Work

ทำไมสัมภาษณ์งานไปกี่ที่ก็แห้วตลอด ? 5 พฤติกรรมขัดใจกรรมการที่คุณอาจเผลอทำแล้วเฟล

By: PERLE October 3, 2018

เรียนจบสักที ดีใจโว้ย ในที่สุดก็หลุดพ้นแล้ว ต่อไปก็หางานทำ มีงาน มีเงิน ชีวิตสบายขึ้น

ใช่ซะที่ไหนล่ะ ตื่นจากฝันก่อน!

ทันทีที่รับใบปริญญา ชีวิตคุณก็จะเข้าสู่โลกแห่งความจริง ทุกอย่างไม่มีอะไรง่ายอย่างที่คิด งานที่ตอนแรกคิดว่าจะหาง่ายกลับกลายเป็นเหมือนการงมเข็มในมหาสมุทร ยื่น Resume ไปเป็น 10 ที่ มีแค่ที่เดียวที่ติดต่อกลับมาสัมภาษณ์ และผลลัพธ์การสัมภาษณ์ครั้งนั้นก็ดันแห้วเสียอีก หรือบางคนอาจจะโดนเรียกไปสัมภาษณ์เยอะหน่อย แต่ผลลัพธ์ที่ได้ก็ไม่ต่างกัน ทำไมถึงเป็นแบบนั้น? เราทำอะไรพลาดไป? คำตอบของคำถามเหล่านี้อาจจะอยู่ที่พฤติกรรมตอนสัมภาษณ์ซึ่งเราเผลอทำไปโดยไม่รู้ตัว และมันดันไม่ถูกใจกรรมการ ดังนั้นเรามาแก้ไขพฤติกรรมดังกล่าวกัน

คุณดริฟต์จนยางไหม้ สีข้างถลอก

เพราะการดริฟต์ไม่ได้มีแค่ในการแข่งรถ แต่ในการพูดคุย โดยเฉพาะการสัมภาษณ์งานก็เกิดการดริฟต์ขึ้นบ่อยครั้งเช่นกัน จุดเริ่มต้นส่วนใหญ่มักจะเริ่มจากการที่เราโดนคนสัมภาษณ์ถามคำถามวัดความรู้ ซึ่งเรารู้ดีว่านี่คือคำถามสำคัญ อาจเป็นตัวตัดสินชะตาว่าเราจะได้งานหรือไม่ แต่เราดันตอบคำถามนี้ไม่ได้ สมองว่างเปล่า ด้วยสัญชาตญาณการเอาตัวรอดเราจึงพยายามจับแพะชนแกะ ดริฟต์ซ้าย แถขวา ตอบออกไปให้เราดูเหมือนมีความรู้ที่สุด

เราคิดว่าเรารอดแล้ว แต่เปล่าเลย เพราะความเป็นจริงคนสัมภาษณ์เขามีประสบการณ์และความรู้มากกว่าเราหลายเท่าตัว เขารู้ตั้งแต่คำแรกที่เราตอบไปแล้วว่าเราไม่ได้มีความรู้จริง ๆ ดังนั้นถ้าเราไม่รู้ก็อย่าดริฟต์ อย่าแถ แค่ตอบไปว่า “เรื่องนี้ผมไม่ทราบครับ แต่จะกลับไปค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมแน่นอนครับ”

คุณพูดมากเกินไป

แน่นอนว่าการให้ผู้สัมภาษณ์หรือบริษัทเข้าใจตัวตนของเราที่สุดคือเป้าหมายสูงสุดของการสัมภาษณ์งาน เราต้องแสดงให้เห็นว่าเรามีศักยภาพเพียงพอที่จะทำงานนี้ได้ เหมาะสมกับตำแหน่งหรือเงินเดือนที่เราต้องการ แต่ทุกอย่างก็ต้องอยู่ในลิมิต เพราะถ้าคุณพูดโชว์ออฟมากเกินไป บางทีผู้สัมภาษณ์อาจเกิดความรำคาญ นำไปสู่อคติและคิดว่าถ้าต้องทำงานร่วมกับคน ๆ นี้อาจเกิดปัญหาในอนาคต เขาอาจจะเขี่ยชื่อคุณทิ้งจากรายชื่อด้วยเหตุผลง่าย ๆ แค่ได้เลย ดังนั้นควรระวังคำพูดคุณไว้ให้ดี

ภาษากายก็มีผล

จากผลวิจัยทางวิทยาศาสตร์ชี้ให้เห็นว่าในการสื่อสารนั้นส่วนของคำพูดมีความสำคัญเพียงแค่ 7% เท่านั้น ที่เหลืออีก 93% เป็นเรื่องของภาษากายล้วน ๆ ดังนั้นต่อให้ในการสัมภาษณ์งานครั้งนั้น เราจะสามารถตอบคำถามได้อย่างยอดเยี่ยม ข้อมูลแน่น ไร้ที่ติ แต่ถ้าน้ำเสียงเราไม่เป็นมิตร หน้าตาไม่ยิ้มแย้ม ท่านั่งไม่สุภาพ ทุกอย่างเราที่เราทำมาแทบหมดความหมายเลยก็ว่าได้ เพราะมีโอกาสสูงมากที่ผู้สัมภาษณ์จะตัดสินนิสัยเราจากภาษากายไปแล้ว ดังนั้นท่องจำให้ขึ้นใจว่าในการสัมภาษณ์งานความรู้เป็นสิ่งสำคัญ แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือภาษากายที่ดี

ไร้ซึ่ง Passion

‘คนที่ไม่มี Passion ก็เหมือนคนที่ตายไปแล้ว’

ในการทำงาน Passion คือสิ่งสำคัญไม่แพ้สิ่งใด ยกตัวอย่างให้เห็นภาพได้ชัดเช่น กรณีนักฟุตบอลระดับซูเปอร์สตาร์ที่ฝีเท้าเคยยอดเยี่ยมมาตลอด แต่แล้ววันหนึ่งด้วยเหตุผลอะไรบางอย่างทำให้เขาไม่รู้สึกอยากอยู่ในทีมนี้อีกต่อไปแล้ว ทันใดนั้นฟอร์มเขาก็รูดกราว เหตุการณ์นี้มีให้เห็นบ่อยครั้งในโลกลูกหนัง เช่นเดียวกับการทำงานทั่วไป ถ้าในการสัมภาษณ์ผู้สัมภาษณ์สัมผัสได้ว่าเราขาด Passion ไม่มีความกระตือรือร้น คิดจะเข้ามาทำงานเพื่อรับเงินเดือนอย่างเดียว ไม่คิดจะพัฒนาตัวเอง ผู้สัมภาษณ์จะไม่ลังเลเลยที่จะตัดรายชื่อเราทิ้ง

ความสามารถไม่ตรง Resume

มาถึงข้อสุดท้ายกันแล้ว ซึ่งเป็นข้อสำคัญที่สุดก็ว่าได้ ในข้ออื่น ๆ ผู้สัมภาษณ์บางคนอาจจะมองข้ามไปได้ แต่ในข้อนี้เป็นสิ่งที่จะมองข้ามไม่ได้เด็ดขาด นั่นก็คือการที่เราไม่เก่งจริงหรือไม่เก่งเท่าที่โอ้อวดเอาไว้ใน Resume

ไม่ว่าเราจะเขียนอะไรไว้ใน Resume หรือ Portfolio ถ้ามันเป็นสิ่งที่เกินความสามารถจริง ๆ ของเรา และในการสัมภาษณ์งานปรากฏว่าผู้สัมภาษณ์อยากทดสอบความสามารถตามที่เราเขียนเอาไว้ ซึ่งถ้าเราทำไม่ได้ ทุกอย่างก็จบ เราจะโดนตีตราเป็นคนขี้โม้โอ้อวดเกินจริงทันที ดังนั้นใน Resume หรือ Portfolio เขียนแค่ความสามารถที่เราทำได้จริงก็พอ ถ้าเราเขียนเกินจริงไป มันอาจจะดูสวยหรู แต่สุดท้ายเราจะพบกับตอนจบที่ไม่สวยแน่นอน

เหล่านี้คือจุดบกพร่องที่เรามักข้ามจนนำไปสู่การเดินเตะฝุ่น ดังนั้นเมื่อรู้ดังนี้แล้ว สัมภาษณ์งานครั้งหน้าเตรียมตัวให้ดี อย่าให้พลาดง่าย ๆ แบบนี้อีก!

SOURCE1

PERLE
WRITER: PERLE
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line