FASHION

SKATE CULTURE เจาะตำนานสเก็ตบอร์ด ที่ไม่ใช่แค่กีฬา หรือของเล่น แต่มันคือวัฒนธรรม

By: Thada April 3, 2018

หากพูดถึงวัฒนธรรมอันยิ่งใหญ่ของโลกในปัจจุบันอย่าง Skate Culture ไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นจากกีฬาเอ็กซ์ตรีมธรรมดา เพราะแต่เดิมมันเป็นเพียงการเล่นผาดโผนที่แม้แต่ผู้ปdครองเองยังไม่ค่อยจะอนุญาต ก่อนที่จะค่อย ๆ ขยายตัวฝังลึกเข้าไปถึงแก่นสารของวัฒนธรรม ซึ่งแสดงออกผ่านทางการแต่งกาย รสนิยมการฟังเพลง รวมไปถึงสถานที่เที่ยว และกิจกรรมอื่น ๆ อีกมาก ยิ่งในตอนนี้มันได้หลอมรวมกลายเป็น mainstream culture ชนิดที่เราเองยังแทบจะไม่รู้ตัว โดยหากต้องแตกประเด็นของเรื่องสเก็ตบอร์ดออกมาให้พูดเป็นวันก็คงจะไม่จบ แต่เพื่อให้ชาว UNLOCKMEN ได้เข้าใจที่มาวัฒนธรรมกระดานสี่ล้อเพื่อเป็นการวอร์มอัพก่อนสกู๊ปใหญ่ประจำเดือน เราจึงสรุปเรื่องราวความเป็นมาแบบคร่าว ๆ ของวัฒนธรรมสเก็ตบอร์ดมาเล่าให้ฟังในวันนี้

ย้อนกลับไปในปี 1950 กีฬา surfing ถือว่าได้รับความนิยมอย่างมากสำหรับวัยรุ่นชาว California  แต่นั้นไม่เพียงพอต่ออะดรีนาลีนที่พุ่งพล่านพยายามหาอะไรที่สนุกสุดเหวี่ยงและต้องการความมันส์บ้าบิ่นในชีวิตประจำวัน ดังนั้นจึงเกิดไอเดียนำเอากล่องไม้มาดัดแปลงมาติดล้อโรลเลอร์สเก็ตลงไปและใช้ไถไปมาตามถนน ซึ่งในเวลานั้นยังคงไม่มีคำว่า skateboard ทว่าคนทั่วไปจะเรียกกลุ่มเด็กเหล่านี้ว่า sidewalk surfing

ความนิยมของเจ้ากระดานล้อลื่นมีมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งบริษัททำกระดาน surf ใน California ได้ติดต่อกับ Bill Richard เจ้าของธุรกิจ Chicago Roller Skate เพื่อประกอบกระดาษสเก็ตบอร์ดสำเร็จรูปขึ้น มาเป็นครั้งแรก โดยผู้เล่นต้องถอดรองเท้า แต่ในเวลาต่อมาได้เกิดโรงงานผลิตอีกนับไม่ถ้วน อาทิ Jack’s , Kips’, Hobie , Bing และ Makaha จากนั้นก็เริ่มมีการแข่งขันกันอย่างจริงจัง จนมีรายการถ่ายทอดสดชื่อว่า Surf Up ในปี 1964 อีกทั้งยังเกิดแมกกาซีน The Quarterly Skateboarder ที่ตีพิมพ์ในปีเดียวกัน เกิดกระแสตื่นตัวอย่างมากสำหรับวงการสเก็ตบอร์ดเนื่องจากเริ่มมีการแข่งขันระดับประเทศ ซึ่งแบ่งแยกเป็น Freestyle และ Downhill Racing จนสเก็ตบอร์ดกำลังก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมอเมริกันอย่างเต็มตัว

ทว่าปลายยุค 60s สเก็ตบอร์ดเริ่มได้รับความนิยมน้อยลง เพราะความซ้ำซากจำเจและมีกิจกรรมอื่น ๆ ที่น่าสนใจมาแทนที่ กระทั่ง Frank  Nasworthy ได้พยายามฟื้นฟูกระแสอีกครั้งด้วยการปรับโฉมบอร์ดให้มีความไฉไลมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม ไม่ว่าจเป็นการเปลี่ยนวัสดุเป็นโพลียูรีเทน สำหรับล้อ ทำให้ผู้เล่นสามารถคิดทริกได้มากขึ้นจนท่วงท่ามีความสวยงาม แต่นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้กระแสสเก็ตบอร์ดกลับมาฮิตอีกครั้ง เพราะไม่มีสปอนเซอร์จัดแข่งขันหรือพื้นที่ให้ชาวสเก็ตได้ปล่อยของเหมือนยุค 60s ดังนั้นกลุ่มนักสเก็ตบอร์ดต้องใช้ที่สาธารณะในการวาดลวดลายพร้อมติดต่อข่าวสารจากแมกกาซีนเพื่อทราบตำแหน่งออกไปนัดรวมตัวกันไถบอร์ดเกิดเป็นสตรีทสไตล์ และการเล่นกับอุปกรณ์เกิดขึ้นในช่วงปลายยุค 70s

ทุกอย่างค่อย ๆ ก่อตัว เริ่มมีการชุมนุมของคนรักสเก็ตบอร์ดมากขึ้นจนเกิดเป็นการรวมทีม Santa Monica , California และ the Zephyr แข่งขันกันอย่างจริงจังอีกครั้งในประเภทต่าง ๆ  สร้างความตื่นเร้าใจสำหรับผู้สเก็ตรวมถึงผู้ชม มีท่าสไตล์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น kickflip, ollie และอีกมาก วัฒนธรรมสเก็ตบอร์ดจึงกลับมาบูมอีกครั้งและช่วงเวลานี้เองนับว่าเป็นยุคทองของชาวสเก็ตเตอร์อย่างแท้จริง

นอกเหนือจากการแข่งขันยังมีการทำวิดีโอสไตล์ VHS ครั้งแรกและเป็นแนวทางให้กับนักสเก็ตบอร์ดในยุคปัจจุบัน คือ Bones Brigade Video Show นอกเหนือจากนี้ยังเกิดโปรสเก็ตชื่อดังมากมายไม่ว่าจะเป็น Steve Caballero, Tony Hawk, Mike McGill, Lance Mountain, Rodney Mullen, Kevin Staab ความโด่งดังทะลุขีดสุดในปี 1995 รายการแข่งขัน X-Games ซึ่งมี ESPN ช่องกีฬาระดับโลกเป็นสปอนเซอร์หลัก สเก็ตบอร์ดได้ถูกบรรจุเข้าเป็นหนึ่งกีฬาที่ใช้ในการแข่งขัน ยิ่งทำให้ สเก็ตบอร์ดโด่งดังและแพร่หลายไปยังทั่วโลกโดยเฉพาะเด็ก ๆ วัยรุ่นที่มีความอยากเล่นอะไรเสี่ยง ๆ

วัฒนธรรมสเก็ตบอร์ดไม่ใช่เพียงเรื่องสี่ล้ออีกต่อไป เพราะมันยังลามไปถึงรสนิยมการฟังเพลง ละแต่งตัวเกิดเป็น sub-culture ใหม่ ๆ อย่าง punk skate ซึ่งมีอิทธิพลต่อวงการเพลงโลกช่วงหนึ่งในช่วงรอยต่อยุคมิลลิเนียม ไม่ว่าจะเป็นวง Good Chalotte, Blink 182, Sum 41 และอีกมากมาย ที่รวมไปถึงการแต่งตัวสไตล์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการใส่กางเกง Baggy รองเท้าพื้นหนาเพื่อให้สามารถเล่นสเก็ตได้อย่างทะมัดแม่ง รวมเสื้อผ้ามากมายรวมมีอิทธิพลมาจากไลฟ์สไตล์ของผู้เล่นสเก็ตบอร์ด ไม่ว่าจะเป็นยี่ห้อ Diamond and Supply Co. , Hurley, HUF หรือแม้แต่ Supreme ในปัจจุบัน

หลังจากทุกอย่างถูกผนวกเข้าด้วยนักสเก็ตบอร์ด ถูกเรียกว่า สเก็ตเตอร์ และคนที่สามารถแข่งขันชนะเลิศรายการ X-Games ก็จะกลายเป็นคนดังทันทีถ้าโปรโมตตัวเองเป็น โปรสเก็ตบอร์ดสามารถหาเลี้ยงชีพตัวเองเหมือนกับนักกีฬาอาชีพประเภทอื่น ๆ มันได้ถูกจัดรวมให้เป็นไลฟ์สไตล์อย่างหนึ่ง ซึ่งว่ากันว่าเฉพาะในอเมริกามีเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีเล่นสเก็ตบอร์ดมากกว่าบาสเก็ตบอลเสียอีก มีการเปิดโรงเรียนสอนกันอย่างจริงจัง และบางโรงเรียนมีโปรแกรมที่ชื่อ Skatepass แต่ไม่เพียงเท่านี้ความยิ่งใหญ่ของสเก็ตบอร์ดได้แพร่กระจายไปถึงทั่วโลก

เกิดโครงการดี ๆ อย่าง Skateistan หรือโครงการไม่แสวงหากำไรทำเพื่อคนทั่วไปมีฐานะค่อนข้างยากจนที่เชื่อมเยาวชนกับการศึกษา ผ่านการเล่นสเก็ตบอร์ดในประเทศอัฟกานิสถาน โดยเข้าไปสอนวิธีการเล่นสเก็ตบอร์ดที่ถูกต้องตามสวนสาธารณะ และเข้าไปสอนวิชาต่างๆ ในห้องเรียน เช่น สิทธิมนุษยชน สื่อมัลติมีเดีย วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม

หากเราจะบอกสเก็ตบอร์ดเป็นเรื่องของเล่นเด็กคงไม่ใช่อีกต่อไป เพราะนี่ยังไม่รวมถึงไลฟ์สไตล์ด้านอื่น ๆ อย่างเช่นแฟชั่น ที่ในปัจจุบันแทบแยกความเป็นสเก็ตสไตล์ไม่ออกจากสตรีทแฟชั่นหรือไฮเอนด์ เพราะมหาอำนาจแบรนด์อย่าง Louis Vuitton ยังโดดมาหา Supreme  เพื่อออกคอลเลคชั่นที่มีแรงบันดาลใจมาจากสเก็ตบอร์ดเลย ดังนั้นวัฒนธรรมสเก็ตบอร์ดอาจจะไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไปก็เป็นได้

source , source2 , source3

 

 

 

Thada
WRITER: Thada
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line