Life

ชีวิตและศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวแบบผสมผสานของ “ปลาย-จิติณัฐ”แห่ง ONE CHAMPIONSHIP

By: SPLESS November 14, 2019

ถ้าพูดถึงกีฬา ศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวแบบผสมผสานหรือ Mixed Martial Arts (MMA) ภาพที่หนุ่ม ๆ หลายคนคิดออก คงจะเป็นภาพของนักสู้ 2 คนยืนประจันหน้ากันบนสังเวียนกรง 8 เหลี่ยม ก่อนจะใช้ศาสตร์การต่อสู้ที่ฝึกฝนมาเอาชนะฝ่ายตรงข้าม ซึ่งอาจเป็นภาพลักษณ์ที่ดูรุนแรงหากมองผิวเผินจากมุมมองของคนภายนอก

แต่สำหรับชายที่ชื่อ “ปลาย-จิติณัฐ อัษฎามงคล” ผู้ใช้ชีวิตกับ MMA มานานกว่า 20 ปี กลับมองเห็นสิ่งที่มนุษย์ได้จากศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวแบบผสมผสานในมุมที่ต่างออกไป โดยนับตั้งแต่วันแรกที่ตัวเขามีโอกาสรู้จักกับศาสตร์การต่อสู้ที่เรียกว่า Mixed Martial Arts ตัวเขาก็ได้รู้จักโลกอีกแง่มุม รวมถึงมีโอกาสได้รับรู้แนวคิดที่นำมาปรับใช้ในชีวิต จนกระทั่งนำพาเขาขึ้นมายืนในจุดปัจจุบัน ในฐานะประธานของ ONE Championship ประเทศไทย

คนเราได้อะไรจะจากศาสตร์กีฬาการต่อสู้? อะไรที่เปลี่ยนเด็กชายที่มักโดนข่มเหงรังแกเพราะตัวเล็กกว่า ให้ตัดสินใจเดินเข้าสู่สังเวียนการต่อสู้ของ MMA วันนี้ UNLOCKMEN จะพาทุกคนไปหาคำตอบจากเรื่องราวที่น่าสนใจของเขาคนนี้ไปพร้อมกัน

แนะนำตัวหน่อยครับ

สวัสดีครับผมปลาย จิติณัฐ อัษฎามงคล ประธานของ One Championship ประเทศไทยครับผม

ONE Championship คือองค์กรเกี่ยวกับอะไร และก่อตั้งขึ้นมาโดยมีจุดมุ่งหมายอะไร?

ONE Championship คือ Sport Media Property สัญชาติเอเชียที่ใหญ่ที่สุดในโลก จัดอีเวนต์ทั่วภูมิภาคเอเชียและถ่ายทอดสดไปทั่วโลก ประกอบไปด้วยกีฬาอย่าง Mixed Martial Arts, Kick Boxing, มวยไทย ซึ่งถือเป็นโปรโมเตอร์ระดับโลกที่เริ่มโดยคนไทยคือ คุณชาตรี ศิษย์ยอดธง

ONE มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ ส่วนสำนักงานประจำประเทศไทยมีผมเป็นประธานอยู่ โดยเราหวังจะเป็นผู้สร้างอีเวนต์แล้วและคอนเทนต์เกี่ยวกับศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสาน รวมถึงสร้าง Ecosystem ให้กีฬาศิลปะป้องกันตัวในประเทศไทย

เข้ามาทำเกี่ยวกับ Mixed Martial Arts  ได้ยังไง เริ่มสนใจกีฬาศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสานตั้งแต่เมื่อไหร่ ?

ผมสนใจศิลปะป้องกันตัวแขนงต่าง ๆ มาตั้งแต่เด็กแล้ว ด้วยความที่ตอนเด็ก ๆ เราเป็นคนตัวเล็กและสุขภาพไม่ค่อยดีเท่าไหร่ อาจดูไม่ค่อยแข็งแรงหรือความมั่นใจในตัวเอง ตอนเด็กเราก็จะโดนรังแกอยู่เยอะเหมือนกัน จนกระทั่งคุณแม่ให้ผมเริ่มฝึกมวยไทย เอาครูมวยไทยมาสอนถึงบ้านเลย

ช่วงนั้น เป็นเหมือนช่วงที่กระตุ้นให้เราหันมาสนใจในสิ่งที่เรียกว่าศิลปะการต่อสู้ หรือกีฬาการต่อสู้ จนโตขึ้นมาเป็นวัยรุ่นผมก็มีโอกาสได้เข้าไปสัมผัสกับกีฬาการต่อสู้หลาย ๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นมวยไทย เทควันโด ไอคิโด รวมถึงมีโอกาสฝึกฝนบราซิลเลียนยิวยิตสูและวิชาป้องกันตัวอีกหลายชนิด

ในเวลาเดียวกันผมเป็นคนที่ชอบดูภาพยนตร์บู๊-แอ็กชันและกีฬาการต่อสู้ มีเพื่อนพี่น้องที่ทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมด้านนี้ ไม่ว่าจะเป็นสตั๊นต์แมน นักกีฬาหรือผู้ฝึกสอนอยู่หลายคน ทำให้มีโปรเจกต์ส่วนตัวเกี่ยวกับกีฬาการต่อสู้ ทั้งรายการ Reality รายการ Challenge หรือวิดีโอในต่าง ๆ เกี่ยวกับการสอน ศิลปะการต่อสู้อยู่ติดตัวมาตลอด

ผมมองว่าศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสานคือสิ่งที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงชีวิต ผมคงไม่มีทุกวันนี้ได้ ถ้าไม่มีสิ่งที่เรียกว่าศิลปะการต่อสู้ ที่ผ่านมาสิ่งนี้ช่วยพัฒนาคนที่ร่างกายอ่อนแอ คนที่จิตใจไม่เข้มแข็งและขาดความมั่นใจในตัวเอง จนดูเหมือนไม่มีเป้าหมายในชีวิต กลายมาเป็นคนที่ค้นพบขุมพลังบางอย่าง กลายเป็นคนไม่ยอมแพ้อะไรง่าย ๆ มีความอดทน ก่อนจะพัฒนาตัวเองจนมีความสามารถทั้งในด้านธุรกิจ วิธีคิด รวมไปถึงการใช้ชีวิต

ความสนใจใน Mixed Martial Arts ของเมืองไทยในสมัยก่อนและปัจจุบันต่างแตกกันไหม?

ถ้าพูดถึงช่วงเวลาประมาณ 10 ปีที่แล้ว มองว่าความตื่นตัวในเรื่อง Mixed Martial Arts ยังมีไม่สูงเท่าไหร่ เนื่องจากในช่วงนั้นมวยไทยซึ่งเป็นศิลปะการต่อสู้ประจำชาติ กำลังอยู่ในช่วงซบเซาพอดี หลายคนจึงยังไม่เข้าใจและต่อต้านกีฬามาใหม่อย่างศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสาน

ผมเป็นหนึ่งในคนที่อยู่ในกลุ่มของศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสานที่ถูกตราหน้าว่าเป็นคนเถื่อน เพราะคนมองว่ากีฬาศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสานเป็นกีฬาที่โหดร้าย เพราะคนคุ้นเคยกับภาพของมวยกรง และภาพลักษณ์ตรงนั้นทำให้คนไม่เข้าใจว่าที่จริงแล้ว กรง คือเวทีที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับการแข่งขันศิลปะการต่อสู้ ปลอดภัยกว่าเวทีเชือกที่เราเห็น

สองคือรูปแบบศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสาน จะมีการทุ่ม ล็อก หัก ซ้ำจนไปถึงขั้นการเผด็จศึก ซึ่งคนมองว่าการล้มแล้วสามารถซ้ำได้ มันรุนแรงและไม่มีความเป็นลูกผู้ชาย แต่เรื่องจริงคือ ศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสานครึ่งหนึ่งที่มีบนโลกใบนี้ เป็นศิลปะการต่อที่มีการทุ่มและล็อกทั้งหมด แม้แต่มวยไทยในสมัยโบราณเองก็ตามก็มีสิ่งเหล่านี้

แต่ภาพที่คนมองเห็นใน MMA คือผู้ชายสองคนไม่ใส่เสื้อเดินเข้ามาในกรง ต่อสู้กันจนกว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะยอมแพ้หรือน็อก ภาพถูกมองแบบนั้น ในยุคก่อนหน้านี้ศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสานโดนต่อต้านเพราะคนยังเข้าใจ รวมถึงไม่มีการโปรโมตหรือแข่งขันในระดับโลกเข้ามาในประเทศไทย ความสนใจในเรื่องศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสานในอดีตจึงไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร จนไม่กี่ปีที่ผ่านมาศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสานก็ได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้น

ปัจจุบันอะไรที่กระตุ้นให้คนไทยหันมาสนใจศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสานมากขึ้น?

ต้องบอกก่อนว่ากีฬาศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสาน ONE เข้ามาในประเทศไทยผ่านดีวีดีเถื่อนและวิดีโอออนไลน์ เพราะสมัยนั้นยังไม่มีการซื้อลิขสิทธิ์เข้ามาถ่ายทอด รวมถึงไม่มีการแข่งขันระดับโลกเข้ามาจัด ที่จริงเคยมีโปรโมเตอร์ชาวญี่ปุ่นอยากจะลองเข้ามาจัด แต่ก็ถูกต่อต้าน ถูกแบนเยอะมาก ส่วนโปรโมเตอร์ในไทยก็ต้องจัดกันแบบลับ ๆ ไม่ให้คนรับรู้เยอะเกินไป

แต่เราไม่ได้ละเมิดกฎหมายอะไร แค่จัดการแข่งขันศิลปะการต่อสู้ขึ้นมาเฉย ๆ แต่ถ้าเราจัดในสถานที่โจ่งแจ้งเกินไป สมัยนั้นก็มีคนที่ไม่หวังดีที่จ้องจะเล่นงาน เพราะความเข้าใจผิดบ้าง รวมถึงผู้มีอำนาจในกลุ่มกีฬาชนิดอื่นที่ไม่เข้าใจในกีฬาชนิดนี้ อาจเสนอแบนเรา

เหตุผลที่เขาชอบใช้คือ MMA คือกีฬารุนแรง เป็นกีฬาที่ไม่เป็นลูกผู้ชาย หนักที่สุดคือเป็นกีฬาที่เข้ามาทำลายมวยไทย ซึ่งในความเป็นจริงมวยไทยทุกวันนี้ที่โตไปสู่ระดับโลกได้ หนึ่งในปัจจัยที่ช่วยได้อย่างมากคือ ศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสานและ Kick Boxing นี่แหละ

ในเวลาต่อมาเริ่มมีทัวร์นาเมนต์สมัครเล่นเกิดขึ้น ซึ่งผมมีโอกาสเข้าไปให้คำแนะนำว่า กติกาจะต้องเป็นยังไง ความปลอดภัยต้องมีตรงไหน เพราะเวลานั้นผมเป็นไม่กี่คนในประเทศไทยที่เคยสัมผัสกีฬาศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสานแบบจริงจัง ถือเป็นกลุ่มคนบุกเบิกของวงการ ซึ่งทุกวันนี้คนรู้จักหลายคนพัฒนามาเป็นผู้ใหญ่ในวงการ ทั้งโปรโมเตอร์ เจ้าของยิม ทั้งหมดเริ่มมาจากไปจัดงานและลงแข่งในยุคแรก ๆ ด้วยกัน

พอเกิดจากแข่งขันขึ้นก็ทำให้หลายคนมองเห็นและเริ่มตื่นตัว จริง ๆ แล้วศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสานไม่ใช่รูปแบบกีฬาที่อันตราย รวมถึงมีเสน่ห์ความน่าสนใจในหลาย ๆ ด้าน ไม่ได้เป็นมวยเถื่อนที่เอาคนไม่เป็นมวยมาต่อยกัน เพราะกีฬาศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสานเป็นกีฬาที่ต้องใช้ IQ สูงมาก และใช้องค์ความรู้มากที่สุดในบรรดาศิลปะการต่อสู้ทั้งหมด มีทั้งการต่อสู้ในท่ายืน ท่านอน หรือแม้แต่ทักษะการใช้กรง ทั้งหมดมีศาสตร์และศิลป์ที่หลายคนอาจจะยังไม่เคยรู้

ในยุคแรกเริ่ม เรียนรู้ศิลปะการป้องกันตัวแบบผสมผสานจากใคร?

ยุคแรกที่ผมเรียนรู้ศิลปะการป้องกันตัวแบบผสมผสาน ตอนนั้นยังอยู่ต่างประเทศซึ่งไม่มีคนสอนเลย เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องที่ค่ายในประเทศไทยจะต้องนำผู้ฝึกสอนจากต่างประเทศเขามา หรือถ้าไม่สามารถเรียนแบบเข้าถึงครูได้ เราก็ซื้อแผ่นดีวีดีมาดู แล้วลองซ้อมกับเพื่อนบางครั้งก็ต้องวิธีสร้างตารางฝึกของตัวเองขึ้นมาเพราะเราหาเพื่อนฝึกได้ยาก

บางครั้งเราต้องเดินทางไปสัมมนาข้ามรัฐเพื่อที่จะมีโอกาสได้เรียนกับครูที่เราสนใจ หรือไม่ก็ลงแข่งขันเองไปเลยเพื่อเก็บประสบการณ์ผ่านการแข่งจริง เพราะประสบการณ์เหล่านี้ไม่สามารถหาได้จากที่ที่เราอยู่ รวมถึงอยากรู้ว่าซึ่งที่เราฝึกฝนมาจะสามารถนำไปใช้งานจริง ๆ ได้แค่ไหน

การขึ้นแข่งขันในสังเวียนจริง ให้เราได้บ้าง?

สำหรับผมขอเรียกว่า ประสบการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล เพราะก่อนหน้านั้นผมไม่เคยลงแข่งขันเลย เราฝึกซ้อมแค่สันทนาการกันเฉย ๆ แต่สำหรับการเตรียมตัวเพื่อแข่งจริง สิ่งที่เราต้องเผชิญคือต้องมีวินัยในการซ้อม มีเป้าหมายในการซ้อม ต้องมีทีมเวิร์กกับเพื่อนกับชมรมของเรา ซึ่งทำให้เรามีระเบียบวินัยและรู้จักการทำงานร่วมกับคนอื่น

เมื่อวันแข่งขันมาถึง อีกความท้าทายหนึ่งที่เข้ามาคือ เราเอาตัวเองออกจาก Comfort Zone มีครั้งหนึ่งที่ผมเข้าแข่งขันศิลปะการป้องกันตัวแบบผสมผสานรุ่นสมัครเล่นซึ่งจัดขึ้นไทยเมืองไทย เมื่อก่อนผมกลัวมากที่จะก้าวขึ้นเวทีไปต่อสู้กับใครบางคน และการต่อสู้ในครั้งนั้นผมต้องสู้กับแชมป์จากปีที่แล้วที่เป็นนักมวยไทยมาก่อน

พอระฆังดัง ความรู้สึกของเราเหมือนตกบ่อจระเข้ไปแล้วและต้องเอาตัวรอดให้ได้ ต้องรวบรวมสติและใช้ไหวพริบทุกอย่างให้เราผ่านเหตุการณ์ไป กลายเป็นว่าวันนั้นผมสู้จนชนะ มันทำให้เห็นเลยว่าที่การแข่งขันที่ผ่านมาที่เราแพ้มันเกิดจากอะไร มันทำให้เราซื่อสัตย์กับตัวเองว่า คราวก่อนที่แพ้มามีเหตุผลโดยไม่มีข้ออ้างในการแก้ตัว

ทั้งหมดทำให้เรารู้ว่า นอกจากการต่อสู้แล้วจะเป็นการเอาชนะคนที่ยืนอยู่ต่อหน้าแล้ว ที่สำคัญกว่าการคือการเอาชนะตัวของเราเอง ทั้งหมดเป็นสิ่งที่ทำให้ผมคิดว่าศิลปะการป้องกันตัวแบบผสมผสาน เป็นสิ่งที่มีค่ามาก และมีส่วนสำคัญที่ทำให้ผมประสบความสำเร็จในการลงมือทำสิ่งต่าง ๆ ได้ดีมาจนถึงทุกวันนี้

เทียบความแตกต่างระหว่างประเทศที่มีศิลปะป้องกันตัวที่โด่งดังอย่างประเทศไทยกับประเทศอื่นในอาเซียนมีความนิยมต่างกันไหม?

ค่อนข้างต่างกันนะครับ โดยธรรมชาติแล้วประเทศที่มีศิลปะป้องกันตัวที่มีอำนาจในอุตสาหกรรมเยอะ พูดตรง ๆ คือมีเจ้าถิ่นใหญ่ที่ไม่รู้ว่าจะชอบเราไหม บางประเทศที่ตกลงร่วมกันได้ก็ไม่เกิดปัญหาอะไร แต่ในไทยเมื่อหลายปีก่อน หลายคนไม่ชอบการต่อสู้แบบนี้ รวมถึงต่อต้าน เหมือนกับเขามองเราเป็นโปรโมเตอร์ต่างชาติที่ไม่มีทีมในไทยมาก่อน

ประเทศที่ผู้คนคุ้นเคยกับกีฬาการต่อสู้ มีแนวโน้มสูงที่จะมองคู่แข่งจากต่างประเทศเข้ามาทับซ้อนผลประโยชน์ ทำให้อาจมีกำแพงต่อต้าน แต่ในประเทศที่ไม่มีอุตสาหกรรมกีฬาต่อสู้ที่แข็งแรงมากนักอย่าง มาเลเซีย อินโดนีเซีย แรงต่อต้านจึงไม่มีมากเท่าไหร่

ยกเว้นประเทศที่มีประเพณีที่แตกต่างซึ่งอาจมองว่าการต่อสู้ยังคงรุนแรง รวมถึงการใช้ Ring Girls ที่นุ่งน้อยห่มน้อยไม่เหมาะสม ซึ่งอาจเกิดจากค่านิยมหรือวัฒนธรรมมากกว่าเป็นการต่อต้านของกีฬาในตลาดด้วยกันเอง

ถือเป็นความได้เปรียบไหม ที่เมืองไทยมีศิลปะการต่อสู้ที่ได้รับความนิยม?

ผมมองว่าเป็นความได้เปรียบอย่างมากเรื่องหนึ่งเลย ผมเคยพูดมานานแล้วว่าประเทศไทยเราคือศูนย์รวมที่สำคัญมากของศิลปะการต่อสู้ ไม่ใช่แค่มวยไทยแต่รวมถึง MMA ด้วย ทุกวันนี้พูดได้เลยว่ายิมที่อยู่ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นของคนไทยหรือต่างชาติต่างเป็นยิมระดับโลก มีแชมป์จากหลากหลายทวีปเลือกบินมาเพื่อเก็บตัว เพราะว่าความแข็งแรงของมวยไทยคือสุดยอดของโลก ทุกชาติรู้ว่าการจะประสบความสำเร็จใน Kick Boxing หรือ MMA ทุกคนจะเก่งได้ต้องผ่านการฝึกมวยไทยมาในระดับหนึ่งเสียก่อน

ส่วนประเทศที่มวยไทยแข็งแรงที่สุดแน่นอนต้องเป็นบ้านเรา ซึ่งมีความเหมาะสมตั้งแต่เป็นประเทศโซนเขตร้อน ทำให้การปรับตัวสำหรับแข่งขันในไทม์โซนเดียวกันเป็นสิ่งที่เหมาะสม รวมถึงค่าครองชีพต่ำ นักกีฬาต่างชาติหลายคนที่มาฝึกซ้อมในเชียงใหม่ พัทยา และภูเก็ตก็เหมือนได้พักร้อนไปในตัว ที่สำคัญคือมีการฝึกที่เข้มข้นจากครูระดับท็อปของโลก เมืองไทยจึงถือเป็นจุดศูนย์รวมที่เหมาะสมมาก

ONE Championship กำลังมีโปรเจกต์อะไรสำหรับประเทศไทยบ้าง?

ยุทธศาสตร์ของเราหลังจากมีทีมในประเทศไทย นอกจากอีเวนต์ใหญ่ที่จัดขึ้น 2-4 ครั้ง/ปี เรายังต้องการเพิ่มในส่วนของจำนวนอีเวนต์ ว่าจะทำยังไงให้อีเวนต์สามารถดึงดูดผู้คนได้มากขึ้น รวมถึงพัฒนา Local Series ท้องถิ่นเพื่อที่จะทำให้ ONE Championship ประเทศไทย ไม่ได้เป็นเพียงผู้จัดงาน Sport Entertainment เพียงอย่างเดียว แต่เป็นกลุ่มที่เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกีฬาต่อสู้หรือการท่องเที่ยว

โดยเฉพาะด้านกีฬา ONE Champiomship ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงพัฒนาโปรเจกต์ เพื่อเตรียมสำหรับการสร้างและพัฒนานักกีฬาท้องถิ่นด้วยการจัด Feeder League เพื่อให้นักกีฬาได้มีเวทีในระดับ Local Stage ก่อนที่จะไต่เต้าขึ้นไปสู่สนามระดับโลก

อีกเรื่องสำคัญสำหรับเราคือไม่ใช่แค่สร้างนักกีฬาขึ้นมา แต่ต้องสร้างฮีโร่ที่มีเรื่องราวน่าสนใจ และสามารถเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้คนรวมถึงสร้างประโยชน์ต่อสังคมได้ ก่อนจะพัฒนาจุดต่าง ๆ ให้มีคุณภาพในระดับสากลมากขึ้นในอนาคต

ทำอย่างไรถึงจะกลายมาเป็นนักกีฬาของ ONE Championship ได้

ด้วยความที่กีฬาศิลปะป้องกันตัวแบบผสมผสานในบ้านเรายังไม่มีระบบรากฐานที่แข็งแรงมากเท่าที่ควร ไม่มีการแข่งขันแบบจริงจังที่แบ่งเป็นลีกแบบประเทศในโซนยุโรปหรืออเมริกา ในทุกชนิดกีฬาบางครั้งเยาวชนก็ก้าวขึ้นมาต่อยอาชีพเลย

ศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสานก็คล้ายกัน คือยังไม่มีการแข่งขันระดับสมัครเล่นที่แพร่หลาย แต่เรียกว่ามีอยู่บ้าง ซึ่งความท้าทายในตอนนี้คือนักกีฬาสมัครเล่นที่เล่น MMA มีจำนวนไม่เยอะ เพราะว่าครูที่เป็นคนไทยที่พร้อมจะสอนมีน้อย ซึ่งการเล่นกีฬาศิลปะต่อสู้แบบผสมผสาน คุณต้องเรียนมวยไทย เรียนบราซิลเลียนยิวยิตสู เรียนมวยปล้ำ รวมถึงมวยสากล ทำให้ไม่ใช่ทุกยิมจะสามารถสร้างนักกีฬาขึ้นมาได้

เราเลยมีแนวคิดในการพัฒนาหลักสูตรหรือองค์ความรู้เกี่ยวกับศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสานมากขึ้น เพียงแต่ยังไม่มีการก่อตั้งขึ้นมาจริงจังแบบเทควันโด ที่มีหลักสูตรสอนและหลักสูตรการสอบสาย ทำให้เขามีเส้นทางของการเติบโตที่ค่อนข้างเป็นระบบและชัดเจนมาก

ในขณะที่กีฬาการต่อสู้ชนิดอื่น ๆ ยังคงให้ความสำคัญกับการแข่งขันอาชีพมากกว่าสมัครเล่น แต่ไม่รู้เลยว่าการแข่งขันอาชีพจะเติบโตและพัฒนาได้อย่างยั่งยืน มันจำเป็นต้องมีระบบค่อยสนับสนุนกันก่อนที่จะก้าวสู่การแข่งขันระดับโลก

แรงบันดาลใจการสร้างฮีโร่ด้วยศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสานมาจากไหน?

เราเริ่มมาจากคุณ ชาตรี ศิษย์ยอดธง เขาเคยเป็นนักกีฬาศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสานมาก่อน ก่อนจะเปิดยิมเป็นของตัวเอง เขาเป็นคนที่มีความเชื่อว่าโปรโมเตอร์ต่างประเทศจะเน้นนักกีฬาและการแข่งขันที่สนุกตื่นเต้นหรือดราม่าที่มากกว่าซึ่งมีผลในด้านลบในบางครั้ง

แต่ ONE Championship มองว่าเราต้องการเป็นโปรโมเตอร์เอเชียที่สร้างความแตกต่าง ด้วยการนำคุณค่าของความเป็นเอเชียกลับมาอีกครั้ง คือสร้างคุณค่าในศิลปะการต่อสู้  สร้างคุณค่าในเรื่องน้ำใจนักกีฬา แสดงให้เห็นว่ากีฬาสามารถเปลี่ยนแปลงเรา เปลี่ยนแปลงโลกได้ และสร้างฮีโร่ขึ้นมาได้ รวมถึงกีฬาสามารถบอกเล่าเรื่องราวที่น่าสนใจได้ ไม่ว่านักกีฬาคนนั้นจะเป็นผู้ชนะหรือผู้แพ้ก็ตาม เป็นเรื่องราวของคนที่เป็นฮีโร่ในชีวิตจริงไม่ใช่แค่บนสังเวียน

วันนี้ในฐานะประธานของ ONE Championship มีวิธีการอย่างไรในการแบ่งปันสิ่งที่เจอให้กับคนอื่น ๆ ?

หนึ่งในแนวทางที่ตัวผมทำมาโดยตลอด ตั้งแต่ก่อนหน้านี้สมัยรับหน้าที่เป็นประธานสมาพันธ์ศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสานแห่งประเทศไทย เรามีแผนที่จะสร้าง Ecosystem ในระดับสมัครเล่นขึ้นมา ซึ่งสอดคล้องกับการได้เข้ามาเป็นประธานของ ONE Championship ของผมในวันนี้

อีกเป้าหมายของ ONE Championship คือเรื่องของการพัฒนาคน การเล่าเรื่องราวของคน หรือกรณีที่เรามีโอกาสได้แชร์กับนักกีฬาทุกคนว่า ถ้าคุณอยากจะประสบความสำเร็จในอาชีพ คุณจะมีฝีมืออย่างเดียวไม่ได้ แต่คุณจะต้องเป็นฮีโร่ได้ทั้งในและนอกสังเวียน รวมถึงมีทักษะการบริหารจัดการชีวิตตัวเอง ซึ่งทั้งหมดเป็นมิติที่ไม่ใช่แค่การสร้างนักสู้  แต่เป็นการสร้างบุคคลที่ประสบความสำเร็จในชีวิต

ส่วนในกลุ่มเด็กหรือเยาวชน ผมก็มีโอกาสได้ไปแชร์ โดยการทำสัมมนาการใช้ศิลปะการต่อสู้เพื่อป้องกันตัวเองจากการถูกรังแกหรือบุลลี่ ถือเป็นเรื่องโชคดีที่เราเป็นได้ทั้งนักพูด เป็นครู รวมถึงผู้ฝึกสอนในการได้เผยแพร่ความรู้และทักษะให้กับกลุ่มคนหลาย ๆ

ที่สำคัญคือ เราคิดว่าจะทำยังไงให้ศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสานสามารถเข้าไปอยู่ในโปรแกรมการสอนได้ ไม่ว่าโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย เราอยากให้เด็กนอกจากจะได้เรียนร้องเพลง ได้ฝึกซ้อมกีฬาชนิดต่าง ๆ แล้ว อยากให้หันมามองศิลปะการต่อสู้ให้เป็นมากกว่ากีฬาที่ซ้อมเพื่อเป็นนักมวย แต่เป็นกิจกรรมที่จะช่วยฝึกฝนทั้งร่างกายและจิตใจ  รวมถึงให้ความบันเทิง มากกว่าความตื่นเต้นเร้าใจที่ใจจากสังเวียนการต่อสู้เพียงอย่างเดียว

คงเห็นแล้วว่ากีฬาศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสานสามารถให้อะไรเราได้มากกว่าที่คิด เพราะไม่ใช่แค่ทักษะและความแข็งแรงของร่างกาย แต่รวมไปถึงพัฒนาความแข็งแกร่งด้านจิตใจ และเรื่องราวชีวิตของคุณปลายที่ผ่านมาก็แสดงให้เราเห็นแล้วว่า Mixed Martial Arts ไม่ได้เป็นเพียงกีฬาป่าเถื่อนที่สร้างขึ้นมาเพื่อความบันเทิงและความสะใจอย่างที่หลายคนเข้าใจเท่านั้น แต่คือหนึ่งในศาสตร์การต่อสู้ที่สามารถขัดเกลาผู้คนให้แข็งแกร่งได้ทั้งด้านร่างกายและจิตวิญญาณที่อยู่ภายใน

SPLESS
WRITER: SPLESS
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line