FASHION

‘RUN-DMC และ SUPERSTAR’ 2 ตัวแทนที่ทำให้มนุษย์พบว่าฮิปฮอปและสนีกเกอร์คือสุดยอดส่วนผสมที่ลงตัว

By: SPLESS March 1, 2020

ก่อนวัฒนธรรมต่าง ๆ จะผสมผสานรวมตัวกันได้หลายหลากเหมือนในปัจจุบัน ผู้คนบนโลกต้องลองผิดลองถูกเพื่อจับคู่หลายสิ่งเข้าด้วยกัน รวมไปถึงโลกของสนีกเกอร์ในยุคแรกที่ต่างจากปัจจุบันโดยสิ้นเชิง เพราะสมัยนั้นไม่ได้มีการตลาดควบคู่กับศิลปินหรืออินฟลูเอนเซอร์ประกาศออกมาตั้งแต่ก่อนผลิตเหมือนอย่างทุกวันนี้

อย่างไรก็ตามในอดีตมีโมเดลรองเท้าอยู่ 1 คู่ที่ได้ปฏิวัติวงการให้โลกรู้ว่าความลงตัวระหว่างสนีกเกอร์และวัฒนธรรมฮิปฮอปนั้นแสนลงตัวซึ่งกลายมาเป็นรากฐานสำคัญของตลาดรองเท้าในปัจจุบัน ชื่อของมันคือ Adidas Superstar และเราจะพาทุกท่านมาทำความรู้จักเส้นทางสู่การเป็นตำนานของรองเท้าคู่นี้ไปพร้อมกัน

We are Basket

ยุคแรกเริ่มโลกไม่ได้รู้จักรองเท้าคู่นี้ในชื่อ Superstar แต่เป็น Supergrip ผลิตขึ้นครั้งแรกในปี 1965 ดีไซน์ของทั้ง 2 รุ่นมีความเหมือนในหลายจุด ไม่ว่าจะเป็นการวางแถบ 3 ขีดด้านข้างตัวรองเท้า พื้นหนา แต่ที่ชัดเจนที่สุดคือส่วน Toe Box ซึ่งจะพัฒนาเป็นเอกลักษณ์สำคัญในเวลาต่อมา

Supergrip ถูกออกแบบให้เหมาะสมต่อการเล่นกีฬาอย่างเทนนิส และสามารถตอบโจทย์ได้ดีกับกีฬาที่เปลี่ยนการเคลื่อนไหวร่างกายแบบเฉียบพลัน แต่ในปี 1969 แบรนด์ Converse ครองตลาดรองเท้าบาสเกตบอลด้วยโมเดล All-Star ที่ได้รับความนิยมในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ระดับมัธยม มหาลัยไปจนถึงลีกอาชีพอย่าง ทำให้ที่ปรึกษาของอาดิดาสในเวลานั้นอย่าง Chris Severn เสนอให้บอร์ดสร้างรองเท้าบาสเข้ามาป้อนเข้าแข่งขันในตลาดบ้าง

GamePlan A

อาดิดาสเริ่มพัฒนาโมเดล Supergrip ให้เป็นรองเท้าบาสเกตบอลที่สมบูรณ์แบบ เพราะพวกเขาไม่ได้ต้องการวางขายรองเท้าธรรมดา ๆ  แต่ตั้งใจสร้างรองเท้ากีฬาที่จะช่วยลดการบาดเจ็บของผู้เล่น เพราะมีผลสำรวจว่านักกีฬาบางส่วนที่ใส่รองเท้าผ้าใบแคนวาสมักมีปัญหาบาดเจ็บ

สิ่งที่พวกเขาทำคือขึ้นรูปรองจากเท้าด้วยหนังแท้สีขาวซึ่งให้ความกระชับมากกว่าเวลาที่ผู้เล่นขยับข้อเท้าหรือหัวเข่า และเพิ่มขนาดส่วนโซลให้หนามากขึ้นเพื่อลดแรงกระแทก ก่อนตกแต่งด้วยลวดลาย Three-Stripe สีดำด้านและส่วน Heel Tap รวมถึง Toebox ใช้ดีไซน์เป็นรูปเปลือกหอย พร้อมตั้งชื่อให้ใหม่ว่า Adidas Superstar

อาดิดาสมีรองเท้าที่ดีแต่โจทย์คือจะทำให้ฐานลูกค้ารู้ได้อย่างไร ? และเป็น Chris Severn อีกครั้งที่ออกไอเดีย “ลองใส่ก่อน ซื้อทีหลัง” ตัวเขาและพนักงานขายตัดสินใจหอบรองเท้าไปตามยิมและมหาลัยทั่วประเทศเพื่อขอร้องให้โค้ชและนักกีฬาลองสวมใส่รองเท้าที่ทำขึ้นมา

Jack Mchahon เฮดโค้ชของทีม San Diego Rockets ในเวลานั้นเป็นหนึ่งในคนกลุ่มแรกที่ร่วมทดลอง Adidas Superstar เพราะมีนักกีฬาในทีมเคยบาดเจ็บจากการสวมใส่ผ้าใบแคนวาสมาก่อน นั้นเป็นครั้งแรกที่ Superstar ก้าวเข้าสู่ตลาดบาสเกตบอลอย่างเป็นทางการ ก่อนจะสร้างยุคทองในเวลาต่อมา

เวลานั้น San Diego Rockets เป็นทีมที่มีสถิติแย่ที่สุดในลีกแต่ทุกครั้งที่พวกเขาลงสนามกลับดูดดึงสายตาผู้เล่นทุกคนด้วยรองเท้าที่มี Toebox เหมือนเปลือกหอย มีคนเริ่มสอบถามไปยังอาดิดาสและพูดคุยกับ Chris Severn 2 ปีต่อมามีผู้เล่น Boston Celtics ทีมแชมป์ในปีนั้นสวมใส่รองเท้ารุ่นนี้เกือบทั้งทีม

จนกระทั่งปี 1969 สี่ปีหลังเปิดตัวผลิตภัณฑ์ ผู้เล่นของลีกในสหรัฐอเมริกกว่า 85 เปอร์เซ็นต์ได้เปลี่ยนมาใช้โมเดล Superstar เป็นรองเท้าในการแข่ง และนั่นทำให้มันกลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

รวมถึงการทำสัญญากับ Kareem Abdul-Jabbar ตำนานผู้เล่นที่ทำแต้มมากที่สุดในประวัติศาสตร์ NBA ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีใครทำลายลงได้ ด้วยสัญญามูลค่า 25,000 เหรียญสหรัฐ/ปี ทำให้เขากลายเป็นนักบาสเกตบอลคนแรกที่เซ็นต์กับอาดิดาส ตอกย้ำให้ Adidas Superstar เป็นสุดยอดรองเท้าบาสแห่งยุคสมัยแบบไม่มีใครกล้าเถียง

The Daily Street

แต่นั้นไม่ใช่จุดสูงสุดของรองเท้าคู่นี้ เพราะใครจะรู้ว่าอีก 10 ปีต่อมาชายหนุ่ม 3 คนจากย่านควีนส์ นิวยอร์กจะทำให้ชื่อ Superstar เข้าแทรกในทุกอยู่ในอณูร่างกายของคนที่หลงใหลในรองเท้าและดนตรีฮิปฮอปในเวลานั้น

 

ปี 1983 ดนตรีฮิปฮอปในนิวยอร์กกำลังเริ่มยุครุ่งเรืองที่ความหลายหลาก ที่นั่นมีทั้งดนตรีฮิปฮอปที่เน้นเนื้อหา เสียดสีการเมือง รวมไปถึงดีเจและเอ็มซีฝีมือเยี่ยมอยู่ทุกมุมเมือง ช่วงเวลานั้นเองที่กลุ่มศิลปินชื่อ Run-DMC ได้ถูกสร้างจากความหลงใหลในดนตรีฮิปฮอปของ Joseph Simmoms และ Darryl McDaniels สองคู่หูที่เก็บประสบการณ์ในทำเพลงร่วมกันมาตั้งแต่เด็ก พร้อมชักชวน Jason Mizeli เอ็มซีและดีเจฝีมือดีมาร่วมงาน จนเกิดเป็นผลงานอัลบั้มแรกที่ชื่อ Run-DMC ขึ้นมา

80scasualclassics

ดนตรีฮิปฮอปของ Run-DMC ได้รับความนิยมเป็นวงกว้างจากบีทที่เป็นเอกลักษณ์โดยไม่พึ่งเสียงสังเคราะห์แปลก ๆ รวมถึงเนื้อหาเพลงที่จับต้องโดยเฉพาะชนชั้นกลางไปจนถึงล่าง แต่เรื่องที่ต้องยกให้ Run DMC โดดเด่นกว่าใครคือการแต่งตัวให้เข้ากับผู้คนและสถานที่ทุกครั้งที่พวกเขาไปแสดงคอนเสิร์ต

Meduim

ตลาดฮิปฮอปในยุค 80’s นอกจากฝีมือในการทำเพลงแล้ว ทุกวงจะต้องมีการแสดงสดที่สะกดคนดูได้ เพราะสมัยนั้นเป็นยุคที่เพิ่งมีการใช้แผ่นเสียงเพื่อบันทึกเพลงฮิปฮอป ทำให้ผู้คนสามารถเข้าถึงได้ด้วยการฟังผ่านคลื่นวิทยุเท่านั้น และถ้าอยากจะดัง คุณก็ต้องออกไปโชว์ของให้ทุกคนเห็นแบบถึงที่

Run DMC ตระเวนโชว์ไปทั่วนิวยอร์กด้วยชุดเดียวแบบเดียวกับผู้คนละแวกนั้นเสมอ คนมักจะเห็นพวกเขาปรากฏตัวในชุดหนังสีดำ สวมหมวกปีกใบเล็กและรองเท้าผ้าใบรุ่นเก่า บางครั้งก็เป็น Tracksuit แบบเต็มตัวพร้อมกับรองเท้า Adidas Superstar ถอดเชือกที่ถูกดึงลิ้นรองเท้าออกมา ในขณะที่ศิลปินฮิปฮอปส่วนใหญ่ในเวลานั้นมักจะเลือกใส่หรือเสื้อสูท หรือเสื้อขนฟูเพื่อทำให้ตัวเองมีความเป็นดาวดัง เรียกได้ว่า Run DMC คือ Real-Street อย่างแท้จริง

หลังจากนั้นไม่นานสไตล์การแต่งตัวของ Run-DMC ก็ถูกเลียนแบบ ศิลปินบางส่วนในวงการเริ่มทิ้งเสื้อแพง ๆ และหันมาแต่งตัวเหมือนพวกเขา ทั้งชุดวอร์มแบบเต็มตัว ชุดหนัง รวมถึงสวมรองเท้าของ Puma หรือ Adidas แบบไร้เชือก กระแสการแต่งตัวที่ฉีกไปอย่างรวดเร็วทำให้มีเพลง Anti-Sneakers ที่ชื่อ Felon Sneaker จากศิลปินที่ชื่อ Jerrald Deas ถูกแต่งออกมาซึ่งเนื้อหาของเพลงถึงไม่ได้ด่าตรง ๆ แต่ก็เสียดสีทั้ง 3 หนุ่มตั้งแต่ท่อนแรกที่ร้องว่า

“We’re gonna tell you about a few felony cases”

 “it started with the brothers wearing fat shoe laces.”

ในเมื่อ Run-DMC ก็เป็นศิลปินพวกเขาจึงตอบโต้ด้วยการปล่อยเพลงที่มีชื่อว่า “My Adidas” ออกมาในอัลบั้มที่ 3 คือ Raising Hell แต่แผนที่เด็ดกว่านั้นคือผู้จัดการของ Run DMC รู้ดีว่าสไตล์การแต่งตัวของพวกเขาคือส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมที่คนทำตาม ซึ่งสามารถกระตุ้นยอดขายรองเท้าของอาดิดาสได้ไม่มากก็น้อย พวกเขาจึงถือโอกาสเชิญ Angelo Anastasio ผู้บริหารของอาดิดาสให้มาร่วมชมคอนเสิร์ตทัวร์ของอัลบั้มด้วยซึ่งทาง Angelo ก็ตอบตกลงมาร่วมชมด้วยดี

cloudfront

จนกระทั่งถึงคิวในการแสดงเพลง My Adidas ของโชว์คืนนั้นศิลปิน Run-DMC เริ่มยุยงให้คนดูชูรองเท้าของตัวเองขึ้นมาบนอากาศ พร้อมกันนั้น Darryl McDaniels หนึ่งในตัวหลักของวงก็ตะโกนสมทบใส่ไมค์แล้วพูดว่า “ชูมันขึ้นมาสิวะ บอกหน่อยว่ามันคืออะไร !?”

สิ่งที่ Angelo Anastasio เห็นกับตาตัวเองคือภาพของผู้ชมหลายพันคนจากทั้งหมดประมาณ 2 หมื่นคนใน Madison Square Gardens พากันชูรองเท้าอาดิดาสของตัวเองขึ้นมาบนอากาศแล้วตะโกนลั่นพร้อมกันว่า “My Adidas” หรือ  “รองเท้าอาดิดาสของกูไง” แบบลั่นฮอลล์ตลอดทั้งบทเพลง

sneakersmagazine

หลังคอนเสิร์ต Angelo Anastasio รีบกลับไปรายงานสำนักงานใหญ่อาดิดาสถึงเรื่องที่เห็น ไม่กี่วันต่อมา Run-DMC ได้รับการติดต่อจากอาดิดาสเพื่อเซ็นสัญญาเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้กับแบรนด์ พร้อมจารึกตำนานเป็นศิลปินฮิปฮอปกลุ่มแรกที่ได้รับสัญญามูลค่าถึง  1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ก่อนจะสร้างความยิ่งใหญ่ให้ตัวเองไปพร้อมกับโมเดลรองเท้า Adidas Superstar นับตั้งแต่ตอนนั้นมาจนกระทั่งหมดสัญญา แต่ถึงกระนั้นก็ยังคงถูกจดจำในฐานะศิลปินผู้เป็นไอคอนของ Adidas Superstar มาจนถึงปัจจุบัน

New Statesman

John McDermott

แม้ยุครุ่งเรืองระหว่าง Run-DMC และ Adidas Superstar จะผ่านไปหลายสิบปีแล้ว แต่ปฏิเสธไม่ได้จริง ๆ ว่าอิทธิพลที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ครั้งนั้นมีส่วนสำคัญที่ทำให้ผู้คนมองว่าวัฒนธรรมทางดนตรีและแฟชั่นสามารถเข้ากันได้เป็นอย่างดี ซึ่งกลายเป็นพื้นฐานสำคัญของตลาดรองเท้าส่วนหนึ่งในทุกวันนี้

ขณะที่ตำนานระหว่างทั้ง 2 ก็ยังคงถูกย้ำให้ถูกจดจำด้วยโมเดล Superstar รุ่นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็น Run DMC x Superstar รุ่นฉลองครบรอบ 35 ปี, 50 ปี และเราเชื่อว่าในอนาคตทุกคนจะมีโอกาสได้เห็นรุ่นฉลองครบรอบ 100 ปีระหว่างตัวแทนทางวัฒนธรรม 2 ขั้วนี้อีกครั้งแน่นอน

The Face

SOURCE: 1/2/3/4

SPLESS
WRITER: SPLESS
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line