World

ยิ่งแก่ยิ่งพลาดง่าย “ผลวิจัยชี้ว่าผู้สูงอายุคือกลุ่มที่แชร์ข้อมูลผิด ๆ มากที่สุดในโลกโซเชียล”

By: TOIISAN January 10, 2019

พ่อแม่ลุงป้าที่เคยบ่นเคยห้ามไม่ให้เราติดมือถือมากไป วินาทีหันไปจะคุยกับพวกท่าทีไรกลายเป็นว่า “โถ ติดมือถือหนักกว่าเราไปอีก!” เรียกได้ว่าตอนนี้ผู้สูงอายุใช้โซเชียลมีเดียมากขึ้นไม่ว่าจะเป็น Line หรือ Facebook ก็ตามแต่

ข้อดีที่เห็นได้ชัดคือการทำให้ช่องว่างระหว่างวัยของสมาชิกในครอบครัวลดน้อยลง ผู้สูงอายุเหงาน้อยลงและได้ติดต่อกับเพื่อนมากขึ้น แต่ข้อเสียนั้นก็ถือว่าเป็นสิ่งที่น่าจับตามองอย่างใกล้ชิด เพราะเหล่าผู้สูงอายุมักจะชอบแชร์ข่าวสารข้อมูลผิด ๆ ที่ส่งต่อกันโดยไม่รู้ว่าข่าวที่ตัวเองอ่านนั้นเป็นความจริงหรือไม่

การติดมือถือมากไปยังพอเยียวยาได้ แต่ถ้าเป็นกรณีที่หนักขึ้นมาอย่าง การแชร์ข้อมูลเรื่องสุขภาพแบบผิด ๆ ที่จะส่งผลต่อชีวิต หรือข่าวของเหล่าคนดังที่จะส่งผลให้เกิดการปลุกระดมเรื่องของความเกลียดชังอย่างไม่ถูกต้อง ก็เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงไม่น้อย

ปัญหานี้ไม่ได้มีให้เห็นแค่ในประเทศไทยเท่านั้น ในสหรัฐฯ เองก็มีอยู่บ่อยครั้งที่ผู้สูงอายุมักมีแนวโน้มที่ชอบแบ่งปันข่าวปลอมต่าง ๆ ใน Facebook และโซเชียลมีเดียอื่น ๆ กันเป็นจำนวนมาก เมื่อเกิดปัญหาดังกล่าว ทีมวิจัยจาก New York Universitiy และ Princeton Universitiy ได้ร่วมกันค้นหาคำตอบจากการทำวิจัยและสำรวจว่ากลุ่มคนในช่วงอายุใดมักจะแชร์ข่าวปลอมมากกกว่ากัน

งานวิจัยนี้ตีพิมพ์ลงใน Science Advance แสดงให้เห็นถึงการตรวจสอบพฤติกรรมของผู้ใช้งานโซเชียลเน็ตเวิร์คในช่วงระยะเวลาหนึ่ง โดยรวบรวมผู้คนกว่า 3,500 คนที่ใช้งาน Facebook ไม่แบ่งเพศและอายุและขอให้เปิด Public เพื่อให้เหล่านักวิจัยสามารถเข้าถึงฟีดทั้งหมดได้ว่ากลุ่มตัวอย่างนั้นได้แชร์เรื่องราวอะไรกับเพื่อนใน Facebook บ้าง

เป็นเรื่องน่าตกใจเมื่อผลสำรวจพบว่าผู้ใช้งาน Facebook ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป คิดเป็นเพียงแค่ 3% ของกลุ่มตัวอย่างเท่านั้น แต่กลับแชร์ข่าวปลอมมากกว่าสองเท่าของกลุ่มผู้ใช้ที่มีอายุน้อยกว่า

ไม่ใช่เพียงแค่ข่าวปลอมเท่านั้น เรื่องราวเกี่ยวกับสุขภาพที่ถูกบิดเบือนก็เช่นกัน โดยจะเห็นได้ชัดว่าอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับมะเร็งผู้คนจะแชร์เยอะ รองลงมาคือเบาหวาน รวมถึงโรคไตและความดัน การแชร์เหล่านี้จะเป็นการเปิดโอกาสให้กับมิจฉาชีพเข้ามาโฆษณาสินค้าเกินจริง อย่างยาที่กินแล้วหายจากการเป็นโรคหัวใจหรือมะเร็ง หรือแชร์วิธีรักษาง่าย ๆ ทำนองว่า “พิสูจน์แล้ว มะเร็งรักษาง่าย ๆ ด้วยมะนาว” ผลคือคนที่ทำตามต้องเสียชีวิต โดยที่ผู้ส่งต่อไม่รู้เลยว่าได้มีส่วนร่วมในทางที่ผิดโดยไม่รู้ตัว เพราะในความเป็นจริงโรคเหล่านี้จะต้องพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกวิธีเท่านั้น ไม่มีทางที่กินยาเพียงกระปุกเดียวแล้วจะหาย แต่ผู้สูงอายุกลับเชื่อคำชวนเชื่อนี้ง่ายกว่ากลุ่มวัยรุ่น

การวิจัยไม่ได้ให้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่าเพราะเหตุใดกลุ่มผู้สูงอายุที่ใช้งานโซเชียลมีเดียนั้นมีแนวโน้มที่จะถูกสื่อปลอมหลอกได้มากกว่าวัยอื่น ๆ แต่ที่เห็นได้ชัดตามสำนวนที่ว่า ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก การที่ลูกหลานจะบอกเหล่าผู้สูงอายุในครอบครัวว่าข่าวที่พวกเขาแชร์นั้นเป็นข่าวปลอมก็เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เนื่องจากคนรุ่นก่อนนั้นเติบโตมากับการรับสารไม่กี่ช่องทาง และด้วยความที่มีตัวเลือกน้อย ผู้สูงอายุจึงมักเชื่อถือบุคคลที่ออกสื่อมาก (แม้แต่สื่อปลอมก็ตาม)

นอกจากนั้นผู้สูงอายุเข้าสู่โลกออนไลน์ในตอนที่อายุมากแล้วจึงขาดความเท่าทันสื่อออนไลน์ ต่างจากเด็กในปัจจุบันที่เติบโตมากับสื่อเหล่านี้ ผู้สูงอายุจึงไม่เชื่อว่าภาพต่าง ๆ สามารถรีทัชได้

รวมถึงมุมของของผู้ใหญ่ที่เห็นลูกหลานตั้งแต่ยังเล็ก จึงคิดว่าลูกหลานของเขานั้นมีประสบการณ์ชีวิตที่น้อยกว่าตัวเอง จึงมักไม่เชื่อคำแย้งและคำเตือนจากสมาชิกในครอบครัว แต่สำหรับคนรุ่นใหม่ที่เติบโตมากับโซเชียลเน็ตเวิร์คและเห็นข่าวปลอมทั้งในอีเมล์และสื่อออนไลน์ต่าง ๆ จนชินตา จึงเป็นเรื่องปกติที่จะรู้ทันและพยายามตรวจสอบที่มาที่ไปมากกว่า

เพื่อแก้ปัญหาการแชร์ข่าวปลอม WhatsApp เริ่มพัฒนาโปรแกรมเพื่อส่งเสริมการรู้หนังสือดิจิทัลในอินเดียซึ่งผู้ใช้ 200 ล้านคน รวมถึงสำนักงานสืบสวนกลางแห่งสหรัฐ ฯ ก็จัดทำเว็บไซต์สำหรับกระจายข่าว เพื่อลดการส่งต่อข่าวปลอมของกลุ่มผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียอีกด้วย

แต่ถึงจะกังวลเรื่องของข่าวปลอมและข้อมูลที่ผิด ๆ แต่ผู้คนส่วนใหญ่มักไม่อยากให้รัฐบาลหรือองค์กรอะไรก็ตามแต่เข้ามาควบคุมการใช้โซเชียลมีเดียของตัวเอง จึงมีเพียงประเทศจีนและอังกฤษเท่านั้นที่ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่อยากให้รัฐบาลเข้ามาดูแลเรื่องการใช้อินเทอร์เน็ต

ในยุคที่ใครจะสามารถพิมพ์อะไรลงไปในโซเชียลก็ได้ การมีวิจารณญาณในการกรองข่าวต่าง ๆ จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่มองข้ามไม่ได้ เพราะสิ่งที่เรากดส่งต่อไปนั้นมันสามารถส่งผลกระทบเป็นวงกว้างได้อย่างคาดไม่ถึง

 

SOURCE

TOIISAN
WRITER: TOIISAN
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line