Business

ผิดกฎบริษัทไหม? คิดยังไงเมื่อ APPLE ฟ้องอดีตพนักงานเพราะวางแผนไปทำธุรกิจเองตอนยังอยู่

By: anonymK January 22, 2020

เรื่องฟ้องระหว่างพนักงานกับนายจ้าง ปกตินายจ้างเองไม่ค่อยจะฟ้องกัน ขณะที่พนักงานเองถ้าฝั่งบริษัทผิดต่อตัวเองแต่อะลุ่มอล่วยได้ก็จะนิ่งเฉย เพราะรู้สึกว่าฟ้องไปก็ไม่ค่อยมีประโยชน์ ฟ้องไปก็เสียเวลา เสียเงิน จนไม่คุ้มจะลงมือ

แต่บางครั้งการฟ้องมันก็มีความหมายมากกว่าเรื่องการฟ้องร้องเอาค่าเสียหาย เพราะมันคือการฟ้องเพื่อขีดเส้นบอกว่า “ข้อกำหนดที่พูดมาน่ะของจริง” เช่นเดียวกับข่าวตอนนี้ที่ Apple กำลังฟ้องอดีตพนักงาน Gerard Williams ที่ลาออกมาเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2019 ออกมาเปิดบริษัท Nuvia บริษัทสตาร์ตอัปชิปเซิร์ฟเวอร์น้องใหม่สำหรับใช้ในศูนย์ข้อมูลไปเรียบร้อย

Gerard William ชายผู้มีชื่ออยู่ในสิทธิบัตรหลายใบของ Apple

จริง ๆ ถ้าเป็นคนตัวเล็กธรรมดา คิดจะมาเก็บเกี่ยวประสบการณ์แล้วไปอาจจะไม่เท่าไหร่ แต่ Gerard Williams ถือเป็นคนสำคัญด้านการพัฒนา Chipset ที่ทำโพรเซสเซอร์ที่ใช้ใน iPhone และ iPads เขาผลิตชิปเซตโปรดักส์ของ Apple หลายตัว ตั้งแต่ Apple A7 ชิป 64-bit ตัวแรก จนกระทั่ง Apple A12X ทรัพย์สินทางปัญญาหลายชิ้นมีชื่อของเขาอยู่ในสิทธิบัตรการพัฒนาของ Apple ด้วย (CPU / GPU)

Gerard เข้ามาแทน Manu Gulati วิศวกรดาวรุ่งของ Apple ที่โดน Google ซื้อตัวไป เขาทำงานมานาน 9 ปี เราเชื่อว่าช่วงที่ฝั่ง Apple เสีย Gulati ไป Apple คงจะเจ็บใจไม่น้อยที่อดีตพนักงานย้ายไปอยู่บริษัทคู่แข่ง แต่การซื้อตัวเป็นวัฏจักรฝั่ง Tech รวมทั้งหากใครสักคนคิดว่าตัวเองเก็บสะสมเงินมามากพอแล้วจะออกไปสร้างบริษัทของตัวเองก็ไม่น่าจะเสียหายอะไร แต่ก็ไม่ใช่กับเคสนี้

ปมกระตุกหนวด Apple

ตามข้อมูลที่หลายสื่อออกมาเผยแพร่ Apple อ้างว่า Gerard ละเมิดบริษัทเพราะยุยงให้พนักงานคนอื่นลาออกไปร่วมกับตัวเอง ซึ่งมันเป็นหนึ่งในข้อกำหนดของบริษัทที่ระบุไว้ว่า

“หากพนักงาน Apple ผู้ใดผู้หนึ่งพูดหรือส่งข้อความไปถึงพนักงานผู้อื่นโดยแสดงความเห็นใดที่สัมพันธ์กับกลยุทธ์และการตัดสินใจของ Apple ให้ถือเป็นการกระทำที่มีเจตนาชักชวน และเป็นการกระทำผิดกฎหมาย”

ส่วนข้อเท็จจริงว่า Nuvia กวาดคนไปได้มากน้อยแค่ไหน เรื่องนี้เราไม่ตัดสินว่าจริงหรือบังเอิญ แต่ก็มีอดีตผู้บริหารระดับสูงหลายคนเข้าไปเป็นหุ้นส่วน เช่น John Bruno ที่ดูแพลตฟอร์มด้านสถาปัตย์ฯ และ Manu Gulati หัวหอกที่เคยทำงานมาก่อน Gerard แล้วโดน Google ซื้อตัวไป เฉพาะแค่ 3 คนน้ีก็เป็นเจ้าของสิทธิบัตรเกี่ยวกับการออกแบบระบบชิปและวิศวกรรมรวม ๆ กันกว่า 100 ชิ้นแล้ว

นอกจากนี้ยังเพิ่มประเด็นเรื่องการทำธุรกิจแข่งขันกับ Apple ที่ระบุไว้ในกฎการจ้างงานด้วย (หลายคนคงรู้กันดีว่าข้อนี้กฎพื้นฐานในสัญญามักว่าด้วยการ “ห้าม” ประกอบธุรกิจ สร้างผลิตภัณฑ์และทำกิจกรรมใดที่เป็นการแข่งขันกับธุรกิจของบริษัท

แต่ด้วยประเด็นเดียวกันนี้ Gerard เองก็ฟ้องกลับโดยอ้างเหตุผลเรื่องที่ Apple บุกรุกความเป็นส่วนตัวของเขา ด้วยการเข้าไปอ่านข้อความที่ Gerard พูดคุยกับคนอื่น ซึ่งหนึ่งในข้อความที่สนทนาเป็นข้อความที่ Gerard กล่าวว่าเดี๋ยว Apple ก็ต้องโดนมัดมือชกให้ซื้อ Nuvia ถ้ามันประสบความสำเร็จ (แน่นอนแหละ ก็ในเมื่อตอนนี้เขาเป็นคนพัฒนา Chipset แต่วันนี้ย้ายไปเปิดเอง Apple ก็ต้องไปง้อ หรือเปล่านะ?)

Growth VS Betrayal

คุณจะโกรธไหม ถ้าพนักงานที่เคยทำงานให้คุณ วันหนึ่งเขาเอาองค์ความรู้ที่ติดตัวมา หรือคอนเนกชั่นที่มีไปพัฒนาต่อ กระทั่งเรื่องที่เขาดึงคนออกไปจากคุณได้เพื่อสร้างธุรกิจของตัวเอง

ความจริงเรื่องนี้ถึงจะรู้สึกว่าเป็นการแทงข้างหลัง แต่มันช่วยไม่ได้ เพราะข้อห้ามพนักงานเตรียมตัวออกไปสร้างธุรกิจใหม่ระหว่างที่ยังเป็นพนักงานมันก็ค่อนข้างไร้สาระ หรือถ้าคิดว่ามีสาระมากพอ นั่นอาจจะแปลว่าเราทุกคนต้องรับข้อตกลง ยินยอมให้เกษียณก่อนถึงออกไปเปิดบริษัทเพื่อทำงานที่ตัวถนัดได้?

เว้นเสียแต่ว่าถ้า Gerard แอบเอาผลงานวิจัยที่เตรียม launch กับ Apple ออกไปเปิดตัวบริษัทใหม่ หรือเอาข้อมูลไปขายให้คู่แข่ง เรื่องนี้คงมีมูลพอให้ดำเนินคดี แต่เมื่อเขาไม่ได้ทำเช่นนั้น เพราะตัวเขาเองก็มีของ สามารถสร้างใหม่เองได้ เป็นสตาร์ตอัปจากความรู้ของตัวเองต่อให้มันจะทับไลน์อุตสาหกรรมเดียวกันก็ตาม เรื่องนี้จึงมีบทสรุปล่าสุดว่าคดี Apple ฟ้องพนักงานเรื่องทำผิดกฎนั้นศาล “ยกฟ้อง” ไปในที่สุด

ส่วนเรื่องที่ Gerard ฟ้องว่า Apple แอบอ่านข้อความก็ตกไปเหมือนกัน เพราะศาลระบุว่าไม่มีหลักฐานไหนที่ยืนยันได้ว่า Apple แอบฟังหรือแอบอ่านข้อความ

แล้วสำหรับคุณล่ะ ถ้าพนักงานเก่ง ๆ ลาออกไปเปิดบริษัทรับงานแข่งกับตัวเองจะทำอย่างไร ?

 

SOURCE: 1 / 2 / 3 / 4 

anonymK
WRITER: anonymK
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line