Work

สู้วันนี้เพื่อให้ตัวเราในวันหน้าภูมิใจ “คนทำงานต้องปรับตัวยังไงในโลกยุค COVID?”

By: PSYCAT April 24, 2020

จังหวะการหมุนของโลกเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เมื่อ COVID-19 มาถึง ปกติคนทำงานอย่างเรา ๆ ก็หาทางอัปสกิล เอาตัวรอด เพิ่มศักยภาพให้ตัวเองอยู่ตลอดอยู่แล้ว แต่คล้ายว่าทุก ๆ ช่วงที่สิ้นปีเก่ากำลังจะจากไป และต้นปีใหม่กำลังจะมาถึงเป็นหมุดหมายสำคัญที่จะอัปเดตว่าเทรนด์ไหนกำลังมา ปีหน้าปีสกิลไหนที่ต้องเพิ่ม ความรู้ไหนที่ต้องทิ้งไปกับปีเก่า คนทำงานใช้ชั่วจังหวะที่โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ครบรอบพอดีเป็นฤกษ์ในการอัปเกรดเวอร์ชันการทำงานให้ตัวเองอย่างจริงจัง

แต่เมื่อ COVID-19 มาถึง ไม่เฉพาะการทำงานเท่านั้นที่ต้องเปลี่ยน แต่ชีวิตทั้งชีวิตต้องเปลี่ยนตาม โดยเฉพาะเมื่อเศรษฐกิจผันผวน สภาพการเงินของบริษัทไม่แน่นอน อัตราการปลดพนักงานในหลายที่ก็มีให้เห็นอยู่เนือง ๆ ถ้าจะรออัปเกรดตัวเองอีกทีตอนสิ้นปี ถึงเวลานั้นอาจจะสายเกินไปก็เป็นได้

UNLOCKMEN ชวนเอาชีวิตรอดว่าเราควรทำอะไรบ้างในโลกการทำงานหลัง COVID-19 มาเยือน

“เจ้านายเก่า บริษัทเดิม คนในสายงานเดียวกัน” สายสัมพันธ์นี้มีความหมายกว่าที่คิด

ความสามารถ ศักยภาพ นั้นสำคัญอย่างมาก แต่ถ้ามี “โอกาส” ที่ดีด้วย ทั้งหมดที่มีอยู่ในตัวเราก็จะยิ่งพุ่งทะยานไปได้ไกลกว่าเดิม ผู้เชี่ยวชาญหลายคนออกมาแนะนำตรงกันว่าในช่วงวิกฤต COVID-19 สิ่งที่อยากแนะนำให้คนทำงานทำคือการติดต่อกับเจ้านายเก่า ผู้คนในบริษัทเดิม ทีม HR หรือคนในสายงานที่เราทำอยู่

นั่นเป็นเพราะว่าเมื่อองค์กรกำลังจะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง หรือกำลังจะพาตัวเองฝ่าฟันวิกฤตไปได้ สิ่งที่องค์กรต้องการที่สุดคือคนที่รู้มือกัน เข้าใจลักษณะองค์กร และสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างดีโดยไม่ต้องมาเริ่มสอนงานกันใหม่ จึงไม่แปลกที่ Google, Procter & Gamble, Nestle และ Marriott เตรียมวางแผนกู้บริษัทหลัง COVID-19 ด้วยการพยายามติดต่อพนักงานเก่า ๆ หรือพนักงานที่ฝีมือดีแต่เกษียนอายุงานไปแล้วให้กลับมาทำงานอีกครั้ง

James Sinclair CEO แห่ง Enterprise Alumni บริษัทที่ดูแลเรื่องเครือข่ายพนักงานให้บริษัทดัง ๆ หลายแห่ง (หนึ่งในนั้นก็คือ Google) ระบุว่า “เมื่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเริ่มต้นขึ้น องค์กรต่าง ๆ ต้องการคนที่สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพอย่างรวดเร็ว”

ดังนั้นถ้าเราคือคนหนึ่งที่พยายามติดต่อกลับไป แสดงความจำนงค์ของตัวเองอย่างชัดเจนว่าเราทำอะไรได้บ้างตอนนี้ และมีส่วนไหนที่จะกลับไปช่วยขับเคลื่อนองค์กรได้ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย ต่อให้องค์กรยังไม่ต้องการเราในเวลาอันใกล้นี้ แต่การเชื่อมสายสัมพันธ์ไว้ในช่วงที่อะไรไม่แน่นอนก็เป็นเรื่องที่ดีกว่า ไม่เพียงเท่านั้นถ้าองค์กรต้องการพนักงานที่มีฝีมือและคุ้นเคยกันดี เราเองก็จะเป็นชื่อแรก ๆ ที่องค์กรนึกถึง

สกิลไหนต้องรู้ ต้องสังเกตดูให้ละเอียดขึ้นกว่าเดิมมาก ๆ

ใคร ๆ ก็บอกตรงกันไปหมดว่าตอนนี้พนักงานทุกคนต้องปรับตัวด้วยการเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ อย่าหยุด เอาเวลาที่ Work From Home มาฝึกสกิลใหม่ ๆ ให้เทพไปเลย แต่การเอาแต่เรียนเพิ่ม ฝึกเพิ่มแบบสะเปะสะปะ แม้จะได้เพิ่ม แต่ถ้าเพิ่มมาโดยไม่ได้ใช้จริง หรือไม่ได้เพิ่มโอกาสทางการงานใหม่ ๆ ให้ก็ออกจะน่าเสียดาย เพราะสมรภูมิการทำงาน 6-12 เดือนต่อจากนี้จะดุเดือดมาก

Alison McLean ที่ปรึกษาด้านแนวทางอาชีพประจำ Springboard โรงเรียนสอนเขียนโค้ดออนไลน์ระบุว่า “ลองสังเกตดูว่าตอนนี้เจ้านายของคุณต้องการอะไร” กล่าวคือสกิลที่ผู้บริหารกำลังต้องการจากคนทำงานในช่วงนี้ คือสกิลที่เราต้องเรียนรู้อย่างหนักเพื่อให้นำคนอื่นไปหนึ่งก้าวอยู่เสมอ เพราะนั่นแปลว่านั่นคือความสามารถที่บริษัทเรากำลังต้องการต่อจากนี้ไป

ไม่เพียงเท่านั้นอีกวิธีการที่จะเรียนรู้แบบไม่สะเปะสะปะก็คือการหมั่นเข้าเว็บที่ประกาศรับสมัครงาน ในนั้นมักจะระบุคุณสมบัติใหม่ ๆ ในช่วง COVID-19 ที่ทุกอย่างจะไม่เหมือนเดิม สังเกตความต้องการของตลาดให้รอบคอบ แล้วสำรวจตัวเองว่าอะไรที่เราพอมีอยู่แล้วและจะพัฒนาให้ดีทะลุเกณฑ์เฉลี่ยไปได้ หรืออันไหนที่เป็นสกิลที่ใคร ๆ ก็ต้องการแล้วเรายังไม่มีก็ต้องรีบเรียนรู้ให้ไว

Nicholas Wyman CEO ขององค์กรไม่แสวงหากำไรที่ทำงานเรื่องสกิลและพื้นที่การทำงานโดยเฉพาะให้คำแนะนำว่า “คุณต้องเริ่มคิดได้แล้วว่ารูปแบบธุรกิจในอุตสาหกรรมของคุณเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร? และมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องในอีก 6-12 เดือนข้างหน้าไปในทิศทางไหน”

บางครั้งเราอาจไม่ต้องรอจนผู้บริหารหรือหัวหน้างานออกไป เราเองควรดิ้นรนทุกวิถีทาง รวมถึงการวิเคราะห์และคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในสายอาชีพของเรา จากนั้นก็ลองพิจารณาดูว่าถ้ามันเปลี่ยนไปในทางที่เราคาดการณ์ (หรือหาอ่านที่มีผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ไว้) เราต้องเรียนรู้สกิลอะไรเพื่อมารองรับความเปลี่ยนแปลงนี้บ้าง

อย่างไรก็ตามอีกหนึ่งสกิลที่ผู้บริหารองค์กรหลายแห่งพูดตรงกัน (ไม่ว่าคุณจะอยู่ในสายงานไหน) นั่นคือสกิลการใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์ม ไปจนถึงสกิลดิจิทัลอื่น ๆ ที่นับจากนี้ไปจะเข้ามามีบทบาทและมีความหมายอย่างมาก ไม่เฉพาะคนทำงานด้านไอดีเท่านั้น

โชคดีที่เราอยู่ในยุคที่เราสามารถเรียนรู้ผ่านโลกออนไลน์ได้อย่างไม่มีขีดจำกัด ในระหว่างที่เฝ้าสังเกตการณ์และยังไม่รู้จะเรียนรู้สกิลเฉพาะสกิลไหนเพิ่มเติมดี ลองหาคอร์สออนไลน์เพิ่มสกิลดิจิทัลไปพลาง ๆ ได้ที่ Coursera และ  edX.

Unlearn ไวกว่าได้เปรียบ

แม้การเรียนรู้จะสำคัญมาก แต่โลกหลัง COVID-19 ที่ “โลกแห่งความรู้” จะพลิกโฉมไปอย่างไม่มีหวนกลับ การ Learn อย่างเดียวอาจไม่พอ แต่ต้อง Unlearn ให้ไวได้พอ ๆ กัน

หลายคนยึดติดกับหลักการเดิมที่เคยเวิร์กเมื่อปีที่แล้ว และมุ่งมั่นคิดว่าแบบเดิมดีแล้วก็ต้องดีตลอดไป หรือเชื่อว่าความสำเร็จที่เรามีได้ทุกวันนี้ก็เพราะ 1 2 3 4 แล้วท่องจำราวกับเป็นตำราศักดิ์สิทธิ์ การ Unlearn คือความกล้าที่จะยอมรับว่าสิ่งที่เราเรียนรู้มาในอดีต มันอาจไม่ได้ใช้ได้กับสถานการณ์ปัจจุบันอีกต่อไป

คนที่จะรอดจึงไม่ใช่คนที่เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เท่านั้น แต่ต้องเป็นคนที่กล้าจะลดทิฐิ เลิกยึดติดและยอมรับว่าสิ่งที่เรารู้มามันอาจไม่ได้มีความหมายแล้ว ยิ่ง Unlearn ได้เร็ว เป็นน้ำแก้วเปล่าได้เร็วเท่าไร ก็ปรับตัวเรียนรู้ เติมน้ำได้ใหม่ไม่มีที่สิ้นสุดเพิ่มโอกาสรอดได้มากเท่านั้น

ท่องให้ขึ้นใจว่าทุกสิ่งจะ “ไม่มีวันหวนคืนมา”

ใคร ๆ ก็พูดถึง New Normal โลกยุค Post-COVID หลายคนอาจรู้สึกว่ามันไกลตัว แต่ที่จริงมันใกล้ตัวมากกว่านั้นโดยเฉพาะในโลกการทำงานที่บางอาชีพอาจสูญสลายหายไป แม้สถานการณ์จะคลี่คลายแล้วก็ตาม อย่างไรก็ดีมันไม่ได้น่ากลัวขนาดนั้น ตราบมใดที่เราเตรียมรับมือได้อย่างเหมาะสม

Virginia Buckingham คือคนที่กำลังไปได้ดีกับหน้าที่ทำงานของตัวเอง ทันใดนั้นเหตุการณ์ 911 ก็เกิดขึ้น ไม่เพียงผู้คนเสียชีวิต ตักเวิล์ดเทรดเซ็นเตอร์พังทลาย แต่อาชีพของเธอในขณะนั้นก็มลายหายไปด้วย ช่วงไม่กี่เดือนแรกเธอคิดว่ามันอาจเป็นเพียงเรื่องชั่วคราว แต่เมื่อเวลาผ่านไป 2-3 ปี เธอก็เข้าใจแล้วว่า “ความรุ่งโรจน์ในอาชีพเดิมจะไม่มีวันหวนคืนมา”

ทันทีที่เข้าใจแบบนั้น เธอเปลี่ยนทัศนคติ เริ่มใหม่ ขวนขวายหางานที่พ้นออกไปจากความคุ้นเคยเดิม ๆ เขียนเรซูเม่แบบใหม่ ไม่ปิดกั้นโอกาสตัวเอง จนตอนนี้เธอทำงานในสายอาชีพใหม่เป็นรองประธานฝ่ายกิจการองค์กรของบริษัท Pfizer เธอแนะนำว่าอย่ายึดติด อดทน และก้าวไปข้างหน้า ทุกอย่างมันอาจจะแตกต่างจากเดิมมากก็อย่าเพิ่งกลัว

การคิดว่าทุกสิ่งอาจจะหวนคืนมา หมายความถึงการที่เราคิดว่าเราจะรอ เราจะยึดติด ในขณะที่ถ้าจำให้ขึ้นใจว่าอย่างไรก็ไม่มีวันกลับมาเหมือนเดิม เราจะปล่อยมือได้ง่ายขึ้น ให้โอกาสตัวเองได้ลองสิ่งใหม่ ๆ ได้มากขึ้น อย่าคิดแค่ว่าเราทำอาชีพนี้แล้วต้องทำตลอดไป แสวงหาหนทางใหม่ ๆ เข้าไว้ เพราะสิ่งสำคัญตอนนี้คือการเอาตัวรอด มากกว่าการรอให้อาชีพเดิมกลับมาผงาดอีกครั้ง (ซึ่งไม่มีอะไรการันตีได้)

 

เมื่อทุกอย่างที่เคยคิดว่ามั่นคงไม่เป็นไปตามนั้น การโอดครวญยังทำได้ แต่อย่าโอดครวญแล้วนิ่งเฉย เราสามารถตะเกียกตะกายไปเท่าที่แรงยังพอมี ต่อลมหายใจทางหน้าที่การงานวันนี้เพื่อให้ตัวเราในอนาคตกลับมาขอบคุณและภาคภูมิใจกับตัวเราในตอนนี้ได้

 

SOURCE: 1, 2

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line