาท
  • เกิดการจ้างงาน 73,370 ล้านบาท

ข้อเสียถ้าไม่เข้าร่วม

  • GDP ไทยลด 0.25% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 26,629 ล้านบาท
  • การลงทุนลด 0.49% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 14,270 ล้านบาท
  • การส่งออกลดลง 0.19% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 14,560 ล้านบาท
  • การจ้างงานและผลตอบแทนแรงงานลดลง 8,440 ล้านบาท

แต่แน่นอนว่าเรื่องใหญ่ขนาดนี้ก็ไม่สามารถตัดสินใจเองได้ทันที กระทรวงพาณิชย์เลยต้องเสนอวาระขอไฟเขียวเข้าไปเจรจากับแก๊ง CPTPP ผ่านด่าน ครม. เมื่อวันที่ 28 เมษายนที่ผ่านมาก่อน ซึ่งทันทีที่มีกระแสว่าวาระนี้จะเข้าที่ประชุม เทรนด์ทวิตเตอร์และโซเชียลก็ออกมาปฏิเสธกันล้มหลาม จนเกิดคำว่า “Mob from home” ขึ้นพร้อมภาพที่ถ่ายแล้วติด #NOCPTPP

FB PAGE: bilaterals.org

บทสรุปของสถานการณ์เลยกลายเป็นว่า วาระนี้เจอเบรก ยกเลิกโดยไม่ได้เอาเรื่องนี้เสนอเข้าที่ประชุม

ส่วนเหตุผลของการคัดค้านจนถึงขั้นเกิด Mob from Home ช่วง Covid-19 แบบนี้มาจากอีกด้านที่หลายฝ่ายมองว่า GDP 0.12 และข้อดีทั้งหมด มันดูไม่คุ้มเอาเสียเลยถ้าเทียบกับสิ่งที่บอกไม่หมดว่าเราจะต้องเสียอะไรถ้าเข้าร่วมแก๊ง

นายเข้าร่วม นายจะเจออะไร ?

เรื่องนี้รายละเอียดยิบย่อยเราจะไม่พูดถึง แต่จะขอพูดถึงเฉพาะประเด็นหลัก ๆ ที่ทำให้คนส่วนใหญ่ลุกฮือ 3 เรื่อง

1. เกษตรกรต้องเสียเงินซื้อเมล็ดพันธุ์ในราคาแพงขึ้น และอาจโดนปรับถ้าพบว่าเมล็ดที่ไม่ถูกกฎหมายอยู่ในแปลงปลูก เผลอ ๆ โดนยึดผลิตภัณฑ์ทั้งหมดของตัวเองไปจาก UPOV1991 (ยูป๊อบ 1991)

เหตุผล: UPOV1991 เป็นหนึ่งในข้อตกลงของการเข้าร่วม CPTPP ข้อตกลงนี้ว่าด้วยการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มงวด ถ้าใครเอามาใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ได้ซื้อมาอย่างถูกกฎหมาย ก็จะโดนตามไปจัดการ ซึ่งมองดูเผิน ๆ อาจจะรู้สึกว่าก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่สำหรับเกษตรกรซึ่งเป็นอาชีพหลักในประเทศเรา จะเกิดผลกระทบด้านการผูกขาดในภาคเกษตรแบบครบวงจร ทั้งความหลากหลายทางชีวภาพและที่สำคัญคือเรื่องเมล็ดพันธ์ุแพงขึ้น เดือดร้อนกับเกษตรกรแน่ ๆ

ส่วนความซวยอื่น ๆ อธิบายเห็นภาพมากขึ้นในกรณีที่ สมมติบ้านเราทำเกษตรพืชพื้นเมือง ไม่ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์มาใช้หรอก แต่ข้างบ้านเราซื้อเมล็ดพันธุ์มาปลูก โอกาสที่เมล็ดพันธุ์ที่ซื้อมาจะปลิวมาตกมาโตแปลงเราก็เกิดขึ้นได้ แล้วถ้าตรวจพบว่าเป็นแบบนั้น คือเราไม่ได้ซื้อแต่มาโผล่แปลงเรา เราก็มีโอกาสโดนจับและปรับได้ ซึ่งถ้าจะแก้ปัญหานี้เราก็อาจจะต้องไปซื้อเมล็ดพันธุ์นั้นมาใช้ด้วยป้องกันปัญหา หรือไม่ก็ต้องทางหนทางป้องกันวิธีอื่นอีก ซึ่งก็เปลืองค่าใช้จ่ายเหมือนกัน

2. เราเข้าร่วมเราจะเจอเรื่องการเข้าถึงยาได้ยากขึ้น ยาจะราคาแพงขึ้น

เหตุผล: ความตกลงนี้เคร่งเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาอย่างที่บอกไป ต้องยอมรับว่าเดิมเราใช้ยาในราคาถูกเพราะมีเรื่อง CL (Compulsory Licensing) หรือประกาศบังคับใช้สิทธิเพื่อผลิตหรือนำเข้ายาโดยรัฐ ตามมาตรา 51 ในพ.ร.บ. สิทธิบัตร ซึ่งเป็นมาตรการที่สอดคล้องตามความตกลงสากลว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาขององค์การการค้าโลก สำหรับแก้ไขการเข้าไม่ถึงยาในราคาไม่แพง เพราะการผูกขาดด้วยระบบสิทธิบัตร และให้อำนาจรัฐใช้โดยไม่แสวงหากำไร แต่ถ้าเราลงนามเข้า CPTPP แม้ตอนนี้จะบอกว่าเราจะสามารถใช้ CL ได้ แต่ด้วยรายละเอียดที่เยอะในสัญญา ก็ยังมีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลเสี่ยงจะถูกฟ้องร้องอยู่ดี เลยเป็นเหตุผลที่ทำให้ตัวยามีราคาแพงขึ้น

เพื่อความเข้าใจง่าย ๆ กรณีศึกษาเคสจริงคือยารักษาเอชไอวี หรือยาสูตร LPV/r เป็นยาสูตรผสมรวมเม็ดของยาโลพินาเวียร์และยาริโทนาเวียร์ (Lopinavir/Ritonavir) แต่ก่อนไทยนำเข้ายังไม่ประกาศใช้ CL ยาราคา 74.23 บาทต่อเม็ด แต่หลังจากไทยประกาศบังคับใช้ CL แบบไม่แสวงหากำไร และให้องค์การเภสัชกรรมผลิตเองได้ ตอนนี้เหลือแค่เม็ดละ 13.21 บาทต่อเม็ดเท่านั้น

3. รัฐบาลจะสู้อะไรเขาไม่ได้เลย เพราะว่า CPTPP ลดอำนาจรัฐ และเงิน 1 ใน 3 ของประเทศจะไหลออกจากประเทศด้วย

เหตุผล : ย้อนไปที่จุดประสงค์ของการเกิด CPTPP ก่อนว่าเป็นเรื่องการส่งเสริมภาคธุรกิจและการลงทุนระหว่างประเทศ ดังนั้น สาระสำคัญของการเข้าร่วมจึงนับรวมเรื่องที่เอกชนจะได้ประโยชน์ คุ้มครองนักลงทุน เพื่อดึงดูดให้เกิดการลงทุน ว่าง่าย ๆ ว่า รัฐจะโดนลดบทบาทการตัดสินใจลงไปชัดเจน และถ้าหากบังเอิญรัฐบาลเกิดออกนโยบายอะไรที่ขัดกับผลประโยชน์ทางธุรกิจเพื่อสถานการณ์ฉุกเฉินหรืออะไรก็แล้วแต่

ประเทศที่เข้าร่วมอยู่ในก๊วน CPTPP ก็สามารถฟ้องรัฐบาลเราได้ และที่สำคัญไม่ใช่ฟ้องศาลในบ้านเรา แต่ไปฟ้องอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่เราจะรับผิดชอบไหวไหม ถ้าต้องขึ้นศาลเราจะชนะคดีความไหม ?

นอกจากนี้ความตกลง CPTPP ยังไม่อนุญาตให้เราไปกำหนดข้อกำหนดต่าง ๆ เวลาจัดซื้อจัดจ้างด้วย ใครที่เคยทำงาน ebiding หรือ pitching งานรัฐน่าจะเข้าใจว่าระบบการจัดซื้อจัดจ้าง TOR จะมีข้อกำหนดรายละเอียดต่าง ๆ ถ้าไม่เข้าเงื่อนไขก็สามารถปฏิเสธการรับงานได้

สิ่งสำคัญคือ งบประมาณด้านการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐวันนี้เป็น 1 ใน 3 การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ถ้าเรากำหนดอะไรเองไม่ได้ เช่น กำหนดไม่ได้ว่าต้องใช้วัตถุดิบไทยหรือต้องแบ่งปันถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีให้ไทย โอกาสที่เราก็แทบจะไม่เหลือรายได้อะไรเลยก็สูง

ข้อมูลประกอบเหตุผลอื่น ๆ ที่ต่อให้เราไม่ได้เข้าร่วมสามารถอยู่ต่อได้

  1. ทั้ง 11 ประเทศใน CPTPP เป็นประเทศที่ค้าขายกับไทยอยู่แล้ว
  2. 4 ประเทศในนั้น ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม อยู่ในกลุ่มอาเซียน ซึ่งเราเป็นสมาชิกก็มีข้อตกลงร่วมกันอยู่แล้ว เราไปเข้าร่วมก็ไม่ได้พันธมิตรใหม่อะไรมากมาย ส่วนประเทศที่เราอาจจะไม่เคยเป็นพันธมิตรมาก่อนอย่างเม็กซิโก เปรู ชิลี และแคนาดา เราก็สามารถใช้วิธีดีลตรงเองได้ เพราะหลายประเทศที่ไม่ได้เข้าร่วมแต่ต้องการสิทธิประโยชน์เขาก็ใช้วิธีนี้

ทั้งหมดนี้คือบทสรุปคร่าว ๆ ของสถานการณ์ที่ทำให้สุดท้ายวาระนี้ต้องพับไปชั่วคราว แต่หลายฝ่ายก็มองว่าการยอมยุติการเสนอวาระในที่ประชุมเมื่อวันก่อนเป็นแค่พับการเสนอแค่ชั่วคราวเท่านั้นแต่อาจจะเปิดขึ้นมาอีกได้ทุกเมื่อ เพราะฉะนั้นเลยอยากให้ทุกคนตื่นตัวกับเรื่องนี้ให้มากที่สุด

สุดท้ายผลประโยชน์ของประเทศกับชีวิตของพวกเราทุกคนอาจจะอยู่บนปลายปากกาการตกลงครั้งนี้

เราคงไม่พูดว่ามันมีแต่ข้อเสียเพราะข้อดีของมันก็มีอยู่ บางคนอ่านแล้วอาจจะรู้สึกว่าเราควรมี บางคนอ่านแล้วรู้สึกว่าเราไม่มีก็ได้ ก็เป็นสิทธิ์และเสียงของทุกคน แต่ไม่ว่าคุณจะเลือกแบบไหน การมองเห็นข้อมูลหลาย ๆ มิติ เข้าใจมันมากขึ้นก็คงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด

อย่าลืมส่งต่อข้อมูลนี้เพื่อคนที่เรารัก ยิ่งคนรู้และเข้าใจมากขึ้น ก็เป็นเรื่องดี เพราะเราควรเป็นส่วนหนึ่งของการกำหนดอนาคตในวันข้างหน้า

anonymK
WRITER: anonymK
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line