Life

เป็นคนจนช่างเจ็บปวด “ผลวิจัยชี้ว่าคนมีรายได้สูงกว่า นอนหลับได้มีคุณภาพมากกว่า”

By: PSYCAT August 13, 2020

“การนอนหลับ” ถือเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่ธรรมชาติสร้างขึ้นมาเพื่อให้ร่างกายและสมองของมนุษย์ได้ชาร์จพลังเพื่อกลับมาใช้ชีวิตอีกครั้งได้อย่างมีคุณภาพ พอ ๆ กับที่การนอนหลับก็ยังมีหลากหลายแง่มุมที่มนุษย์ยังพยายามหาคำตอบ รวมถึงคำถามที่ว่าทำไมบางคนถึงได้นอนหลับง่ายดายและแสนสุข ในขณะที่หลายคนกลับทนทุกข์ทรมาน เพราะไม่สามารถนอนหลับให้เพียงพอได้เลย

สารพัดปัจจัยที่ถูกนำมาศึกษาหาคำตอบ ทั้งเรื่องการดื่มกาแฟมากไป พฤติกรรมการกินที่ไม่เหมาะสม การเข้านอนและตื่นนอนไม่เป็นเวลา ไปจนถึงการใช้สมาร์ตโฟนเป็นเวลานาน ฯลฯ หรือแม้กระทั่ง “รายได้” ก็กลายเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อคุณภาพการนอนได้เหมือนกัน

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคประเทศสหรัฐอเมริกาทำแบบสำรวจสอบถามกลุ่มตัวอย่างในสหรัฐอเมริกา 140,000 คน ระหว่าง ค.ศ. 2011-2014 พบว่ารายได้ส่งผลต่อคุณภาพการนอนของผู้คน โดยรายได้ที่สูงขึ้นมีแนวโน้มจะทำให้คนนั้นสามารถพักผ่อนอย่างเต็มที่ตลอดคืนมากขึ้นตามไปด้วย

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคประเทศสหรัฐอเมริกานิยามการ “พักผ่อนเต็มที่ตลอดคืน” ไว้ที่ 6 ชั่วโมงขึ้นไป โดยกลุ่มตัวอย่างที่มีรายได้ต่ำกว่า “เส้นแบ่งความยากจน” ของประเทศ มีเพียง 64.8% ที่นอนหลับอย่างมีคุณภาพ นั่นหมายความว่า 1 ใน 3 ของคนที่มีรายได้น้อย (ต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจน) มีคุณภาพการนอนที่ไม่ดี ไม่สามารถเข้าถึงการพักผ่อนที่เพียงพอได้ ในขณะที่ผู้มีรายได้สูงกว่าเส้นแบ่งความยากจนนั้น มีคุณภาพการนอนที่ดีกว่า

แล้วใช้อะไรกำหนดว่าใครรวยกว่า ใครจนกว่า? คำตอบก็คือ “เส้นแบ่งความยากจน” ที่ถือเป็นระดับรายได้อันเพียงพอจะใช้ชีวิตในประเทศหนึ่ง โดยแต่ละประเทศก็มีเส้นแบ่งที่แตกต่างกัน ประเทศพัฒนาแล้วจึงอาจมีเส้นแบ่งความยกจนสูงกว่าประเทศกำลังพัฒนา

เส้นแบ่งความยากจนของสหรัฐฯ ณ ปี  2014 คือครัวเรือนเดี่ยวที่มีรายได้ 11,670 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือรายได้ 23,850 ดอลลาร์สหรัฐต่อปีครัวเรือนที่มีผู้ใหญ่สองคนและเด็กสองคน หรือหากแปลงเป็นเงินไทยก็คือใครที่รายได้ต่ำกว่า 362,353 บาทต่อปี และครัวเรือน 4 คน ที่รายได้ต่ำกว่า 740,542 ต่อปี ถือว่ามีรายได้ต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจน

แล้วอะไรคือเหตุผลที่คนรายได้มากกว่านอนหลับได้ดีกว่า? แม้จะยังไม่มีการสรุปออกมาอย่างเป็นรูปธรรม แต่ Abhinav Singh ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับและผู้อำนวยการ Indiana Sleep Center ก็ให้ความเห็นไว้ได้อย่างน่าสนใจ “คนที่มีฐานะทางการเงินดีกว่า อาจเข้าถึงปัจจัยภายนอกที่มีผลต่อคุณภาพการนอนได้มากขึ้น”

ลองจินตนาการถึงการมีเงินมากพอให้ซื้อเตียงขนาดใหญ่แสนนุ่มที่รองรอบร่างกายเราขณะหลับได้อย่างไร้ที่ติ ซื้อหมอนที่ว่ากันว่าทำจากวัสดุที่รองรับศรีษะได้มีคุณภาพที่สุดในประเทศ หรือจ่ายเงินค่าที่พักในย่านที่ผู้คนไม่จอแจ มีความเป็นส่วนตัวสูง หรือปราศจากเสียงรบกวนได้ สิ่งเหล่านี้ถือเป็นปัจจัยภายนอก ที่ส่งผลต่อคุณภาพการนอนและต้องใช้เงินแลกทั้งสิ้น

Abhinav Singh ระบุเพิ่มเติมว่าการนอนที่มีคุณภาพของผู้มีรายได้สูงนั้น ปัจจัยภายใน เช่น การรู้สึกสงบ การไม่เครียด ไม่กังวล ไม่ใช่เหตุผลหลักเท่าไรนัก

อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่ามนุษย์ที่มีรายได้สูงทุกคนจะมีคุณภาพการนอนที่ดี (และใช่ว่ามนุษย์รายได้ต่ำกว่าจะมีคุณภาพการนอนที่แย่) คนมีเงินก็สามารถมีปัญหาเรื่องการนอนเช่นกัน แต่อะไรคือแนวโน้มที่คนรายได้สูงสามารถเข้าถึงคุณภาพการนอนที่มากกว่ากันแน่ ?

Ken Lewis นักจิตวิทยาความเชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยาและจิตสรีรวิทยากล่าวว่า “ในทางจิตวิทยาผู้ที่มีรายได้สูงรู้สึกกดดันทางการเงิน ในแง่การอยู่รอดน้อยกว่าคนรายได้ต่ำ” แม้คนรายได้สูงจะมีความกังวลเรื่องทางการเงิน แต่ก็เป็นความกังวลในรูปแบบอื่น ๆ แต่ไม่ใช่ความกดดันว่าวันนี้จะเอาอะไรกิน? พรุ่งนี้จะมีเงินเข้ามาพอให้ซื้อข้าวให้ลูกไหม?

นอกจากนั้น Ken Lewis ยังให้ความเห็นว่าคนที่มีเงินมากกว่าสามารถใช้เงินจ้างผู้อื่นมาทำหลายอย่างที่บั่นทอนสุขภาพจิตแทนตัวเองได้ เช่น การต้องขับรถฝ่ารถติดสาหัสในวันฝนตก การต้องสาละวนกับการล้างจานกลิ่นอับกองโต การทำความสะอาดบ้านทีมีรายละเอียดยิบย่อย ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็เป็นต้นเหตุของความเครียดได้เช่นกัน

“คนรายได้สูงยังสามารถจ้างคนมาช่วยดูแลลูก ๆ ของพวกเขา ทั้งครูสอนพิเศษ โค้ชที่ให้คำแนะนำเฉพาะด้าน และพี่เลี้ยง ซึ่งทำให้ภาระการต้องลงแรงเหนื่อยเองลดลงอีก นอกจากนั้นพวกเขาสามารถจ่ายค่าบริการทำความสะอาด และบริการอื่น ๆ เพื่อเพิ่มเวลาว่างและเปิดโอกาสให้พวกเขาได้ผ่อนคลายได้เต็มที่ช่วงก่อนเข้านอน”

นอกจากนั้นการมีรายได้สูงรวมไปถึงการเข้าถึงการดูแลสุขภาพที่ดีกว่า ทั้งการออกกำลังกาย การได้กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และการเข้าถึงการรักษาได้ตรงจุดเมื่อประสบปัญหาก็เป็นปัจจัยที่มีผลต่อการนอนหลับทั้งสิ้น โดยเฉพาะในแง่การเข้าถึงการรักษาไม่ว่าจะเป็นปัญหาสุขภาพจิต หรือปัญหาการนอนหลับ ซึ่งแต่ละอย่างมีค่ารักษา ค่าเข้ารับการปรึกษาที่คนรายได้ต่ำกว่าอาจไม่สามารถเอื้อมถึงได้ หรือมองว่าเป็นเรื่องรอง ๆ ไม่ใช่ปัญหาหลักของชีวิตก็ส่งผลต่อคุณภาพการนอนที่ต่างกันเช่นกัน

อย่างไรก็ตามนี่คืองานวิจัยที่ตั้งต้นที่กลุ่มตัวอย่าง ณ ประเทศสหรัฐอเมริการเป็นหลัก และแต่ละคนล้วนมีปัจจัยที่แตกต่างกันไป แล้วคุณล่ะ? มองว่ารายได้ส่งผลต่อการนอนหรือไม่? และคิดว่าส่งผลอย่างไร เหมือนหรือต่างจากงานวิจัยจากสหรัฐอเมริกาชิ้นนี้?

SOURCE  1, 2, 3

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line