Life

ศิลปะแห่งการพูดคุย: 5 คำถามที่ไม่ควรเอ่ยปากออกมาถ้าไม่อยากโดนด่า(ในใจ)หรือสะบัดมือใส่

By: PEERAWIT March 14, 2018

“The art and science of asking questions is the source of all knowledge. – ศาสตร์และศิลป์ของการถามคำถามคือต้นกำเนิดของแหล่งความรู้”

คำกล่าวของ Thomas Berger นักประพันธ์ชื่อดังชาวอเมริกันผู้ล่วงลับ

 

เคยถามตัวเองไหมครับ ว่าเวลาที่เราเข้าสังคมทำไมถึงไม่ค่อยมีใครอยากคุยกับเราต่อเลย ทั้ง ๆ ที่เราก็เปิดฉากสนทนาด้วยการถามไถ่ด้วยความใส่ใจ เรื่องอัธยาศัยก็ระดับผู้ชาย friendly แต่ก็ยังโดนเบือนหน้าหนี บ้างก็โดนด่า(ในใจ) ไม่ก็โดน ‘สะบัดมือใส่’ หรือว่าเราพูดอะไรผิดไปวะ !?

เรื่องการเข้าสังคมและสนทนากับผู้อื่นถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนครับ บางครั้งเราก็ไม่รู้ตัวว่าประโยคคำถามของเราอาจทำให้ใครเขารู้สึกแหม่ง ๆ หรือเขินอายได้เหมือนกัน เอาอย่างนี้ครับ เริ่มต้นด้วยการสำรวจว่าเราชอบถามคำถามแบบนี้หรือเปล่า และถ้าพบว่าเออหวะ เรา(แม่ง)ชอบถามแบบนี้ด้วยความเคยชิน ทีมงาน UNLOCKMEN ก็มีแนวทางการถามที่ต้องการคำตอบเดียวกัน แต่ฟังแล้วสมูธกว่าเยอะมาแนะนำกันด้วย เข้าใจครับว่าการอยากรู้เรื่องชาวบ้านมันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ แต่มันก็ต้องมีศิลปะกันหน่อย

 

“ไปเที่ยวมาเหรอ ? น่าสนุกนะครับ”

ส่วนใหญ่เวลาที่เราได้ยินคนบอกว่าไปไหนมา เรามักจะคิดไปเองก่อนว่าเขาไปเที่ยวและต้องสนุกแน่ ๆ ตั้งสติก่อน เพราะอาจไม่ได้เป็นอย่างที่คิด

A: “อาทิตย์ก่อนผมไปเชียงใหม่มา”

B: ” อ่อ เหรอครับพี่ เจ๋งเลย ได้หญิงเชียงใหม่บ้างมั้ยพี่ ?”

A: “ไม่ได้เที่ยวเลย ผมไปงานศพญาติสนิทมาครับ”

B: “โอ่ว ขอโทษครับพี่ เสียใจด้วยครับ” (ยกมือไหว้แทบไม่ทัน)

ไม่ก็อีกสถานการณ์หนึ่ง คุณเห็นเพื่อนร่วมงานกำลังจองโรงแรมในต่างประเทศสำหรับ 2 คน เลยแซวซะเลย “พาสาวไปเที่ยวที่นั่นเหรอครับ ผมเคยไปมาหนนึง ที่นั่นเจ๋งมากเลย” จากนั้นเพื่อนร่วมงานของคุณก็หันมาทำตาแข็งแล้วพูดว่า “ผมจะพาแฟนไปหาหมอมะเร็งที่นั่นครับ เริ่มลามแล้ว” เศร้าเลย

เวลาเจอเหตุการณ์ทำนองนี้ ง่าย ๆ เลย แค่ลองเปลี่ยนเป็นคำถามแบบไม่ฟันธง เช่น “ไปทำอะไรที่เชียงใหม่ครับพี่ ?” หรือ “มีแผนไปทำอะไรที่นั่นบ้าง ?” ก็จะปลอดภัยจากการทำร้ายจิตใจผู้ถูกถามแบบไม่รู้ตัวได้

 

“เมื่อไหร่คุณจะมีลูกกันสักทีครับ ?”

แม้ว่าการถามไถ่คู่ที่เพิ่งแต่งงานกันหรือสามีภรรยาที่ยังไม่มีลูกว่า “เมื่อไหร่จะมีลูกกัน ?” อาจดูเป็นคำถามปกติ ใคร ๆ ก็ถามกัน แต่ใครจะรู้ว่าคู่นั้นเขาอาจพยายามทุกวิธีที่เป็นธรรมชาติแล้วแต่ก็ยังไม่มีทายาทสักที ถ้าเกิดเขาและเธอกำลังเผชิญกับอุปสรรคนี้อยู่ คำถามดังกล่าวอาจทำให้นอยด์ในใจ ไม่ก็หน้าเสียไปเลย

บางคนก็ไม่อยากจะแชร์เรื่องส่วนตัวให้ใครฟัง ไม่ก็ยังไม่มีแผนจะมีลูก หรือคนหนึ่งอยากมีอีกคนยังไม่อยาก ก็จะกลายเป็นการสะกิดใจชีวิตคู่ของเขาได้แบบไม่ได้ตั้งใจ

ทางที่ดี หลีกเลี่ยงคำถามนี้เลยดีกว่าครับ ถ้าทั้งคู่อยากแชร์เดี๋ยวเขาก็บอกเอง

 

“นี่คุณแม่ / น้องสาว / ลูกสาวของคุณหรือเปล่าครับ ?”

บางครั้งเราก็เชื่อ sense เรามากเกินไป มั่นใจซะเหลือเกินว่าดูออกว่าสองคนข้างหน้าเป็นอะไรกัน

A: “สวัสดีครับ นี่ลูกสาวคุณเหรอ ?” (เห็นว่าผู้หญิงดูอายุน้อยกว่าผู้ชายมาก)

B: “นี่แฟนผมครับ” (ทำหน้าตึง เอามือไปโอบแฟน)

A: “……….”

ไม่ก็ไปถามสาวคนที่เพิ่งเจอว่า “คนนี้ลูกสาวคุณเหรอครับ ?” ทั้ง ๆ ที่ทั้งสองคนเป็นพี่น้องกัน เรียบร้อย สาวคนพี่คงรู้สึกแก่ไปเลย

คำถามที่น่าจะเหมาะกว่า และทำให้คุณดูเป็นคนปากหวานขึ้นมาเลยก็คือ “ยินดีที่ได้รู้จักนะครับ แล้วสาวสวยข้าง ๆ คุณคือใครครับผม ?”

 

“คุณทั้งคู่คบกันมานานหรือยังครับ ?”

“นี่คบกันมานานหรือยังครับ ?” คำถามอัตโนมัติยอดฮิตเวลาที่เราเห็นเพื่อนพาสาวมาออกงาน แต่หารู้ไม่ เขาอาจจะเดทกันอยู่หรือไม่ได้เป็นอะไรกันเลยก็ได้

สำหรับคู่ที่คบกันแล้ว อาจะรู้สึกว่าโดนก้าวก่ายเรื่องส่วนตัว เหมือนโดนซักประวัติชีวิตคู่ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ขอวีซ่าไปใช้ชีวิตคู่ในต่างแดน ส่วนคนที่เพิ่งเริ่มเดทหรือเป็นแค่เพื่อนกัน ก็อาจจะแสดงออกด้วยการตอบปฏิเสธแบบเกร็ง ๆ มึน ๆ มองหน้ากันไปมา ไม่ก็ก้มหน้ามองพื้นไปเลย

ถ้าอยากรู้เรื่องความสัมพันธ์ของคู่ข้างหน้า ลองถามแบบอ้อม ๆ ดูก็ดีครับ สองคนนั้นจะได้ไม่เขิน เช่น “คุณสองคนเจอกันได้อย่างไร ?” หรือ “คุณทั้งคู่รู้จักกันมานานแค่ไหน ?” ก็ได้ ซอฟต์ ๆ แต่ได้คำตอบแน่ ๆ

 

“ท้องได้กี่เดือนแล้วครับ ?”

ถ้าคุณไม่รู้จริง ๆ ว่าสุภาพสตรีตรงหน้าตั้งครรภ์อยู่หรือไม่ แนะนำว่าอย่าเสี่ยงถามด้วยอัธยาศัยไปว่า “ท้องได้กี่เดือนแล้วครับ ?” 

คุณต้องคิดเผื่อไว้ด้วยว่าคนเรามีสรีระทางร่างกายที่แตกต่างกันออกไป บางคนก็มีหน้าท้องกันได้ ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่สาวคนนั้นจะรู้สึกเซ็งมากหากถูกมองว่ามีลูกในครรภ์ ทั้ง ๆ ที่ฉันแค่มีความสุขกับการรับประทาน ทางที่ดีไม่ต้องไปสนใจความโดดเด่นรอบเอวก็ได้ครับ มองตาคุยกันแบบปกติก็พอ

หรือถ้าเจอคนที่ตั้งท้องจริง ๆ ก็อาจจะถามสารทุกข์สุกดิบไปว่า “มีวิธีการดูแลสุขภาพทั้งแม่และลูกอย่างไรครับ ?” แบบนี้สร้างสรรค์กว่าเยอะ แถมคุณจะได้คำตอบและความรู้ดี ๆ จากว่าที่คุณแม่ เผื่อได้เอามาใช้ในการดูแลว่าที่แม่ของลูกในอนาคตได้อีกด้วย

 

จะเห็นว่าการเปิดฉากถามไถ่ผู้อื่นในสไตล์สุภาพบุรุษนั้น เราไม่ควรทึกทัก, คาดเดาไปเอง และฟังธงก่อนตั้งคำถาม ควรตั้งสติและทบทวนก่อนที่จะเอ่ยปากออกไป ถ้าสามารถเพิ่มศิลปะในการการพูดตามที่เราแนะนำไปได้ คุณจะได้ใจกลับมาพร้อมกับคำตอบแน่นอน “จริงไหมครับ ?”

SOURCE

PEERAWIT
WRITER: PEERAWIT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line