Life

เทคนิคการ SCHEDULING ขั้นเซียน จัดการเวลา ช่วยลดความเครียด ทำให้ชีวิตของคุณง่ายขึ้น

By: unlockmen September 9, 2021

ผู้ชายอย่างเรามักมีภาระกองเท่าภูเขา ไหนจะภาระค่าใช้จ่าย ภาระครอบครัว หรือ ภาระเรื่องงาน ปัญหาเหล่านี้มักทำให้เราปวดหัว เกิดอาการกังวลจนทำตัวไม่ถูกกันอยู่บ่อย ๆ อยู่เหมือนกัน แต่ด้วยเทคนิค การจัดลำดับ (Scheduling) เราจะรับมือกับพวกมันได้ง่ายขึ้นอย่างแน่นอน

Scheduling คือ ทักษะในการเรียงความสำคัญของกิจกรรมที่เราต้องทำในแต่ละวัน มันจะทำให้เรารู้ว่าควรทำอะไรก่อนและควรทำอะไรหลัง และสามารถลงมือทำอย่างเป็นลำดับที่ถูกต้องและเหมาะสมที่สุด หลายคนอาจคุ้นเคยกับมันอยู่แล้ว เช่น การทำตารางเวลา หรือ จดบันทึกสิ่งที่ต้องทำในแต่ละวันในรูปแบบของ to-dolist

แม้ Scheduling จะทำได้ง่าย และหลายคนทำเป็นอยู่แล้ว แต่มันก็มีทิปที่เราควรรู้ไว้ เพื่อให้เราทำมันได้ดีขึ้นเหมือนกัน UNLOCKMEN อยากมาแนะนำเทคนิคที่ช่วยพัฒนา Scheduling เพื่อชีวิตที่จัดการได้อย่างราบรื่นมากขึ้น

 

กำหนดเวลาที่เราจะเริ่มคิด schedule ทุกวัน

ก่อนนอนควรเป็นช่วงเวลาที่เราพร้อมสำหรับการพักผ่อน ถ้าช่วงนั้นหัวเราไม่โล่ง เต็มไปด้วยความกังวลถึงเรื่องต่าง ๆ เราจะมีปัญหาเรื่องการนอน และตื่นมาในสภาพนอนไม่พอได้ ดังนั้น เราจึงไม่ควรทำ to-dolist ก่อนนอน แต่ควรทำก่อนหน้านั้น เพื่อไม่ให้ความกังวลรบกวนการนอนของเรา

เราอาจเริ่มทำมันตอนที่สมองเรายังพร้อมรับความกังวลอยู่ เช่น ช่วงก่อนเลิกงาน 10 นาที หรือ ช่วงเวลาว่างอื่น ๆ ที่เหมาะสมกับการคิดแผน หรือ ทำลิสต์สิ่งที่ต้องทำในวันถัดไป เป็นต้น ถ้าเราแบ่งเวลาไม่ถูกลองนำเทคนิค Timeblocking (หรือ การทำตารางเวลาภารกิจ) มาใช้ดูก็ได้


เริ่มจัดระเบียบความคิด (Brain Dump)

เมื่อถึงเวลาที่เรากำหนดไว้แล้ว ต่อมาเราก็ต้องทำให้สมองโล่งก่อน โดยใช้วิธีการจัดระเบียบความคิด (Brain Dump) หรือ การเขียนสิ่งที่ตัวเองคิดถึง ณ ตอนนั้น ทั้งหมดลงไปในกระดาษ หรือ จะใช้คอมพิวเตอร์พิมพ์ข้อมูลเป็นไฟล์ก็ได้

แต่ที่สำคัญ คือ เราควรทำสิ่งนี้เวลาเดิมทุกวันด้วย เพื่อให้สมองจดจำว่านี่ไม่ใช้เวลานอน แต่เป็นเวลาที่เราจะคิดและกังวลกับเรื่องต่าง ๆ อย่างเต็มที่


 ระบุปัญหาที่สามารถแก้ไขได้

ต่อมาเมื่อเราลิสต์ข้อมูลทั้งหมดออกมาเรียบร้อยแล้ว ให้เราทำการแบ่งประเภทข้อมูลเหล่านั้น เช่น เรื่องที่จะต้องทำในวันพรุ่งนี้ หรือ เรื่องที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เป็นต้น สำหรับการ Scheduling  เราจะสนใจเรื่องที่จะเกิดขึ้นในวันพรุ่งนี้เป็นหลัก ส่วนเรื่องอื่นสามารถตัดทิ้งไปได้เลย

เมื่อเราจดไว้แล้วว่าพรุ่งนี้จะต้องทำอะไรบ้าง ต่อมาให้เราแยกข้อมูลเหล่านั้นอีกทีว่า อันไหนสามารถลงมือทำได้ทันที โดยใช้เกณฑ์เหล่านี้ ได้แก่

1. เป็นปัญหาที่ไม่ใช่สมมติฐานที่เราคิดเอง

2. เป็นปัญหาเร่งด่วน

3. เราสามารถควบคุมมันได้

หากเข้าข่าย 3 ข้อนี้ให้เราเก็บปัญหาเอาไว้ในลิสต์ต่อไป แต่ถ้าไม่เข้ามันอาจเป็นสิ่งที่เราคิดไปเอง ควรกำจัดมันทิ้งไปซะ เพื่อไม่ให้สมองเกิดโอเวอร์โหลดขึ้นมา


เขียนสิ่งที่จะทำกับปัญหานั้น

เมื่อเราคัดกรองความคิดของตัวเองเสร็จสิ้นแล้ว ต่อมาก็ถึงเวลาลงรายละเอียดว่า ในวันพรุ่งนี้เราจะทำอะไรกับปัญหาเหล่านั้นบ้าง เช่น ถ้าเราลิสต์ไว้ว่า ‘ทำงานบ้าน’ เราอาจเขียนต่อว่า เราจะใช้เวลา 30 นาทีในการปัดกวาดเช็ดถูบ้านให้เรียบร้อย เป็นต้น การเขียนสิ่งที่เราสามารถทำได้ล่วงหน้า จะช่วยให้เรารู้สึกว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ได้มากขึ้น ทำให้มีความกังวลน้อยลง และควบคุมชีวิตประจำวันของตัวเองได้ง่ายกว่าเดิม


นำข้อมูลไปใช้ร่วมกับแอปอื่น

ความจำของเรามักแย่ลงตามอายุที่มากขึ้น เราจึงไม่สามารถพึ่งความจำของเราอย่างเดียวได้ เราควรพึ่งพาแอปมือถือที่ช่วยให้เราไม่พลาดภารกิจในแต่ละวันด้วย

ปัจจุบันมีแอปมากมายที่ต้องการช่วยเหลือเรา เช่น Google Calender (iOS/Android) ซึ่งเป็นแอปที่สามารถใช้งานได้ง่าย เพียงแค่พิมพ์ภารกิจของเราลงไปในวันและเวลาของปฏิทิน แอปก็พร้อมแจ้งเตือนให้เราเตรียมทำภารกิจเมื่อถึงเวลาที่กำหนดแล้ว หรือ Microsoft To Do (iOS/Android) ที่อนุญาตให้เราสร้างลิสต์สิ่งที่ต้องทำ (to-dolist) ในแต่ละวัน พร้อมความพิเศษจากอัลกอริทึม Intelligent Suggestions ที่สามารถให้แนะนำในการทำภารกิจต่าง ๆ ที่ผู้ใช้งานกำหนดไว้ให้เสร็จทันตามกำหนดเวลา  เป็นต้น

ทั้งหมดนี้ คือ เทคนิคในการ Scheduling ที่ทุกคนควรรู้จักไว้ และลองไปทำตามกันดู หากสามารถทำได้อย่างถูกต้องครบถ้วน คุณจะสามารถบริหารชีวิตของตัวเองได้ดีขึ้นอย่างแน่นอน


 

Appendix: 1 / 2

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line