Work

งานวิจัยชี้ แบ่งเวลาไปแกล้งเห็นใจคนรอบข้างบ้าง ไม่ได้แปลว่าโกหกแต่ดีต่อหน้าที่การงาน!

By: anonymK February 11, 2020

โตขึ้นเราต้องโหดร้าย ทำงานเราต้องเด็ดขาด เพราะสถานการณ์ที่ทำตัวรอมชอม รองบ่อนเกินไปมักจะทำให้เราโดนงัดข้อจากคนอื่นเสมอ คนส่วนใหญ่เลยคิดว่า “ความรู้สึกเห็นใจ” คือตัวปัญหาและเป็นอุปสรรคที่ควรตัดทิ้ง หรืออีกเหตุผลที่เราไม่สนใจคนอื่นนักบางครั้งก็ไม่มีอะไรมากกว่า “กูมาทำงาน เอาเงินเดือน ไม่ได้มาหาเพื่อน หาสังคม” สักหน่อย

ความรู้สึกเห็นใจลูกค้า เจ้านาย หรือเพื่อนร่วมงานบ้างมันช่างดูเลียคนและเสียเหลี่ยม หันไปรับผิดชอบหน้าที่การงานของตัวเองเท่านั้นคือคำตอบที่ดีกว่า แต่มีงานวิจัยเสนอความโปรดักทีฟอีกทางว่า การมีทักษะ “ใส่ใจคนรอบข้าง” มันช่วยให้งานของเราดีขึ้นจริง ๆ

ผลวิจัยจาก Washington State University เผยว่าจากการทดลองกับกลุ่มนักศึกษาจาก 5 ประเทศที่แสดงออกเชิง Positive แบบ Extrovert แม้ว่าพวกเขาจะไม่ได้เป็นเช่นนั้น ช่วงท้ายของการทดลองกลับพบว่าคนกลุ่มนี้มีความสุขเพิ่มขึ้นจริง ๆ และแน่นอนว่าเมื่อความสุขเพิ่มขึ้นการใช้ชีวิตก็ดีขึ้นตามลำดับ

นอกจากผลการวิจัยด้านบน Rebekah Bernard แพทย์สาวคนหนึ่งยังยืนยันเรื่องนี้จากประสบการณ์ส่วนตัวของเธอ จากเดิมที่เธอไม่ค่อยเห็นด้วยกับการรักษาแบบเห็นอกเห็นใจคนไข้นัก เพราะคนไข้ส่วนใหญ่มักจะทำตรงข้ามกับวิธีการรักษา โรคที่พวกเขาเจ็บป่วยโดยมากเกิดจากพฤติกรรมส่วนตัว เช่น ผู้ป่วยโรคหัวใจที่มีผลเกี่ยวข้องจากน้ำหนักตัว เป็นต้น แต่หลังจากเธอแสร้งแสดงความห่วงใยใส่ใจในช่วงสั้น ๆ ฟังการเล่าอาการและความรู้สึกของคนไข้ยาว ๆ ทั้งที่รู้แก่ใจว่าต้นเหตุมาจากอะไร เธอพบว่ามันช่วยให้สิ่งต่าง ๆ ราบรื่นกว่า ทั้งกับเรื่องงาน เพื่อนร่วมงาน และคนไข้ การทำสิ่งตรงข้ามกับใจแบบนี้ดันทำให้เธอไม่รู้สึกแปลกแยก โดดเดี่ยว และงานลุล่วงไปด้วยดี

แล้วทำแบบนี้มันเรียกว่า Fake ไหม ? การใส่หน้ากากเข้าหากันมันดีกว่าจริงเหรอ ? เราเชื่อว่าต่อให้เราบอกว่าผลลัพธ์มันดี มันโปรดักทีฟ ผู้ชายเรายังต้องรู้สึกตะขิดตะขวงกับการทำตรงข้ามใจอยู่ดี

แต่ถ้าอ่านจนจบคุณจะเข้าใจว่าไอ้การแสร้งแบบนี้มันไม่ได้แย่ขนาดนั้น UNLOCKMEN มีเทคนิคที่ช่วยทำให้คุณทำมันได้ง่ายขึ้น โดยย้ำอีกครั้งว่า “ไม่ใช่การโกหก” อย่างที่คิด

 

จงฝืนใส่ใจอย่างเนียน ๆ แต่อย่าให้มันฝืดจนใครมองออก

การแกล้งทำในสิ่งที่ตรงข้ามกับใจเราไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้นจำไว้เสมอว่าสิ่งที่คุณทำ อย่าไปโกหกมันทั้งหมด แค่แกล้ง ๆ ทำพอ อาจจะฟังดูย้อนแย้งไปนิด แต่ถ้าอธิบายว่าให้หาเรื่องจริงบางเรื่องที่เป็นจุดร่วมของความรู้สึกเอาไว้ แล้วจับมันมาเบลนด์เข้าด้วยกันคงจะพอเห็นภาพมากขึ้น

ยกตัวอย่างว่าเราไม่ได้อยากรู้หรอกว่าเพื่อนร่วมงานไปเที่ยวไหนช่วงวันหยุด แต่เราสามารถแกล้งใส่ใจโดยหาจุดร่วมในสิ่งที่เราสนใจไปเพิ่มในบทสนทนานั้นได้ เพื่อไม่ให้สิ่งที่พูดเป็นการถามไปงั้น ๆ ขอไปที เช่น เพื่อนไปเที่ยวที่ภูเขา เราชอบตั้งแคมป์ เราอาจจะพูดถึงเรื่องการตั้งแคมป์ว่าสนุกอย่างไร ได้ทำไหม ฯลฯ บทสนทนาจะเริ่มน่าสนใจขึ้นมาทันทีและทำให้เราคุยกันได้นานขึ้น

จากบทสนทนาเล็ก ๆ นี้จะช่วยทำให้ความรู้สึกเกรงใจเหมือนมีกำแพงกั้นเบาบางลง เราจะเริ่มทำงานกับคนที่เราเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์เล็ก ๆ น้อย ๆ นี้ได้ดีขึ้น อาจเป็นการไหว้วานหรือรับการช่วยเหลือจากเขา

อีกวิธีคือการสละเวลาเขียนโน้ตเล็ก ๆ ให้เพื่อนร่วมงานแสดงความขอบคุณถ้าเขาช่วยเหลือเรา หรือให้ของฝากเล็ก ๆ ในโอกาสพิเศษ สิ่งเหล่านี้แม้เราจะมองว่ามันไม่สำคัญ เพราะมันก็เป็นหน้าที่ที่เขาต้องทำ แต่ถ้าคุณได้ลองตอบแทนเขาไป (แบบพอดี อย่าไปทำให้เวอร์เกินจนดูเป็นการกระทำหวังผล) จะช่วยสร้างสายใยความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งขึ้นกว่าที่เราคิด

เหตุผลสำคัญที่เราห้ามโกหกเพราะเวลาโกหกฝ่ายตรงข้ามมักจะสัมผัสได้ เหมือนเวลามีคนมันทำตัวไม่จริงใจใส่เรา มองแวบเดียวก็รู้ ดังนั้นต่อให้พวกเราทุกคนจะมั่นใจในสกิลความหน้าตายที่หลอกสาวตอนสับรางไปเที่ยวกับแก๊งเพื่อนหรือหนีไปควงสาวอื่น เราก็ไม่ยืนยันให้เสี่ยงทำแบบนี้ เพราะขนาดแฟนที่ยอมอภัยให้เราครั้งแล้วครั้งเล่ายังมีสิทธิ์ทิ้งเราได้ถ้าเธอจับได้ คนที่ไม่ได้มีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับเราก็มีสิทธิ์สะบั้นมันได้ง่ายกว่านั้น การเสี่ยงโกหกแล้วมีเปอร์เซ็นต์ให้คนอื่นจับได้จึงไม่คุ้มกัน

เสริมทริคของการ “แกล้งใส่ใจ” ฉบับพอดีให้สมบูรณ์ นอกจากการผสมความจริงลงไปในนั้นด้วย เรื่องภาษากายเล็ก ๆ ก็ช่วยได้ ไม่ว่าจะเป็นการสบตาระหว่างพูดคุยที่ช่วยสร้างความรู้สึกเชื่อมต่อทางใจ หรือการทวนประโยคที่ฝ่ายตรงข้ามพูดเพื่อแสดงให้เห็นว่าเราใส่ใจฟังคำพูดของเขาและเข้าใจมัน

 

ใส่หน้ากากมากเกินไป BURNOUT ไวกว่าปกติ

หากแกล้งเอาใจใส่เนียนแล้วได้ผลดีแล้ว คำเตือนอีกข้อที่ต้องระวังคืออย่าทำมันจนมากเกินไป เพราะไม่ใช่แค่คนอื่นจะผิดสังเกตกับสิ่งที่เราทำว่านี่เป็นกระทำหวังผลหรือเปล่า เราเองจะก็รู้สึกเหนื่อยจนต้องมานั่งปรับจิตกับตัวเองว่า เฮ้ย ! นี่ทำงานแล้วเราต้องลงทุนกันขนาดนี้เลยเหรอและขาดความเป็นตัวของตัวเองไป

Monica Worline นักวิทยาศาสตร์ CCARE (The Center for Compassion and Altruism Research and Education) จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดเผยว่าเมื่อเราถูกบังคับให้แสดงอารมณ์ปลอม ๆ (แม้ว่ามันจะมีเปอร์เซ็นต์บางเรื่องที่เป็นจริง) มากกว่าโชว์ความรู้สึกจริง ๆ ในวันทำงานปกติ มันจะทำให้เรารู้สึกกดดัน เครียด และไม่มีความสุขกับงาน จนถึงขั้น Burnout กับการทำงานไปเลย

Soft Skills ที่มีไว้ก็ดี มากไปก็มีผลเสียแบบนี้ ลองฝึกและเช็กใจตัวเองให้ดีก่อนทำ UNLOCKMEN แนะนำว่าอย่าเครียดกับมันมากหรือคิดว่ายากจะเกินรับไหว เราเชื่อว่าทุกคนคงมีพื้นฐานของเรื่องพวกนี้ติดตัวกันอยู่แล้วเพราะการเกื้อกูลกันคือระบบหนึ่งของสังคม

มนุษย์เองก็เป็นสัตว์สังคมจึงไม่สามารถอยู่ได้ลำพัง ต้องปรับตัวตามสภาพแวดล้อมและเรียนรู้การทำอะไรฝืนใจตัวเองบ้าง พวกเราล่ะ เห็นด้วยกับสิ่งที่นักวิจัยเขาบอกไหม

 

SOURCE

anonymK
WRITER: anonymK
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line